ธรรมะสำหรับ ‘คนเดือนสิบ’

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

 

ตุลาคมปีนี้เป็นหมุดหมายทางกาลเวลาของการต่อสู้ 14 ตุลาคมครบรอบ 34 ปี และกรณีสังหารหมู่ 6 ตุลาคมที่ผ่านพ้นมา 31 ปี แม้ไม่เอ่ยก็คงพอเดาได้ว่าในปัจจุบันบรรดาผู้ผ่านเหตุการณ์ทั้งสองล้วนมีอายุล่วงสู่ปากประตูของวัยชรา

ถ้าจำไม่ผิด ช่วงหนึ่งเคยมีช่องว่างทางความรู้สึกอยู่บ้างระหว่างคนสอง ‘รุ่น’ ที่แตกหักกับอำนาจรัฐต่างวาระกันแค่ 3 ปี ทั้งนี้เนื่องเพราะฝ่ายหนึ่งเน้นเรื่องชัยชนะแต่อีกฝ่ายหนึ่งผูกติดอยู่กับความรู้สึกเจ็บช้ำแพ้พ่าย หรือบางทีอาจเป็นเพราะคนรุ่น 14 ตุลาอายุมากกว่าและผ่านการแสวงหาทางความคิดอย่างกว้างขวางอยู่หลายปีก่อนเกิดเหตุ ส่วนคนรุ่น 6 ตุลามักเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และรับการชี้นำจากความคิดทาง ‘ซ้าย’ เพียงสายเดียว ทั้งหมดนี้อาจทำให้สภาวะจิตและบุคลิกภาพของคนสอง ‘รุ่น’ ไม่ถึงกับเหมือนกันเสียเดียว

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วเพื่อนพ้องน้องพี่เหล่านี้จำนวนมากก็ต้องไปใช้ชีวิตภายใต้ร่มธงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้มีประสบการณ์ร่วมกันอยู่พอสมควร ครั้นเมื่อขบวนปฏิวัติล่มสลายด้วยเหตุภายในและภายนอก พวกเขาก็ทยอยออกจากป่ามาใช้ชีวิตเหมือนผู้คนในสังคม ต่างตรงที่มีประสบการณ์ในวัยหนุ่มสาวค่อนข้าง ‘พิเศษ’ กว่าคนทั่วไป

อันที่จริง คำว่า ‘คนเดือนตุลา’ ถูกคิดขึ้นเมื่อราว 10 ปีก่อนก็เพื่อใช้ยืนยันความ ‘พิเศษ’ ข้อนี้ รวมทั้งเพื่อเปิดพื้นที่ทางอัตลักษณ์ให้สามารถรองรับคนรุ่นเดียวกันที่ไม่เคยเข้าป่าจับปืน พ้นจากนั้นคำว่า ‘คนเดือนตุลา’ ยังช่วยปิดรอยแยกเล็กๆ ระหว่างผู้ผ่านเหตุการณ์ในปี 2516 กับ 2519 ด้วย

แน่นอน ในช่วงหนึ่ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535) ความหวังที่จะรวมพลคนรุ่นนั้นให้มีบทบาททางการเมืองขึ้นมาใหม่ก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะในยุคโลกาภิวัตน์ พลังทางสังคมที่ปราศจากผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเฉพาะตัวดูจะหายากเต็มที

แต่จนแล้วจนรอด ความหวังดังกล่าวก็ไม่เคยปรากฏเป็นจริง ผลสะเทือนของลัทธิค้าเสรีและบริโภคเสรีนับวันได้ทำให้สังคมไทยยิ่งแตกปัจเจกมากขึ้นเรื่อยๆ คนเดือนตุลาเองทั้งได้รับผลสะเทือนจากโลกที่เปลี่ยนไปและมีความจำเป็นต้องกอบกู้ชีวิตให้อยู่ได้ยืนได้ ในที่สุดจึงแตกปัจเจกไปคนละทิศทางเช่นกัน บ้างมุ่งแสวงหาทางจิตวิญญาณ บ้างทำธุรกิจ บางคนเล่นการเมือง จำนวนหนึ่งถอนตัวจากสัมมาอาชีวะ หลายคนแค่ทำงานหาเลี้ยงชีพไปวันๆ และมีอยู่ไม่น้อยที่ต้องดิ้นรนเอาชนะความยากไร้จนไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องอื่น

ผู้คนในสังคมไทยจำนวนมากคงไม่ทราบว่า ‘คนเดือนตุลา’ ที่ปรากฏชื่อเสียงเรียงนามในด้านต่างๆ นั้น เมื่อเทียบสัดส่วนกับทั้งหมดแล้วนับว่าแค่หยิบมือเดียว ทั้งนี้เนื่องจากส่วนใหญ่มักดำรงตนอยู่ในฐานะบุคคล ’นิรนาม’ คบหาและดูแลกันเองอยู่ในวงจำกัดโดยโลกไม่ได้สังเกต พวกเขาอาจจะนัดพบกินข้าวด้วยกันบ้างเป็นกลุ่มย่อย แต่บ่อยครั้งก็พบกันตามศาลาวัด เพื่อร่วมคารวะเพื่อนผู้จากไป หรือแสดงน้ำใจต่อมิตรสหายที่สูญเสียญาติพี่น้อง พ้นจากนั้นแล้วอาจพูดได้ว่าต่างคนต่างอยู่น่าจะถูกต้อง

สิ่งที่คงเหลือเป็นลักษณะร่วมคือ ความภูมิใจในประวัติ ‘พิเศษ’ ของตนเอง ความใส่ใจในเหตุการณ์บ้านเมือง กระทั่งการยึดถือในทัศนะบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องถูกผิดทางสังคม บางคนยังพูดจาด้วยศัพท์แสง ‘ปฏิวัติ’ และ ‘บูชา’ พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งๆ ที่ครองตัวอยู่ในวิถีทุนนิยมมานานปี และมีอยู่พอสมควรที่ปฏิเสธการใช้ชีวิตตามกระแสหลักแห่งยุคปัจจุบัน

แต่ก็อีกนั่นแหละ กล่าวอย่างถึงที่สุดประเด็นหลักยังคงอยู่ สภาวะแยกปัจเจกของคนเดือนตุลา ซึ่งทำให้สำหรับหลายๆ คน ความผูกพันจากอดีตนับวันยิ่งมีน้ำหนักน้อยกว่าความแตกต่างในปัจจุบัน

บนเวทีช่วงชิงอำนาจ เราสามารถพบผู้มียี่ห้อนี้สังกัดอยู่ในแทบทุกพรรคหรือกลุ่มการเมือง บ้างอยู่ฝ่ายรัฐบาล บ้างอยู่ฝ่ายค้าน บางคนเคลื่อนไหวไม่หยุดในนามของภาคประชาชน บางคนสังกัดองค์กรอิสระ กระทั่งบางท่านครองตนเป็นนักวิพากษ์ (รัฐบาล) โดยลำพัง ในสภาพเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องเลี่ยงไม่พ้นที่คนเดือนตุลาบางส่วนจะต้องเปลี่ยนมาต่อสู้กันเองอย่างเอาเป็นเอาตาย

ตัวอย่างชัดเจนในกรณีดังกล่าวคือ ความขัดแย้งระหว่างระบอบทักษิณกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งตามมาด้วยรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในสถานการณ์ที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันเราจะพบว่ามี ‘คนเดือนตุลา’ จำนวนหนึ่งเป็นแกนนำอยู่ในทั้งสองฝ่าย ขณะที่บางส่วนต่อต้านรัฐบาลทหาร บางส่วนก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติกับสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลพวงจากรัฐประหารเมื่อปีกลาย

แน่นอน ความแตกร้าวที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายอะไรนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่าชาวเดือนตุลาจำนวนมากที่วางอุเบกขาและมีความสำรวมทางการเมือง ต่างรู้สึกสับสนเสียดายกับเรื่องนี้ อยู่ไม่น้อย เพราะมันหมายถึงว่าอัตลักษณ์ของพวกเขาพลอยแหว่งเว้าไปด้วย สื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับถึงขั้นเปิดคอลัมน์ ‘คนเดือนตุลาตายแล้ว’ เพื่อชี้ให้เห็นว่าผู้คนควรปลด ‘ป้ายเก่า’ ออกจากหน้าร้าน (ที่ปิดกิจการมานาน) เสียที

ถามว่าแล้วเพื่อนพ้องน้องพี่ทั้งหลายควรจะจัดวางความคิดไว้ที่ใด?

ตอบอย่างห้วนๆ สั้นๆ คือไม่ต้องคิดมาก กระทั่งไม่ต้องคิดอะไรเลย เพราะปรากฏการณ์ดังกล่าวดำเนินไปตามธรรมชาติของมัน กลุ่มการเมืองและความคิดทางการเมืองทั้งปวงล้วนเป็นสังขตธรรม เป็นสภาวะอันขึ้นต่อเงื่อนไข ดังนั้นจึงก่อเกิด ตั้งอยู่ และดับสูญไปตามเหตุปัจจัย ‘คนเดือนตุลา’ในฐานะหมู่คณะทางสังคมย่อมหนีไม่พ้นกฎเกณฑ์อันนี้

จะว่าไปในห้วงยามที่เริ่มเข้าสู่วัยชรา การปล่อยวางสมมุติสัจจะและหันมาเข้าใจปรมัตถ์สัจจะบ้าง กลับเป็นผลดีต่อการเติบโตทางจิตวิญญาณของตัวเองและเป็นคุณต่อโลกอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องเพราะคนแก่ที่พำนักอยู่ในมายาคติทางโลก สามารถก่ออันตรายได้มากกว่าคนหนุ่มที่เข้าใจโลกแค่ครึ่งๆ กลางๆ

กล่าวในทางธรรม คำว่า ‘คนเดือนตุลา’ จึงนับว่าเป็นเรื่องสมมุติอย่างหนึ่ง หากเอ่ยอ้างและยึดถือพอเหมาะพอสมก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าใช้ผิดที่ผิดทาง เช่น เป็นเครื่องรางของขลังทางการเมือง ก็สามารถกลายเป็นอุปาทานรวมหมู่และอัตตารวมหมู่ ซึ่งให้โทษมากกว่าให้คุณ

ดังนี้แล้ว ธรรมกิจอันดับแรกของ ‘คนเดือนตุลา’ ในมัชฌิมวัยต่อเนื่องกับปัจฉิมวัยจึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากเลิกคิดว่าตัวเองคือ ‘คนเดือนตุลา’ ฝึกคลายมัดตัวเองจากอดีต เลิกประเมินตัวเองจากเรื่องที่เคยทำ พร้อมทั้งหันมาเพ่งพินิจตัวเองที่เป็นอยู่และเป็นจริง

แล้วจำเป็นไหมที่จะต้องลบลืมกรณี 14 ตุลาคมกับ 6 ตุลาคมไปด้วย?

แน่ละ กรณีเชิดชูคนดีเรื่องดียังคงเป็นความจำเป็นทางสังคม ตราบเท่าที่สังคมยังต้องอาศัยคนนั้นเรื่องนั้นมาจรรโลงหรือขับเคลื่อนตัวเองไปสู่สภาพที่ปรารถนา แต่เรื่องนี้ถึงอย่างไรก็ควรปล่อยให้ผู้อื่นทำไป หลักธรรมข้อแรกของผู้ที่ทำดี คืออย่าไปยึดมันเป็นอาภรณ์ติดตัว

ดังคำสอนของพระพุทธองค์ใน ปรัชญาปารมิตา ซึ่งยกตัวอย่างพระองค์เองเพื่อชี้ให้เห็นว่าคนดีและกรรมดีนั้น สุดท้ายก็นับเป็นสภาวะสุญญตา (ความว่าง) เช่นกัน

“เมื่อเราบรรลุตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ไม่มีธรรมแม้สักส่วนเล็กน้อยส่วนหนึ่งเลยที่เราได้บรรลุถึง เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ…ที่กล่าวว่ากุศลธรรมนั้น ตถาคตกล่าวว่าโดยความจริงแล้วไม่มีสภาวะแห่งกุศลธรรมเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่ากุศลธรรมเท่านั้นแล…”

“สังขตธรรมทั้งปวงมีอุปมาดั่งความฝัน ดั่งภาพมายา ดั่งฟองน้ำ ดั่งเงา และดั่งสายฟ้าแลบ พึงเพ่งพิจารณาโดยอาการอย่างนี้” (วัชรปรัชญาปารมติสูตร แปลโดย เสถียร โพธินันทะ 2540)

ฉะนั้น หากมิตรสหายทั้งหลายมีศรัทธาพร้อมเดินตามรอยบาทพระพุทธองค์ ก็คงต้องบอกว่า

‘คนเดือนตุลา’ ไม่มีจริง สักแต่ชื่อเรียกว่า ‘คนเดือนตุลา’ เท่านั้นเอง

และไม่ว่าท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ขอให้ถือเสียว่าบทความชิ้นนี้กับผู้เขียนบทความไม่มีจริง สักแต่เรียกกันไปว่าบทความและคนเขียนเท่านั้นเอง

 

***************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Here and Now ตุลาคม 2550)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า