ถนนมีไว้ให้แบ่งกันไป

11072839_933827809984657_437713814_n
สมนึก ทำบุญไว้ / ถ่ายภาพ : ณัฐกานต์ ตำสำสู

เรื่อง : อธิคม คุณาวุฒิ

 

ความตายอันเงียบงัน

แกชื่อ ‘สมนึก’ นามสกุล ‘ทำบุญไว้’ อายุ 63 ปี ข้อมูลระบุตัวตนจากเอกสารราชการ บอกว่าแกมีชื่อพักอาศัยอยู่ย่านกรุงเทพฯชั้นใน แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต

นามสกุลแปลกหู แต่พฤติกรรมของแกฟังแล้วแปลกกว่า

แกเป็นแหล่งข่าวของทีมผลิตสารคดีโทรทัศน์ WAY นักประพันธ์หนุ่มผู้กำลังหลงใหลสารคดีโทรทัศน์ เล่าว่าท่วงทำนองบุคลิกของแกแปลก คุยยาก และมีทักษะด้านการสื่อความระดับติดลบ

คุยอยู่ดีๆ แกก็ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง โทน คั่นโฆษณาโดยไม่ต้องอาศัยปี่ขลุ่ย บางเวลาเง็กเซียนฮ่องเต้เข้าประทับร่าง แกเปลี่ยนจากเพลง โทน หันมาครวญเพลงประกอบภาพยนตร์จีนวนไปวนมาไม่จบท่อน ใครพูดจาผิดหู หรือเกิดผิดชะตาไม่ชอบขี้หน้าคนถาม แกเดินเข้าบ้านปิดประตูใส่หน้าดื้อๆ

เรื่องเล่าของแกฟังไม่ปะติดปะต่อ อาทิ ประกอบอาชีพใดไม่แจ่มชัด อ้างวีรกรรมว่าเป็นอาสาสมัครกู้ภัยตามหน่วยดับเพลิง เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือคนไร้บ้าน หนึ่งในวีรกรรมที่ชอบอ้างคือ ทุกๆ ปีแกจะปั่นจักรยานแม่บ้านโกโรโกโส บรรทุกของจากกรุงเทพฯไปทำบุญที่จังหวัดชัยภูมิ

เมื่อทักษะด้านการสื่อความล้มเหลว เรื่องเล่าไม่ปะติดปะต่อ สับสน ขาดน้ำหนัก ข้อมูลของแกจึงไม่ถูกนำมาใช้งาน

บ่ายวันหนึ่ง นักประพันธ์หนุ่มแจ้งข่าวว่า “ลุงสมนึกที่ผมเคยสัมภาษณ์ แกตายแล้วครับ”

อีกวันถัดมา เราจึงรู้สาเหตุการเสียชีวิต จากข่าวรถบรรทุกขับเฉี่ยวป้ายบอกทาง หล่นทับผู้ใช้จักรยานบริเวณอำเภอวังน้อย จังหวัดอยุธยา เมื่อเย็นวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 หนึ่งวันถัดมาหลังข่าวรถยนต์ชนนักจักรยานเสียชีวิตที่ถนนรัชดา – รามอินทรา สองวันถัดจากข่าวรถยนต์ชนนักจักรยานที่จังหวัดเชียงใหม่

หากไม่มีสองเหตุการณ์แรก ไม่แน่ว่าความตายของแกจะเป็นข่าว…ข่าวเล็กๆ

ภาพจักรยานแม่บ้านสีแดงก่ายเกยร่างหักพับ ธงชาติ เสบียง ข้าวของในตะกร้าหน้าและหลัง เกลื่อนกระจายริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์ทิศทางเชื่อมต่อประตูเขตภาคอีสาน เป็นหลักฐานยืนยันเรื่องเล่าของแก

ความตายอันเงียบงัน ส่งเสียงรบกวนจิตใจอย่างเงียบเชียบ

 

IMG_2540 rz

นักปั่นขี้โวยวาย

การที่ยังไม่เห็นนักปั่นจักรยานกลุ่มใดนำความตายของสมนึก ทำบุญไว้ มาใช้งานอย่างจริงจัง บางแง่มุมก็ต้องถือเป็นข้อดี

ข้อเสียนั้นชัดอยู่แล้ว เพราะมันทำให้ความเข้าใจและจินตนาการเกี่ยวกับผู้ใช้จักรยานในสังคม หดแคบเหลือแค่กิจกรรมของผู้รักความเก๋และมีอันจะกิน มองไม่เห็นหัวคนใช้จักรยานปั่นไปโรงงาน ปั่นไปเฝ้ายาม ปั่นไปจ่ายกับข้าว หรือปั่นไปโรงเรียน

พูดง่ายๆ มันมีคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันที่ไร้ตัวตนอีกจำนวนมหาศาล ไม่มีปากมีเสียง ไม่มีไลฟ์สไตล์เก๋กู้ด ไม่มีระบบคิดซับซ้อน อธิบายโครงสร้างทางสังคมด้วยความเฉลียวฉลาด แต่ใช้เพราะมันจำเป็นต่อชีวิต

ข้อดีมีอยู่ว่า ในบรรดาการแสดงออกเหล่านั้นของนักจักรยาน ไม่ว่ามันจะถูกหรือจะผิด จะดูดีมีเหตุผล หรือคับแคบชวนเวียนหัว แต่อย่างน้อยก็ยังซื่อสัตย์กับตัวเอง เป็นการรณรงค์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ตรงไปตรงมา ไม่ต้องไปอ้างความรักต่อชาวนา เพื่อเอามาเป็นเหตุผลไล่รัฐบาล

เรื่องแบบนี้ต้องถือว่ายังเป็นของใหม่สำหรับประเทศเรา ที่ผ่านมาจะทำอะไรทีต้องหาหลังพิงอ้างนั่นอ้างนี่ อ้างความดี อ้างคุณธรรม หรือไม่ก็อ้างภารกิจทวงบุญทวงคุณ ซึ่งเกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นนามธรรมคำใหญ่คำโตทั้งสิ้น

ประเด็นข้อเรียกร้องของนักจักรยาน (ในกลุ่มที่มีเหตุมีผลพอฟังได้) มีง่ายๆ อยู่แค่คำว่า Share the road หากเข้าใจประเด็นนี้ก็ไม่ต้องเถียงกันเรื่องควรมีหรือไม่ควรมีเลนจักรยาน ไม่ต้องเถียงกันว่าจะทำอย่างไรกับนักปั่นห้าวเป้ง ยโส เอาแต่ใจ คิดว่าจักรยานตนเองมีราคาสูงกว่าอีโคคาร์ เพราะฉะนั้นจึงสำแดงพลังปั่นกร่างกลางถนน สภาพจิตไม่ต่างกับบัณฑิตจบใหม่เพิ่งผ่อนวีออสงวดแรก

เราจะตระหนักว่ากำลัง ‘แชร์’ อะไรบางอย่างกับผู้อื่น ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังแชร์นั้นเป็นสมบัติหรือเป็นพื้นที่ ‘สาธารณะ’ ทุกคนเป็นเจ้าของและมีสิทธิในการใช้เท่าๆ กัน ความตระหนักลักษณะนี้จึงพันไปสู่พฤติกรรมอื่นๆ อาทิ ไม่ส่งเสียงตะโกนล้งเล้งในที่สาธารณะ ไม่ทิ้งร่องรอยการขับถ่ายเป็นหลักฐานคาชักโครกแม้จะเป็นห้องหับมิดชิดไม่มีใครมาเห็น ไม่ลัดคิวผู้อื่นแม้จะมีตำแหน่งหน้าที่บารมีใหญ่โต ฯลฯ

เรื่องยากมันอยู่ตรงนี้แหละครับ กล่าวคือเราจะเคารพสิทธิผู้อื่นในการใช้สมบัติหรือพื้นที่สาธารณะร่วมกัน ต่อเมื่อเราต้องมีพื้นฐานหลักคิดที่แม่นยำเสียก่อนว่า – เขากับเราต่างก็เท่ากัน

ฟังแล้วคุ้นๆ บ้างหรือยัง

 

Camden N J-csc

ถนนน่ะ…เขามีไว้ให้แบ่งกันใช้   

ข่าวร้ายมีอยู่ว่า อะไรต่อมิอะไรไม่ได้เป็นไปตามสูตรสำเร็จ ในสังคมที่ดูเหมือนแม่นยำเรื่องพื้นที่สาธารณะ เคร่งครัดในการเคารพสิทธิตนเองและผู้อื่น คุ้นเคยกับอาการขี้โวยวายของเพื่อนบ้าน หรือพูดแบบหาเรื่องกวนน้ำให้ขุ่นก็คือ ในประเทศที่เจริญแล้ว อุดมด้วยเลนจักรยาน เป็นต้นทางของอารยธรรมสมัยใหม่ เป็นประชาธิปไตยจ๋า ก็ใช่ว่าจะเป็นดิสนีย์แลนด์ของผู้ใช้จักรยาน

แคมเปญ ‘หยุด/ฆ่า/นักปั่น’ ที่บ้านเราเถียงกันตรงสำนวนว่า แล้วตกลงมีใครอยากจะไปฆ่ามั่ง (วะ) ก็มีที่มาจากแคมเปญ Stop Killing Cyclists ที่ใช้กันทั่วโลก ปลายปีที่ผ่านมา แมคคาร์ธี ดอนนาชาด์ห ผู้ร่วมก่อตั้งแคมเปญ Stop Killing Cyclists ไปยืนชูป้ายรณรงค์ในขบวนพิธีศพผู้ใช้จักรยานย่านถนนอ็อกซ์ฟอร์ด และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ก็เพิ่งชวนกลุ่มผู้ใช้จักรยาน 300 กว่าคน รณรงค์นอนก๋ากั่นบนถนน ณ จุดเกิดเหตุรถยนต์คร่าชีวิตคนใช้จักรยานกลางกรุงลอนดอน

สหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน นอกจากจะเป็นนายหน้าประชาธิปไตยแล้ว ขาอีกข้างหนึ่งก็ต้องยันอยู่กับอุตสาหกรรมรถยนต์และน้ำมัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกวันนี้คนอเมริกันยังเถียงกันไม่แล้วไม่เลิก ทั้งในโซเชียลมีเดียและในหน้าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ว่า ตกลงจะจัดวางสถานะจักรยานบนถนนอย่างไรดี เพราะสถิติการเสียชีวิตของนักจักรยานบนถนนในสหรัฐยังถือว่าสูง การปะทะกันระหว่างผู้ใช้รถยนต์กับจักรยานเกิดขึ้นอยู่เสมอ จนกระทั่งเกิดการรวมกลุ่มผู้ใช้จักรยานทั้งสายฮาร์ดคอร์ และสายแร่ด (Radical) เต็มไปหมด

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อถกเถียงอลหม่านนั้นมันก็ตกผลึกเป็นหลักกว้างๆ พอให้จับต้องได้ เช่น  การออกแบบกติกา ปรับปรุงกฎหมาย บังคับใช้อย่างเคร่งครัด และเสมอหน้า ครอบคลุมทั้งพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ จักรยาน หรือคนเดินถนน บทลงโทษคนเมาแล้วขับ บทลงโทษขับรถชนคนตาย จำกัดการใช้ความเร็ว กำหนดเส้นทางหรือถนนที่ห้ามจักรยานใช้อย่างชัดเจน ฯลฯ

คดีขับรถชนคนตายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และพบว่าคำตัดสินของศาลเบาหวิวสวนทางกับความรู้สึกของผู้คน จึงต้องย้อนกลับไปดูเนื้อหากฎหมายกันให้ดีๆ เพราะถึงอย่างไรศาลก็ต้องตัดสินโดยยึดเนื้อหากฎหมาย ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกของสังคม

พ้นไปจากเรื่องของการหาเกณฑ์ ออกแบบกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร สิ่งที่ทุกประเทศในโลกล้วนต้องเจอก็คือ การช่วงชิงพื้นที่ ความมีตัวตนที่ถูกมองเห็น มีปากมีเสียงที่จะเรียกเอาสิทธิการใช้พื้นที่สาธารณะ โดยยืนอยู่บนหลักการของความเท่าเทียม มิใช่การขอส่วนบุญ ขอแบ่งปันความเมตตา

ช่วงแรกๆ การปะทะเสียดสีย่อมเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ แต่เราจะค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน เรียนรู้ว่าถนนมีเอาไว้ให้แบ่งกันใช้ แบ่งกันไป เรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิผู้อื่น ทั้งในแง่การใช้พื้นที่สาธารณะ และในแง่มุมอื่นๆ ที่ซับซ้อนขึ้น

การนั่งอยู่เฉยๆ รอให้ทุกอย่างพร้อมขึ้นมาเอง นอกจากจะไม่สมจริงแล้ว ยังถือเป็นการทุจริตทางโอกาสชนิดหนึ่ง

หมายเหตุ :
ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Two wheels many ways
นิตยสาร Way ฉบับที่ 86, มิถุนายน 2558

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า