นเรศ ดำรงชัย: ฉากทัศน์โรคระบาดและอุบัติภัย ไทยพร้อมแค่ไหนในการรับมือ

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมภายในประเทศถึง 403,386 คน และผู้เสียชีวิต 3,341 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2564) และเหตุการณ์ระเบิดจากเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก ซอยกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ได้นำมาสู่คำถามสำคัญของสังคมว่า อนาคตประเทศไทยมีความพร้อมเพียงใดในการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และจะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือเพื่อปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และความปลอดภัยของประชาชนอย่างไรได้บ้าง

ท่ามกลางความหวาดกลัวและอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดร.นเรศ ดำรงชัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ในฐานะที่คลุกคลีอยู่ในวงการพัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างยาวนาน ได้ร่วมพูดคุยกับ WAY ถึงประเด็นอนาคตของการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อรับมือกับอุบัติภัยครั้งใหม่ พร้อมทั้งทบทวนสถานการณ์การใช้เทคโนโลยีในสังคมของเราว่าขณะนี้ใครกำลังทำอะไร รวมถึงสิ่งที่เป็นไปได้ในการพัฒนาต่อไปในอนาคตอีกด้วย

รัฐบาลชุดปัจจุบันดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากเป็นพิเศษ เรื่องนี้มีนัยสำคัญอย่างไรหรือไม่

ผมคิดว่าไม่มีนัยสำคัญเท่าไรนัก อันที่จริงต้องตอบก่อนว่ารัฐบาลพูดเรื่องนี้น้อยไปเสียด้วยซ้ำ ปัจจุบันผมยังไม่เห็นนโยบายไหนที่ชัดเจนพอที่จะผลักให้ประเทศไทยวิ่งไปตามเส้นทางนี้ได้เลย แม้แต่ในส่วนงบประมาณก็ลดลงในปีล่าสุด (หมายเหตุ: งบปี 2565 อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ณ เวลาสัมภาษณ์) ผมจึงคิดว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ชูเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสำคัญเท่าที่ควร ทว่าที่เราเริ่มเห็นในปัจจุบันนี้มันถูกผลักดันด้วยกระแสของโลกเสียมากกว่า เราจะเห็นจุดนี้ชัดขึ้นเมื่อเอาประเทศไทยไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในเรื่องบทบาทการนำเทคโนโลยีมาใช้โดยรัฐบาล

แต่ถ้าพูดถึงภาคส่วนสำคัญที่ดูจะตื่นตัวเรื่องเทคโนโลยีมากที่สุด ก็คงเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่ภาคส่วนที่เหลือก็มีผู้เล่นที่มาจากสนามเทคโนโลยีอยู่บ้าง เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และองค์การมหาชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI) และอีกหน่วยงานที่สำคัญมากคือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 

ภาครัฐนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการประชาชนอย่างไรบ้างจากที่ผ่านมา

ถ้าถามว่าภาครัฐดูแลประชาชนด้วยเทคโนโลยีอย่างไรบ้างในสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันที่เราเห็นได้ชัดเจนก็คือกระทรวงสาธารณสุข คำถามที่จะถามต่อมาก็คือ แล้วกระทรวงสาธารณสุขดูแลประชาชนอย่างไรด้วยเทคโนโลยี 

ต้องบอกก่อนว่าหน้าที่หลักของกระทรวงสาธารณสุขคือการให้บริการด้านสุขภาพ (healthcare service) ให้คนไทยอย่างทั่วถึงและครอบคลุม และเครือข่ายที่รัฐสร้างขึ้นมาภายใต้ระบบของสาธารณสุขนั้นก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว เช่น ระบบเครือข่ายของโรงพยาบาล หรือระบบหลักประกันสุขภาพ แต่เมื่อหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปในช่วงการระบาดของ COVID-19 ก็ทำให้ภาครัฐต้องเร่งปรับตัวตามไปด้วยเหมือนกัน จะเห็นได้ว่าเริ่มมีระบบการรับมือโรคระบาดมากขึ้น ไล่ตั้งแต่การเฝ้าระวัง ระบบการรายงานผล รวมไปถึงระบบกลไกที่ทำให้มีการผลิตยาและวัคซีนเกิดขึ้นอีกด้วย

สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้คือ ระบบสาธารณสุขนั้นถูกออกแบบมาให้บริการประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นด้วยกำลังคน งบประมาณ และระยะเวลา จึงมีไม่เพียงพอที่จะไปคิดค้นหรือวิจัยอะไรใหม่ๆ เพิ่มเติม บทบาทตรงจุดนี้เองจึงตกไปอยู่ในมือของกระทรวง อว. ที่มีภาคส่วนย่อยภายในอย่างโรงเรียนแพทย์และมหาวิทยาลัยต่างๆ เสียมากกว่า แต่บางครั้งก็จะมีการทำงานร่วมกันครั้งสำคัญๆ ระหว่างกระทรวง อว. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข เช่น เรื่องการทำข้อมูลประชากรในด้านพันธุกรรม 

ปัญหาก็คือว่า เวลาเรามองเปรียบเทียบระดับการใช้งานเทคโนโลยีของไทยกับประเทศอื่นแล้ว ดูเหมือนว่าไทยจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่า อาจเป็นเพราะกลไกภาครัฐของเราออกแบบมาให้ทำได้แค่นั้นจริงๆ และเป็นอะไรที่คาดหวังประสิทธิภาพได้ยากมากเมื่อออกมาจากภาครัฐ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องทำงานข้ามหน่วยงาน ข้ามสาย หรือข้ามกระทรวง ผลคือจะทำให้ข้าราชการมีเจ้านายมากกว่าหนึ่งคน และเมื่อมีเจ้านายมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไปก็จะยิ่งทำให้การทำงานยากลำบากมากขึ้นถ้าเจ้านายหลายคนไม่คุยกันให้ดี บางทีลูกน้องก็จะไม่กล้าออกหน้าถ้าเสี่ยงต่อการล้ำเส้น

เวลาเอกชนต้องการเข้าไปทำงานช่วยเหลือภาครัฐ มักจะติดกำแพงที่เกิดขึ้นจากท่าทีที่ไม่ชัดเจนเป็นหนึ่งเดียวของเจ้าของเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพันกับหลายหน่วยงาน เรื่องเช่นนี้มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในช่วงการระบาดรอบแรกๆ ของไทย ตอนนั้นมีหลายกลุ่มหลายองค์กรมาก ทั้งมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชน ที่พยายามช่วยกันทำระบบ tracking หรือระบบติดตามและแจ้งเตือน ซึ่งหลังจากพยายามกันอย่างมึนงงมาสักพักก็เลยต้องต่างคนต่างทำกันไป ขณะเดียวกันระบบที่รอดมาถึงทุกวันนี้ได้อย่างการเช็คอินไทยชนะที่ติดตั้งอยู่ตามทางเข้าออกของสถานที่ต่างๆ ตอนนี้ก็เริ่มหมดความนิยม ซึ่งก็เป็นธรรมดาเมื่อประชาชนรู้สึกว่าทำสิ่งเดิมซ้ำๆ หลายครั้งแล้วไม่ได้รับ feedback อะไรกลับมาว่ามันใช้ได้ผลอย่างไรบ้าง และไม่เกิดการรณรงค์ให้ข้อมูล ประชาชนก็จะเลิกใส่ใจกับมัน 

ทางภาคเอกชนเองมีการตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้รับมือวิกฤติใหม่ๆ อย่างไรบ้าง

ถ้าเป็นเรื่องวัคซีน อันนี้บทบาทของเอกชนและมหาวิทยาลัยจะชัดเจนมาก เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ที่สามารถผลิตวัคซีนได้จริงคือเอกชน เคสที่ผลิตวัคซีนในไทยเองได้ช่วงนี้ก็จะมีเอกชนเป็นกำลังหลัก แต่ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการทำวิจัย ตัวอย่างที่กำลังดำเนินงานกันอยู่ เช่น BioNet-Asia, ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น หรือมีผู้รับจ้างผลิตมืออาชีพอย่าง KinGen Biotech ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (joint venture) ระหว่างมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีกับบริษัทยาเกาหลี การรับจ้างผลิตในอุตสาหกรรมยาและไบโอเทคเป็นสิ่งที่ดูแคลนไม่ได้เลย ต้องมีทั้งเทคโนโลยีการผลิต มาตรฐานขั้นสูง เครื่องมือที่พร้อม และบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย อย่างที่เราเห็นแล้วจากกรณีของ สยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience) ทำให้เราได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยีของบ้านเราในด้านนี้อย่างมากในระยะหลังนี้

ในส่วนของภาครัฐ แผนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับไทยขึ้นจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง มีความเป็นไปได้หรือควรเป็นไปในทิศทางใดต่อไป

ผมมองว่าแค่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ไม่อาจนำเราออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แต่ยังมีปัจจัยสำคัญอย่างอื่น เช่น ความพร้อมของนโยบาย และปัจจัยด้านการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หากจะพูดให้เห็นภาพว่า สามสิ่งเหล่านี้ทำไมถึงต้องไปด้วยกัน คงต้องยกตัวอย่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ของประเทศคิวบา หรือที่ทั่วโลกเรียกว่า ปรากฏการณ์ ‘The Cuban Biotech Revolution’ 

photo: Jasmine Halki

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปสมัยช่วงสงครามเย็น ประเทศคิวบาปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์จึงทำให้ถูกสหรัฐอเมริกาโดดเดี่ยว ประเทศที่มีเพียงอ้อยและน้ำตาลในยุคนั้นอย่างคิวบาจึงจำเป็นต้องมองหาทางรอดอื่นที่จะทำให้อยู่รอดต่อไปได้ การพึ่งพาตัวเองได้จะทำให้คิวบายืนหยัดต้านทานสหรัฐได้ และนั่นหมายความว่าคิวบาจำเป็นต้องมีการพึ่งพาตัวเองทางด้านอุตสาหกรรมให้ได้ อุตสาหกรรมที่คิวบาเลือกในขณะนั้นคือ อุตสาหกรรมการแพทย์ และเมื่อลงลึกไปในภาคส่วนต่างๆ ของอุตสาหกรรมการแพทย์ จะพบว่าการพัฒนาด้านยาและวัคซีนถูกชูขึ้นมาเป็นนโยบายหลักของคิวบาที่ใช้สร้างจุดแข็งให้ประเทศ 

หลังจากนั้นคิวบาจึงได้เริ่มต้นวางระบบบริการทางสุขภาพอย่างจริงจัง พวกเขาลงทุนในคนเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ความสามารถจนทำให้เด็กรุ่นต่อๆ มาเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอดระบบสุขภาพต่อไปเรื่อยๆ ปัจจุบันคิวบานอกจากจะมีระบบบริการทางสุขภาพที่ดีเยี่ยมแล้ว ยังมีความสามารถในการผลิตวัคซีนและยา จนหลายประเทศรวมถึงไทยบางครั้งก็จำเป็นต้องไปดูงานถึงคิวบาอีกด้วย

จากตัวอย่างที่ผมยกมานั้นจะเห็นได้ว่า คิวบามีการสร้าง ‘eco-system’ ที่เอื้อให้ระบบสาธารณสุขสามารถอยู่รอดและต่อยอดต่อไปได้ด้วยตนเอง โดยการสร้างโรงงานผลิตวัคซีน มีการวิจัยไปข้างหน้าเรื่อยๆ มีการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ มีระบบตรวจสอบและห้องแล็บที่ได้มาตรฐาน สิ่งเหล่านี้คือการคิดและทำอย่างเป็นระบบ หากจะนำมาปรับใช้กับไทยเรา ผู้นำก็จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีคิดและทำอย่างเป็นระบบด้วย เนื่องจากปัจจุบันเรามักทำให้จบไปทีละโครงการ ซึ่งข้อดีของการทำทีละโครงการก็มีอยู่บ้าง เช่น ทำให้สามารถวัดผลลัพธ์ออกมาเป็นชิ้นๆ อย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นงานวิจัยก็สามารถให้ผู้วิจัยได้นำผลงานไปขอตำแหน่งทางวิชาการได้ แต่ก็จะทำให้ไม่เกิดความเป็นระบบขึ้น และไม่ได้วิ่งไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อเราพูดถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งจากภาครัฐและเอกชนกันไปแล้ว ทางฝั่งประชาชนเองพร้อมแค่ไหนกับการก้าวไปข้างหน้า

ผมมองว่าถึงแม้อะไรหลายอย่างจะยังดูไม่พร้อม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายหากเราจะไม่พร้อม เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือถ้าทิศทางที่เราทำมันถูกต้อง และเราต้องมีความมุ่งมั่นว่าจะทำจริงๆ ซึ่งปัญหาปัจจุบันของสังคมไทยเรา ไม่ใช่เพราะเราสู้ประเทศอื่นไม่ได้ และไม่ใช่เพราะการไม่คิดหรือคิดช้า ไม่ใช่เราไม่ฉลาด แต่เป็นความมุ่งมั่นที่จะทำได้จริงอย่างต่อเนื่องมากกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีโรคระบาดจากไข้หวัดนก ช่วงปี 2546-2547 

ช่วงนั้นสถานการณ์ย่ำแย่และเราก็ยังใหม่ จนต้องรีบร้อนไปเจรจาขอความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจากที่ต่างๆ ไปมากมาย แต่ไข้หวัดนกมันระบาดมาแล้ว และไปไวมากๆ เมื่อเทียบกับ COVID-19 ซึ่งการมาไวไปไวแบบนั้น ทำให้เราแยกย้ายกันเร็วไปหน่อย ไม่ตื่นตัวและไม่เสริมความเข้มแข็งให้มั่นคงต่อไปด้วยงานวิจัย หรือการวางรากฐานให้ประเทศแข็งแรงจริงๆ ในด้านการผลิต

อย่างเรื่องอุตสาหกรรมการแพทย์ (medical industry) ถ้าได้รับการเสริมแรงด้านงบประมาณ การลงทุน ปรับปรุงระบบ หรือการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ต่างๆ เราจะสามารถไปได้ไกลกว่านี้มาก เพราะจะไปต่อยอดกับธุรกิจการให้บริการทางสุขภาพ (healthcare industry) ที่ปัจจุบันนี้ไทยค่อนข้างเข้มแข็ง หากไม่มีไวรัส COVID-19 ไทยก็เป็นสถานที่ให้บริการทางด้านการแพทย์อันดับต้นๆ ที่ต่างชาตินิยมมาใช้บริการอยู่แล้ว

แต่ตอนนี้เรากำลังประสบปัญหา COVID-19 กันอยู่ วัคซีนก็ยังมีปัญหาด้านประสิทธิภาพและอัตราการฉีดที่ล่าช้า รวมไปถึงไวรัสที่กลายพันธ์ุขึ้นเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนเดิมที่มีลดน้อยลง จึงทำให้ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องคิดเตรียมการให้แก่สังคมล่วงหน้าไปอย่างน้อย 1-5 ปี ซึ่งหากอนาคตเราต้องการจะทำให้สังคมผลิตวัคซีนและพึ่งพาตนเองได้ เราอาจจะต้องเริ่มต้นด้วยการรับจ้างผลิตหรือการขยายโรงงานปัจจุบัน เพื่อให้สังคมไทยมี know-how พอที่จะพึ่งพาตนเองในอนาคต

พูดถึงอุตสาหกรรมการแพทย์ในไทย การที่เราเป็น medical hub นั้นสำคัญอย่างไรต่อคนในสังคมไทย

ประการแรกคือ อุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ต้องยอมรับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของเราที่ทำเงินเร็วมาก ประการที่สองคือ เรามีโรงพยาบาลที่ให้บริการด้านสุขภาพอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในเมืองใหญ่และสาขาตามภูมิภาค ยังไม่นับคลินิกต่างๆ องค์กรเหล่านี้มีพันธกิจต่างๆ กัน ทั้งดูแลสุขภาพพื้นฐานให้ประชาชน บำบัดรักษากรณีป่วยหนักหรือต้องใช้เทคโนโลยีสูง และกลุ่มที่อยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรมภาคเอกชน

จุดนี้เป็นทุนเริ่มต้นที่ดีของเราในการพัฒนาเพื่อส่งเสริมความเจริญและความก้าวหน้าต่อไป แต่ในความเป็น medical hub นั่นแปลว่าให้บริการที่ดีและสมราคาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรีบมองไปถึง medical technology, medical data analytics, innovative drugs และการพัฒนาองค์ความรู้อีก เพื่อให้เราพึ่งพาน้อยลง ผลิตได้เองมากขึ้นด้วย 

จุดสำคัญนอกจากการมองไปยังอนาคตตามที่พูดไปข้างต้น คือควรคำนึงถึงการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่หมุนเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมการแพทย์ของเรา อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่ามันทำเงินได้เร็วและเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ ข้อควรระวังคือ ควรหันกลับมาสนใจบุคลากรภายใน ว่าบุคลากรทางการแพทย์กำลังถูกใช้งานหนักจนเกินไปหรือไม่ มีทักษะหรือองค์ความรู้ที่ตรงหรือเพียงพอกับทิศทางที่เราต้องเดินไปหรือไม่ สิ่งสำคัญที่ผมคิดว่าเราควรตระหนักมากขึ้นคือ การหาจุดสมดุลในการทำงาน เพื่อไม่ให้ธุรกิจอุตสาหกรรมการแพทย์กับความต้องการพื้นฐานของประชาชนต้องแข่งขันกัน

วิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวผมมองว่า เราควรเริ่มเปิดกว้างรับบุคลากรจากต่างประเทศมาทำงานให้เรามากขึ้น เริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ เราอาจจะต้องลดความเป็นชาตินิยมด้านการแพทย์ลง เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของระบบที่กำลังทำงานหนักเกินกว่าจำนวนของบุคลากรจะรับไหว ในที่นี้รวมถึงบุคลากรวิจัยด้วยนะครับ 

สังคมไทยยังมีความไม่ไว้ใจในเทคโนโลยีอยู่มากน้อยแค่ไหน เห็นได้จากกระแสต่อต้าน GMO พลังงานนิวเคลียร์ มาจนถึงวัคซีน

อันที่จริงพื้นฐานความกลัวเทคโนโลยีมันมีต้นตอมาจากการกลัวสิ่งที่ไม่รู้จัก ความหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงกลัวการสูญเสียอำนาจ แต่ในกรณีวัคซีนนี้จะเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เพราะมันคือสิ่งที่ถูกฉีดเข้าไปในร่างกายของมนุษย์ ความจริงหากวัคซีนไม่ได้ถูกนำเข้าสู่ร่างกายผ่านเข็มก็จะช่วยลดความกลัวของคนไปได้อีกมาก ซึ่งก็มีคนพยายามแก้ปัญหาทางจุดนี้มาแล้วอย่างการใช้ microneedle ที่แปะผ่านผิวหนัง กับอีกสาเหตุสำคัญคือการเชื่อข่าวลือ 

ข่าวลือที่ฟังกันมาปากต่อปากทำให้ผู้คนหวาดกลัววัคซีนมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างเช่น หากอัตราการติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกมีประมาณเกือบ 200 ล้านคน เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 4 ล้านคน อัตราเสียชีวิตยังต่ำกว่าร้อยละ 2 ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนไปแล้วเสียชีวิตก็ต่ำกว่านั้นมาก อีกประเด็นหนึ่งก็มีการหวาดกลัววัคซีนตามลัทธิความเชื่อ อันนี้โชคดีที่ไม่ค่อยมีในสังคมไทย แต่จะมีมากในสหรัฐ ตอนนี้สังคมไทยไม่ได้กลัววัคซีนเพราะตัววัคซีนเอง แต่กลัวว่าวัคซีนจะได้ผลไม่ดีพอ หรือกลัวจะไม่ได้รับวัคซีนมากกว่า

ดูจากอัตราการยอมรับระบบ e-wallet อย่างเป๋าตัง ผมคิดว่าสังคมไทยหวาดกลัวเทคโนโลยีน้อยกว่าสังคมอื่นในโลก สงสัยเป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวอรรถประโยชน์นิยมและสุขนิยม (utilitarian) ที่จริงน่าจะรอบคอบกว่านี้

ถ้าอนาคตมีโรคระบาดอุบัติใหม่ขึ้นอีก ไทยควรจะเตรียมความพร้อมในการรับมือในด้านไหนบ้าง 

ในสมัยที่ผมเคยทำงานวิจัยเรื่องเทคโนโลยีสำหรับสู้กับโรคอุบัติใหม่ สิ่งที่น่าสนใจคือการพบว่าวัคซีนเป็นเพียงหนึ่งในหลายวิธีในการรับมือโรคระบาดขนาดใหญ่ และยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากที่เราต้องนำมาคิด อย่างเช่นการสแกน การติดตาม การประมวลผลอย่างรวดเร็วเพื่อวิเคราะห์ (analytics) ไปจนถึงวัสดุที่ใช้ทำชุดป้องกันหรือแผ่นกรอง และการฟอกอากาศ 

ในช่วงก่อนหน้านี้สังคมอาจจะกำลังพูดถึงการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เนื่องจากปัญหาด้านการจัดการหน้ากากไปจนถึงความโปร่งใส วันนี้ทุกคนกำลังพูดถึงวัคซีนเป็นหลัก เนื่องจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดเชิงนโยบาย แต่ในอนาคตทุกคนจะต้องขยับไปพูดถึงองค์ประกอบอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ อย่างเครื่องช่วยหายใจสำหรับคนไข้ในห้อง ICU และเครื่องฟอกอากาศแบบ PAPR (ลักษณะคล้ายหมวกสำหรับฟอกอากาศ) แม้แต่ห้อง ICU เองที่จะเริ่มขาดแคลนมากขึ้นในอนาคต รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในอีกหลายสิ่งมาก เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะวิวัฒนาการดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมๆ กับโรคเองที่จะวิวัฒนาการร้ายแรงยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน 

พอเราพูดถึงการรับมือ อย่างแรกที่ต้องคิดก่อนเลยก็คือ รูปแบบการรับมืออย่างเร่งด่วน ชนิดที่ว่าถ้าไม่รับมือตอนนี้จะเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ขึ้นแน่ กับการรับมืออีกประเภทคือ หลังจากนั้นแล้วเราจะอยู่กับมันอย่างไร การนำเทคโนโลยีและวิธีการป้องกันโรคระบาดใหม่ๆ นั้นจะทำอย่างไรให้สังคมพอใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกับสิ่งเหล่านี้ได้ในชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้ก็เริ่มมีคนทำขึ้นมาบ้างแล้วอย่างหน้ากากอนามัยที่โปร่งใส เผยให้เห็นใบหน้าได้ หรือการป้องกันที่ใส่ใจไปถึงความเป็นแฟชั่น เป็นต้น เรื่องความพอใจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะควบคุมโรคให้ได้ผล

การรับมืออีกหนึ่งวิธีที่สำคัญคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย เช่น การติดตาม ระบุตำแหน่ง ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ ที่จะทำให้เราพร้อมรับมือหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งเหล่านี้มีคนทำวิจัยเชิงคาดการณ์อนาคตในเรื่องนี้ให้เห็นภาพใหญ่อยู่ คงจะมีผลออกมาในอีกไม่นาน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตื่นตัวเพียงพอที่จะเกาะติดภาพเหล่านั้นไปด้วยหรือไม่ 

อีกประเด็นสำคัญที่ผมคิดว่าเราต้องเสริมเพื่อเตรียมความพร้อมกับภัยอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพิ่มก็คือ การส่งคนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมกับเวทีนานาชาติมากกว่านี้ ตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดก็คงเป็นช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เป็นการระบาดในระดับโลกและข้ามพรมแดนได้ง่าย ถ้ามีคนของเราอยู่ในเวทีความร่วมมือระดับสากลมากขึ้น ก็จะทำให้เรารู้ข่าวสารได้เร็ว ไปจนถึงอาจจะทำให้การเจรจาต่อรองหรือเตรียมความพร้อมในการซื้อขายวัคซีนและยา รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น 

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ประเทศอื่นทำไปแล้ว และผมมองว่าไทยยังไม่ได้ใช้วิธีการแบบนี้ในการสร้างบทบาทมากนัก ถ้ายุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของเราไม่ดี ต่อให้เราก้มหน้าก้มตาทำวิจัยไปเรื่อยๆ พอเราเงยหน้ากลับขึ้นมาอาจจะพบว่าสังคมโลกเขาเคลื่อนกันไปไกลแล้วก็เป็นได้

ในแง่เศรษฐกิจหากมองเป็นภาคส่วน กลุ่มไหนจะเสี่ยงต่อการเจอกับภัยอุบัติใหม่ในอนาคตมากที่สุด

อันนี้ก็ต้องแยกย่อยไปตามแต่ละ sector อย่างเช่นในวิกฤติโรคระบาดแบบนี้ ภาคส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศอาจจะเข้มแข็งมากกว่าภาคส่วนอื่น เนื่องจากไม่ต้องพึ่งพาการออกไปเจอผู้คน ขณะเดียวกัน ภาคส่วนด้านอุตสาหกรรมอาหารก็อาจจะเข้มแข็งมากขึ้นหากวิกฤติครั้งหน้าไม่ใช่โรคระบาดในสัตว์ สิ่งที่พูดมาข้างต้นเหล่านี้จึงมีจุดอ่อนอยู่ ซึ่งเราต้องคิดเตรียมการรับมือให้ดี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศที่อาจจะเจอภัยคุกคามทางไซเบอร์ (ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วหลายแห่งในโลกรวมทั้งในไทยด้วย) หรือวิกฤติโรคในสัตว์สำหรับภาคกลุ่มอาหาร

ขณะเดียวกัน หากเราขยับมามองในส่วนของกลุ่มคน เราจะพบว่าคนในพื้นที่ชนบทจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมือง เนื่องจากชุมชนเมืองขาดระบบสาธารณสุขที่มีกิ่งก้านสาขาจำนวนมากแบบในสังคมชนบท ทำให้สังคมเมืองมีความเปราะบางมากกว่า มีคนที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจำนวนมาก โดยกลุ่มที่เปราะบางที่สุดคือ กลุ่มคนที่เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในเมือง เนื่องจากหากเกิดอะไรไม่คาดฝันขึ้น ระบบทะเบียนและระบบสาธารณสุขของพวกเขาจะยังอยู่ที่ภูมิลำเนา ทำให้กลายสภาพเป็นเหมือนผลไม้ที่หลุดลงมาจากต้น ยิ่งหากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุด้วยแล้วยิ่งอันตราย

ถ้าพูดถึงกิ่งก้านของระบบสาธารณสุขแล้ว มันครอบคลุมแค่ไหนในสังคมไทย

เหมือนที่ผมกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ความจริงระบบสาธารณสุขของเราดีมาก จนกระทั่งต้องมารับมือกับ COVID-19 สิ่งที่น่าคิดต่อไปคือภาคส่วนอื่นๆ จะทำอย่างไรให้ระบบของสาธารณสุขสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างสะดวกที่สุดมากกว่า

ผมคิดว่าถ้าเราสามารถช่วยเปิดทางหรือแบ่งเบาภาระงานของสาธารณสุขได้ก็จะดีกว่านี้มาก ผมเคยเห็นปัญหาดังกล่าวในช่วงที่จำเป็นต้องมีการสั่งปิดแคมป์คนงาน แต่ระบบประกันสังคมกลับมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะจ่ายชดเชยหลังจากการสั่งปิดแคมป์ได้อย่างทันท่วงที 

นอกจากกลไกรัฐที่มีปัญหาแล้ว การทำงานในบางภาคส่วนอาจจะต้องให้เอกชนเข้ามาช่วยทำแทน เนื่องจากข้อจำกัดของภาครัฐเอง ตัวอย่างปัญหาที่เราเห็นได้ชัดคือ เรื่องการสั่งซื้อวัคซีนที่มีหลายขั้นตอน ตั้งแต่สำนักงานอัยการสูงสุดไปจนถึงองค์การเภสัชกรรม ซึ่งแม้จะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ในมือ แต่ก็ไม่สามารถทำให้กระบวนการเร็วกว่านี้ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ระบบราชการจึงอาจจะเป็นตัวที่ทำให้การรับมืออุบัติภัยต่างๆ ไปไม่ทั่วถึง

ปัญหาที่ทำให้การรับมืออุบัติภัยใหม่ทำได้ไม่ทั่วถึงเพราะระบบราชการนั้น ความจริงเรามีตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่อีกตัวอย่างหนึ่งที่ส่งผลกับประชาชนโดยตรง คือ ขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยา ไปจนถึงการลงทะเบียนขอจองวัคซีนต่างๆ ที่ปัจจุบันนี้ยังต้องขอให้ประชาชนกรอกข้อมูลส่วนตัวเป็นจำนวนมากอยู่ ทั้งที่ระบบฐานข้อมูลปัจจุบันทำให้เราไม่ควรต้องกรอกอะไรซ้ำๆ แล้ว แต่การที่ภาครัฐยังต้องขอข้อมูลประชาชนซ้ำซ้อนไปเรื่อยๆ เช่นนี้ ก็อาจจะมีที่มาจากค่านิยม ‘ขอไว้ก่อน’ ไปจนถึงการทำตามข้อกฎหมายเก่าที่ไม่ได้มีการปรับแก้ ซึ่งทั้งแนวคิดและข้อกฎหมายเก่าของระบบราชการแบบนี้ ทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงานและเพิ่มขั้นตอนมากกว่าที่ควรจะเป็น เรื่องนี้แม้ว่าจะดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็ยังเป็นเรื่องที่เราควรจะเร่งช่วยกันแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต

สุดท้ายแล้ว อนาคตเมืองและสังคมไทยเราจะต้อง New Normal ต่อไปอีกอย่างไร

ผมมองว่าในเรื่องของอนาคตมันมีโอกาสให้เราได้คิดอะไรใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น อันนี้คือทุกเรื่องเลยนะครับ ตั้งแต่ COVID-19 ไปจนถึงเหตุการณ์โรงงานระเบิดที่ซอยกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากตอนนี้คนเริ่มสนใจที่จะหันหน้ามาคุยกันมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการที่มีสื่อมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ความร่วมมือใหม่ๆ จึงง่ายที่จะเกิดขึ้นตามมา

เมืองจะมีโอกาสเติบโตขึ้นมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่ามันสามารถดูแลตัวเองได้มากขึ้นไหม การดูแลตัวเองนี้ผมหมายถึงการใช้หลักกระจายอำนาจให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งปัจจัยก็คือการรับมือความเปลี่ยนแปลง สองอย่างนี้จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญก็เพราะว่า หากอนาคตจุดไหนหรือพื้นที่ไหนมีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงมากกว่าก็จะสามารถทำได้เลยโดยที่ไม่ต้องรอระบบราชการที่ล็อคเอาไว้ อย่างภาครัฐปัจจุบันนี้ก็อาจจะมีหลายคนที่พร้อมแล้ว แต่ไม่สามารถเริ่มต้นได้ เพราะติดที่ระบบราชการ ทำให้ผมคิดว่าหากภาครัฐสามารถถอยออกมาเป็นเพียง regulator แล้วเปิดโอกาสให้ทั้งเอกชนและภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาช่วยพัฒนาบางอย่างแทน จะทำให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก ถ้าทำได้ผมว่าเราจะได้เห็นอะไรดีๆ อีกเยอะ

ส่วนเรื่อง New Normal นั้นมันมีแน่ๆ อนาคตก็อาจจะมีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาให้เราต้องปรับตัวอีก ขณะเดียวกันการปรับตัวขององค์กรต่างๆ ก็จะมีเรื่องท้าทายใหม่ๆ เข้ามาอีกมาก ซึ่งผมคิดว่าที่ผ่านมามันแทบจะเปลี่ยนวัฒนธรรมของเราไปเลย อนาคตเราทุกคนจะต้องกล้าเสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น เหมือนกรณีประเทศคิวบาในช่วงแรก 

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า