ขุดเหมืองบนหลังคนพม่า

mine 1

แปลและเรียบเรียง : ณัฐกานต์ อมาตยกุล

 

รัฐบาลพม่าจับมือบริษัทจีนทำเหมืองทองแดงมูลค่ามหาศาล มุ่งสร้างความร่ำรวยให้ประเทศโดยคุกคามพื้นที่การเกษตรท้องถิ่น ประชาชนพม่ายังกังขาว่าเป็นประโยชน์แก่ใครกัน

 

ทองแดง: ขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจ

บริเวณภูเขา LETPADAUNG ทุ่งการเกษตรที่ใช้ปลูกงาและถั่วแระของชาวบ้านถูกฝังกลบอยู่ใต้กองของเสียจากการทำเหมือง และหากเจ้าหน้าที่รัฐยังเดินหน้าโครงการต่อไปได้เรื่อยๆ หมู่บ้าน 26 แห่ง ก็ต้องถูกแทนที่ด้วยกองดินขนาดใหญ่ พวกเขาอยู่ในพื้นที่การลงทุนศูนย์การทำเหมืองมูลค่าหนึ่งพันล้านซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มธุรกิจจากจีนจับมือกับรัฐบาลทหารของพม่า และคาดว่าจะสร้างกำไรมหาศาล

ด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าจึงให้คำมั่นว่าความร่วมมือในเวทีโลกและเสรีทางการค้าในแบบตะวันตกจะเกิดขึ้นอีกไม่ช้า แต่ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นนั้น ก็เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านย่อย ๆ ขึ้นทั่วประเทศ และสิ่งนี้อาจนำไปสู่การพิสูจน์ว่าพลังชาวนาจะทัดทานอำนาจรัฐได้หรือไม่

 

 

mine4

 

ประชาดิ้นรน

เป็นเวลาถึง 2 ปีมาแล้วที่ทางการพม่ามีคำสั่งย้ายถิ่นฐานเกษตรกรกว่า 1,500 คน แม้รัฐบาลจะยื่นข้อเสนอ เช่น โอกาสในการมีงานทำ หรือค่าตอบแทน แต่หลายต่อหลายคนก็ยังไม่ยอมจำนน แม้กระทั่งเมื่ออองซานซูจีได้ออกมาบอกชาวบ้านว่าให้พวกเขาล้มเลิกท่าทีขัดขืนเหล่านั้น ก็ไม่เป็นผล ที่ร้ายแรงที่สุด คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้อาวุธบรรจุสารฟอสฟอรัสโจมตีกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งในนั้นมีเณรอายุ 16 ปีรวมอยู่ด้วย เป็นผลให้ร่างกายพวกเขาถูกเผาไหม้

รัฐบาลพม่าและบริษัทจีนที่เข้ามาลงทุน ต่างก็ชี้แจงผลลัพธ์ที่ดีที่จะเกิดขึ้น เช่น เศรษฐกิจของประเทศจะพัฒนาขึ้นอย่างมาก และจะมีตำแหน่งงานเกิดขึ้นมากมาย นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงทางการเงินของคนในพื้นที่เอง แต่สำหรับชาวบ้านแล้ว พวกเขามองว่ามันเป็นแค่เรื่องราวผลิตซ้ำที่มีขึ้นเพื่อสร้างความชอบทำในการเอารัดเอาเปรียบผู้คน และกอบโกยผลประโยชน์เข้าหานายทหารชนชั้นอภิสิทธิ์ ยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับผลกระทบจากการทำเหมืองทองแดงที่มีต่อสิ่งแวดล้อม พวกเขาก็ประกาศให้ยุติการทำโครงการยักษ์นี้

ขณะนี้มีการจ้างงานแรงงานพม่าถึง 2,200 คนมาทำงานในเหมือง และได้ค่าแรงที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยแรงงานไร้ฝีมือทั่วไปของพม่า กระนั้นก็ดี ชาวบ้านและเกษตรกรหลายคนก็ยังไม่หลงใหลไปกับค่าแรงเหล่านี้ พวกเขามองว่าการมีที่ดินทำกินอย่างยั่งยืนนั้นสำคัญกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับความเสี่ยงในอนาคต การมีผลผลิตพรั่งพร้อมในไร่นาย่อมรับประกันคุณภาพชีวิตได้ดีกว่าการรับค่าจ้าง

 

mine2

 

บริษัทยักษ์เบื้องหลังความมั่งคั่ง

ความไม่ชอบมาพากลนั้นมีมาตั้งแต่ต้นตอในการผลักดันเศรษฐกิจของพม่า บริษัท Union of Myanmar Economic Holdings Limited (UMEHL) เป็นหุ้นส่วนสำคัญในธุรกิจของกองทัพ ใต้ร่มเงาบริษัทนี้ก็มีบริษัทผูกขาดกิจการมากมาย เช่น เหมืองอัญมณี การผลิตสบู่ ผลิตเบียร์ การผสมกรดซัลฟิวริก ดำเนินกิจการธนาคาร โรงแรม และร้านค้าต่าง ๆ แต่รายละเอียดทางธุรกิจเกือบทั้งหมดถูกปกปิดเป็นความลับ บริษัทไม่เคยจ่ายภาษีให้รัฐ ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลด้านผลกำไรขาดทุน หรือรายชื่อกรรมการบริหารต่อสาธารณชน แต่เป็นที่ทราบกันว่าบริษัทเป็นตัวแทนอำนาจทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารพม่า

ถึงแม้จะมีการยกเลิกการคว่ำบาตรต่อพม่า แต่รัฐบาลสหรัฐก็ยังห้ามประชาชนทำการเจรจาการค้ากับ UMEHL เพราะอาจจะยิ่งทำให้การดำเนินธุรกิจในพม่าเป็นได้ยากขึ้น โดยเฉพาะกิจการที่ UMEHLดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว พวกเขามองว่านักลงทุนต่างชาติควรต้องระวังตัวไว้เสมอว่ากำลังเจรจาอยู่กับใคร

ในทางกลับกัน รัฐบาลจีนมีท่าทีเปิดกว้างต่อพม่ามาก และบริษัทต่าง ๆ ของจีนต่างก็กระโจนเข้าสู่แหล่งทรัพยากรอันอุดม และกลายเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่ง ประมาณกันว่าเงินลงทุนจากจีนมีมากกว่าตัวเลขจีัดีพีของพม่าเสียอีก และส่วนมากจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล็กและอัญมณี และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแร่ในบริเวณภูเขา LETPADAUNG รัฐบาลพม่าจะสามารถหล่อเลี้ยงความมั่งคั่งไปได้อีกยาวนาน จากการขุดแร่ทองแดงที่ให้ผลตอบแทน 700 ล้านดอลลาร์ทุกๆ ปี ติดต่อกันไปสามทศวรรษ โดยทั้งหมดนี้UMEHL แทบไม่ต้องลงทุนเอง แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบริษัทสัญชาติจีน วั่นเป่า (Wanbao) เป็นผู้ลงทุนเงิน 1 พันล้านในการระเบิดภูเขาเพื่อกรุยทางไปสู่การทำเหมืองทองแดง

 

mine3

 

The Lady กับความหวังที่สูญหาย

ประชาชนมีความคาดหวังต่อพลังทางการเมืองของอองซานซูจีมาก แต่ท่าทีของเธอ ในการสนับสนุนการทำเหมือง หลังจากมีการประท้วงรุนแรง ก็ทำให้ชาวบ้านตระหนักว่าซูจีถูกจำกัดอำนาจ และไม่อาจเป็นตัวแทนในการเรียกร้องความชอบธรรมให้กับพวกเขา

ปัจจุบันรัฐบาลพม่าเรียกพื้นที่กองขยะเหมืองแร่ใน Seh deh ดังกล่าวว่า “พื้นที่ 144” และมีการใช้กำลังควบคุมไม่ให้ใครบุกรุก ชาวบ้านรายหนึ่งยืนกรานว่า เธอไม่สนใจว่ากฎหมายกระดาษจะเขียนไว้ว่าอย่างไร ยังไงพื้นที่ของเธอก็ยังคงเป็นของเธอ เธอและเกษตรกรคนอื่น ๆ จะยังคงทำไร่นาต่อไป ในขณะที่กองของเสียนั้นก็รุกคืบใกล้ที่นาของพวกเขาเข้ามาทุกที

 

*****************************

(ที่มา : globalpost.com)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า