เรื่อง : คีรีบูน วงษ์ชื่น
เมื่อคืน ฉันไปดูหนังที่คุณเล่นมาค่ะ นึกไม่ถึงเลยว่า ฉันจะได้ดูหนังที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มแท้ๆ อีกครั้งในยุคสมัยนี้ มันเป็นความตื่นเต้นแรกๆ เลยทีเดียวที่ทำให้ฉันอยากไปดูหนังที่คุณเล่น และจะขอข้ามประเด็นออสการ์นั่นไปนะคะ มันไม่ได้สำคัญกับฉันเท่าไหร่นักหรอก (แต่ถึงยังงั้น…ฉันก็อดจะดีใจไปกับคุณด้วยไม่ได้อยู่ดี)
ตลอดเวลาที่เห็นคุณในหนัง ได้ชมการแสดงของคุณ ได้เห็นสีหน้า แววตา รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะที่ไม่ได้ยินด้วยหูสองข้าง ตลอดจนท่าทางการแสดงออกที่ฉัน เรา-คนร่วมยุคสมัยอาจจะไม่เคยคุ้ยเท่าไหร่นัก…บอกความลับให้ก็ได้ค่ะ ฉันน่ะออกจะขำอยู่สักหน่อยตลอดเวลาที่นั่งชมหนังของคุณ แต่มันเป็นอาการขำที่ฉันคิดว่าน่าจะมาจากการที่มันทำให้ฉันคิดถึงการนั่งดูหนังเงียบแบบนี้ของตัวเองในวัยเด็กขึ้นมา
เวลานั้นมันเป็นยังไงน่ะเหรอ…อืม จำได้ว่า ฉันกับพี่ชายอีกสองคนช่วยกันยกทีวีจากห้องด้านล่างขึ้นมาไว้ในห้องนอน เราปิดหน้าต่างทุกบานด้วยผ้าห่ม ทั้งห้องมืดสนิท นั่น-คือโรงหนังในวัยเด็กของเรา
หนังเรื่องแรกๆ ที่ได้ดู น่าจะเป็นหนังของชาร์ลี แชปลิน ล่ะมั้ง ต่อจากนั้น เราก็ยังได้ดูหนังเงียบกันต่อมาอีกหลายเรื่อง ที่ไม่ใช่หนังตลก (ปนเศร้า) แบบหนังของชาร์ลี แต่ออกจะเป็นเรื่องเศร้าเคล้าน้ำตา ดราม่าสุดๆ (แบบหนังที่คุณเล่นนั่นแหละ) แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ฉันกับพี่ชายก็ยังสนุกสนานเพลิดเพลินกับการได้ดูหนังประเภทนั้นอยู่ดี-หมายความว่า เราอาจจะยังไม่ประสีประสาพอในความดราม่าของหนังกันขนาดนั้น…เราดูเพราะรู้สึกสนุกที่ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย เราสนุกกับการอ่านสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ แม้กระทั่งการอ่านริมฝีปากของตัวละคร สนุกที่ทุกคนในหนัง พูด เดิน หัวเราะ และทำอะไรๆ ทุกอย่างก็ดูจะเกินกว่าสปีดในชีวิตจริง…
เสียงหัวเราะแบบนั้นของเราสามพี่น้อง มันเหมือนจะดังกึกก้องขึ้นมาอีกครั้ง…ในค่ำคืนที่ได้ดูหนังของคุณ
แล้วในห้วงเวลาต่อมานั้น คุณก็ทำให้ฉันคิดถึงพ่อ…คุณทำให้ฉันคิดถึงยุคอันสว่างเรืองรองของหนังไทย-ที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. ตอนที่ฉันยังเป็นเด็ก (และนั่นมันทำให้ฉันได้รู้จักกับฟิล์มโกดัก อั๊กฟ่า ฟูจิ และโคนิก้า) คุณทำให้ฉันคิดถึงกระเป๋าใส่ฟิล์มใบใหญ่ หนักอึ้ง ที่มักจะวางอยู่ข้างโต๊ะทำงานของพ่อเสมอ คุณทำให้ฉันคิดถึงบรรยากาศในกองถ่ายหนังอันน่าเบื่อหน่าย (ร้อน เสียงดัง วุ่นวาย และมากมายปัญหา) คุณทำให้ฉันคิดถึงโรงหนังเฉลิมไทยตรงถนนราชดำเนิน คุณทำให้ฉันคิดถึง…ยุคตกต่ำที่สุดของวงการหนังไทย
ภาพคุณเซ็นเช็คใบแล้วใบเล่า ภาพคุณนั่งดื่มเหล้าจนตาแดงก่ำ ภาพความผิดหวังพ่ายแพ้กับชีวิต นั่น…มันช่างดูคล้ายเพิ่งจะผ่านตาฉันไปเมื่อไม่นานนี้เอง มันซ้อนทับตัดสลับไปมาระหว่างการนั่งดูหนังของคุณ-ภาพในชีวิต…เมื่อวันวาน…ชัดเจนและช่างเหมือนจริง
คงไม่ต้องพูดอะไรมากไปกว่านี้อีกแล้ว หนึ่งร้อยนาทีเต็มนั้น ช่างอิ่มเอม และหอมหวานสำหรับฉันเหลือเกิน…
และบางที หลังจากวันนี้แล้ว ฉันอาจจะลองเขียนจดหมายแบบนี้ขึ้นมาอีกสักฉบับก็ได้…
เขียนถึงพ่อของฉันเองน่ะ เอ…หรือฉันจะลองเขียนมันซะตอนนี้ให้คุณลองอ่านดูก่อนเล่นๆ
ลองดูก็แล้วกันนะ …
ถึง…พ่อ
ที่จริงฉันคิดว่าพ่อไม่ได้พ่ายแพ้หรอก บางที อาจไม่ใช่เรื่องของการยอมจำนนอะไรนั่นด้วย ฉันว่าพ่อเป็น ‘ศิลปิน’ นะ อย่างน้อยก็ในสายตาฉัน และพี่ชาย ไม่ว่าอะไรๆ ในโลกนี้มันก็ล้วนแต่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง สลับเก่าไป-ใหม่มาอยู่ตลอด เป็นอนิจจัง (ซึ่งพ่อเองก็คงเข้าใจในเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว)
แต่ที่ฉันอยากจะบอกกับพ่อก็คือ พ่อยังคงเป็น ‘ศิลปิน’ สำหรับพวกเรา (ฉัน และพี่ชาย) เสมอมา…และก็จะเป็นไปจนตลอดนั่นแหละ
พ่ออาจไม่ได้ทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้โลกจดจำ แค่พ่อยังคงทำงานของพ่อ เชื่อ รัก และทำมันออกมาให้พวกเราเห็นอยู่เสมอ…และนั่นเอง ที่มันทำให้ฉันเชื่อว่า ศิลปินที่แท้จริงจะสร้างงานขึ้นมาจากความรัก และความรักก็คือ ‘ศิลปิน’ ที่แท้จริงด้วยเช่นกัน
ฉันคิดว่า พ่อ ก็คงจะเชื่อเช่นนั้นนะ…
…
คงจะประมาณนี้มั้งคะ ที่ฉันอยากจะบอกกับพ่อ อ้อ ฉันเองก็อยากจะบอกแบบนี้กับคุณด้วยเหมือนกันนะ
ก่อนจะต้องร่ำลาคุณตรงนี้ ยังคงมีอีกเรื่องสำคัญ ที่อยากจะบอกกับคุณ…
ฉันเชื่อว่าการมีใครสักคนคอยอยู่เคียงข้างเรานั้น นับเป็นเรื่องวิเศษสุดเรื่องหนึ่งของการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ค่ะ
ในกรณีของคุณ-จอร์จ…คุณมีเป๊ปปี้ มิลเลอร์ ไงคะ
ส่วนพ่อของฉัน ก็ยังคงมี แม่…เช่นกัน
สุดท้าย, ขอบคุณสำหรับหนังและการแสดงอันยอดเยี่ยมของคุณ ที่ฉันคงจะไม่มีวันลืม…
ป.ล. 1 ฉันชอบฉากสุดท้ายมากที่สุดด้วยค่ะ ที่คุณกับเป๊ปปี้เต้นแท็ป…มันทำให้ฉันยิ้มตามพวกคุณไปด้วยจนจบ…
ป.ล. 2 ฉันเสียน้ำตาให้กับหนังของคุณไปหลายหยดทีเดียว… และโดยเฉพาะทุกครั้งที่เจ้าหมานั่นเข้าฉากน่ะ มันทำให้ฉันคิดถึงหมาตัวแรกที่เคยเลี้ยงขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้จริงๆ
ขอบคุณคุณอีกครั้งนะคะ…จอร์จ วาเลนติน
ฉันเอง (ผู้ชมแถว-E1)
*******************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์เรื่องเล็กในหนังใหญ่ มีนาคม 2555)