ระหว่างลูกกับงาน อะไรควรมาก่อน

nares 60

นเรศ ดำรงชัย

ภาพประกอบ : Antizeptic

 

 

คือว่าชีวิตทุกวันนี้ มันต้องเดินไปตามครรลองที่สังคมขีดไว้ให้ เริ่มจากศึกษาเล่าเรียน ทำงาน ฐานะทางเศรษฐกิจเริ่มมั่นคง แล้วค่อยมีลูก อย่างนี้ใช่ไหม?

ถ้าคิดว่าเรื่องอะไรควรมาก่อนมาหลัง เป็นสิ่งที่ชีวิตนี้เลือกเองไม่ได้ ก็ควรต้องถามตัวเองด้วยว่า ในเรื่องที่เลือกได้ เราเลือกมากไปหรือเปล่า เช่น บางคนใช้เวลาเลือกคู่ชีวิตนาน กว่าจะรู้ตัวก็ย่างเข้าใกล้หลักสี่แล้ว อะไรบางอย่างที่เคยพูดเอาไว้ตอนที่อายุยังไม่มาก อายุเป็นเพียงตัวเลขเอย วางแผนไว้จะมีลูกอย่างน้อยสักสามคนเอย…

แล้วเป็นไง… กว่าจะได้แต่งงานก็ล่วงเข้าวัยกลางสามสิบ ขอถามคุณผู้หญิงคุณผู้ชายว่า นับจากวันนั้นคุณจะมีลูกสักได้กี่คนเชียว สมัยก่อนคนมักแต่งงานกันในช่วงอายุวัยหลักยี่สิบ อยากจะมีลูกสักสี่คน ห้าคน ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้ แต่ถ้าแต่งงานกันตอนแก่ ความเป็นจริงของชีวิตก็คือ จำนวนของลูกที่อาจจะมีได้ในชั่วชีวิตคู่ก็ย่อมจำกัดอย่างแน่นอน

นี่ยังไม่ได้นับถึงบรรทัดฐานของสังคมที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่ผู้ชายอาจมีเมียได้หลายคน อย่างนั้นก็ยังจะมีลูกได้เรื่อยๆ เท่าที่เมียเด็กจะอำนวยให้ แต่สมัยนี้โลกมันเปลี่ยนไป กิ๊กยังหาได้ แต่เมียหายาก

ภาระค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สกัดยับยั้งไม่ให้คนสมัยนี้อยากมีลูก ตั้งแต่เรื่องที่อยู่อาศัย (ห้องเล็กๆ ในคอนโดจะอยู่กันไม่ไหว) ค่าอาหารการกิน หยูกยา และเสื้อผ้า แต่ค่าใช้จ่ายสำหรับปัจจัย 4 ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของ ‘ค่าสร้างโอกาส’ ที่ต้องใช้จ่ายไปเพื่อการศึกษา เสริมทักษะการเรียนรู้ และอะไรอีกสารพัดที่ต้องจ่ายออกไปเพื่อที่จะติดอาวุธให้ลูกออกไปขับเคี่ยวกับคนอื่นเขาท่ามกลางสังคมแห่งการแข่งขัน

แต่ที่สำคัญ ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดสำหรับคนที่อยากแต่งงานและมีลูก ก็คือเรื่องของ ‘เวลา’

สังคมปัจจุบันนี้กำหนดให้เราต้องใช้เวลาในช่วงวัยหลักยี่สิบไปกับการศึกษา และการเริ่มต้นทำงานเพื่อสร้างเส้นทางวิชาชีพและหารายได้เลี้ยงดูตัวเอง จบตรีรายได้ก็น้อย ต้องใช้ ‘เวลา’ ไปอีกในการเรียนต่อ เพื่อทำงานให้มีรายได้มากขึ้นอีก เมื่อทำงานก็ต้องใช้ ‘เวลา’ หมดไปกับการทำงาน หรือเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย

ในภาวะที่รายได้ยังไม่เป็นปึกแผ่น และเวลาต้องหมดไปกับการเริ่มต้นเดินไปบนเส้นทางของวิชาชีพ มนุษย์เงินเดือนอย่างพวกเราจะมีโอกาสน้อยลงเรื่อยๆ ที่จะคิดแต่งงาน หรือแต่งงานก็ยังไม่อยากมีลูก ยอมรับไหมว่าอีกใจหนึ่งก็ยังอยากใช้ชีวิตโสดให้คุ้มค่า แทนที่จะต้องคอยวิ่งเปลี่ยนมามี่โป๊ะโกะ เลือกซื้อของเล่น และถูกผูกตรวนให้ต้องอยู่บ้านเลี้ยงเจ้าทารกน้อย

 

มองผิวเผินเหมือนกับว่าสังคมทุกวันนี้ไม่ให้โอกาส แต่ที่จริงมันอยู่ที่เราเองว่าจะเลือกอะไร สังคมตะวันตกและเอเชียบางประเทศเช่นญี่ปุ่น รวมทั้งไทยของเราด้วย ถึงได้เริ่มพากันเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบการทำงานเพื่อให้พนักงานเลือกให้  ‘เวลา’ กับชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตครอบครัวไปได้เท่าๆ กับที่ต้องทุ่มเททำงานให้องค์กร ที่เรียกกันว่า work-life balance ไม่ใช่เอียงไปแต่ทางเรื่องงาน

 

ลำพังถ้าเป็นเรื่องของการแบ่งเวลาให้สองอย่างนี้อย่างมีสมดุล ก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่การถกเถียงในเรื่องนี้เริ่มนำไปสู่ประเด็นที่แหลมคมยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการตั้งคำถามว่า

‘ทำ’ ลูก กับ ‘ทำ’ งาน อะไรควรมาก่อนกัน

หมายความว่าถ้าเริ่มต้นทำงานไปแล้ว ภาระของชีวิตการทำงานก็จะลากเราลงสู่หุบเหวที่กู่ไม่กลับพร้อมกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  คนทำงานเองนั่นแหละที่รู้สึกว่าเลือกไม่ได้เสียแล้ว ยังไม่พร้อมที่จะมีลูกเพราะหน้าที่การงานกำลังเติบโต กว่าจะรู้สึกว่ามีความมั่นคงและรายได้พร้อมที่จะมีลูกก็ปาเข้าไปสามสิบกว่าแล้วเป็นอย่างน้อย

แต่ถึงตอนนั้นสำหรับคุณๆ ที่เพิ่งเริ่มคิดจะมีลูก อะไรหลายๆ อย่างก็อาจจะสายไปแล้วหรือเปล่า

อย่างแรกเลยก็คือสำหรับคุณผู้หญิง ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยบ่งบอกชัดเจนว่า ความสามารถในการมีลูกของผู้หญิงจะเริ่มดิ่งเหวเมื่ออายุเลยวัย 35 และบรรดาคุณเธอที่มีลูกในวัยสาวใหญ่ก็เริ่มพบว่า ทารกเหล่านั้นมีอัตราการเกิดมาแบบ ‘ไม่ปกติ’ สูงกว่าเด็กที่มีแม่วัยสาวกว่า

กลไกในทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นสาเหตุของความผิดปกติเหล่านั้น แม้ในวันนี้ก็ยังไม่ชัดเจนไปเสียทั้งหมดว่าเป็นอย่างไรแน่ แต่ที่ค่อนข้างชัดก็มี จะขอยกตัวอย่างดาวน์ซินโดรม กรณีนี้เกิดขึ้นจากความผิดปกติของโครโมโซมที่เรียกว่า ‘ไทรโซมี่’ คือในคนปกติจะมีโครโมโซม 23 คู่ แต่เด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมกลับกลายเป็นมีโครโมโซมเพิ่มขึ้นมาหนึ่งข้าง รวมเป็น 47 แทนที่จะเป็น 46 ข้าง อาการผิดปกติในกลุ่มเดียวกันนี้ยังมีโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ศีรษะผิดรูป ภาวะจิตบกพร่องและการเรียนรู้ช้า

สถิติอันหนึ่งบอกเราว่า ความเสี่ยงของการให้กำเนิดเด็กไทรโซมี่ในหญิงวัยหลักยี่สิบมีเพียง 2-3% แต่อัตราจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% เมื่อเข้าสู่วัยหลักสี่สิบ นี่ยังไม่นับบรรดาความเสี่ยงอื่นต่อพัฒนาการของเด็กอ่อนที่ยังไม่เกิด คือแท้ง คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย และกล้ามเนื้อทำงานไม่ปกติ

อย่าได้คิดว่าสาเหตุของปัญหาแบบนี้มาได้จากฝ่ายหญิงเท่านั้น ชายที่ ‘สเปิร์มแก่’ ก็มีโอกาสทำให้เด็กเกิดมาผิดปกติได้เหมือนกัน เรื่องนี้เป็นที่สงสัยกันมานาน แต่เพิ่งจะมาชัดเมื่อปีที่แล้วที่มีผลงานิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Nature เขาสรุปว่า เมื่อคนที่เป็นพ่ออายุมากขึ้น จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการผ่าเหล่าของยีน (genetic mutation)  เพิ่มได้ขึ้น 2 จุดต่อปี และพ่ออายุ 36 ปี มีโอกาสมอบของขวัญเป็นยีนที่ผ่าเหล่าให้แก่ลูกที่จะเกิดมาได้เป็น 2 เท่าของพ่อที่อายุ 20 ปี นี่อาจช่วยอธิบายว่า ทำไมในรอบสิบปีที่ผ่านมา อัตราของเด็กที่เป็นออทิสติกถึงได้เพิ่มขึ้นตั้ง 78%

ที่ทำให้เรื่องมันยากขึ้นไปอีกก็คือ สมัยนี้มีเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ให้ใช้มากมาย ตั้งแต่การเก็บเซลล์สืบพันธุ์แช่แข็งไว้ จนถึงการนำเอาไข่และสเปิร์มมายัดเยียดให้ผสมกันนอกร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนั้นพ่อแม่ที่ยังไม่อยากมีลูกหรือมีลูกยาก จึงสามารถมี ‘ทางเลือก’ ไว้รอมีลูกเมื่อพร้อมก็ได้ แต่มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วงออกมาแล้วว่า มันเริ่มมีความผิดปกติที่เหนือระดับยีนขึ้นไปอีก เรียกว่า เอพิเจเนติก (คือแม้ยีนจะปกติแต่ก็ทำหน้าที่ได้ไม่ปกติ) เกิดขึ้นมากขึ้นกับสเปิร์มที่เก่าเก็บ หรือเกิดจากวิธีการผสมเทียมที่มีอยู่มากมาย เช่น GIFT, ZIFT, ICSI ฉะนั้นเมื่อมีทางเลือก ก็ควรต้องรู้ความเสี่ยงที่มากับทางเลือกเหล่านั้นด้วย

ขอยกตัวอย่างกรณี ICSI วิธีนี้เขาจะฉีดสเปิร์ม หรือส่วนหัวของสเปิร์ม เข้าไปในไข่ที่ถูกเร่งให้ผลิตออกมาจากรังไข่ของฝ่ายหญิง เป็นวิธีที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุค 90s เริ่มจากกรณีที่ฝ่ายชายมีปัญหาจำนวนสเปิร์มน้อย จนเดี๋ยวนี้แพร่หลายไปทั่วเรียกว่าใช้กับทุกปัญหา แต่ ICSI ก็จัดเป็นวิธีที่ทำให้เกิดปัญหาทารกเกิดมาผิดปกติมากที่สุดในบรรดาเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทั้งหลายที่มีอยู่ นักวิทยาศาสตร์กำลังก็เลยสงสัยกันอยู่ว่า การที่สเปิร์มถูกบังคับฉีดเข้าไปในไข่ทันที แทนที่จะหัวของสเปิร์มจะได้ ‘เกาะ’ กับผนังเซลล์ของไข่ตามธรรมชาติ ก็เลยกลายเป็นการ “ข้ามขั้นตอน” สำคัญ เพราะถ้าปล่อยให้สเปิร์ม ‘เกาะ’ ไว้ก่อนก็อาจจะช่วยควบคุมคุณภาพของสเปิร์ม ตัวไหนไม่เก่งจริงจะไม่สามารถหลุดเข้าถึงไข่ได้

 

เมื่อปีที่แล้ววารสารวิชาการ New England Journal of Medicine ตีพิมพ์งานวิจัยที่พบว่า เด็กที่เกิดมาด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์มีอัตราความผิดปกติ 8.3% ในขณะที่ตัวเลขนี้เป็น 5.8% สำหรับเด็กที่เกิดมาโดยไม่ได้ผ่านเทคโนโลยี

 

ที่เล่ามานี้ไม่ได้หมายความว่า การมีลูกช้าจะเลวร้ายไปทั้งหมด ไม่ได้อยากให้กลัวเทคโนโลยี เพียงแต่ว่าวันนี้เราจึงกำลังเผชิญภาวะหนีเสือปะจระเข้ (dilemma) ด้านหนึ่งก็จริงที่ว่า ในทางสังคม พ่อแม่ที่สูงวัยกว่าย่อมมีโอกาสที่จะมีสถานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงกว่า อาชีพการงานก็คงจะดี (กว่าในตอนหนุ่มสาว) มีบ้านดี ชีวิตมั่นคง เป็นผลดีต่อเด็กแน่ๆ อันนี้มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุไว้ชัดเจน แต่ในทางวิทยาศาสตร์เราเพิ่งจะมาพบว่า พ่อแม่ที่ ‘พร้อม’ เหล่านี้ ก็ ‘พร้อม’ ที่จะทำให้เด็กเกิดมาผิดปกติได้มากกว่าเยอะ

ทำอย่างไรดี?

ถ้าคิดว่าเรื่องนี้ซีเรียสกับอนาคตของชาติไทย ข้อเสนออย่างหนึ่งที่คิดออกในเวลานี้คือ ทำอย่างไรจะช่วยกันปรับโครงสร้างของวิชาชีพการทำงานในสังคมให้มีความเป็นมิตรกับ “การมีเด็กแต่เนิ่นๆ”  รัฐบาลประชานิยมในยุคต่อไปอาจจะออกนโยบาย cash-for-babies โดยช่วยค่านมหรือลดภาษี (เยอะๆ) ให้ครอบครัวที่มีลูกก่อนถึงวัยสามสิบ ขณะเดียวกันก็ต้องปรับให้ภาระการทำงานผ่อนเพลาในช่วงต้น และเริ่มต้นเส้นทางอาชีพได้เมื่ออายุเลยวัยสามสิบแล้ว ถ้าต้องการ

นโยบายพวกนี้ ออกมาเมื่อไหร่ก็คงจะถูกโจมตีแน่นอน แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อยสังคมจะได้ร่วมกันหาทางออก แล้วพวกเราจะได้เลือกได้เสียที ว่าจะ ‘ทำลูก’ ก่อน หรือ ‘ทำงาน’ ก่อน

 

********************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ Dualism นิตยสาร Way เล่ม 60)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า