เรื่องเล่าจากโคเปนเฮเกน และคนเดนมาร์กผู้เกรี้ยวกราดบนอานจักรยาน

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ฉันได้มีโอกาสไปเรียนคอร์สช่วงฤดูร้อนที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กมาค่ะ เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เลยอยากเล่าเกี่ยวกับเดนมาร์กให้ฟัง ฉันไม่เคยไปประเทศแถบสแกนดิเนเวียเลย คอร์สที่ไปเรียนเป็นคอร์สชื่อ Interdisciplinary Aspects of Healthy Aging ตามชื่อคอร์ส นักเรียนที่มาเรียนจะมาจากสาขาต่างกัน ทั้งสายวิทย์ สายศิลป์ วิศวะ ชีวะ มานุษยวิทยา สังคมสงเคราะห์ และมาจากหลายๆ ประเทศ ทั้งเอเชีย อเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรป

โคเปนเฮเกนในฤดูร้อน (ภาพจากกล้อง LC-A+ film Fuji)

 

โชคดีที่เป็นฤดูร้อนของเดนมาร์ก อากาศประมาณ 20 องศา กำลังดีเหมือนฤดูใบไม้ผลิที่ญี่ปุ่น แต่คนเดนมาร์กก็บ่นว่าร้อน ช่วงนั้นมีคอนเสิร์ตกลางแจ้งและเทศกาลแจ๊ซ คนออกมาอาบแดดตามริมน้ำ เล่นเรือกัน ดูสนุกสนานมาก คอร์สที่ไปเรียนเนื้อหาค่อนข้างจะง่ายสำหรับฉัน เพราะเป็นการ introduction เกี่ยวกับงานวิจัยในผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ เพื่อนทุกคนน่ารักมาก พยายามฟังคนอื่น ออกความเห็นแบบสุภาพ จนเพื่อนอเมริกันในคลาสออกปากว่า “คนที่ทำงานกับผู้สูงอายุก็จะน่ารักแบบนี้แหละ” : P

การเดินทางครั้งนี้ฉันเลือกพัก Airbnb เพราะราคาถูก และด้วยความที่อยากคุยกับคนเดนมาร์กมาก อยากรู้ว่าเขาใช้ชีวิตยังไงกัน ก็เลยเลือกพัก 3 ที่ด้วยกัน (จะได้เจอคนหลากหลาย) เจาะจงว่าต้องอยู่ร่วมกับโฮสท์ (เจ้าของบ้าน)

สิ่งที่ฉันคิดว่าน่าสนใจที่โคเปนเฮเก้น

เมืองจักรยาน

ที่นี่ใช้จักรยานกันจริงจังมาก ปกติฉันใช้จักรยานอยู่แล้วที่โตเกียว แต่ที่โตเกียวกฎก็ไม่เข้มข้นนัก ปั่นบนถนนหรือบนทางเท้าก็ได้ แต่ที่โคเปนเฮเกน จะมีเลนจักรยานโดยเฉพาะ ฉันเพิ่งเคยเห็นว่าเลนจักรยานที่จริงจังมันเป็นแบบนี้เอง คือจะแยกเป็นอีกเลนไปเลยจากรถยนต์ และจะมีแทบทุกที่ มีไฟเขียวไฟแดงสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ เลนจักรยานจะเหมือนเลนถนน คือจะเรียบไปตลอดเส้นไม่มีอะไรให้สะดุด ไม่ได้ขึ้นๆ ลงๆ ตามขั้นฟุตบาทแบบบ้านเรา ถึงแม้บริเวณนั้นจะมีการก่อสร้าง แต่เลนจักรยานจะได้รับการดูแลให้ต้องใช้ได้ตลอดเวลา ฉันทดลองเช่าจักรยานมาขี่ 3 สัปดาห์ อยากรู้ว่าสังคมจักรยานจริงจังมันจะเป็นยังไง

ผลคือ โดนด่าแทบทุกวันค่ะ 55

ปกติคนเดนมาร์กจะใจดีมาก แต่พอนั่งบนอานจักรยานแล้ว จะอารมณ์ร้อนเป็นพิเศษ คงเหมือนคนกรุงเทพเวลาขับรถ พออีกฝั่งไฟเหลืองเท้าทุกคนก็เตรียมถีบแล้ว แต่เพราะฉันยังไม่ชินด้วย ก็เลยจะทำผิดกฎเป็นประจำ เช่น โลเลไม่ชิดขวา ก็จะโดนนักปั่นชาวเดนมาร์กบ่นทันที เวลาข้ามสี่แยกก็เหมือนกัน ต้องข้ามแบบชิดขวาไป 2 ต่อ มีอยู่ครั้งนึง ฉันเห็นว่าเป็นทางสั้นๆ ก็เลยปั่นไปบนฟุตบาท ก็รู้สึกถึงรังสีอำมหิตบางอย่างจากข้างหลัง คุณป้าชาวเดนมาร์กในชุดสูทสีแดง เดินเข้ามาดักหน้าแล้วด่าทันที เป็นภาษาเดนมาร์ก พอฉันฟังไม่รู้เรื่อง เธอก็เปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว บอกว่า “เธอห้ามปั่นบนฟุตบาท เข้าใจมั้ย!?” ฉันก็ตอบไปว่า “I see.” คุณป้ายิ่งของขึ้น บอกว่า

“ไม่ใช่ I see พูดออกมาเดี๋ยวนี้นะว่า ‘เธอจะไม่ปั่นบนฟุตบาทอีกแล้ว’ พูด!!”

โห คุณป้ารุนแรงมาก หนูผิดไปแล้ว…

 

ถึงจะล้มบ่อยและโดนด่าประจำ ฉันก็เอาชีวิตรอดจากสังคมนักปั่นที่โคเปนเฮเกนมาได้ ฉันชอบจักรยานแบบที่เรียกว่า christiania bike มาก มันแสนจะน่ารัก เวลาเค้าบรรทุกเด็กหรือหมา และปั่นมาท่ามกลางแสงแดด อยากจะเอาไปเลียนแบบทำที่บ้าน จริงๆ มันก็คล้ายๆ ซาเล้งบ้านเรา

เพื่อนชาวเดนมาร์กบอกว่า ชื่อจักรยานนี้มาจาก เขต Christiania ซึ่งเป็นเขตพิเศษในโคเปนเฮเกนที่เค้าอนุญาตให้ขายกัญชาได้ เมื่อก่อนที่เขตนี้ห้ามใช้รถยนต์ ผู้อาศัยเลยต้องต่อจักรยานแบบนี้เพื่อใช้ขนส่งสิ่งของกัน ตอนนี้เขตนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเยอะมาก เพราะบรรยากาศแบบฮิปปี้ปนกลิ่นอายตลาดนัด ก็ตลกดีที่นักท่องเที่ยวอยากเห็นสถานที่ขายกัญชากันขนาดนั้น

บรรยากาศย่าน Christiania (ภาพจาก News Øresund – Peter Mulvany)

การปั่นจักรยานถือว่าเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการใช้ชีวิตแบบนึงของชาวเดนมาร์ก เหมือนที่การได้ลงอาบน้ำร้อนเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตสำหรับผู้สูงอายุญี่ปุ่น คนที่ทำงานด้านผู้สูงอายุในเดนมาร์ก เลยมีโปรเจ็คที่ให้อาสาสมัคร ช่วยปั่นพาผู้สูงอายุไปตามที่ต่างๆ ชื่อ Cycling without Age ซึ่งน่ารักเป็นอันมาก ถ้าที่ไทยจะเป็นโปรเจ็คอะไรนะ… พาไปเที่ยวตลาดนัด กินของอร่อยๆ รึเปล่า? ใครช่วยคิดที

 

สังคมไร้เงินสด (Cashless society)

อันนี้ทำให้ฉันตกใจมาก เนื่องจากปกติเป็นคนไม่ไว้ใจบัตรเครดิต และที่ญี่ปุ่นการใช้เงินสดก็ยังเป็นกระแสหลักอยู่ เริ่มจากตอนไปถึงใหม่ๆ ไม่ได้พกบัตรเครดิตออกจากบ้าน พอไปถึงสถานีรถไฟใต้ดิน จะซื้อตั๋ว แต่… ซื้อไม่ได้! ไม่มีที่ให้ใส่เงินสด ต้องใช้บัตรเครดิตซื้อตั๋วเท่านั้น (ต้องจำรหัสพินของบัตรเครดิตให้ได้ด้วย) ต้องเดินกลับบ้านไปเอาบัตรเครดิตแล้วออกมาใหม่อีกรอบ คืออยู่ที่เดนมาร์ก ไม่มีเงินสดไม่เป็นไร แต่ต้องมีโทรศัพท์มือถือหรือบัตรเครดิต อย่างนั่งรถเมล์และรถไฟใต้ดิน ก็สามารถซื้อตั๋วเหมารายวันทางอินเตอร์เน็ต แล้วโชว์หน้าจอมือถือที่มีใบเสร็จตั๋วให้คนขับดูได้ ที่โคเปนเฮเกนจะมีย่าน street food หรืออาหารข้างทาง (แต่ก็ยังห่างจาก street food บ้านเราหลายขุม) ซึ่งแม้แต่ร้านอาหารในย่านนี้ทุกร้านก็ไม่รับเงินสด

ช่วงเสาร์อาทิตย์ฉันตัดสินใจไปเที่ยวสวีเดนที่อยู่ใกล้โคเปนเฮเกนมาก แบบไปเช้าเย็นกลับได้ด้วยรถไฟหรือเรือเฟอรี่ ฉันจึงถามโฮสท์ที่บ้านเรื่องการแลกเงินเป็นสกุลของสวีเดน โฮสท์ทำหน้าประหลาดใจ และถามว่า “ยูไม่มีบัตรเครดิตเหรอ!? ไม่จำเป็นต้องแลกเงินกันแล้ว ยูมีบัตรเครดิตก็พอ” ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นค่ะ ขนาดเข้าห้องน้ำที่สถานีรถไฟบางทีที่ต้องจ่ายทิป เหมือนบ้านเราที่จ่ายห้าบาทสิบบาท อันนั้นยังจ่ายด้วยบัตรเครดิตได้เลยค่ะ ฉันมองใบเสร็จบัตรเครดิตที่พิมพ์ออกมายาวเหยียดจากเครื่องเก็บเงินหน้าห้องน้ำแล้วก็ให้ความรู้สึกพิกล

แว่วๆ อ่านในทวิตเตอร์ เห็นคนไทยบางคนส่งเสียงอยากให้ไทยเป็นสังคมไร้เงินสด คิดว่าน่าจะมาแน่ๆ แต่จะทำยังไงให้ทุกคนเข้าถึงได้ เพราะกระทั่ง cashless society อย่างสวีเดน ก็มีปัญหาผู้สูงอายุตามไม่ทันระบบ ทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิตเหมือนกัน

 

Hygge

ก่อนไปเดนมาร์ก เพื่อนคนหนึ่งถามว่า “รู้จัก hygge ล่ะสิ” ฉันเลยเริ่มสนใจขึ้นมาว่า hygge คืออะไร จริงๆ ก็ไม่แน่ใจว่าออกเสียงยังไง ค้นดูเค้าบอกว่า ฮูก้า แปลว่า cosiness เหมือนความสุขสบาย เป็นคำที่แปลตรงๆ ยาก

หนังสือเล่มนี้แปลไทยโดยสำนักพิมพ์ openworlds และถอดเสียงว่า ‘ฮุกกะ’

ที่บ้านโฮสท์มีหนังสือเกี่ยวกับ hygge ก็เลยนั่งอ่านดู ช่วงเทอมนั้นฉันเครียดกับสังคมญี่ปุ่นมาก จนรู้สึกเกลียดสังคมญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ตอนไปโคเปนเฮเกนเลยเหมือนได้พักกายพักใจ ชอบไลฟ์สไตล์ของคนเดนมาร์กที่สบายๆ ตอบอีเมล์ก็ช้าเหลือเกิน คนเดนมาร์กจะให้ความสำคัญกับครอบครัวและเพื่อน ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นจะบ้างานกลับบ้านดึกๆ ดื่นๆ แต่สังเกตดูโฮสท์ชาวเดนมาร์ก บ่ายๆ ก็กลับบ้านมาแล้ว และมีเพื่อนมานั่งคุยนั่งเล่นที่บ้านประจำ ช่วงที่ฉันไปเป็นฤดูร้อน โฮสท์ก็จะไปเที่ยวบ้านพักตากอากาศที่สวีเดนบ้าง ไปเที่ยวเกาะกับเพื่อนบ้าง ฉันรู้สึกว่าชาวเดนมาร์กรักธรรมชาติ โฮสท์ของฉันคนหนึ่งบ่นว่า สามีของเธอซึ่งเป็นคนอิตาลีไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับธรรมชาติเลย พอเห็นตัวต่อ เขาก็ไม่รู้ว่าแมลงนี้มีพิษหรือไม่มีพิษ เธอเล่าว่าที่โรงเรียน เด็กๆ ชาวเดนมาร์กจะได้รับการสอนให้รู้จักธรรมชาติรอบๆ ตัวอย่างละเอียด พวกเราจะออกไปดูแมลง วาดรูปสัตว์ต่างๆ เพราะพวกเราจะต้องอยู่กับธรรมชาติ

บรรยากาศ ความใส่ใจ ความสุข ความเท่าเทียม ความซาบซึ้งใจ ปรองดอง ความสบาย สงบศึก ความผูกพัน และที่หลบภัย (ภาพจาก storyofalily.com)

ในหนังสือ The Little Book of Hygge มีหน้าหนึ่งที่สรุปไว้ เลยอยากเอามาแบ่งปันค่ะ ใครสนใจก็ไปหาซื้อมาอ่านได้ อ่านแล้วจะมีแรงบันดาลใจในการทำชีวิตให้รื่นรมย์ อ้อ เดนมาร์กเคยได้ตำแหน่งเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกด้วยนะ (แต่ของปี 2018 ตกเป็นที่ 3 รองจากฟินแลนด์และนอร์เวย์ ส่วนพี่ไทยได้อันดับ 46 และชาวญี่ปุ่นผู้เคร่งเครียดได้อันดับ 54)

 

รัฐสวัสดิการ

จริงๆ เรื่องนี้ฉันยังไม่ได้ศึกษาละเอียดนัก แค่อยากเล่าคร่าวๆ ว่า คืนหนึ่งเจ้าของบ้านสาวชาวเดนมาร์กผู้น่ารักหิ้วขวดไวน์มา พร้อมกับชวนว่า “เรามานั่งคุยที่ระเบียงกันเถอะ” เธอเป็นคนที่หลงใหลการนั่งชมวิวที่ระเบียงมาก ที่ระเบียงของเธอจะมีดอกไม้ ที่นั่งพร้อมหมอน เราคุยกันไปเรื่อยเปื่อย เป็นค่ำคืนที่ฉันประทับใจมาก เธอเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟังว่า เธอเองมีลูกตั้งแต่ตอนอายุน้อย คือท้องตอนวัยรุ่น

พอได้ยินฉันก็ทำหน้าเห็นใจใส่เธอ แล้วบอกว่า “อย่างงี้เธอต้องออกมาทำงานสิ ลำบากแย่เลย” แต่เธอกลับทำหน้าแปลกใจและบอกว่า “ไม่ต้องนะ ตอนนั้นฉันได้รับเงินเดือนเป็นสวัสดิการจากรัฐบาล ฉันก็เรียนมหาวิทยาลัยไปตามปกติ”

ฉันเลยรู้ตัว ว่ากำลังเผลอเอากรอบความคิดของตัวเองไปใส่ ว่าเขาต้องแย่แน่ๆ แต่ถ้ามีรัฐสวัสดิการดีๆ เวลาคนล้ม รัฐก็ช่วยพยุงไว้ให้ ตอนนี้เธอก็ทำงานเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม ลูกสาวก็โตแล้ว น่ารักมาก เป็นนักร้องวงคอรัสของโรงเรียน ไปแสดงหลายประเทศในยุโรป เลยรู้สึกทึ่งมากในระบบสวัสดิการของประเทศเขา

ขอเล่าแค่นี้ก่อน ถ้านึกอะไรออกจะมาเล่าใหม่ พี่ไทยเราชอบนิยมญี่ปุ่น ส่วนประเทศญี่ปุ่นเองเค้าก็บ้าเห่ออเมริกา ยุโรป ยิ่งประเทศสแกนดิเนเวีย คนญี่ปุ่นมักจะเอามาเป็นโมเดลของเค้า ถ้าเราได้ศึกษาหลายๆ แบบ ก็คงได้เห็นอะไรดีๆ อีกเยอะค่ะ

 

9 มีนาคม 2019

โตเกียวกำลังรอต้อนรับซากุระ

Author

อัญญพร สุทัศน์วรวุฒิ
หมอครอบครัวที่กำลังเรียนต่อด้านสุขภาพผู้สูงอายุที่ญี่ปุ่น ชอบคุยกับเหล่าคุณตาคุณยายและน้องหมา ทุกวันนี้มีหน้าที่คอยแก้ความเข้าใจผิดของคนญี่ปุ่นที่ว่า คนไทยทุกคนชอบกินผักชี

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า