ที่นี่ รับสมัครด่วน!

เรื่อง : ลีน่าร์ กาซอ, กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

คำพยากรณ์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่เคยฟันธงว่า ประชากรไทยจำนวนมหาศาลจะตกอยู่ในสภาพไร้อาชีพ และบัณฑิตจบใหม่เหยียบล้านกำลังจ่อคิววิจัยฝุ่น กระทั่งอัตราการว่างงานทั่วโลกที่จะพุ่งทะลุ 210 ล้านคน ตอนนี้กำลังเผยโฉมหน้าออกมาเรื่อยๆ แบบไม่ต้องรอใครมาคอนเฟิร์ม

พิสูจน์ได้จากตัวเลขการเลย์ออฟคนงานออกเป็นว่าเล่นของหลายๆ บริษัท เล่นเอามนุษย์เงินเดือนหนาวๆ ร้อนๆ กันเป็นทิวแถว

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้สาเหตุไปที่วิบากกรรมทางเศรษฐกิจที่ลากยาวข้ามปี ทำให้ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องลดขนาด จนถึงขั้นปิดกิจการ ปริมาณคนจากทั่วทุกสารทิศที่เคยหลั่งไหลเข้าไปขุดทองในภาคแรงงานดังกล่าว จึงตกอยู่ในภาวะชะงักงัน กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศที่หลายภาคส่วนเร่งผลักดันมาตรการรองรับออกมาเป็นระยะ

คนในภาคอุตสาหกรรมกำลังจะแย่ แล้ว ‘คน’ ในอาชีพอื่นมีสภาพเป็นอย่างไร?

นานมาแล้ว ภาคอุตสาหกรรมถูกคาดหวังว่าจะเป็นฟันเฟืองตัวใหญ่ในการขับเคลื่อนประเทศ ในขณะที่หลายสาขาวิชาชีพกลับถูกวางไว้นอกสายตา และอาจถึงขั้นกำลัง ‘ป่วยหนัก’ ขาดการสนับสนุน รวมถึงขาด ‘บุคลากร’ ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ

โมเดลชัดๆ อยู่ตรงคำถามที่ว่า ถ้าไม่มีคนอย่าง ดร.สมิทธ ธรรมสโรช เราจะตระหนักถึงความสำคัญของชีวิตก็ต่อเมื่อไปลอยคออยู่ในคลื่นยักษ์นามสึนามินั่นแล้วใช่ไหม
หรือกระทั่ง ถ้าไม่ได้ทำอาชีพในฝัน ยิ่งชังมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องมีตัวเลขในบัญชีตอนสิ้นเดือนมากเท่านั้น

มิพักต้องพูดถึงทัศนคติด้านอาชีพ (ที่ทำเงิน) ของคนรุ่นใหม่ ที่ผู้หลักผู้ใหญ่กังวลว่าจะสะกดเป็นแค่ ‘นักร้อง’ กับ ’นักแสดง’

แล้วคุณล่ะ สรุปได้หรือยังว่าอาชีพในฝันของตัวเองคืออะไร

ไม่ต้องใจร้อน บรรทัดถัดจากหน้านี้ไป คือเรื่องเล่าจาก ‘คน’ ในบางแวดวง เพื่อฉายภาพปรากฏการณ์บางอย่างที่ ‘คนนอก’ อาจคาดเดาไปไม่ถึง

ย้ำว่าเป็นเพียงจำนวนน้อยนิด เมื่อเทียบกับพื้นที่สาขาอาชีพอีกมากที่ถูกละเลย

หรือใครจะเหมาว่าเป็นการแนะแนวอาชีพ

…ก็ไม่ว่ากัน

 

01 นักพันธุวิศวกรรม

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ: ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS)

 

 

 

เรื่องมีอยู่ว่า

ดร.ฮวน เอนริเกซ เจ้าของหนังสือขายดีระดับโลก ‘เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ’ (As the Future Catches You) และผู้อำนวยการก่อตั้งโครงการชีววิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เคยฟันธงไว้ว่า พันธุศาสตร์จะทรงอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของผู้คนและส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโลก ภายในทศวรรษนี้ ถึงขนาดบอกว่า 3 ใน 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก จะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับชีววิทยาศาสตร์

เห็นทีว่าจะเป็นไปได้สูง เพราะเทคโนโลยีชีวภาพถูกกล่าวขานว่าจะมาแรงแซงทางโค้งกลายเป็น‘คลื่น’ ลูกต่อไปสำหรับเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพิงฐานความรู้ ถัดจากเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศ

ยังไม่ต้องมองไกล เอาแค่ใกล้ๆ ตัวก็เห็นได้ว่า เทคโนโลยีชีวภาพมีส่วนร่วมอยู่ในแทบทุกอณูของการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งชัดเจนเข้าไปใหญ่เมื่อประเทศไทยริเริ่มจัดงาน ‘ไบโอเอเชีย 2008’ เพื่อแสดงผลงานด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และข้อมูลทางวิชาการทางพันธุศาสตร์ ที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการและนักวิจัยได้พบปะกับนักลงทุนและนักธุรกิจที่เก่งกาจ ในการนำงานวิจัยเข้าตลาดพาณิชย์ สร้างแรงหนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีชีวภาพของเอเชียอย่างเต็มที่ เพราะมูลค่าในตลาดเอเชียมีถึงประมาณ 1,530 พันล้านบาท

ตัวเลขมันโก้ไม่หยอกเลยทีเดียว

เอาล่ะ…เหมือนว่าอนาคตแวดวงพันธุวิศวกรรมบ้านเราจะสดใส ไม่น่าห่วง เพราะมีการสนับสนุนซะขนาดนี้ แต่ในอีกด้านของการจัดงานไบโอเอเชียก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า แรงขับในการสร้างงานของนักวิจัยยังเร่งสปีดไม่ขึ้น ถึงขั้นที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พรชัย ตบโต๊ะผางแล้วบอกว่านักวิจัยบ้านเรามีน้อย รวมถึง…

…’ยังซ่าไม่พอ’

 

ปัญหาของนักพันธุวิศวกรรม

ปัญหาหนึ่งที่ทั้ง ดร.เอนริเควซ เห็นพ้องต้องกันกับ ดร.พรชัย คือ ปริมาณงานวิจัยหรือกระทั่งนักวิจัยของไทยยังคงมีน้อย แม้ไม่นับรวมประเทศสิงคโปร์ ถึงไทยจะมีงานวิจัยมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย แต่ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่มีขนาดและปริมาณคนใกล้เคียงกัน เห็นชัดๆ คือประเทศฝรั่งเศส

ดร.พรชัย ระบุว่า ตัวเลขนักวิจัยของไทยโดยประมาณมีเพียง 10-20 คนต่อประชากร 10,000 คน ในขณะที่ฝรั่งเศสมีถึง 90 คนต่อตัวเลขจำนวนประชากรเดียวกัน ยิ่งผลงานวิจัยทั้งที่ตีพิมพ์เป็นบทความและสิทธิบัตร ยังคงมีสัดส่วนเพียงหลักร้อย ในขณะที่ต่างประเทศมีถึงหลักหมื่น

ทั้งหมดนี้ หาได้เป็นเพราะขาดแคลนเงินทุน เพราะประเทศไทยมีฝ่ายบริหารจัดการและเงินทุนเพียงพอสำหรับสนับสนุนทุกงานวิจัย แต่สิ่งที่ประเทศไทยขาดคือมวลวิกฤติ หมายถึงขาดจำนวนคนที่หนาแน่นพอจะสร้างแรงปฏิกิริยาให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ ดร.พรชัย บอกว่า ยังไม่ค่อยปรากฏนักวิจัยที่กล้าบ้าบิ่นพอจะคิดหรือวางแผนโครงการที่ใหญ่โต ประเภท ‘Big dream’ ซึ่งจะมีผลใหญ่หลวงต่อการพัฒนาแวดวงวิชาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ

 

ภาพที่วาดฝัน

หลังจากงานไบโอเอเชีย ดร.พรชัยได้วาดหวังว่า นักวิจัยไทยจะมีแรงกระตุ้นในการคิดสิ่งใหม่ สร้างแรงบันดาลใจในการทำวิจัยอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องการบริหารจัดการ  เพราะในส่วนนี้ได้มีการรองรับไว้อยู่แล้ว เช่น การจัด Science park สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็เป็นหนึ่งหนทางที่ได้เชื่อมต่องานวิจัยไปสู่การลงทุน

เมื่อมีการคิดค้นงานวิจัยได้มาก บ้านเราก็จะมีองค์ความรู้เป็นของตนเอง และลดการสูญเงินจำนวนมากเพื่อแลกกับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

 

02 นักอุตุนิยมวิทยา
ดร.สมิทธ ธรรมสโรช: ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

เรื่องมีอยู่ว่า

หน้าที่หลักของนักอุตุนิยมวิทยาคือการพยากรณ์สภาพอากาศ

ไม่ใช่เพียงแค่ทำนายเรื่องร้อน หนาว ฝนตก แดดออก หรือความสูงของคลื่นในทะเล แต่ยังรวมไปถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจสั่นสะเทือนหัวใจใครหลายคนเมื่อมันก่อตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพายุ ดินถล่ม น้ำท่วม แต่ในอดีต เรามักติดภาพนักอุตุนิยมวิทยาที่ออกมาจ้อตามหน้าจอโทรทัศน์รายวันเท่านั้น

นอกเหนือจากการทำนายสภาพอากาศแล้ว ความรู้ทางอุตุนิยมวิทยายังแฝงตัวอยู่ในหลายสาขาวิชาชีพ โดยทำตัวเป็นเหมือนผู้ช่วยที่คอยสนับสนุนให้สายงานต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งด้านอุตสาหกรรมการบินที่ต้องพึ่งพาการคาดเดาสภาพอากาศที่แม่นยำ กระทั่งงานที่หลายคนมองว่าหมู อย่างการเพาะปลูกที่ต้องอาศัยการวัดอุณหภูมิของดินให้เหมาะสม

กระนั้น ศาสตร์ในวิชาชีพนี้กลับถูกละเลย จนกลายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วในสายตาคนทั่วไป เมื่อเทียบกับภาพรวมที่ออกมา

จนเมื่อคลื่นยักษ์สึนามิถล่มชายฝั่งภาคใต้ปลายปี 2547 การตระหนักถึงความสำคัญในวิชาอุตุนิยมวิทยา ถึงได้กระเพื่อมออกเป็นวงกว้าง พร้อมๆ กับชื่อของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ที่ดังชั่วข้ามคืน

หลังจากนั้น แสงไฟจึงค่อยกลับมาส่องให้เห็นถึงความสำคัญของนักอุตุนิยมวิทยาและสาขาวิชาด้านนี้มากขึ้น เห็นได้จากการออกมาตรการรองรับและการเตรียมอุปกรณ์ตรวจวัดการเฝ้าระวัง รวมถึงระบบการเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยง จนผู้หวังดีกังวลว่ามันเป็นแค่ไฟไหม้ฟาง

วัดได้จากประสบการณ์ของ ดร.สมิทธ ที่พบเจอแต่เสียงก่นด่าไม่เว้นแต่ละวัน จากการออกมาพยากรณ์ภัยพิบัติในหลายๆ เหตุการณ์ ส่งผลให้เห็นว่าปัญหาสำคัญกลับอยู่ที่การเผยแพร่ข้อมูลเพื่อเตือนประชาชน ด้วยแรงเสียดทานอย่างหนักที่สังคมมีต่อคำพยากรณ์ของนักอุตุนิยมวิทยา ที่เห็นว่าการท่องเที่ยวสำคัญกว่าชีวิต รวมถึงยังถูกมองว่าคนในอาชีพนี้ สู้อีกหลายอาชีพไม่ได้ อนาคตของนักทำนายพิบัติภัยจึงยังริบหรี่เต็มที

 

ปัญหาของนักอุตุนิยมวิทยา

หลายครั้งหลายหนที่คนขวัญอ่อนไม่สามารถทนรับต่อความจริงที่ประเทศต้องเผชิญในเรื่องของภัยพิบัติ ทำให้ผู้ออกมาบอกกล่าวข่าวสารล่วงหน้าถูกโจมตีอย่างรุนแรง แม้ว่าเป้าประสงค์เป็นแค่การมุ่งหวังให้เกิดการเตรียมพร้อมก็ตาม
นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แวดวงอุตุนิยมวิทยาไทยยังไม่อาจเทียบชั้นต่างประเทศได้ แม้มีอุปกรณ์ทันสมัยอยู่ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ ดร.สมิทธ บอกว่าสำคัญที่สุดสำหรับแวดวงนี้ คือการขาดแคลนคนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง เพราะการทำงานด้านนี้ต้องใช้องค์ความรู้หลากหลายมาประยุกต์เข้ากับองค์ความรู้ที่ต้องศึกษาเป็นพิเศษ กระทั่ง ‘คนใน’ เองก็ยังไม่ค่อยมองเห็นความสำคัญของงานที่ทำ

อีกทั้ง แรงสนับสนุนจากภาครัฐยังมีน้อยมาก ดร.สมิทธ ชี้ให้เห็นค่าตอบแทนที่ยังต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จึงไม่เกิดการสร้างแรงบันดาลใจในการเข้ามาศึกษาเรียนรู้

พูดง่ายๆ คือ เป็นศาสตร์ที่เรียนยาก และขาดไร้แรงจูงใจโดยสิ้นเชิง

 

ภาพที่วาดฝัน

ดร.สมิทธ กล่าวว่า ต้องมีการผลิตบุคลากรด้านอุตุนิยมวิทยาออกมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยกำหนดหลักสูตรอบรมเพื่อสร้างนักอุตุนิยมวิทยาที่เชี่ยวชาญจริงๆ บนฐานของการสร้างแรงจูงใจ ทั้งเรื่องรายได้ รวมถึงการให้ความสำคัญจากทั้งสังคมและภาครัฐ
นอกจากนี้ ยังต้องปรับวิธีทำงานให้เข้าสู่การเตรียมรับมืออย่างแข็งขันแต่เนิ่นๆ แทนที่จะเป็นแบบ ‘วัวหายล้อมคอก’ เหมือนที่ผ่านมา

 

 

03 นักวิทยาศาสตร์

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์: อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

 


เรื่องมีอยู่ว่า

ในหลายประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมมักเดินควบคู่ไปกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุมมองของประเทศไทยเองก็ไม่แตกต่าง จากที่เคยมีการหนุนหลังเต็มที่ให้เด็กๆ เข้าเรียนวิทยาศาสตร์ รวมถึงมีการจัดกิจกรรม นิทรรศการระดับชาติที่เน้นหนักไปทางการส่งเสริมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ลากโยงไปถึงการส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ จนคว้าสารพัดเหรียญมาเชยชมให้ผู้ปกครองปลาบปลื้มกันถ้วนหน้า

ด้วยบุคลิกของนักวิทยาศาสตร์ที่ดูเฉลียวฉลาด บนพื้นฐานความคิดเป็นเหตุเป็นผล ช่างสงสัย ใฝ่รู้ ยิ่งทำให้บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองเต็มใจอย่างยิ่งให้ลูกหลานก้าวเดินเข้าสู่วงการนี้

ก็แหม…ใครบ้างไม่อยากให้ลูกฉลาด

แม้การเรียนวิทยาศาสตร์จะดูเหมือนมีพรมแดงปูยาวรออยู่ ทั้งการสนับสนุน จนถึงจำนวนคนเรียนที่ล้นหลาม แต่ในความเป็นจริง กลับพบว่าประเทศไทยประสบภาวะขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ที่จะทำการศึกษา ค้นคว้า เพื่อคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ๆ หรือประยุกต์เทคโนโลยีที่ถ่ายทอดมาจากต่างประเทศให้เหมาะสมกับสภาพการพัฒนาในประเทศ

ศ.ดร.ไพรัช กล่าวว่า บ้านเรามีนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์น้อยกว่าประเทศอื่นนับสิบเท่า

คำถามคือ นักวิทยาศาสตร์ไทยหายไปไหน? เด็กเก่งที่กวาดเหรียญรางวัลระดับโลกเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ถูกดองเค็มหรืออย่างไร

 

ปัญหาของนักวิทยาศาสตร์

ค่าตอบแทนต่ำกลายเป็นปัญหาสำคัญ ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไทยสะบัดก้นหนีออกนอกประเทศซึ่งให้ค่าตอบแทนที่เย้ายวนกว่า มีพื้นที่ในการใช้ความรู้ความสามารถทางศาสตร์ด้านนี้มากกว่า

ศ.ดร.ไพรัช บอกว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยถูกทำให้เป็นความรู้ ‘วงนอก’ โดยไม่มีเชื่อมโยงกับฐานความรู้ด้านอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจหรือสังคม ทั้งที่วิทยาศาสตร์สามารถนำมาใช้พัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในประเทศ หรือสร้างเทคโนโลยีใช้เองโดยไม่ต้องยืมจมูกชาวบ้านหายใจ

ด้วยเหตุนี้ แทนที่นักวิทยาศาสตร์จะมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม จึงกลายเป็นแค่ผู้ผลิตองค์ความรู้ที่ถูกกล่าวหาว่า พูดไม่รู้เรื่องและหมกมุ่นอยู่แต่ในห้องแล็บ

การมุ่งผลิตนักวิทยาศาสตร์ไทยจึงแทบได้ผลเป็นศูนย์

 

ภาพที่วาดฝัน

สั้นๆ ง่ายๆ เพียงข้อเดียวที่ ศ.ดร.ไพรัช ต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุด คือ การใช้วิทยาศาสตร์ควบคู่กับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมให้มากขึ้น เป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปอุดช่องโหว่ในสังคมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

นั่นจะเป็นการเพิ่มบทบาทให้นักวิทยาศาสตร์ไทย และยังสามารถลดปัญหาสมองไหลออกนอกประเทศได้อีกด้วย

 

 

04 ผู้ประกอบการ

วัลลภ พิชญ์พงศ์ศา : นครหลวงค้าข้าว

วัลลภ พิชญ์พงศ์ศา


เรื่องมีอยู่ว่า

ตัวเลือกแรกๆ ที่คนส่วนใหญ่มักหยิบฉวยยามล้มเหลวจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน คือสะบัดทิ้งการตอกบัตรเช้าเย็น เข้าสู่การเป็นเจ้าของกิจการ ส่วนจะเล็กใหญ่นั้น แล้วแต่ความสามารถ (ทั้งกำลังทรัพย์และกำลังสมอง) สยามประเทศจึงเต็มไปด้วยผู้ประกอบการตั้งแต่นั่งกระดิกเท้าอยู่บนตึกสูง จนถึงขนาดเล็กที่ผุดอยู่ทั่วทุกมุมเมือง

ในที่นี้ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนสังคม ด้วยผลผลิตที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของผู้คนโดยตรง ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน หรือที่เรียกตามศัพท์แสงว่า Consumer Product

ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงการคำนึงถึงตัวเลขกำไรขาดทุน วัลลภ เจ้าของผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ ชี้สัจธรรมว่า การทำธุรกิจคือการแสวงหากำไรสูงสุด (Maximize profit) ด้วยเหตุนี้ ทำให้เหล่าพ่อค้าถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านคุณภาพของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต

ตัวอย่างชัดๆ กรณีเมลามีนเจือปนนม ลามเข้าไปสิงอยู่ในอาหารสัตว์ ผู้ประกอบการจึงคล้ายเหมือนถูกโยนบาป และถูกทวงถามความรับผิดชอบกันอย่างกว้างขวาง คำเท่ๆ อย่าง Corporate Social Responsibility: CSR หรือผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) จึงเป็นเหมือนคาถาของนักธุรกิจรุ่นใหม่ไปโดยปริยาย

แต่มันจะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน

 

ปัญหาของผู้ประกอบการ

ไม่อาจปฏิเสธ ในระบบทุนนิยมที่นับถือเงินเป็นใหญ่ ภาคธุรกิจเป็นฟันเฟืองสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิต แม้ตระหนักในส่วนนี้ดี แต่ยังมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งคงกำหนดแนวทางหรือวิสัยทัศน์ที่แม้จะมองว่าเหมาะสม ฉลาด แต่ในอีกทางหนึ่ง กลับไม่ค่อยแยแสกับสิ่งที่ตัวเองผลิต ทั้งในเเง่คุณภาพและกระบวนการ ว่ามันได้ทิ้งสิ่งใดให้แก่สังคม

ถึงอย่างนั้น การปรับวิสัยทัศน์ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบริษัท ด้วยธุรกิจแต่ละอย่างย่อมมีหนทางการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน จึงค่อนข้างยากที่จะเปลี่ยนแปลงให้ผู้ประกอบการทุกรายรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ตระหนักถึงผลกระทบจากการผลิต

เรื่องเงิน มันเข้าใครออกใครเสียที่ไหน

 

ภาพที่วาดฝัน

วัลลภหวังไว้ว่า แนวทางของผู้ประกอบการในอนาคตควรกำหนดขึ้นบนฐานของการสนใจเรื่องราวทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กับการดูแลกลุ่มคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับองค์กร หมายรวมทั้งคู่ค้า ผู้ผลิต และผู้บริโภค

ไม่รู้ว่าเราพอจะฝากผีฝากไข้ไว้กับภาคธุรกิจซึ่งมีขนาดใหญ่รองจากภาครัฐได้บ้างไหม

 

 

05 คนทำหนังสือ

มกุฏ อรฤดี: สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

 

 

เรื่องมีอยู่ว่า

มกุฏ อรฤดี เป็นคนทำหนังสือด้วยหัวใจ พูดให้ดูโก้คือไม่หลอกลวงคนอ่าน พูดให้โก้กว่านั้นอีกคือ ในบรรดาคนทำหนังสือเล่มหรือพ็อคเก็ตบุ๊คในประเทศไทย ไม่มีใครสงสัยรสนิยม ความทุ่มเทเอาใจใส่ ความประณีตละเอียดลออในทุกๆ ขั้นตอนของเขา

หนังสือมีคุณค่ายิ่งกว่ายารักษาโรค – มกุฏ ว่าไว้อย่างนั้น

ไม่ใช่แค่ตัวอักษรมาเรียงบนหน้ากระดาษ หนังสือเป็นที่บรรจุสรรพวิชาความรู้จากสารพัดที่ หลายคนแสดงทัศนะ ปลายทางของการอ่านคือคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการยกระดับความคิดอ่านของผู้คน

อ่านหนังสืออะไร คุณก็เป็นคนแบบนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ กว่าจะเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม หากปรารถนาดีต่อคนอ่าน ย่อมต้องเรียกร้องการใส่ใจในทุกรายละเอียดราวกับงานศิลปะอันละเมียดละไม บนมือของคนทำหนังสือที่มีความรู้ ความเข้าใจ และจิตใจดี

ไล่ไปตั้งแต่เรื่องเนื้อหาที่เป็นมันสมองของนักเขียน นักแปล ภาพประกอบที่เหมาะสม การตรวจสอบของบรรณาธิการ ลงไปถึงสายการผลิตที่มีรายละเอียดยิบย่อย อันส่งผลต่อความเรียบร้อยของเนื้อหา รวมถึงการจัดทำรูปเล่มที่นึกถึงความสะดวกและสุขภาพ (สายตา) ของผู้อ่าน ใครจะปฏิเสธ เนื้อหาดีย่อมต้องเดินควบคู่ไปกับรูปเล่มที่เหมาะสม

แต่ในความเป็นจริง ผลผลิตทางปัญญาอย่างหนังสือกลับมีสภาพเพียงวัตถุทางการค้า เป็นตำราน่าเบื่อในห้องเรียน จนกลายเป็นวิกฤติที่กล่าวกันว่าเด็กไทยอ่านหนังสือน้อย
มิพักต้องพูดถึงคนทำหนังสือที่ตัวหดลีบเล็กลงตามไปด้วย

เป็นนักเขียนมันไส้แห้ง คนทำหนังสือก็ไม่ต่างกัน

 

ปัญหาของคนทำหนังสือ

ปัญหาหนึ่งของการทำหนังสือคือ ตัวเลขยอดขายมักกลายเป็นเป้าหมายหลักที่กลบรายละเอียดของการทำหนังสือให้มีคุณภาพจนมิด ผลลัพธ์คือมีหนังสือจำนวนมหาศาลที่ไม่แน่ใจว่า ‘ดี’ จริงหรือเปล่า

จุดนี้ มกุฏ มองว่าเกิดขึ้นจากการละเลยความสำคัญในกระบวรการผลิต รวมถึงคุณภาพของคนทำหนังสือ ตั้งแต่ด้านเนื้อหาที่ยังขาดนักเขียนที่ไว้ใจได้ตามสรรพวิชาของแต่ละวิชาชีพ กระทั่งนักวาดภาพประกอบที่เข้าใจจิตวิทยาผู้อ่าน รวมถึงนักแปลและบรรณาธิการผู้ตรวจแก้ต้นฉบับที่ยังขาดความละเอียดรอบคอบในการใช้ภาษาและการเข้าใจบริบทของภาษาไทยที่มีโครงสร้างและเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ถัดไปจากนั้น คือการขาดความเอาใจใส่ในรายละเอียดของการจัดรูปเล่มที่จะส่งผลต่อผู้อ่าน  เช่น ช่องว่างขอบกระดาษที่จะป้องกันไม่ให้มือผู้อ่านเปื้อนน้ำหมึก หรือการทำหนังสือขนาดใหญ่ให้เป็นสันโค้ง เพื่อการจับถนัดมือ

ทั้งหมดคือรายละเอียดที่หลายคนมองข้าม

แม้ดูเหมือนการเป็นคนทำหนังสือที่ยึดอิงอุดมคติอาจเกิดขึ้นได้ยากบนเส้นทางที่ต้องเกี่ยวข้องกับการซื้อขาย

แต่ผลเสียนั้นเกิดขึ้นจริงกับคนอ่านแน่ๆ ถ้าคนทำไม่ใช้หัวใจ

 

ภาพที่วาดฝัน

หลักสูตรการเรียนการสอนวิชาชีพทำหนังสือแบบมืออาชีพ คือสิ่งที่มกุฎวาดหวัง เพื่อสร้างหนทางให้คนทำหนังสือ มีความรู้ ความเข้าใจ และมีจิตสำนึกของผู้ผลิตที่ไม่หลงลืมหน้าที่การผลิตสิ่งที่มีผลต่อความคิดของคนในประเทศ

อย่างน้อยที่สุด ก็ขอให้ตระหนักถึงคุณค่าของตนเองและนึกถึงเงินให้น้อยลงบ้างก็น่าจะเพียงพอ – มกุฏ ตบท้าย

 

 

06 แพทย์

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ : สำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)

 

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

 

เรื่องมีอยู่ว่า
แพทย์เป็นหนึ่งในสาขาวิชาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์มากที่สุด ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะไม่มีใครที่ไม่เคยเจ็บป่วย

ด้วยความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของชีวิต ทำให้สถานะของแพทย์ในสังคมไทยถูกยกระดับอยู่ในแถวหน้าของสังคมเสมอ ทั้งยังได้รับการยกย่องและมีน้ำหนักมากในการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ สาธารณสุข เช่น การเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถานีอนามัยชุมชน ซึ่งก็เกิดขึ้นมาจากเสียงของแพทย์บางกลุ่ม

หันมามองด้านปริมาณนักศึกษาแพทย์ในไทย ก็ไม่ได้มีตัวเลขที่ขี้เหร่นัก แต่ละปีมีนักศึกษาตบเท้าเข้าเรียนในแขนงวิชาชีพนี้ในจำนวนไม่น้อย จากข้อมูลของแพทยสภาพบว่า แต่ละปีมีการผลิตแพทย์เพิ่มปีละ 2,000 คน รวมถึงค่าตอบแทนโดยรวมก็สูงเอาการ

แต่ในอีกด้านหนึ่งของอาชีพแพทย์ซึ่งต้องใช้มิติทางอุดมการณ์หรืออุดมคติในการช่วยเหลือมนุษย์เป็นองค์ประกอบสำคัญ นพ.โกมาตร ชี้ให้เห็นว่า นักศึกษาแพทย์จำนวนมากถูกหลอมด้วยเบ้าความคิดเดียวกันคือ การบูชาความเก่งและความมั่นคง

ชุดความคิดแบบนี้ส่งผลกระทบต่ออุดมการณ์ที่แพทย์ควรมี ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับการเรียนการสอนวนเวียนอยู่แต่เรื่องเทคนิค แต่ความอ่อนโยนต่อความเป็นมนุษย์กลับหายไป มิพักต้องพูดถึงว่า เหล่านักเรียนแพทย์ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าควรมี

คำว่า การแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized Health Care) จึงเกิดขึ้นเพื่อฟื้นฟูอุดมคติและจิตวิญญาณของแพทย์ให้เป็นมากกว่าช่างเทคนิค

 

ปัญหาของแพทย์

เริ่มตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้ที่ นพ.โกมาตร บอกว่าได้ลดทอนการมองความเป็นชีวิตให้เหลือเพียงอวัยวะ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ขาดทักษะในการเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตอันเป็นพื้นฐานสำคัญของการรักษา

เข้าข่ายเห็นคนไข้เป็นเพียงวัตถุมีชีวิตที่ต้องแก้ตามโจทย์ มาถึงก็ปั๊มๆ ฉีดๆ กันไปตามสภาพอาการ

ระบบงานบริการทางการแพทย์ยังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างวิธีคิดชุดเดียวกับระบบอุตสาหกรรม คือมุ่งรักษาคนไข้ให้ได้จำนวนมากเช่นเดียวกับสายพานการผลิตในโรงงาน โดยไม่ได้ตระหนักถึงมิติความแตกต่างของคนไข้ รายละเอียดมากมายที่ต้องเอาใจใส่ กระทั่งหัวจิตหัวใจของคนป่วย
ขณะเดียวกัน ความป่วยไข้ส่วนใหญ่เป็นเพียงโรคทั่วไป แต่ระบบกลับเน้นหนักไปที่การผลิตแพทย์เฉพาะทาง แทนแพทย์ด้านเวชปฏิบัติครอบครัว ซึ่งสามารถดูแลรักษาโรคทั่วไปได้ นั่นหมายความว่า แม้จะมีปริมาณบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้รองรับการรักษาส่วนใหญ่ของประเทศ

 

ภาพที่วาดฝัน


ภาพของการเปลี่ยนแปลงที่ นพ.โกมาตร หวังให้เกิด คือการเปลี่ยนแปลงใน 3 ระดับ คือ หนึ่ง…ระดับบุคคล ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดจากภายใน สอง…ระดับโครงสร้างองค์กร ต้องมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเปลี่ยนแนวคิด มุมมอง ความรู้สึกของตัวแพทย์ให้เห็นมุมมองทางชีวิตมากขึ้น
สุดท้าย ระดับสังคม จากที่เคยเต็มไปด้วยการละเมิดความเป็นมนุษย์ต้องลดลง โดยเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันให้มากขึ้น

 

 

07 เกษตรกร

อโณทัย ก้องวัฒนา : ไร่ปลูกรัก

 

 

 

เรื่องมีอยู่ว่า

ในสังคมเกษตรกรรมอย่างประเทศไทย สิ่งที่ควรเป็นคืออาชีพเกษตรกรต้องมีสถานะเป็นเหมือนรุ่นใหญ่ในหมู่มวลอาชีพทั้งหลาย เพราะถือว่าเป็นขุมพลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนา

ด้วยตัวเลขจากการสำรวจสำมะโนการเกษตรของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2546 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนเกษตรกรกว่า 5,790,000 ราย บนเนื้อที่ทำการเกษตร 111,950,000 ไร่ หรือร้อยละ 34.9 ของประเทศ

หากวัดกันในเรื่องความสำคัญ เกษตรกรควรนำหน้าอาชีพอื่นเลยด้วยซ้ำ

แต่ว่ากันตามจริง หากถามว่ามีใครอยากประกอบอาชีพเกษตรกร ใครอยากเป็นชาวนายกมือขึ้น แค่หนึ่งมือนับก็คงพอกระมัง เพราะสภาพความเป็นจริง คงไม่มีใครอยากนอนกอดหนี้สิน เหมือนที่เกษตรกรไทยเป็น

แต่เอาล่ะ…ไหนๆ ทิศทางการบริโภคยุคใหม่กำลังมุ่งสู่การเป็นสังคมปลอดสาร รวมถึงการเน้นบริโภคผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าช่วยผ่อนปรนค่าใช้จ่ายในการผลิตจากการใช้สารเคมี และยังเพิ่มคุณภาพผลิตผลการเกษตร เราๆ ท่านๆ จะไม่ลองทบทวนกันดูอีกสักตั้งหรือ

อโณทัย เจ้าของไร่ปลูกรักที่ทุ่มเทชีวิตให้แก่การเกษตรแบบปลอดสารพิษ บอกว่า จะให้เกษตรกรที่เคยชินกับเกษตรเคมี พลิกแนวทางทันที คงไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างน้อยๆ ความลังเลย่อมเกิดขึ้น

 

ปัญหาของเกษตรกร

ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2546 ชี้ว่า จำนวนหนี้สินเพื่อการเกษตรทั่วประเทศมีถึง 223,875 ล้านบาท และเกษตรกรไทยใน 27 จังหวัดมีหนี้อยู่ในกลุ่ม 25,001-60,000 บาท และ26 จังหวัด อยู่ในกลุ่ม 60,001-150,000 บาท

เป็นตัวเลขใหญ่โตที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการผลิต จากต้นทุนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่สูงขึ้น รวมถึงค่าสารเคมี และการใช้แรงงานจากเครื่องจักรทดแทนแรงคน รวมถึงบางครั้งผลผลิตยังได้รับความเสียหายอันเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ไม่เอื้ออำนวย กระทั่งการเกิดภัยธรรมชาติ

แม้ทางภาครัฐจะมีกระบวนการแก้ไข อย่างการให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เป็นผู้ชำระหนี้แทนเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) หรือการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกร แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ความเดือดร้อนเรื่องหนี้สินของเกษตรกรลดลงไปได้ ในภาวะที่เศรษฐกิจยังคงผีเข้าผีออกอยู่อย่างนี้

นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อโณทัยมองว่า เกษตรกรยังต้องวิ่งวนอยู่ในการแข่งขันที่มีเพียงกำไรและขาดทุน โดยปลายทางสิ้นสุดมีเพียงปริมาณการขายให้มากที่สุด ตามปรัชญาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (แล้วเราจะพูดเรื่องพอเพียงกันทำไม) จนคุณภาพของผลผลิตที่ออกมาถูกลืมไปเสียสนิท จึงมักมีภาพของผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนสารเคมีออกมาเป็นระยะๆ ก็คุณภาพของผลิตภัณฑ์ถูกวางไว้หลังปริมาณ

แม้เกษตรอินทรีย์ที่เน้นการผลิตปลอดสารเคมีกำลังอยู่ในกระแสของผู้บริโภค เรียกว่าอินเทรนด์ มีตลาดรองรับที่ปัจจุบันขยายตัวเกือบถึงร้อยละ 20 และยังเป็นการประหยัดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในระยะยาว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรทั้งหมดจะเบนเข็มมาในเส้นทางนี้ในทันที ด้วยปัจจัยในการเริ่มต้น เช่น การปรับเปลี่ยนพื้นที่ การปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาความเสี่ยงและเงินทุนทั้งสิ้น

 

ภาพที่วาดฝัน

อโณทัยหวังว่าจะมีการนำวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นกลับมาใช้ในการเกษตรมากกว่าจะฝากผีฝากไข้กับเทคโนโลยีและสารเคมี เพื่อเป็นการสร้างเกษตรกรที่ใส่ใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์มากขึ้น แม้จะดูเป็นภาพที่ยังไม่ชัดเจนในสภาวะปัญหาที่รุมเร้าแวดวงเกษตรกรรม แต่เธอก็มั่นใจว่าจะต้องเกิดขึ้นในอนาคต

ฝันนี้เกิดขึ้นได้ไหม คงต้องพึ่งพาการจัดการปัญหาใหญ่อย่างเรื่องหนี้สินให้เด็ดขาดเสียก่อน แล้วการเอาใจใส่ต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างจริงจังย่อมเดินตามมา

หวังเล็กๆ แต่นั่นคงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยล้างภาพเกษตรกรจนๆ เพื่อเปลี่ยนสถานะของชาวไร่ชาวนา ให้เป็นพี่เบิ้มของประเทศ สมกับเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเอเชีย

*********************************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ มกราคม 2552)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า