คนช่างจินตนาการบางคนคิดว่า ถ้าจะมีคำอธิบายสักอย่างที่สามารถใช้บรรยายความเป็นไปของเหล่าผู้คนในโลก ที่หลากหลายไปด้วยอาชีพและบทบาทอันหลากหลาย คำๆ นั้นคือ นักเล่นห่วง
เขาคิดว่าคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ไม่ผิดอะไรกับนักเล่นกายกรรม ต่างมีท่วงท่าลีลาต่างๆ กันไป แต่ในมือทุกคนนั้นมีห่วงอยู่ 3 ห่วงที่โยนสลับผลัดมือรับเหวี่ยงอยู่ตลอดเวลา
ห่วงแรกนั้นเป็นวงที่เรียกว่า สิ่งที่คนอื่นคิดว่าเราเป็น
ห่วงที่สองคือ สิ่งที่เป็นหน้าที่การงาน
ห่วงที่สามคือ ตัวตนที่เราเป็นเราอย่างแท้จริง
เมื่อห่วงบางห่วงเพิ่มน้ำหนักมากขึ้น เราย่อมออกแรงมากขึ้น และบ่อยครั้งที่เราจะถลำตัวไปข้างหน้า ไม่ก็ต้องก้าวถอยหลังหรือเอียงไปทางใดทางหนึ่ง เพื่อจะทรงตัวไม่ให้วงทั้งสามนั้นพลัดหลุดจากมือ นักเล่นห่วงบางคนได้ข้อสรุปเป็นการส่วนตัวว่า น้ำหนักของวงแต่ละวงนั้น ไม่ได้อยู่ที่อื่น หากแต่อยู่ที่คนเล่นเป็นสำคัญ
คนเชียร์อาจจะส่งเสียงให้โยนเหวี่ยงห่วงบางชิ้นสูงขึ้น เสียงปรบมือบางจังหวะอาจจะทำให้ลำพองใจ หรือเสียงโห่ฮาบางครั้งอาจจะทำให้เสียสมาธิ แต่ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าเลือกจะออกแรงในจังหวะใด ผู้เล่นก็ต้องเป็นคนตัดสินใจเองทั้งสิ้น ถ้าเราหาบหามให้ความสำคัญแก่ห่วงใดห่วงหนึ่งมากเกินไป ก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่า เราจะเสียจังหวะเผลอมือทำให้บางสิ่งบางอย่างหล่นหายไป
ในกรณีเช่นนี้มีนักเล่นห่วงจำนวนไม่น้อย ตกใจลนลานจนมือไม้เปะปะ ปล่อยมือทำให้วงที่เหลือหล่นกระจายไปทั้งหมด พวกเขาตัวชาและยืนนิ่งด้วยความสับสนว่า จะดำเนินชีวิตเยี่ยงไรต่อไป คนบางคนหล่นหายไปหนึ่งเขาก็ยังเล่นต่อไปไม่ให้เสียจังหวะ คนน้อยกว่านั้นที่เล่นไปเล่นมาแล้วตั้งใจปล่อยให้วงบางวงหลุดออกไปจากมือ ด้วยเล่นไปเล่นมาแล้วพลันพบสัจธรรมว่า ละหนึ่งว่างหนึ่ง และชีวิตนี้ก็สั้นนัก เมื่อพบว่า สิ่งใดคือเป้าหมาย แล้วก็ตรงไปที่นั่น ไม่ต้องแวะชมดอกไม้ที่สวนไหนอีกแล้ว
ระหว่างชายหนุ่มสองคนนั่งดวดชาชักอยู่ที่เทอร์เรสหน้าโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใครคนหนึ่งซึ่งเหลียวไปเห็นป้ายชื่อห้องที่อยู่ข้างบันไดทางขึ้นห้องสัมมนาชั้นสอง เขาก็ถามเพื่อนร่วมวงว่าคำว่า ‘ฟาฏอนี’ มีความหมายว่าอย่างไร?
คำตอบสั้นๆ ที่ได้ก็คือ เชื้อสายปัตตานี
“เป็นคำบอกให้รู้ถึงเชื้อชาติ ที่มา อย่างหนึ่ง” นั่นคือ คำขยาย ชายหนุ่มนึกถึงห่วงไฟที่เขากำลังเหวี่ยงอยู่มือแล้วได้แต่หัวเราะหึๆ กับตัวเอง
คนจำนวนมากในโลกนี้ต่อสู้เพื่อให้คนอื่นๆ ยอมรับว่า พวกเขาเป็นใคร พวกเราเป็นใคร รวมทั้งต่อสู้เพื่อประกาศว่า ฉันเป็นใคร
การต่อสู้นี้พบเห็นได้จากรายการข่าวทั้งในประเทศและข่าวต่างประเทศ ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่หน้าหนังสือพิมพ์ยามเช้ายามบ่าย
การต่อสู้นี้อาจจะเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายหรือน่าขันของคนอื่นๆ แต่สำหรับคนที่ปรารถนาการยอมรับแล้ว มันเป็นโศก-นาฏกรรม เป็นความบีบคั้น เป็นความจำเป็น ในบางกรณีก็เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต
นักประวัติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์และนักวิจารณ์สังคมสมัยใหม่บางคนอาจจะตีความคำว่า ชาติ แตกต่างจากในอดีต และคำว่า ชาติ อาจจะไม่มีความหมายกับใครบาง
คนอีกต่อไป แต่สำหรับคนชายขอบจำนวนมากแล้ว ชาติและสัญชาติเป็นสิ่งที่พวกเขาโหยหาเมื่อพวกเขาไม่มีชาติ ไม่มีสัญชาติ แม้แต่จะเกิดในแผ่นดินนี้แต่รัฐหรือเจ้าของคนอื่นๆ ไม่ยอมรับ ก็อย่าว่าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิที่จะได้รับการศึกษาหรือค้ำประกันสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ตามที่คนคนหนึ่งพึงจะได้รับแล้ว แม้แต่ความเห็นคนเท่ากับคนอื่นๆ เขาก็มิอาจมีได้
พวกเขามีชีวิต มีลมหายใจอยู่ก็จริงแต่อยู่เหมือนกับคนไม่มีตัวตน และลมหายใจของพวกเขาก็ถูกตีราคาว่า ไม่มีค่าเท่ากับลมหายใจคนอื่นๆ โดยอัตโนมัติ
การยอมรับว่า พวกเขาเป็นใคร เราเป็นใคร ฉันเป็นใคร จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าอื่นใด
แน่นอนว่า เราเป็นใครและการยอมรับจากคนอื่นว่า เราเป็นใคร พวกเขาเป็นใคร พวกเราเป็นใครนั้นนอกจากจะเป็นการยอมรับการมีอยู่แล้ว ยังเป็นการกำหนดที่ทางของเราในสังคมด้วยว่า จะอยู่จุดใด มีสถานะเยี่ยงไร ควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างไร หรือควรจะปฏิบัติต่อคนอื่นแบบไหน
เรื่องในโลกคงจะน้อยกว่านี้เยอะถ้าเรามองเห็นห่วงในมือคนอื่นๆ อย่างละเอียด แต่กิจกรรมซึ่งเป็นที่สำเริงสำราญอย่างหนึ่งของคนส่วนใหญ่ในโลกนี้คือ การพร่ำบอกคนอื่นว่า เขาเป็นใคร ไม่ใช่การมองหาว่า จริงๆ แล้วเราเป็นใคร?
ชายหนุ่มสำรวจตัวเองรอบแล้วรอบเล่า เขาตระหนักว่า ห่วงไฟในมือนั้นมันเตะตาคน แม้เขาตั้งใจจะไม่ออกแรงเหวี่ยงมัน มากกว่าอีกสองห่วงในมือ แต่ก็ต้องระวังอย่างหนักว่าจะไม่ให้ไฟนั้นมาลวกมือ
เขารู้ว่าจะทำเช่นนั้นได้ต้องมองไปที่ใจตัวเอง ให้รู้แก่ใจว่า เราเป็นใคร
แม้จะมีห่วง 3 ห่วงอยู่ในมือแต่เขาก็รู้ว่า สองในสามนั้นไม่ใช่ของจริง และถ้าพัฒนาไปถึงขีดสุดแล้ว ห่วงใดๆ ก็ไม่ใช่ของจริง คนเราเริ่มจากหาห่วงมาใส่มือ แต่สำหรับหนทางสู่ความเจริญงอกงามแล้วต้องไม่มีห่วงใดๆ เหลืออยู่ในมืออีกต่อไป
ทางสายเดียวที่จะไม่ให้โดนไฟลวกเอา ไม่ให้คมของความคิด ความหลงใดๆ มาบาดเอาได้คือ ทำไปตามหน้าที่ มีหน้าที่อย่างไรก็ทำไปให้เต็มกำลัง ทำแล้วก็แล้วไป ไม่ติดไม่เกี่ยวไม่ข้องไม่แวะ ท่ามกลางเสียงชม เสียงด่าอึงคะนึงของเหล่าผู้ชมนั้น นัก-เล่นห่วงบางคนรู้ตัวว่า ยังวางไม่ได้หมด แต่สำหรับเขาแล้ว วงที่สำคัญที่สุดที่ต้องออกแรงมากที่สุดมิใช่สิ่งที่คนอื่นคิดว่าเราเป็น มิใช่หน้าที่การงาน หากแต่เป็นการสำรวจตัวเองอยู่ทุกขณะจิตไม่มีการต่อสู้ใดยิ่งใหญ่และยากเย็นกว่าการต่อสู้กับความไม่รู้ เพราะความไม่รู้จะหล่อเลี้ยงอัตตาให้ใหญ่จนปิดบังปัญญาจนมืดมิด
เขาไม่ได้กังวลว่า จะทำอะไรพลัดหล่นไปจากมือ ไม่กังวลกับเสียงเหล่านักเทศนาที่กำลังพยายามบอกว่า เขาเป็นใคร หากนึกถึงวันที่ไปกราบพ่อแม่ครูอาจารย์
ท่ามกลางบรรยากาศงานบุญกฐินอันอึกทึกและญาติโยมได้เฝ้าแหนอยู่ห่างๆ เมื่อท่านฉันเสร็จเรียบร้อยก็ยังไม่มีใครกล้าเข้าไปหา เขาตรงเข้าไปกราบท่านและเรียนให้ทราบว่า กำลังเล่นห่วงไฟ ท่านพระอาจารย์ให้พรพร้อมสอนว่า โลกนี้มีของคู่กันเสมอ มีคนชอบก็มีคนชัง มีสรรเสริญก็มีนินทา ปลามีทั้งเนื้อและก้าง คนฉลาดเขาก็เลือกกินแต่เนื้อปลา
“เจริญสติเข้าไว้ เมื่อมีสติก็มีปัญญา เกิดปัญหามีสติปัญญาก็ถามลงที่ใจว่า ควรจะทำอย่างไรแล้วจะมีคำตอบ”
เขาสนทนาอยู่กับท่านเพียงลำพังสองต่อสอง ท่ามกลางการจับจ้องของคนอื่น
เขาระลึกถึงคำท่านอยู่เสมอเมื่อเล่นห่วงไฟอยู่ท่ามกลางการจับจ้องของคนอื่น
ความว่างและความรู้ทั้งสองจังหวะนั้นมีบรรยากาศคล้ายๆ กัน
สติเตือนให้รู้ว่าในมือมีห่วง 3 ห่วง ปัญญาน้อยนิดเตือนตนว่าของจริงมีอยู่ห่วงเดียว หากไม่เลอะเทอะไปเสียก่อน สติปัญญาแก่กล้ามากกว่านี้สักวันอาจจะละมือได้ทั้งหมด