เรื่อง + ภาพ : รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
นับตั้งแต่หลังยุค y2k จนถึงยุค post tsunami age กระแสสีเขียวและการประพฤติตนเป็นมิตรแท้กับสิ่งแวดล้อม กระเพื่อมเป็นคลื่นลูกใหญ่ในแผ่นดินมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเขียวจริง หรือใส่หน้ากากสีเขียวก็แล้วแต่ โดยมีคำว่า ‘ลดโลกร้อน’ เป็นเป้าปณิธานแปะไว้บนหน้าผาก
จักรยานสองล้อที่เคยเป็นเพียงพาหนะลูกเมียน้อย ต่ำเตี้ยเสียจนแทบจัดอยู่ในวรรณะจัณฑาลในเหล่าบรรดาพาหนะทั้งมวลในยุคที่ประเทศเกษตรกรรมโลกที่สามอยากเป็น ‘นิกส์’
วันนี้เจ้าพาหนะสองล้อนี้กลับโล้ลอยไต่ตามหลังคลื่นกระแสเขียวมาเป็นพาหนะวรรณะสูงศักดิ์ประจำใจบางคนได้ ในฐานะพาหนะที่ไม่ปล่อยมลพิษใดๆ ไม่ใช้พลังงานฟอสซิลแบบรถที่ใช้เครื่องยนต์ แถมเป็นการเผาผลาญพลังผู้ขี่โดยไม่ต้องเข้าฟิตเนสแบบพวกมนุษย์เมโทร หรือเข้าสำนักลดหุ่นตามแบบที่มนุษย์ยุคนิยมทุนหุ่นตอม่อนิยมทำกัน
แม้บางทีจักรยานอาจถูกมองว่าเป็นการโหนกระแสเขียว หรือเป็นเรื่องชุ่มลิ้นประเดี๋ยวประด๋าวแบบเหล็กดัดฟันแฟชั่นก็ตาม แต่ถ้าได้ลองควบขี่แล้วจะรู้ซึ้งถึงรสศักยภาพของระบบกลไกง่ายๆ แค่เฟืองไม่กี่ชิ้นหากขับเคลื่อนด้วยแรงขาได้ดั่งใจ
เรื่องจริงนะครับ ทุกครั้งที่ผมขี่จักรยานผมแทบจะได้กลิ่น ‘อิสรภาพ’ บนท้องถนนเลยทีเดียว จนต้องใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางไปทำงานแทบทุกวัน หรือผมเป็นพวกเสพติดอิสรภาพก็ไม่รู้ แถมมีสีเขียวตามกระแสเปรอะตัวอีกด้วย ยกระดับให้ผมเป็นชนชั้นกลางที่ดูดีขึ้น
เมื่อใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางในเมืองทั้งใกล้ไกลมาแรมปี เหมือนปลาในตู้ย่อมอยากแหวกว่ายลองลิ้มกระแสธารน้ำในมหาสมุทร ด้วยแรงกระตุ้นอยากลิ้มรสของการปั่นจักรยานทางไกล บวกกับความผยองในวิถีนักปั่น ความคิดถึงการใหญ่ด้วยใจสุดนิ่งได้บังเกิดขึ้น ด้วยการหมายเอาเส้นทาง ‘ฮาร์ดคอร์’ เป็นเป้าหมาย
“เชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน”
“อินดี้โคตรๆ” สหายสนิทที่นั่งใกล้ร้องทัก
“ติสต์แตก” สหายคนถัดไปกล่าวถึงเป้าหมายของผมด้วยนัยความหมายไม่ต่างกับคนแรก
เคราะห์ดีที่ผมทำตัวเป็นคนบ้าใบ้ถือใยบัว คำเตือนคำร้องทักเหมือนจิ้งจกของบรรดามิตรสหายจึงเข้าหูฝ่ายซ้ายออกหูฝ่ายขวา
อีกทั้งข้อมูลของนักจักรยานทั้งหลายผู้เคยพิชิตเส้นทางนี้มา ต่างก็บอกกันเป็นเสียงเดียวว่ามันไม่หมู ถือเป็นความชันระดับที่ถูกออกแบบมาเพื่อกำราบปราบมหาเทพทีเดียว แต่ผมก็ยังทำบอดตาใสไม่สนใจเรื่องราวที่ว่า เก็บเอาชะตากรรมบนเส้นทางที่ว่าไว้เป็นนามธรรม เป็นอวิชชาให้เจอะเจอพิสูจน์กันในกาลข้างหน้าดีกว่า
ดังนั้นมนุษย์เงินเดือนในระบบทุนนิยมผู้ ‘ติสต์แตก’ จึงลางาน แบกจักรยานคู่ใจขึ้นรถทัวร์ไปเชียงใหม่ด้วยใจคึกคะนอง คนเดียว กลางเดือนธันวาคม ปีชวด
แหม มันเท่อย่าบอกใครจริง!
หลังจาก 10 กว่าชั่วโมงผ่านไปบนรถทัวร์ มนุษย์เงินเดือนผู้ ‘ติสต์แตก’ แทบไม่ได้หลับเลย เขาลงจากรถทัวร์ก็พบกับสายหมอกหน้าหนาวแดนล้านนาลอยเอื่อยๆ อากาศหนาวจนต้องสวมเสื้อแจ๊คเก็ตกันลมหนาว แล้วขี่จักรยานแหวกความมืดออกจากสถานีขนส่ง
4.00 น. เริ่มปั่นออกจากสถานีขนส่งตรงไปที่เป้าหมายแรกคือ ร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมันแห่งแรกที่หาได้ เพื่อหาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสักถ้วยรองท้อง ความคิดติสต์แตกผุดหน่อมาอีกเรื่อง ถอดนาฬิกาเก็บจะได้ไม่รู้เวลา หมายใช้เงาตะวันดูเวลาแบบนาฬิกาแดด
แหม! เท่ลึกล้ำ
5.00 น. (เวลาหลังจากนี้มาจากการคาดเดา) เจอสหายสองล้อท่านหนึ่งปรี่เข้ามาทักทายด้วยสำเนียงคำเมือง ถามไถ่ถึงจุดหมายปลายทางของผม แกดูด้วยตาก็คงรู้ว่าแบกสัมภาระประหนึ่งแบกบ้านมาอย่างนี้ต้องเดินทางไกลแน่นอน ยิ่งเมื่อทราบจุดหมายของผมแล้ว ดูแกชอบใจ บอกเส้นทางให้เสร็จสรรพ ก่อนที่จะปลีกตัวหายไปในความมืด
6.00 น. ผมขี่จักรยานทะลุตัวเมืองมาแล้ว ด้วยแรงอัดเต็มที่ เพราะเป็นทางราบ ถนนก็แสนดี กล้ามเนื้อขาออกแรงสบายๆ อากาศยามเช้านอกบางกอกก็เยี่ยม หอบหายใจเป็นสายควันยาว กลิ่นอากาศอิสรเสรีในฤดูหนาวช่างหอมหวนนัก ยิ่งสูดเข้าปอดยิ่งเย็นสดชื่น
8.14 น. หลุดออกจากถนนใหญ่ ถึงทางแยกที่มีป้ายบอกทางไปปาย เมืองหลวงตามสมัยนิยมของวัยรุ่นชนชั้นกลาง และแม่ฮ่องสอนเมืองแม่ของปายอีกที จากการบอกเล่าของผู้เคยปั่นจักรยานผ่านเส้นทางนี้ เขามาถึงจุดนี้ประมาณ 10 โมงเช้า ผมมาถึงก่อนหน้า จึงประมาณตนเองได้ว่า มันคงไม่ยากเพราะเหลือเวลามากมาย
9.03 น. หลังจากผ่านเนินระดับอนุบาลมาได้สักพัก กำลังใจของผมยังดีอยู่ แต่ท้องที่ย่อยบะหมี่ถ้วยหมดแล้วเริ่มร้องหาอาหารอีกมื้อ ผมจึงข้ามเนินระดับหนูน้อยอีกสองสามเนินจึงปรี่เข้าหาร้านอาหารข้างทางเติมพลัง ผมเริ่มกำหนดที่หมายในวันแรก คือ ห้วยน้ำดัง
10.11 น. เนินของเส้นทางพันโค้งผ่านระดับประถมมาวนเวียนอยู่ที่ความยากระดับมัธยม โค้งที่คดเคี้ยวน้อยเหมือนงูเขียวเลื้อย เริ่มแปลงร่างเป็นระดับมังกรผงาดฟ้าพันวนรอบขุนเขาเป็นทางยาว ป้ายบอกทางมีแต่สัญลักษณ์ขึ้นและโค้ง
11.23 น. ผมปั่นมาถึงยังน้ำตกหมอกฟ้าก่อนตะวันตรงหัว นั่นหมายความว่าผมมาถึงก่อนผู้พิชิตเส้นทางพันโค้งด้วยจักรยานท่านหนึ่ง เพราะพี่เขามาถึงจุดนี้ตอนช่วงบ่ายแล้ว จึงทำให้ผมยังมีความหวังเหมือนมีโอเอซิสเล็กๆ ผุดขึ้นในใจแห้งผาก
12.46 น. ด่านทดสอบหฤโหดระดับปริญญาอยู่ตรงหน้าแล้ว เหมือนมีผีป่ามาฉุดรั้งล้อจักรยานไว้ การขี่ขึ้นเนินหนักขึ้นเรื่อยๆ จนขาเริ่มเป็นตะคริว ณ จุดนี้ผมเริ่มถอดตัวลงจากอาน และเริ่มเข็นข้ามทีละเนิน หัวใจเริ่มเต้นแรง เริ่มคิดถึงนักปั่นผู้สังเวยชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย
13.37 น. อารมณ์ ‘ติสต์แตก’ เริ่มออกอาการ ‘ตุ๊ดแตก’ เมื่อเข่าซ้ายเริ่มขยับไม่ได้แล้ว ความเจ็บปวดเข้าครอบงำจนปั่นไม่ได้ คำถามที่ว่า ‘กูมาทำอะไรที่นี่วะ’ วนเวียนอยู่รอบหัวจนชวนอาเจียน ท่าไม้ตายสุดท้ายถูกนำออกมาใช้ ‘โบกรถ’ ซึ่งไม่มีใครยอมจอดรับเลย ซึ้งเลยน้ำใจ!
14.07 น. การเดินทางตามวิถี ‘ติสต์แตก’ ที่หวังใช้เส้นทาง ‘ฮาร์ดคอร์’ เพื่อไต่ระดับสู่ความเป็นเซียนจบลงตั้งแต่ตะวันยังไม่แตะขอบฟ้า ด้วยสาเหตุอาการเจ็บป่วยของเข่าซ้าย ที่ขยับไม่ได้อีกต่อไป การออกแรงปั่นทั้งในทางราบและขึ้นเนินไม่สามารถทำได้ทั้งนั้น มีแต่ไถลลงเนินที่ยังพอฝืนสังขารได้อย่างไม่ยากเย็น
14.35 น. หลังจากที่โทรศัพท์อับสัญญาณอยู่นาน ผมเกือบเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง อยู่ดีๆ โทรศัพท์มือถือก็ใช้การได้ จึงเริ่มต้นด้วยการโทรบอกทางบ้านว่าปวดเข่าซ้ายมาก ขยับไม่ค่อยได้ ความปวดที่เข่าของผมจึงย้ายไปอยู่ที่ศีรษะบุพการีแทน ที่ต้องสละเวลาขับรถจากจังหวัดธนบุรีมารับผมที่ชายแดนเชียงใหม่ vs แม่ฮ่องสอน ในวันรุ่งขึ้น
15.30 น. ผมเกือบเชื่อว่าพระเจ้ามีจริงอีกครั้งเมื่อพบกับที่พักข้างทาง ทั้งๆ ที่ไม่คิดว่าจะมีแถวนี้ ผมบอกตัวเองว่าคงไม่ใช่ปีศาจหมาแรคคูนมาหลอกคนเดินทางในการ์ตูนญี่ปุ่นหรอก
หลังจากจ่ายค่าห้องพัก อาบน้ำท่ามกลางอากาศเหมันต์นรกเสร็จแล้ว ผมก็มานั่งกินข้าวเย็นแกล้มเบียร์อย่างแค้นใจในความ ‘ตุ๊ดแตก’ ของตัวเอง…กับน้องแมวตัวหนึ่ง (คงไม่ใช่ปีศาจ!) ที่กระโดดขึ้นมานั่งบนตัก มันส่งสายตาเหมือนอยากจะถามว่า
“ลูกพี่มาทำติสต์อะไรที่นี่เนี่ย?”