แปลและเรียบเรียง : ณัฐกานต์ อมาตยกุล
Project Censored – โครงการวิจัยทางด้านสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยโซโนมาสเตท สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนอิสระในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นข่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐ โครงการนี้คอยติดตามข่าวที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทั้งกระแสหลักและอิสระ จากนั้นจะคัดข่าวจำนวน 25 ข่าวประจำปี ที่โครงการเห็นว่ามีความสำคัญ แต่กลับถูกสื่อกระแสหลักมองข้าม
กระบวนการคัดสรรข่าวเริ่มจากเปิดให้นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ บรรณารักษ์และประชาชนทั่วโลก เสนอข่าวที่คิดว่ามีความสำคัญเข้ามา ซึ่งมีประมาณ 700-1,000 ข่าวต่อปี จากนั้น คณาจารย์ นักศึกษาและสมาชิกในชุมชนมหาวิทยาลัยกว่า 200 คน จะร่วมมือกันทำวิจัยทั้งหัวข้อข่าว เนื้อหา ความน่าเชื่อถือของข้อมูลและความสำคัญของข่าวนั้นๆ จนคัดกรองเหลือ 25 ข่าวที่เห็นว่าสำคัญที่สุด ส่งต่อไปให้คณะผู้ตัดสินของโครงการลงคะแนนจัดอันดับ
และข่าวอันดับ 11-15 มีดังนี้
11. สมาชิกสภาคองเกรสร่ำรวยผิดปกติ
บรรดาสมาชิกรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือสภาคองเกรส มีตัวเลขสินทรัพย์สุทธิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะถดถอย นิตยสาร Roll Call วิเคราะห์บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินโดยใช้วิธีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ขั้นต่ำ ผลปรากฏว่าสินทรัพย์สุทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเหล่านี้รวมกันในปี 2010 มีมูลค่า 2.04 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเพิ่มมาถึง 390 ล้านดอลลาร์จาก 1.65 พันล้านในปี 2008 อย่างไรก็ตาม บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินนี้ยังไม่รวมทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อื่น ๆ
12. มหาอำนาจผสานกำลังอัลเคดาในซีเรีย
ทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และกลุ่มอนุรักษ์นิยมชาวอาหรับต่างก็พากันสนับสนุนด้านการเงินและอาวุธให้กับกลุ่มกบฏซีเรียตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติการในปี 2011 และอันที่จริงแล้วสหรัฐก็ให้การช่วยเหลือด้านงบประมาณแก่กลุ่มที่ต่อต้าน ประธานาธิบดีซีเรีย บาชาร์ อัลอัสซ้าด มาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1990 อย่างไรก็ตาม กลุ่มต่อต้านนายอัสซ้าดยังรวมไปถึงเหล่าอัลเคดา กลุ่มฮามาส และกลุ่มอื่นๆ ที่สหรัฐเองได้ขึ้นบัญชีไว้ว่าเป็นองค์การก่อการร้าย
13. ‘ปฏิรูปการศึกษา’ เพื่อธุรกิจ
นโยบายปฎิรูปการศึกษาในสหรัฐ ที่มีการจัดการอย่างดีและมีงบประมาณสนับสนุนจากบริษัทต่าง ๆ แท้จริงแล้วเบื้องหลังคือความพยายามเปลี่ยนแปลงโรงเรียนให้มีความเป็นเอกชนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเป้าหมายหลักคือระบบการศึกษาของรัฐโดยเฉพาะสถานศึกษาในเขตเมือง
โครงการดังกล่าวอ้างว่าต้องการพัฒนาคุณภาพครู แต่ในขณะเดียวกันก็บั่นทอนศีลธรรมของครูเหล่านั้น ลดคุณค่าสถานะของวิชาชีพด้านการศึกษา และมุ่งสู่ความเป็นเลิศในการพิชิตข้อสอบวัดระดับซึ่งเป็นระบบการทดสอบที่รังแต่จะสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน ซึ่งแรงกระตุ้นทั้งหมดทั้งมวลในการปฏิรูปก็มาจากสิ่งเดียว นั่นคือ ผลกำไร
14. ยิ่งสูง ยิ่งรวย ยิ่งเหลื่อมล้ำ
ประชากรสหรัฐที่ร่ำรวยที่สุด ซึ่งมีจำนวนร้อยละ 1 ของประชากรทั้งประเทศ มีการถือครองทรัพย์สินมากกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด และมีรายได้เข้าตัวเกือบ 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งประเทศ หลักฐานจากแบบยื่นขอคืนภาษีแสดงให้เห็นว่ากลุ่มอภิมหาเศรษฐี 1 เปอร์เซ็นต์เหล่านี้ประกอบไปด้วย ผู้บริหารนอกวงการการเงิน ผู้ประกอบอาชีพทางการเงิน บรรดานักกฎหมาย เจ้าของกิจการอสังหาริมทรัพย์ และอาชีพด้านการแพทย์
การที่พวกเขามีรายรับมากถึงขนาดนี้มีความเชื่อมโยงไปถึงการปรับแก้กฎหมายและการผ่อนกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งท้ายที่สุดก็นำไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเงิน จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่า ขณะที่ประชากรร้อยละ 99 กำลังทนทุกข์อยู่กับผลจากวิกฤติการณ์นั้น พวกเศรษฐี 1 เปอร์เซ็นต์เหล่านี้ก็ยิ่งร่ำรวยทิ้งห่างคนที่เหลือ เสวยสุขอยู่บนเกาะอันมั่งมีของพวกตน กีดกันคนอื่นๆ ไปไกลมากขึ้น
15. เทคโนโลยีใกล้ตัว(ร้าย)
ผลการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ปลุกความกังวลต่อผลกระทบจากเทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายอย่าง โทรศัพท์มือถือ และเตาไมโครเวฟ การรับเอาคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีความเข้มข้นเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานจะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่างๆ ซึ่งรวมถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย และอาจลดประสิทธิภาพการผลิตเชื้ออสุจิในเพศชาย เด็กในครรภ์ที่ได้รับคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ มีปัญหาแนวกั้นระหว่างสมองและเลือดเกิดรอยรั่ว และสมอง ตับ และตาเกิดมีความบกพร่อง
ส่วนการอุ่นอาหารด้วยคลื่นไมโครเวฟทำให้เกิดอนุมูลอิสระซึ่งอาจเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่ผ่านไมโครเวฟ ยังเชื่อมโยงกับการลดลงของเม็ดเลือดขาวในระยะเวลาสั้น ๆ องค์การอาหารและยาของสหรัฐยังไม่ได้ตระหนักถึงผลการศึกษาที่ระบุว่าเตาไมโครเวฟทำให้โครงสร้างทางโภชนาการของอาหารเปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกัน ผลการวิจัยต่างๆ ที่บอกว่าการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพนั้น ล้วนแล้วแต่มาจากการหนุนหลังของอุตสากรรมผลิตโทรศัพท์มือถือเอง
(ติดตาม ข่าวลำดับ 16-20 ได้ในตอนต่อไป)
**********************
(ที่มา : projectcensored.org)