การย่ำกับที่ของผังเมือง

01

                                                                                                                                                                                                                                                              เรื่อง: อารยา คงแป้น
ภาพ: Seymour Glass

 

หลังจากปรับปรุงมา 2 ยก ในที่สุดคนกรุงก็ได้รับของขวัญชิ้นใหญ่คือ ‘ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556’ ที่แล้วเสร็จในยกที่ 3 มาครอบครองกันถ้วนหน้า พร้อมทั้งประกาศใช้เป็นกฎกระทรวงเรียบร้อยโรงเรียนกรมผังเมือง ประกาศเมื่อไร มีผลบังคับวันไหนหลายคนยังสงสัย

16 พฤษภาคม คือวันประกาศใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ซึ่ง โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ผู้ออกแรงแข็งขันร่วมคัดค้านผังเมืองฉบับใหม่บอกกับเราว่า…ผังเมืองใหม่เป็นเหมือนก้อนมะเร็งร้ายชัดๆ


+ ผังเมืองมีความสำคัญอย่างไร 

ผังเมืองคือแผนแม่บทของการพัฒนาเมืองเพื่อให้ประชาชนมีความผาสุกในการอยู่อาศัย แต่ที่ผ่านมาผังเมืองไม่ค่อยสอดคล้องกับความเป็นจริง  คือคนวางผังเมืองก็วางไป ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ทำตาม

ความจริงผังเมืองควรจะเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาเมือง คนวางผังเมืองคือ กทม. ซึ่งพอวางเสร็จ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง การไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ก็ไม่ได้พัฒนาไปตามผังเมืองที่ถูกกำหนด คือต่างคนต่างไปคนละทิศคนละทาง เพราะฉะนั้นผังเมืองก็วางไปอย่างนั้นแหละเหมือนแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่วางไปอย่างนั้น แต่จะมีสักกี่หน่วยงานที่ทำตาม

+ อย่างนั้นแปลว่าที่ผ่านมาผังเมืองไม่ได้มีผลอะไรเลย
มี แต่เป็นผลร้าย ผลดีนั้นมีนิดหน่อย  สิ่งที่เสียหายคือ ประชาชนต้องออกไปอยู่ที่ไกลๆ เพราะในเมืองถูกห้ามให้อยู่ ห้ามสร้างตึกสูง อย่างเช่น ย่านบางลำพู สำเพ็ง พาหุรัด ที่เป็นย่านใจกลางเมือง เดี๋ยวนี้เราละทิ้งมันไป ทิ้งรากเหง้าตัวเอง เราไปสร้างสีลม บางกะปิ มันคือการขยายเมืองออกไปเรื่อย เมืองก็แผ่ไปเรื่อยๆ

ถ้าเราไปญี่ปุ่นจะสังเกตเห็นว่าเขาพยายามรักษาเมืองเก่าของเขาไว้ ซึ่งถ้าเราทำได้มันก็เป็นผลดี เช่น อนุรักษ์ถนน 13 ห้างแถวบางลำพู หรือถนนพาหุรัดเอาไว้ แล้วส่งเสริมให้มันเติบโตอยู่ในเมือง เมืองก็จะพัฒนาอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่พัฒนาอย่างไร้ทิศผิดทางไปตามยถากรรม  คนก็ไม่ต้องเดินทางเข้าเมืองกันเยอะแยะ ชนบทก็ยังอยู่ โลกก็ไม่ร้อน

+ ผังเมืองใหม่มีข้อเสียอย่างไร ทำไมจึงต้องคัดค้าน
ข้อเสียของมันคือ ทำให้เมืองเติบโตแบบแผ่ออกไปรอบๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ขยายออกไปแบบสะเปะสะปะ และผังเมืองใหม่ก็ยังก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน เพราะการขยายตัวออกไปจะไปทำลายพื้นที่สีเขียวรอบนอก อีกทั้งประชาชนยังต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง

บางคนต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อมาทำงานแถบใจกลางเมือง และกว่าจะกลับถึงบ้านก็สองสามทุ่ม ซึ่งมันเป็นความทุกข์ที่แสนสาหัสของเขา ต้องเสียทั้งเวลาและทรัพยากร

+ แต่การพัฒนาเมืองแบบแนวดิ่งจะเป็นการกระจุกตัวของการพัฒนาหรือไม่ ?

เราต้องทำให้การพัฒนาเป็นแบบกระจุกตัว เพราะถ้ามันกระจุกอยู่ในตัวเมืองมันก็ไม่ไปทำลายพื้นที่บางนา ซึ่งเป็นพื้นที่ทำนาที่ดีที่สุด ไม่ออกไปทำลายพื้นที่ปลูกส้มแถวบางมด สวนทุเรียนนนทบุรี และการพัฒนาแบบกระจุกตัวย่อมดีกว่าการทำลายแบบไร้ทิศทาง คนไม่ต้องเดินทางจากนอกเมืองมาทำงานในเมือง ไม่สูญเสียทรัพยากร ไม่ทำให้พื้นที่สีเขียวถูกทำลาย

แต่การกระจุกตัวแบบนี้หลายคนอาจจะมองว่ามันแออัด แต่นั่นคือความเข้าใจผิด มันไม่ใช่ความแออัด แต่คือความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างพื้นที่ 1 ไร่ (40×40 เมตร) มีบ้านสลัมปลูกอยู่ 15 หลัง นั่นเรียกว่าแออัด แต่ถ้าเราสร้างเป็นตึกสูงๆ ขึ้นมาเราสามารถอยู่ได้ 100 ครัวเรือนแบบสบายๆ และเว้นพื้นที่สีเขียวรอบๆ ไว้

ซึ่งถ้าบ้านเมืองเราสามารถจัดการได้แบบนี้มันจะเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเชื่อมต่อกันด้วยรถไฟฟ้า ซึ่งผังเมืองไม่เคยคิดแบบนี้เพราะมันอยู่กันคนละหน่วยงาน คนวางผังเมืองก็วางไป  รถไฟฟ้าก็ทำไป เพราะมันไม่อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน มันแยกกันทำงานพึ่งกันและกันไม่ได้

+ แต่คนที่อยู่ชานเมืองก็ต้องการพัฒนาเหมือนกัน
คนที่ต้องออกไปอยู่นอกเมืองส่วนมากเพราะเขาอยู่ในเมืองไม่ได้ แต่ในพื้นที่ที่มีการพัฒนาอยู่แล้วอย่าง รังสิต บางกะปิ ก็ต้องปล่อยให้พัฒนาต่อไป และต้องอนุญาตให้สร้างตึกสูงๆ บ้าง เพื่อเมืองจะได้ไม่ต้องแผ่ออกไป

+ พื้นที่การเกษตรในสมัยก่อน อย่างบางนาหรือบางมด เมื่อการเวลาผ่านไป ชาวบ้านอาจต้องการให้พื้นที่ของบ้านเขาได้รับการพัฒนาหรือเปล่า
มันก็ต้องมีการพัฒนา เช่น มีทางด่วนหรือรถไฟฟ้าอย่างทุกวันนี้ แต่ก็ต้องไม่ให้มันขยายไปมากกว่านี้เท่านั้นเอง อย่างสุขุมวิทเป็นย่านที่อยู่ของคนรวยในประเทศไทย บ้านหลังหนึ่งมีที่ดิน 1-2 ไร่ แล้วมันก็ไม่มีการควบคุมการก่อสร้าง

+ เส้นทางรถไฟฟ้าที่ตัดผ่านไป มีผลให้การใช้งานพื้นที่ในกรุงเทพฯเปลี่ยนไปหรือเปล่า
ไม่เปลี่ยน แต่มันทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น อย่างแถวสยามราคาที่ดินขึ้น ซึ่งถ้าเป็นที่ดินแถวรถไฟฟ้าอาจสูงขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าที่ดินทั่วไปก็ขึ้นประมาณ 1-3 เปอร์เซ็นต์

03


+ หลังจากประกาศใช้ผังเมืองใหม่ ราคาที่ดินจะเพิ่มสูงขึ้นไหม

ตรงนี้ไม่ค่อยเกี่ยวกันเท่าไร แต่บางบริเวณอาจเป็นผลดี บางบริเวณอาจเป็นผลเสีย เช่น ตามแนวรถไฟฟ้าสามารถสร้างตึกสูงได้มากกว่าปกติ อย่างนี้คือผลดี แต่รถไฟฟ้าที่ว่าคือรถไฟฟ้าที่เปิดใช้แล้ว ซึ่งเอาเข้าใจจริงมันก็ได้ประโยชน์อยู่ไม่กี่สถานี  หรือให้สร้างที่จอดรถให้เช่าได้ แต่การสร้างที่จอดรถมันก็ได้ไม่คุ้มเสีย มันเลยกลายเป็นกำไรจอมปลอม ไม่ใช่กำไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจริงๆ

+ ในเมื่อผังเมืองที่ผ่านดูไม่เป็นระเบียบ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งรางมีส่วนช่วยได้มากแค่ไหน
มีส่วนช่วยได้มาก ตั้งแต่ประหยัดเวลาการเดินทางและยังเป็นการชี้นำในการวางผังเมือง บริเวณที่รถไฟฟ้าผ่านก็จะมีการพัฒนา แต่ก็ต้องมีการขีดวงในการพัฒนาด้วย และจะทำให้การพัฒนามันกระจุกอยู่เฉพาะบางบริเวณ ไม่แผ่ออกไปสู่รอบนอก

+ นอกจากทางด่วน หรือรถไฟฟ้า ยังมีปัจจัยอย่างอื่นอีกไหมที่มีผลต่อผังเมือง
นอกจากทางด่วน รถไฟฟ้า ก็มีโครงการสาธารณูปโภคใหญ่ๆ พวกท่าเรือ อู่ซ่อมรถไฟฟ้า หรือแม้แต่มักกะสันที่กำลังกันคัดค้านอยู่ มีศูนย์การค้าใหญ่ๆ แต่ก็ต้องวางให้ถูกที่  ว่าตรงไหนควรมี ตรงไหนไม่ควร ทุกวันนี้มันยังสะเปะสะปะ อย่างถ้าจะทำโรงงานหรือบ้านจัดสรรแล้วไปซื้อที่ดินที่เป็นทุ่งนา หลังสร้างเสร็จพออยู่ไปนานๆ จะมีชุมชนสลัมมาอยู่โดยรอบ อย่างแถวปู่เจ้าสมิงพราย หรือแถวหัวกระบือ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรทำคือ การนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ควรจะจัดสรรที่ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม อย่างที่นวนครหรือบางปู ซึ่งมันควรจะมีให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ว่าอยากสร้างโรงงานตรงไหนก็สร้างได้  หรือสร้างแล้วจะปล่อยน้ำเสียสู่บริเวณรอบๆ ไม่ได้

+ อย่างกรณีที่ถกเถียงเรื่องที่ดินบริเวณมักกะสันเป็นเพราะมันไม่ได้ถูกกำหนดว่าควรต้องเป็นอะไรใช่ไหม อย่างเช่นควรเป็นห้างหรือเป็นสวนสาธารณะ
เรื่องมักกะสันต้องมองตั้งแต่ว่าที่ดินของหน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องทั้งหลายว่า หากครอบครองแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ มันต้องโอนคืนหลวงหรือเปล่า อย่างการรถไฟมีที่ดินเยอะแต่ไม่ได้ทำประโยชน์  ทำธุรกิจแล้วขาดทุนเลยจะเซ้งที่ดินเพื่อเอามาแก้ไขปัญหาตรงนี้ แบบนี้ทำไม่ได้ ในเมื่อคุณขาดทุนคุณก็ต้องบริหารให้มันดีขึ้น และต้องทำให้มันเป็นประโยชน์ของส่วนรวม

ที่ดินมักกะสันอยู่ใจกลางเมือง เพราะฉะนั้นมันน่าจะเอามาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้  แต่ต้องคิดถึงส่วนรวมด้วย  แต่ถ้าจะค้านให้ที่ดินตรงนี้เป็นพื้นที่สีเขียวแบบที่ทุกคนไม่ได้จ่ายเงิน แบบนั้นก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะอย่าลืมว่านั่นคือทรัพย์สินของประเทศ เป็นของคนไทยทั้งชาติ จะเอามาทำให้คนท้องถิ่น คนกรุงเทพฯอย่างเดียวก็ไม่ได้

+ แปลว่าถ้าพื้นที่ตรงนั้นมีศักยภาพพอที่จะทำพื้นที่พานิชย์ได้ ก็ควรทำใช่ไหม
ใช่ เพราะถ้าคนกรุงเทพอยากได้สวนสาธารณะก็ต้องจ่ายเงินด้วย แล้วเงินก้อนที่จะทำสวนสาธารณะมันควรจะเอาไปพัฒนาประเทศโดยรวมมากกว่า ไม่ใช่ว่าเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว ขณะเดียวกันหน่วยงานที่มีที่ดินจะเก็บที่ไว้ชดเชยการขาดทุนก็ไม่ได้เหมือนกัน

+ ย้อนกลับไปเรื่องการกำหนดผังเมือง ต้องใช้ปัจจัยอะไรบ้างและประชาชนมีสิทธิ์จะเสนอความคิดเห็นหรือไม่

การวางผังเมืองต้องดูที่ความหนาแน่นและต้องดูแนวโน้มของประชากรว่าจะขยายไปทางด้านใด มีส่วนผสมของเศรษฐกิจอะไรบ้าง ส่วนเรื่องการมีส่วนร่วม กทม. บอกกว่ารับฟังความเห็นของประชาชนอยู่แล้ว แต่ว่ารับฟังแล้วก็ไม่ได้แก้ไขปรับปรุง เสียงจากนักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ๆ อาจมีผลบ้าง แต่ถ้าเสียงจากชาวบ้านทั่วไปจะได้รับการแก้ไขน้อยมาก

+ อย่างกรณีที่ กทม. เปิดให้ประชาชนร้องทุกข์เรื่องผลกระทบจากผังเมืองใหม่ ในความเป็นจริงประชาชนรับรู้ถึงสิทธิ์การร้องทุกข์มากน้อยแค่ไหน
ประชาชนไม่รู้ และอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเสียประโยชน์  ยิ่งถ้าไม่ใช่เจ้าของที่ดินถึงมีข้อเรียกร้องที่มีเหตุผลแต่ก็ไม่มีผลอะไร  และถึงแม้ชาวบ้านเองทำหนังสือร้องเรียนไปหลายต่อหลายครั้ง ผังเมืองก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเสียที มันเลยกลายเป็นการฟังเสียงประชาชนแบบไม่เอาเนื้อหาสาระอะไรจริงๆ จังๆ

04


+ มีใครเสียประโยชน์และได้ประโยชน์จากผังเมืองใหม่บ้าง 

คนที่เสียประโยชน์คือประชาชน เช่น ประชาชนจะซื้อบ้านในกรุงเทพฯ ก็ซื้อไม่ได้ เพราะมันแพงขึ้นเรื่อยๆ จนต้องออกไปสู่รอบนอก และการออกไปสู่รอบนอกสิ่งแวดล้อมก็เสียประโยชน์อีกทีหนึ่ง  ส่วนคนที่ได้ประโยชน์คือ คนที่มีที่ดินเยอะๆ ในใจกลางเมือง ที่ยังต้องการเก็บที่ดินไว้ขายหากำไรในวันข้างหน้า

ยกตัวอย่าง 3 ปีที่แล้วก่อนจะมีการสร้างห้าง เอ็มโพเรียม 2 แถวสุขุมวิท บริเวณนั้นมีต้นจามจุรี อายุ 100 กว่าปี 10 กว่าต้น ชาวบ้านแถวนั้นอยากให้เก็บไว้ ซึ่งในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ ถ้าจะทำแบบต้องมีเงินไปซื้อที่บริเวณนั้น  และจะเรียกร้องอะไรก็ไม่ได้เพราะที่นั้นเป็นที่ดินส่วนบุคคล  หรือถึงแม้ กทม. จะควักเงินซื้อที่ตรงนี้มาทำสวนสาธารณะ ประชาชนเขตอื่นก็คงเคืองเหมือนกัน  เพราะเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

ด้วยความที่บ้านเราไม่มีการเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้าง มันทำให้คนรวยสามารถเก็บที่ไว้ได้โดยที่จะขายหรือไม่ก็ได้ ความจริงเราต้องเก็บภาษีกับคนที่มีที่ดินไว้แล้วไม่ได้ทำอะไร  ต้องให้เสียภาษีแพงๆ เพราะอย่างนี้คนที่ได้ประโยชน์คือคนที่มีที่ดินแต่เก็บไว้ไม่ทำอะไรนั่นเอง

+แต่ถ้ามีคนอยากเพิ่มที่สีเขียวจะทำอย่างไร
วิธีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง สมมุติว่าเรามีพื้นที่อยู่ 1 แปลง ปกติเราจะใช้พื้นที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราปลูกสิ่งปลูกสร้างให้สูงขึ้นเราก็จะสามารถเว้นพื้นที่รอบๆ ให้เป็นพื้นที่สีเขียวได้  แต่ กทม. พยายามจะไปสร้างพื้นที่สีเขียวอยู่นอกเมืองเพราะมันง่ายที่จะทำ แล้วซื้อที่นอกเมืองมันก็ถูกด้วย แต่ในความเป็นจริงใจกลางเมืองต่างหากที่ต้องการพื้นที่สีเขียว เพราะคนทำงานในใจกลางเมืองเยอะและต้องการการผ่อนคลาย

+ ถ้าเป็นแบบนี้เราต้องรอผังเมืองฉบับต่อไปหรือเปล่า ถึงจะแก้ไขกันได้
ถ้าจะแก้คงต้องรื้อผังเมืองใหม่ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะต่อไปนี้ผังเมืองจะมีอายุถึง 10 ปี และถ้าแก้ไม่เสร็จให้ยืดอายุไปอีก 10 ปี และถ้ายังแก้ไม่เสร็จอีกเขาให้ต่ออายุได้อีกครั้งละ 2 ปี 2 หน เป็น 24 ปี เพราะฉะนั้นผังเมืองออกวันนี้จะแก้ได้อีกทีคือ 24 ปีข้างหน้า

+ ผังเมืองใหม่มีการกำหนดพื้นที่สีเขียวไหม
ก็มีเหมือนกัน อย่างเช่น พื้นที่เขตรอบนอกบางพื้นที่  ใน 1,000 ตาราเมตรจะมีพื้นที่สีเขียวครึ่งหนึ่งคือ 500 ตารางเมตร แต่บางพื้นที่ก็ไม่ได้ทำตามนั้น เช่น แถวลาดกระบัง มีตึกแถวปลูกติดๆ กัน แล้วเขาก็ตีความว่านั่นคือบ้านเดี่ยว ซึ่งมันเป็นการเลี่ยงกฏหมาย แล้วจะไปสั่งรื้อก็ไม่ได้

+ ผังเมืองที่ดีควรมีการแบ่งโซนระหว่าง อาคารพานิชย์กับที่อยู่อาศัยให้อยู่คนละส่วนกัน แล้วเชื่อมต่อกันด้วยระบบขนส่งมวลชน หรือไม่
มันก็ควรจะเป็นแบบนั้น แต่มันก็ไม่ควรจะแค่มีที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว ในบริเวณนั้นควรมีศูนย์การค้า ศูนย์อาหารอยู่ด้วย อย่างเช่นรถไฟฟ้าวิ่งไปทางไหน รอบๆ ก็ควรเป็นศูนย์ธุรกิจแล้วที่พักอาศัยค่อยห่างออกไปหน่อย จะให้แยกกันตายตัวก็ไม่ได้ มันต้องมีการผสมผสานบ้าง อย่างสิงคโปร์พอแบ่งแยกย่านชัดเจน ย่านออฟฟิศพอตกกลางคืนก็กลายเป็นเมืองร้างไปเลย

+ ถ้ามีปัญหาจริงๆ ทำไมไม่ย้ายเมืองหลวงเสียให้รู้แล้วรู้รอด 
มันไม่จำเป็นต้องย้าย ทุกอย่างมันอยู่ในนี้ก็ดีอยู่แล้ว เราทำสาธารณูปโภคให้ดีๆ เราก็อยู่ได้แล้ว และที่ผ่านมาเรื่องการย้ายเมืองหลวงมันไม่มีการย้ายสำเร็จ อย่างออสเตรเลียมีซิดนีย์เป็นเมืองหลวง มีกรุงแคนเบอร์ราเป็นเมืองเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาก็มีวอชิงตัน ดีซี เป็นเมืองราชการ การที่จะย้ายเมืองหลวงจริงๆ นั้นยังไม่มี มีแต่การย้ายส่วนราชการ

+จริงไหมกับคำกล่าวที่ว่าผังเมืองกรุงเทพออกแบบไว้ให้รถยนต์ส่วนตัววิ่ง
อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่การจราจรในกรุงเทพฯ มันเน้นทางบกมากกว่า ดูอย่างอาคารฟอร์จูนทาว 1 ใน 3 นั่นคือที่จอดรถ ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องสร้างเยอะขนาดนั้น แต่ถ้าดูเวียดนามหรือนิวยอร์กมันก็มีที่จอดรถเหมือนกันแต่ว่าน้อย  อย่างนิวยอร์กเพราะมันมีรถไฟฟ้าเยอะคนก็ไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว  ประเทศเราที่คนต้องมีรถยนต์ส่วนตัวเพราะมันไม่มีระบบรถไฟฟ้าที่ดี

ดังนั้นในเมืองที่อาคารมีที่จอดรถเยอะมันเป็นความสูญเสียอย่างยิ่ง มันเกี่ยวเนื่องกับผังเมือง เพราะถ้าเรามีผังเมืองที่ดี มีระบบรถไฟฟ้าดี คนก็ไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวและไม่ต้องมาเสียพื้นที่ให้ที่จอดรถแบบนี้

+ ถ้าผังเมืองใหม่มันเป็นแบบนี้ ใจกลางกรุงเทพฯจะเป็นย่านของคนรวยหรือเปล่า
เป็นไปได้ เพราะราคาที่ดินต่อตารางเมตรเพิ่มขึ้นมาก มันก็มีแต่คนรวยๆ เท่านั้นที่อยู่ได้ คนจนๆ อยู่ไม่ได้หรอก โดยเฉพาะคนรวยที่มีที่ดิน ไม่ต้องทำอะไรเขาก็อยู่ได้  ส่วนสำคัญที่เขาเก็บที่ดินไว้ได้เพราะเขาไม่เสียภาษี และผังเมืองใหม่มันก็เป็นการถีบคนจนๆ ออกไปด้วย

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า