โรงเรียนขยะ: Made in Cambodia

credit: Coconut School Cambodia Facebook

ปัญหาเรื่องขยะล้นเมืองเป็นปัญหาใหญ่ที่แทบทุกประเทศต้องเผชิญ ไม่เว้นแต่ที่พนมเปญ กัมพูชา แม้จะจัดการยังไงก็ไม่หมดสิ้นสักที ในเมื่อมันเยอะขนาดนั้น ก็เอามาสร้างเป็นโรงเรียนเสียเลย

โรงเรียนมะพร้าว (Coconut School) ตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน Roneah ใน Koh Dach เป็นโรงเรียนที่สร้างด้วยขยะที่ถูกรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำ จานและช้อนส้อมพลาสติกถูกนำไปทำความสะอาดและระบายทับด้วยสีสันสดใส กลายเป็นเป็นป้ายทางเข้าโรงเรียน

ไอเดียโลกสวยด้วยมือเราแสนเก๋นี้มาจาก อุ๊ค วันเดย์ (Ouk Vanday) หลังจากเขาลาออกจากการเป็นผู้จัดการโรงแรมแห่งหนึ่งเมื่อปี 2013 เขาก็หันมาบริหารโรงเรียนมะพร้าวนี้อย่างจริงจัง

ผลงานชิ้นแรกที่เขาประดิษฐ์ด้วยตัวเองคือ โต๊ะและเก้าอี้นักเรียนจากลำต้นมะพร้าว – จุดเริ่มต้นของชื่อโรงเรียนแห่งนี้

วันเดย์อธิบายถึงการที่เขาลาออกจากงานดังกล่าวและออกมาทำสิ่งนี้แทนว่า

“จุดประสงค์แรกของผมคือ การสร้างโรงเรียนที่มอบคุณค่าแก่เด็กในหมู่บ้าน โอกาสในการเรียนภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ เพราะมันเป็นเรื่องยากมากที่พวกเขาจะเข้าถึงมันได้ด้วยตัวเอง”

credit: Coconut School Cambodia Facebook

แล้วไอเดียการนำขยะมาสร้างเป็นโรงเรียนมาจากไหนกัน?

“ผมก็แค่เห็นว่าขยะเหล่านั้นเกลื่อนกลาดเต็มไปหมด ก็เลยเอามาสร้างเป็นโรงเรียน แต่จริงแล้วๆ เหตุผลที่สำคัญเลยคือ ผมต้องการสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการรีไซเคิลขยะเหล่านั้นว่ามันช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไร”

ด้วยเหตุดังกล่าว อาคารเรียนของที่นี่จึงสร้างด้วยขยะที่พวกเราพบเห็นอยู่ทั่วไป กำแพงสร้างจากยางรถยนต์ หรือไม่ก็ขวดน้ำมาผูกติดกันวางเรียงอย่างเป็นระเบียบ

ปัจจุบันโรงเรียนมะพร้าว มีนักเรียนทั้งหมด 200 คน แต่มีครูอาสาเพียงห้าคน ส่วนค่าเทอมของที่นี่คือ ‘ขยะ’ ที่มาจากบ้านของเด็กๆ เอง ดังนั้น ขยะที่นำมาสร้างส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากค่าเทอมของพวกเขา

นอกจากจะสอนวิชาสามัญทั่วไปแล้ว เพื่อตอบโจทย์ความเป็นโรงเรียนรักษ์สิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด แน่นอนว่าต้องมีวิชารีไซเคิล เด็กที่นี่จะเรียนรู้วิธีการรีไซเคิลขยะต่างๆ และแปรรูปมาเป็นสิ่งสามารถสร้างประโยชน์ต่อไปแทน นั่นคือเป้าประสงค์ที่โรงเรียนแห่งนี้ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้

“หลายคนอาจมองว่าขยะเป็นสิ่งไร้ค่า แต่สำหรับนักเรียนของผมแล้ว ขยะ คือค่าเทอมและมันคือสิ่งที่โรงเรียนเป็น เมื่อพวกเขามองเห็นข้อดีจากตรงนั้น พวกเขาก็จะได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็กว่า เราไม่ควรทิ้งขยะลงท้องถนน เพราะมันมีค่ามากกว่าที่เราเห็น” วันเดย์กล่าว


อ้างอิงข้อมูลจาก: dw.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า