แม้จะเริ่มต้นด้วยการต่อสู้กับเจ้าตลาดอีบุ๊คอย่าง Amazon ที่ครองส่วนแบ่งร้อยละ 90 ในวงการสิ่งพิมพ์ดิจิตอล แต่สิ่งที่แอปเปิลร่วมมือกับอีก 7 สำนักพิมพ์ใหญ่ทำในสหรัฐก็ถือเป็นการผูกขาดตลาดที่ผลักภาระให้ผู้บริโภคไปเต็มๆ
ด้วยรูปแบบที่แอปเปิลนำเสนอกับสำนักพิมพ์ต่างๆ ในนาม ‘agency model’ จูงใจให้สำนักพิมพ์น้อยใหญ่พากันทยอยถอนหนังสือตัวเองออกจากเว็บไซต์ Amazon เพื่อย้ายมาลงกับแอปเปิลใน iBook Store ตั้งแต่ปี 2010 ทำให้ทางสำนักพิมพ์สามารถกำหนดราคาหนังสือได้ด้วยตัวเอง ส่วนแอปเปิลก็จะได้ค่าคอมมิชชั่น 30 เปอร์เซ็นต์
ส่งผลให้ราคาอีบุ๊คในตลาดถีบตัวจาก 9.99 เหรียญสหรัฐ เป็น 12.99 หรือ 14.99 เหรียญสหรัฐอย่างไม่โปร่งใส ซึ่งถือว่าอีบุ๊คมีราคาต่ำกว่าฉบับกระดาษปกแข็งเพียงครึ่งหนึ่ง (ราคาเฉลี่ยหนังสือปกแข็งอยู่ที่ 25-35 เหรียญสหรัฐ)
กลางปี 2012 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐเป็นฝ่ายยื่นฟ้องแอปเปิลและสำนักพิมพ์อีก 7 แห่งที่ผูกขาดทางการตลาดและตั้งราคาอีบุ๊คสูงกว่าที่ควรจะเป็น ขณะนี้ 4 สำนักพิมพ์ใหญ่ที่ตกเป็นจำเลยอย่าง Penguin Group, Harper Collins, Simon & Schuster และ Hachette and Macmillan ต่างตัดสินใจยอมความนอกศาลกันไปเรียบร้อยแล้ว
หลักฐานส่วนหนึ่งที่ศาลได้รับคืออีเมลการปรึกษาหารือกันระหว่าง สตีฟ จ็อบส์ อดีตซีอีโอแอปเปิลผู้ล่วงลับ กับ เจมส์ เมอร์ดอก ประธานบริษัทฮาร์เปอร์ คอลลินส์ ทายาทเจ้าพ่อวงการสื่อสหรัฐอย่าง รูเพิร์ต เมอร์ดอก
ศาลนิวยอร์กใต้เริ่มการพิจารณาคดีนี้ไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายน โดยมีแอปเปิลเป็นจำเลยที่ 1 หากผลตัดสินออกมาว่าแอปเปิลผิดจริง สิ่งที่ต้องเสียไม่ใช่แค่เงิน แต่เป็นชื่อเสียงและยังสะเทือนต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจอีบุ๊คในระดับโลก ทั้งนี้คำตัดสินของศาลจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้แต่ละรัฐสามารถยื่นฟ้องแทนผู้บริโภคเพื่อเรียกค่าเสียหายเป็นรายรัฐได้
ที่มา: guardian.co.uk / rawstory.com