นมตั๊ก VS นมคำ ผกา

cramp50 -1

 เรื่อง : โตมร ศุขปรีชา

ภาพประกอบ : Nola Nolee

อะไรคือนม?

ด้วยขี้เกียจจะไปค้นหาให้มากความ จึงพิมพ์คำว่า ‘นม’ ลงไปในวิกิพีเดีย และพบว่าสารานุกรมนั้นให้ความหมายคำว่า ‘นม’ ในเชิง ‘น้ำนม’ พร้อมกับแนะนำว่า ถ้าอยากหมายความถึงอวัยวะ ให้ค้นหาคำว่า ‘เต้านม’ แทน

ผลที่ออกมาก็คือ

เต้านม (อังกฤษ: breast) คืออวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายผู้หญิงอยู่บริเวณหน้าอกทั้งสองข้าง เต้านมของเด็กหญิงจะแบนราบ และจะพัฒนาขยายขึ้นในช่วงที่ผู้หญิงเริ่มเป็นวัยรุ่น เต้านมใช้สำหรับป้อนนมเด็ก โดยเมื่อผู้หญิงมีลูกเต้านมจะผลิตน้ำนม การแสดงเต้านมในที่สาธารณะจะถูกห้ามตามกฎหมาย ในขณะที่บางสถานที่จะสามารถแสดงได้

ในช่วงที่ผ่านมา วาทะ (สร้าง) กรรม ของนางเอกสาว ตั๊ก-บงกช คงมาลัย เกี่ยวกับความตายของอากง SMS ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า เธอเขียนอย่างที่เขียนออกมาได้อย่างไร การวิพากษ์วิจารณ์ตั๊กนั้นมีทั้งที่เป็นเหตุเป็นผล โต้แย้งอย่างเป็นกระบวนการ และมีทั้งที่ไป ‘หยิบ’ เอาทั้ง ‘รูปลักษณ์’ และ ‘ภาพลักษณ์’ ของเธอมาใช้เป็นอาวุธทิ่มแทงกลับด้วย

อาวุธที่ว่านี้ เป็นอาวุธที่ใช้การได้เสมอมาและ (น่าจะ) ตลอดไป,

เพราะคืออาวุธทางเพศ!

ในสังคมไทย เวลาที่มีการต่อสู้กันทางการเมือง เราจะพบว่าเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกเจ็บแค้นถึงที่สุด อาวุธลับสุดท้ายที่ฝ่ายนั้นมักงัดออกมาใช้ ก็คืออาวุธทางเพศ

อาวุธทางเพศ (เคย) ชะงัด และได้ผลดีมาแทบทุกยุคสมัย เพราะเมื่องัดออกมาใช้ทีไร อีกฝ่ายมักจะต้องหุบปากลงไปเสียทุกที เนื่องจากกลัวถูกขุดคุ้ยพฤติกรรมทางเพศของตนออกมา

ในสังคมที่กำกับและควบคุมผู้คนด้วยเรื่องเพศอย่างสังคมไทยนั้น เรามักปลูกฝังความคิดว่าเรื่องเพศทำให้คนคนหนึ่งเสื่อมเสียทางศีลธรรมได้ยิ่งกว่าเรื่องอื่น แม้แต่คนที่ถูกข่มขืนยังต้องอายคนอื่นทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะฉะนั้น การใช้เรื่องเพศมาเป็นอาวุธกำกับควบคุมจึงได้ผลเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเบื้องบรรพ์อย่างผัวมีเมียน้อย (ส่วนใหญ่เมียหลวงจะเป็นฝ่ายได้อาย) ไปจนถึงเรื่องที่สังคมไทยเห็นว่าผิดปกติวิตถารอย่างการสมสู่ระหว่างเพศเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากการด่าหรือกระแนะกระแหนคนโน้นทีคนนี้ที (ไม่ว่าจะฝ่ายไหน) ว่าเป็นอีแอบบ้าง เป็นเกย์บ้าง การหยิบเรื่องเหล่านี้มาใช้เป็นอาวุธนั้นมักจะได้ผลเสมอ อย่างน้อยๆ ก็กระตุ้นให้คนสนใจ เพราะ ‘เสียง’ ของคนที่ใช้อาวุธทางเพศมักจะ ‘ดัง’ ขึ้นในสังคมเหมือนมีเครื่องขยายเสียงมหัศจรรย์

ตอนที่ คำ ผกา ออกมาร่วมรณรงค์เรื่องฝ่ามืออากงด้วยการเปลือยหน้าอก ปรากฏว่าคำวิพากษ์วิจารณ์หรือปฏิกิริยาสำคัญที่มีต่อการรณรงค์ของเธอกลับไม่เกี่ยวข้องอะไรกับหัวใจของเรื่องเลย เพราะคำวิจารณ์ที่โด่งดังที่สุดในสังคมไทยกลับคือวลี หัวนมดำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเจตคติ มุมมอง สำนึกทางเพศ การทำความเข้าใจประเด็น จุดเน้น ชั้นเชิง และคุณค่าของผู้วิจารณ์อยู่ตรงไหน

ในกรณีของตั๊กนั้น บางคนมองว่าแตกต่างจากกรณีของ คำ ผกา เพราะเป้าหมายทางการเมืองไม่เหมือนกัน และเสียงวิจารณ์ก็มาจากอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งพูดได้ว่ามี ‘อุดมการณ์ทางการเมือง’ ตรงข้ามกับคนกลุ่มแรก แต่ไม่น่าเชื่อว่าเรากลับสามารถพบ ‘กลุ่มคำ’ ในการวิพากษ์วิจารณ์โต้กลับ ที่หลายอย่างแทบไม่ผิดเพี้ยนจากกันเท่าไหร่

ในกรณีของคำ ผกา คนที่ไม่รู้จักเธอโยงนมของเธอเข้ากับพฤติกรรมทางเพศอย่างที่คิดไปเองว่าเธอเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ในกรณีของตั๊กก็คลับคล้ายกัน เพราะมีการหยิบยกเอา ‘นมตั๊ก’ อันเป็นทั้งรูปลักษณ์และภาพลักษณ์ขึ้นมาด่าในทำนองที่ว่าเธอดังขึ้นมาได้ก็เพราะขายนม ขายรูปร่างหน้าตา และบางกรณีก็โยงใยไปถึงพฤติกรรมทางเพศของเธอด้วย-ทั้งที่ไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือ ‘ความจริง’

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ไม่รู้ว่าเราใช้ ‘ตรรกะ’ อะไร ในการโยงเรื่องทางเพศเข้ากับอุดมการณ์ทางการเมือง แต่โดยรวมๆ แล้ว การโชว์นมถูก ‘ลดรูป’ ความซับซ้อนอื่นๆ ลง จนเหลือแค่ 2 เรื่อง คือ โชว์นม + อุดมการณ์ทางการเมือง แล้วตัดสินพิพากษานมสองเต้านั้นด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง กล่าวคือ หากมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่ง ถือว่านมคู่นั้นผิด และพึงคุ้ยแคะหาข้อบกพร่องทางกายวิภาคและ/หรือพฤติกรรมทางเพศมาวิจารณ์กันให้เจ็บปวดถึงกึ๋นได้อย่างชอบธรรม แต่ถ้ามีอุมดการณ์ทางการเมืองอีกแบบหนึ่ง ถือว่าการโชว์นมนั้นเป็นเรื่องถูกต้องดีงาม แม้อาจเคยไม่ชอบหน้าชอบนมคู่นั้นมาก่อน แต่พอรู้ว่ามีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน หน้าและนมคู่นั้นก็ชอบธรรมขึ้นมาทันที

ที่จริงแล้ว การเปลือยนมของคำ ผกา นั้น ต้องถือว่าเป็นคุณูปการสำคัญให้กับการเรียนรู้ของสังคมไทยนะครับ ผมไม่เคยพูดหรือเขียนถึงเรื่องนี้มาก่อน เพราะใครๆ ก็รู้ว่าครั้งแรกที่คำ ผกา ถ่ายนู้ด เธอถ่ายในนิตยสารที่ผมสังกัดอยู่ และผมก็เป็นเพื่อนของเธอ การออกมาพูดอะไรในเรื่องนี้ คนจะกล่าวหาได้ว่ามีส่วนได้ส่วนเสียหรือเข้าข้างเธอ แต่ก็เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียนี่แหละครับ ถึงได้พอรู้มาบ้างว่าเธอ ‘คิดเล่นเห็นต่าง’ อย่างไรกับเรื่อง ‘ร่างกาย’ ของผู้หญิง

เต้านมของคำ ผกา นอกจากเพื่อรณรงค์เรื่องอากงแล้ว ถ้าพิจารณาอีกแง่หนึ่ง เราจะพบว่านี่เป็นความพยายามในการทลายกำแพงอคติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทยด้วย

การโชว์นมของเธอคือ Political Action สำคัญ ที่ผูกโยงอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ากับเรื่องทางเพศ ซึ่งน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ผมไม่เห็นนักสตรีนิยมหรือคนที่ทำงานด้านเพศวิถีพูดถึงประเด็นนี้มากนัก แต่เดิมมา เรื่องเชิงอุดมการณ์หรืออุดมคติทางการเมืองแทบจะเรียกได้ว่าผูกขาดอยู่ในโลกของผู้ชาย การเปลือยนมจึงคือการทลายกำแพงแบ่งกั้นครั้งสำคัญ เป็นการเชื่อมโยงเพศอื่นๆ เข้ากับการเมืองด้วยวิธีตีแสกหน้า (ซึ่งใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้ก็ไม่ผิดนะครับ)

เราจะเห็นว่า คำ ผกา ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายเดียวกันด้วยประเด็นแปลกๆ ไม่น้อย นอกจากเรื่องรูปลักษณ์แล้ว แกนนำ นปช. บางคนก็ไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ของเธอ ด้วยเห็นว่าจะทำให้คนไปสนใจ ‘นม’ มากกว่า ‘ประเด็น’ ที่เธอตั้งใจนำเสนอ แสดงให้เห็นว่าแม้บางคนจะเรียกตัวเองว่า ‘ก้าวหน้า’ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะ ‘ก้าวหน้า’ ได้ในทุกมิติ และแม้ผลจะเป็นไปดังนั้น แต่ผมไม่คิดว่าเธอทำอะไรผิดพลาด ถ้าจะมีใครผิดพลาด ก็ต้องเป็นต้นทุนโดยรวมของสังคมไทยที่สั่งสมค่านิยมแบบวิคตอเรียนเอาไว้ไม่เสื่อมถอย ทั้งในเจตคติของทั้งคนกลุ่มก้าวหน้า ล้าหลัง หรือกลุ่มอื่นๆ-กระทั่งพร้อมใจกันมองข้าม ‘ความซับซ้อน’ ของประเด็นที่ซ่อนอยู่

ส่วนเต้านมของตั๊ก-บงกช มีการวิจารณ์กันมากว่าเธอไม่ได้เป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้าอะไร เป็นแค่ดาราธรรมดาๆ คนหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงเปรียบเทียบอะไรกับเต้านมของคำ ผกา ไม่ได้ ทำนองว่าเต้านมของคำ ผกา เลิศลอยในเชิงอุดมการณ์มากกว่าเต้านมของตั๊ก บางคนก็พูดทำนองว่า ในเต้านมของ คำ ผกา มี ‘สมอง’ บรรจุอยู่ ไม่ใช่ซิลิโคนหรือไขมันธรรมดาๆ เพราะฉะนั้น เต้านมของตั๊กจึงเป็นได้แค่อวัยวะชิ้นหนึ่งซึ่งมีไว้ทำมาหากิน ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ใดๆ (อันเป็นคำพูดที่หมิ่นหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่น้อย) พูดอีกแบบก็คือ นมของตั๊กนั้นพกความน่าละอายทางศีลธรรมมาด้วย และเมื่อผูกโยงเข้ากับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ฝ่ายตนเห็นว่าน่าละอาย ก็ยิ่งส่งผลน่าละอายเป็นสองเท่า

คนที่พูดอย่างนี้ทำให้ผมสงสัยว่าพวกเขามองคำว่า ‘การเมือง’ กว้างหรือแคบแค่ไหน เพราะการเมืองคือเรื่องของ ‘อำนาจ’ และในเต้านมหนึ่งคู่ก็มีอำนาจของมันอยู่มหาศาล บางทีอาจจะมากกว่าอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นทางการเสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นถ้าจะพิจารณากันอย่างจริงจัง เต้านมของตั๊กจึงมี Political Action ซ่อนอยู่ด้วย ทั้งยังเป็น Political Action ในชีวิต ในการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็น Political Action ที่ส่งผลสะเทือนได้ในวงกว้างมากกว่าด้วยซ้ำ (ไม่ว่าจะเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือเพื่อตอกย้ำชุดความคิดเดิมก็ตาม) แม้เดิมทีเดียวเธอจะไม่ได้ผูกโยงเต้านมนั้นเข้ากับอุดมการณ์ทางการเมือง แต่อย่างน้อยๆ เธอก็ใช้อำนาจแห่งเต้านมเพื่อสร้างอัตลักษณ์และภาพลักษณ์ขึ้นมาให้เป็นที่รับรู้ของสังคม

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ตั๊กไม่ได้ใช้นมเพื่อแสดงอุดมการณ์ทางการเมือง (เหมือน คำ ผกา) แต่เธอ ‘ถูกกระทำ’ จากฝ่ายตรงข้าม โดยเหยียดนมของเธอให้ต่ำช้าเท่ากับอุดมการณ์ทางการเมืองของเธอ-ซึ่งก็คือเนื้อหาเดียวกับที่อีกฝ่ายเคยเหยียดนมและอุดมการณ์ทางการเมืองของคำ ผกา ให้ต่ำช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้มาก่อนนั่นเอง

ที่จริงแล้ว สิ่งที่คำ ผกา และตั๊ก มีเหมือนกัน ก็คือการ ‘ยั่ว’ สังคมไทยให้ ‘หัวเสีย/หัวปั่น’ ไปกับ ‘เต้านม’ ของพวกเธอ คนหนึ่งใช้เต้านมเพื่อผูกโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองโดยตรงและอย่างตั้งใจ จนถูกวิจารณ์สาดเสียเทเสีย ส่วนอีกคนหนึ่งแม้ไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้น แต่ที่สุดก็ถูกสังคมส่วนหนึ่งนำเต้านมของเธอมาผูกโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองโดยอ้อม, ไม่ตั้งใจ และอย่างสาดเสียเทเสีย-ไปจนได้

สำหรับผม คำถามที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเธอทั้งสองคนเลยก็คือ-สังคมไทยเราเป็นสังคมที่ให้ความสลักสำคัญกับ ‘เต้านม’ มากถึงเพียงนั้นเลยใช่ไหม

ทั้งกรณีของ ‘นมตั๊ก’ และ ‘นมคำ ผกา’ นั้น สะท้อนให้เห็นว่า ‘นม’ หรือ ‘เต้านม’ นั้น เป็น ‘อาวุธโบราณ’ ที่ส่งผลสะเทือนได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจนัก และสังคมไทยก็ยังไม่ได้ ‘ข้ามพ้น’ อาวุธเรื่องเพศ แต่กลับนำอาวุธทางเพศมารับใช้ ‘การแบ่งข้าง’ อย่างเข้มข้นยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ

เต้านมที่ควรจะเป็นเพียง ‘อวัยวะ’ ส่วนหนึ่งของร่างกายดังที่วิกิพีเดียให้นิยามไว้ จึงกลายมามีความหมายทางวัฒนธรรม สังคม และการเมือง ได้โดยพิสดารดังนี้เอง

*************************

(ตีพิมพ์ครั้งแรก ในคอลัมน์ Cramp สิงหาคม 2555)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า