โตมร ศุขปรีชา
1
เช้าวันหนึ่ง ผมนั่งเปิดจดหมายอ่านเหมือนปกติ
ด้วยหน้าที่บรรณาธิการ แต่ละวันจึงมีจดหมายต่างๆ หลั่งไหลเข้ามามากมายไม่ขาดสาย วันนี้ก็เช่นกัน กองจดหมายเป็นตั้งสูง ผมจะเปิดดูจดหมายทุกฉบับเพื่อคัดว่า จดหมายฉบับไหนควรส่งต่อให้กองบรรณาธิการคนไหน ส่วนใหญ่จะเป็นจดหมายข่าว มีตั้งแต่จดหมายบอกเล่าว่าใครกำลังทำอะไรอยู่ที่ไหนในสังคมนี้ หรือไม่ก็เป็นจดหมายเชิญชวนไปงานต่างๆ ซึ่งมีทุกวัน
แต่แล้วก็มีจดหมายฉบับหนึ่ง เป็นจดหมายเล็กๆ บางๆ แผ่นเดียว พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ธรรมดาๆ สอดมาในซองจดหมายสีชมพู เป็นจดหมายขนาดมาตรฐานของไปรษณีย์ไทย ไม่ใช่จดหมายเชิญชวนไปงานอะไร แต่เป็นจดหมายที่เขียนมาสั้นๆ ไม่ยาวนัก
เป็นจดหมายที่ส่งมาจากเมืองทางใต้
ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก เจ้าของจดหมายเคยเขียนจดหมายมาถึงผมครั้งหนึ่ง ตอนนั้นเธอเล่าถึงชีวิตที่โน่นให้ฟัง ว่าต้องดำรงอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมากมายแค่ไหน ความขัดแย้งนั้นคล้ายโยงเธอเข้าหาสัจธรรมสูงสุดของชีวิต นั่นก็คือการยอมรับในความเป็นไปของสรรพสิ่ง เพราะไม่รู้เลยว่าจะทำอะไร-อย่างไร เพื่อต่อสู้ต่อรองกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้
เหมือนใบไม้ที่ถูกคลื่นซัดอยู่กลางทะเล มันไม่รู้ว่าทะเลคืออะไร คลื่นโหมนั้นเกิดจากอะไร ใครทำให้เกิดคลื่นลม หรือเป็นทับถมอันยาวนานของปฏิสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์ที่ใบไม้ไม่เคยรับรู้มาก่อน
ใบไม้เคยเป็นเพียงดอกผลที่ผลิแตกอยู่บนซากประวัติศาสตร์นั้นเท่านั้น แต่วันนี้มันต้องปลิดปลิวลงมาอยู่กลางทะเลเคว้งคว้าง และยอมตัวให้กับอิทัปปัจยตาอันยิ่งใหญ่
มีวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำได้-นั่นก็คือยอมรับ และอยู่กับมัน
ประโยคหนึ่งในจดหมายฉบับแรกเขียนไว้ว่า
…ที่นี่เราอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีชีวิตอยู่หรือไม่…
ไม่นานหลังส่งจดหมายนั้นมา ผู้เขียนก็ได้พบว่า ชีวิตเป็นเรื่องยากเย็นมากขึ้นอีกมหาศาล
เมื่อ พรุ่งนี้ ได้มาถึง…
2
จดหมายฉบับที่สองเขียนมาเรียบง่าย บอกเล่าว่าผู้เขียนจดหมายและครอบครัวได้สูญเสียพ่อไปเสียแล้วหลังส่งจดหมายฉบับแรกมาไม่นาน พ่อถูกใครก็ไม่รู้ 3-4 คนลงมาจากภูเขา แล้วยิง แม้ปืนของพ่อจะเหน็บอยู่ที่เอว แต่ปืนก็ช่วยอะไรพ่อไม่ได้ คนเหล่านั้นตัดศีรษะพ่อไป และยิงเพื่อนของพ่อด้านหลัง ก่อนจ่อยิงที่ศีรษะซ้ำอีกครั้ง
ผมอ่านจดหมายนั้นซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า และอดคิดถึงเจ้าของจดหมายไม่ได้ว่าเธอและครอบครัวจะทุกข์ทรมานใจขนาดไหนกันหนอ
จดหมายฉบับนี้วางกองรวมอยู่กับจดหมายอื่นๆ มากมาย ฉบับหนึ่งเป็นจดหมายซุบซิบหนังเรื่องใหม่ อีกฉบับแนะนำผลิตภัณฑ์ความงามเซ็ตใหม่ที่บอกเป็นนัยๆ จากชื่อว่าใช้แล้วจะทำให้ผู้หญิงฉลาดขึ้น, บางฉบับก็เป็นข่าวเสวนาของไฮโซ ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ดี (ที่แปลว่ารวย), จนถึงข่าวปรับเก้าอี้ชั้นหนึ่งของสายการบินให้ได้สะดวกสบายเหมือนอยู่บนสวรรค์, ไม่นับรวมจดหมายข่าวจากคอนโดฯหรู, บัตรเชิญไปร่วมงานกาลาดินเนอร์เปิดสปาใหม่, แฟกซ์เชิญไปดูคอนเสิร์ต, ชวนไปเที่ยวต่างประเทศเพื่อนำมาเขียนโปรโมทการท่องเที่ยว, ข่าวร้านเฟอร์นิเจอร์หรูนำเข้าโซฟาตัวใหม่ราคาเกือบหกแสนบาท และเทคนิคการแต่งหน้าแนวใหม่จากเครื่องสำอางแบรนด์เก๋ที่ทำลายการ์ตูนน่ารัก
จดหมายเหล่านี้มีปริมาณมากมายมหาศาลในแต่ละวัน เหมือนสังคมนี้มีความเคลื่อนไหวมากมาย ใครๆ ก็ลุกขึ้นทำอะไรบางอย่างกันอยู่เสมอ
แต่ด้วยเป้าหมายใดกันเล่า
ผมนั่งมองจดหมายเหล่านั้น และอดสงสัยไม่ได้ว่า พวกเขารู้หรือไม่หนอ ว่าความหมายของสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่คืออะไร
เป้าหมายแห่งชีวิตของพวกเขาคืออะไร
ความสุขแห่งชีวิตของพวกเขาคืออะไร
พวกเขารู้ไหมว่า ปัจจุบันขณะคืออะไร การอยู่กับปัจจุบันขณะคืออะไร และมันเป็นไปได้ยากเย็นแค่ไหน ในเวลาที่เราต้องสูญเสียคนที่เรารักไปกับอดีตกาลอย่างไม่อาจหวนกลับ
หรือคนเหล่านี้ล้วนใช้ชีวิตอยู่ในอนาคต พวกเขาวางแผนงาน เชิญชวนผู้คน ส่งข่าว สร้างตัวตนให้โด่งดัง ขายผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองคิดว่าดีให้กับสังคม จนไม่สามารถเข้าใจสิ่งอื่นใดได้อีก เพราะชีวิตของพวกเขามีแต่เรื่องพวกนี้เท่านั้น
เปล่าครับ-ผมไม่ได้กำลังจะกล่าวหาว่า คนเหล่านี้กำลังทำสิ่งผิด เพราะหากมองจากกรอบเกณฑ์แบบทุนนิยม พวกเขาก็ถูกต้องเหลือเกิน ถูกต้องแล้วที่แก่งแย่งดีกัน เบียดบังพื้นที่ ชิงกันนำเสนอตัวเอง
ทั้งหมดนี้จึงไม่ใช่การชี้นิ้วกล่าวหาใครว่าทำอะไรผิด เพียงแต่, เพื่ออะไรกันเล่า?
ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า จดหมายมากมายเหล่านั้นเคยสนใจจดหมายเล็กๆ ฉบับหนึ่งบ้างไหม และจดหมายมากมายเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ใดกับจดหมายเล็กๆ ฉบับนั้นหรือเปล่า
มันตัดขาดและแยกห่างจากกันขนาดนั้นเลยหรืิอ
มันตัดขาดและแยกห่างจากกันได้จริงหรือ
เราตัดขาดและแยกห่างจากกันได้จริงหรือ
เราแต่งหน้าทาปากระเริงราตรีแสงสีไฮโซจัดอีเวนท์โก้หรูได้ด้วยหัวใจที่เริงร่ารื่นรมย์อันแท้จริงหรือ ในเมื่อยังมี ‘เรา’ อีกบางผู้ ที่ต้องสาหัสอยู่กับความพยายามจะกลับมาดำรงอยู่ให้ได้…กับปัจจุบันขณะ
ผมควรจะทำอะไร-อย่างไร
คุณควรจะทำอะไร-อย่างไร
และเราควรจะทำอะไร-อย่างไร
นั่นคือคำถามที่แต่ละคนต้อง ‘กล้า’ หาคำตอบให้กับตัวเอง
***********************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Cramp สิงหาคม 2550)