โตมร ศุขปรีชา
1
ระยะหลังมานี้ ผมมักคิดอยู่บ่อยๆ ว่า เราจะมีชีวิตอยู่ ‘ด้วยกัน’ ได้อย่างไรในโลกที่ล้วนเต็มไปด้วยบุคคลผู้ไม่ปรารถนาความสุข
อะไรคือความสุข?
สำหรับผม ความสุขคือการโอบรับสรรพสิ่งเข้าสู่จิตใจ ไม่ใช่โอบรับด้วยความมืดบอด แต่โอบรับด้วยความเข้าใจ มองเห็นถึงรากของสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหน้า
คนที่ขาดความปรารถนาจะโอบรับผู้อื่นด้วยความเข้าใจ ย่อมไม่ใช่คนที่มีความสุข
ความสุขไม่ใช่ภาวะปลื้มปิติของการ ‘ได้’ อะไรสักอย่าง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นนาฬิกาโรเล็กซ์ ไอโฟน ตำแหน่งทางวิชาการ การคิดทฤษฎีสัมพัทธภาพ หรือกระทั่งการได้ฌานสมาบัติ แต่ความสุขคือการมองสิ่งเหล่านั้นเหมือนการเปลี่ยนผ่าน เหมือนใบไม้ที่ต้องร่วงหล่นผลัดใบ เหมือนการไหลล่วงไปของสิ่งที่เราเรียกมันว่าเวลา
โอบรับสิ่งเหล่านั้นด้วยความรัก ทว่าเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าไม่มีอะไร
ติช นัท ฮันห์ เคยพูดไว้ลึกล้ำอย่างยิ่ง เป็นประโยคสั้นๆ แต่กินความลึกถึงการตีความสกลจักรวาล พระเจ้า และคำถามเรื่องชีวิต-ว่า, ไม่มีหนทางสู่นิพพาน เพราะนิพพานคือหนทาง
เรามักคิดว่า ความสุขคือความสงบเรียบร้อย เวลามีอะไรไม่สงบเรียบร้อย เราต้องออกมา ‘จัดการ’ ทักษิณ ชินวัตร เป็นความไม่สงบเรียบร้อยของคนกลุ่มหนึ่ง เด็กผู้หญิงไม่ใส่กางเกงในเป็นความไม่สงบเรียบร้อยของคนอีกกลุ่มหนึ่ง คนที่ไม่ลุกขึ้นยืนในโรงหนังเวลาเพลงสรรเสริญพระบารมีดังขึ้นก็เป็นความไม่ สงบเรียบร้อยของคนอีกกลุ่มหนึ่ง และภาพเขียนวิพากษ์ ‘คน’ ใน ‘องค์กรพุทธศาสนา’ อย่าง ‘ภิกษุสันดานกา’ ก็เป็นความไม่สงบเรียบร้อยสำหรับคนกลุ่มหนึ่งด้วย
คนแต่ละกลุ่มจึงต้องลุกขึ้นทำ ‘อะไร’ บางอย่าง เพื่อยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความไม่สงบเรียบร้อย พวกเขาทำสิ่งเหล่านั้นด้วยปรารถนาดีจะให้ความไม่สงบเรียบร้อยกลับคืนสู่สภาพ ‘ปกติ’ ที่สงบเรียบร้อย
แต่ความ ‘สงบเรียบร้อย’ คือสิ่งเดียวกับความสุขแน่หรือ?
ก็อาจจะใช่ แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับว่า เราจะตีความคำว่า ‘สงบเรียบร้อย’ ว่าคืออะไร
ในโลกที่ผู้คนปรารถนาความสุข มองดูผู้อื่นด้วยความเข้าใจ มีอุเบกขา (ที่ผมอยากแปลว่า toleration) ต่อสิ่งที่เป็นทุรยศต่อความเชื่อและตัวตนของตัวเองอย่างถึงที่สุด ปล่อยให้โลกได้ทดสอบตัวตนของคนคนนั้นอย่างถึงที่สุด และโอบรับการทดสอบนั้นด้วยความเข้าใจลึกซึ้ง โลกแบบนั้นย่อมมีความสงบเรียบร้อย
แต่นี่ไม่ใช่สมการด้านกลับ สังคมที่มีความสุขย่อมมีความสงบเรียบร้อย แต่สังคมที่สงบเรียบร้อยย่อมไม่ได้หมายถึงสังคมที่มีความสุขเสมอไป
บางทีมันอาจเป็นสังคมในหม้อน้ำเดือดที่ถูกฝาหม้อหนักๆ กดปิดอยู่ก็ได้ และอะไรก็ตามที่ต่อสู้กันอยู่ในหม้อ ก็กำลังรอเวลาให้ความดันมีมากพอจะระเบิดฝาหม้อนั้นทิ้ง ดูเผินๆ หม้อใบนั้นตั้งอยู่เฉยๆ เหมือนหม้อเปล่าๆ ใส่น้ำเย็นใส แต่กว่าจะรู้ตัว ฝาหม้อก็ถูกดันจนระเบิดออกมาเสียแล้ว
เราอยากเป็นสังคมแบบไหน
สังคมที่สงบเรียบร้อย,
หรือสังคมที่มีความสุข
2
ใครคือคนที่ไม่ปรารถนาความสุข?
คนที่ไม่ปรารถนาความสุข ก็คือคนที่มองไม่เห็นดอกไม้ที่บานอยู่ในหัวใจของคนตรงหน้า มองไม่เห็นความสวยของดอกไม้และพระอาทิตย์ยามเย็น หรือไม่ก็ไม่มีเวลาชื่นชมมัน
คนที่ไม่ปรารถนาความสุข ก็คือคนที่มองไม่เห็นว่าตัวเองดำรงอยู่บนโครงสร้างแบบไหน เมื่อไม่เห็นโครงสร้างนั้นเสียแล้ว ก็ย่อมมองไม่ออกว่าตำแหน่งแห่งหนที่ตัวเองก่อกำเนิดและดำรงอยู่นั้น กำลังกดทับลงไปบน ‘บ่า’ ของคนอื่นๆ อย่างไรบ้าง การหยิบยื่นเอื้อเฟื้อทำบุญทำทาน หรือสิ่งที่เรียกว่า ‘การให้’ ที่คนเหล่านั้นทำอยู่ จึงไม่ใช่การทำบุญอย่างแท้จริง แต่เป็นการ ‘อุปถัมภ์’ เพื่อให้การอุปถัมภ์ค้ำจุนโครงสร้างเก่าแก่ดั้งเดิมนั้นไว้ เพื่อให้ตัวเองได้สืบพันธุ์ต่อไปบนโครงสร้างแสนสบายนั้นชั่วกาล
คนที่ไม่ปรารถนาความสุข ก็คือคนที่ไม่เห็นว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกยุคทุกสมัย คนรุ่นก่อนจะตำหนิติเตียนคนรุ่นใหม่ (กว่า) เสมอ แต่ในปัจจุบัน การตำหนิติเตียนนั้นได้อัพเกรดขึ้นมาเป็นความพยายามควบคุมทุกมิติของชีวิต ด้วยวาทกรรมหลากแบบ เช่น ถ้าเด็กหญิงไม่ใส่กางเกงใน จะใช้วาทกรรมทางการแพทย์มาบอกว่าทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย แต่ถ้าเด็กชายไม่ใส่กางเกงในไม่เป็นไร ทั้งที่เด็กชายก็มีรูทวารหนักและเบา รวมทั้งระบบป้องกันตัวเองตามธรรมชาติเช่นเดียวกับเด็กหญิง และโดยพันธุกรรมศาสตร์ โครโมโซม XX ป้องกันตัวเองได้ดีกว่า XY เสียด้วยซ้ำ
คนไม่ปรารถนาความสุข คือคนที่สร้างเงื่อนไขให้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา เช่น ถ้าไม่ได้ล้างแค้นให้สาสะใจ ก็จะไม่มีวันมีความสุข ถ้าสังคมไม่สงบเรียบร้อย ก็จะไม่มีความสุข ถ้าทุกคนในโลกไม่หยุดเล่นแคมฟร็อก ก็จะไม่มีความสุข ถ้าเอานายกรัฐมนตรีลงจากตำแหน่งไม่ได้ ก็จะไม่มีความสุข แต่แม้เมื่อเงื่อนไขสัมฤทธิ์ผล ก็ดูเหมือนคนเหล่านี้จะพยายามหาเงื่อนไขต่อเนื่องต่อไปเพื่อให้ตัวเองต้อง ระกำลำบากต่อไปเรื่อยๆ จึงไม่มีวันหยุดนิ่งและมีความสุขได้
คนที่ไม่ปรารถนาความสุข มักปรารถนาการควบคุมสิ่งอื่นๆ คนรอบข้างต้องเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ ชุมชนรอบข้างต้องเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ โลกและสังคมต้องเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ แต่ที่สุดแล้ว เราควบคุมกระทั่งร่างกายของตัวเองได้ไหม เราควบคุมลมหายใจของเราเองได้ไหม
และเราเข้าใจถ่องแท้ดีแล้วหรือไม่ ว่าอุดมการณ์ที่เราต้องการให้ทุกสิ่งและทุกคนไปให้ถึงนั้น มันเป็นอุดมการณ์ที่เหมาะกับทุกคนและทุกสิ่งหรือเปล่า
หรือมันเหมาะเฉพาะกับเรา
ที่จริง สุขหรือทุกข์ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าการไปพ้นจากสุขและทุกข์
อัตตาหรืออนัตตาก็ไม่สำคัญ เรื่องสำคัญอยู่ระหว่างนั้น อยู่ที่การไปพ้นจากอัตตาและอนัตตา ทว่ามองให้เห็นความเชื่อมโยงของทั้งสอง
ระหว่างการเป็นอยู่และไม่เป็นอยู่ (To be or not to be) นั่นแหละคือปัญหา
แต่เป็นปัญหาแห่งความสุข
ความสุขในความหมายของความเข้าใจ
***********************************
(หมายเหตุ : ตีิพิมพ์ในคอลัมน์ Cramp พฤศจิกายน 2550)