‘ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์’ ตอกฝาโลงสื่อยุคจริยธรรมอัสดง

ประสงค์ เลิศรันตวิสุทธิ์ 2

เรื่อง : อาทิตย์ เคนมี

ภาพ :  อนุช ยนตมุติ

 

ผู้ประกอบวิชาชีพข่าวต้องไม่ประพฤติตนหรือดำเนินธุรกิจอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ… ต้องไม่อวดอ้างหรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่ เพื่อเรียกร้องสิทธิหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่ชอบธรรม… ผู้ใดฝ่าฝืน ผู้นั้นประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ!

ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2541 และข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.2553 ระบุไว้ตามนั้น

กรณีอื้อฉาวของพิธีกรนักเล่าข่าวชื่อดังที่ตกเป็นข่าวเสียเอง หลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดฐานยักยอกเงินค่าโฆษณา 138 ล้านบาท ก่อให้เกิดคำถามตอกกลับไปยังแวดวงสื่อสารมวลชนให้สะกดคำว่า ‘จริยธรรมสื่อ’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เขย่าสถาบันสื่อให้สั่นคลอนอีกครั้ง…

เป็นอีกครั้งที่ ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดดเข้ามาเกาะติดข่าวนี้ชนิดกัดไม่ปล่อย ทลายจารีตที่ว่าแมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน ด้วยหวังจะกระตุกให้สังคมทั้งองคาพยพช่วยกันเฉือนเนื้อร้ายจากการทุจริตคอรัปชั่นที่กัดกินประเทศไทยมานาน

 

…………………………………………

 

สื่อมักเรียกร้องให้สังคมยึดมั่นคุณธรรมจริยธรรม แต่เหตุใดทุกวันนี้สื่อก็ยังกระทำผิดเสียเอง

เมื่อพูดถึงสื่อกระแสหลัก ทั้งในระดับองค์กรและตัวบุคคลต่างก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการละเมิดจริยธรรมและการทำผิดจรรยาบรรณมาโดยตลอด เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด อย่างหนังสือพิมพ์หัวสีและข่าวโทรทัศน์มักจะละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะสิทธิเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส เช่น การนำเสนอภาพศพ การนำเด็กสวมไอ้โม่งมาถ่ายรูป หรือแม้แต่กรณีที่คลาสสิกที่สุดก็คือ เคสของดาราสาวอุ้มลูกอายุไม่กี่เดือนไปตระเวนออกสื่อต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้ดาราชายยอมรับว่าเป็นพ่อของเด็ก ซึ่งนั่นเป็นการละเมิดสิทธิเด็กอย่างรุนแรง รวมทั้งตัวพิธีกรและทางรายการเองก็ไม่ควรปล่อยให้มีภาพแบบนี้ออกไป แต่ในทางกลับกัน ทุกคนก็จ้องรอดูตาไม่กระพริบ ทุกคนรุมด่าดาราชาย แต่ไม่เคยด่าแม่ของเด็กและพิธีกรที่เอาเด็กมาสร้างความเป็นดราม่าเพื่อดึงดูดผู้ชม

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่สื่อเองก็ถูกวิจารณ์มาตลอด ทั้งในเรื่องความไม่เป็นกลาง การเลือกข้าง ซึ่งคำอธิบายเรื่องนี้ก็คือ ต้องดูว่าสื่อนั้นมีสถานะเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือเปล่า หรือเป็นสื่อมวลชนในทางวิชาชีพอยู่หรือไม่ ถ้าสื่อนั้นมีเป้าหมายเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองก็คงไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ในเมื่อเป้าหมายของเขาต้องการเป็นกระบอกเสียงให้กับพรรคการเมือง ซึ่งก็คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องจรรยาบรรณกันแล้ว

 

เส้นแบ่งของคำว่าจริยธรรมสื่ออยู่ตรงไหน อะไรคือตัวชี้วัดความถูกผิด

มันไม่มีถูกไม่มีผิด แต่อยู่ที่การประเมินว่าความผิดนั้นมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งมีแนวปฏิบัติและข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของสภาวิชาชีพเป็นมาตรฐานขั้นต่ำอยู่แล้ว เช่น ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่สื่อในการแสวงหาประโยชน์ การไม่เสนอภาพและข่าวที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีจิตสำนึกเสมอว่าต้องซื่อสัตย์กับวิชาชีพตนเอง ฉะนั้นก่อนที่จะเสนอภาพหรือข่าวใดๆ ก็ต้องฉุกคิดได้เองโดยอัตโนมัติ เหมือนอยู่ในสายเลือดโดยไม่ต้องใช้วิจารณญาณเลย

 

เมื่อพูดถึงคำว่าจริยธรรม คนมักเข้าใจว่าเป็นเรื่องสูงส่งหรือเป็นนามธรรมจนปฏิบัติยาก

ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องยากที่สื่อมวลชนจะยึดถือปฏิบัติตาม จริยธรรมไม่ใช่เรื่องสูงส่งจนปฏิบัติไม่ได้ เพียงแต่ต้องผ่านการฝึกฝนพอสมควร ซึ่งเมื่อเทียบกับสมัยก่อนถือว่าดีขึ้นมาก จริงๆ แล้วทุกวิชาชีพก็ย่อมอยู่ภายใต้การกำกับของจรรยาบรรณ ไม่ว่าจะเป็นหมอ ทนายความ มันเป็นเรื่องที่ต้องมีการฝึกฝนให้เป็นมืออาชีพ

หลักการและวิธีการนำเสนอข่าว บางอย่างก็อาจสับสนหรือเกิดปัญหาในทางปฏิบัติอยู่บ้าง ดังนั้นนอกจากมีกรอบจรรยาบรรณคอยกำกับดูแลแล้ว องค์กรที่ดีจะต้องมีการกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับคนในองค์กร โดยเฉพาะในบางเรื่องที่มีความอ่อนไหว เช่น การเสนอข่าวความขัดแย้ง ซึ่งต้องค่อยๆ ฝึกฝนและพัฒนากันต่อไป

 

ประสงค์ เลิศรันตวิสุทธิ์ 3

 

มีคำพูดที่ว่า สภาวิชาชีพสื่อเหมือนยักษ์ไม่มีกระบอง เพราะสุดท้ายก็ไม่สามารถลงโทษสื่อที่มีพฤติกรรมนอกกรอบได้

ต้องยอมรับว่าเราควบคุมภายใต้หลักจรรยาบรรณไม่ได้ เพราะระบบการควบคุมกันเองของสื่อมวลชนเป็นระบบสมัครใจ แต่บางกรณีก็ควบคุมไม่ได้ และมีการละเมิดกันทุกวัน โดยไม่มีใครมาดำเนินการอย่างได้ผล ฉะนั้นจึงต้องมีการทบทวนโครงสร้างการกำกับจริยธรรมกันเองอย่างจริงจังทั้งระบบ ต้องเลิกลูบหน้าปะจมูก เลิกเกรงใจกันเอง ต้องทำให้ตรงไปตรงมา รวมถึงอาจมีการเพิ่มกลไกการลงโทษ

 

กรณีสรยุทธ สุทัศนะจินดา ถูกชี้มูลความผิด ส่งผลสะเทือนถึงสถานะและความน่าเชื่อถือของวิชาชีพสื่อมากน้อยแค่ไหน

ครั้งนี้เป็นกรณีที่ชัดเจนมากว่าผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนถูกกล่าวหาว่าร่วมกันทุจริตในการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ข้าราชการยักยอกโฆษณา ถือเป็นกรณีแรกของคนทำหน้าที่สื่อที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลอย่างชัดแจ้งและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีกรณีของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งและเจ้าของหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้บริหารในเครือผู้จัดการมีการทำเอกสารปลอมเพื่อค้ำประกันเงินกู้จากธนาคาร และมีการรายงานข้อมูลเท็จกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อราวปี 2540
แต่เคสของคุณสนธิขณะนั้นค่อนข้างชุลมุน เพราะเป็นเรื่องยากที่คนจะเข้าใจ และช่วงนั้นเกิดวิกฤตทางการเงิน มีข่าวการโกงสถาบันการเงินเกิดขึ้นมากมายเต็มไปหมด ทำให้ข่าวนี้ไม่ค่อยถูกนำเสนอ และคนที่นำเสนอเรื่องนี้ก็มีแค่ผมเท่านั้นเมื่อสมัยที่ทำอยู่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม คดีของคุณสนธิศาลเพิ่งตัดสินความผิดเมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา และขณะตัดสินคดีคุณสนธิก็มีสถานะเป็นนักการเมือง และพ้นจากความเป็นสื่อไปนานแล้วตั้งแต่เริ่มเคลื่อนไหวขับไล่ทักษิณ

แต่สำหรับกรณีของคุณสรยุทธยังประกาศตัวว่าทำหน้าที่สื่อสารมวลชนอยู่ เมื่อคุณสรยุทธถูกชี้มูลความผิด โดย ป.ป.ช.มีการแถลงถึงตัวเลขเม็ดเงินต่างๆ ชัดเจนจนเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ประกอบกับการเป็นคนมีชื่อเสียง ทำให้ข่าวนี้โด่งดังและได้รับความสนใจในระดับสูง

ถามว่าเรื่องนี้ทำให้เสื่อมเสียต่อความน่าเชื่อถือของสื่อหรือไม่ ผมคิดว่าอย่างน้อยตัวเขาเองซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนักสัมภาษณ์ที่มีคำถามค่อนข้างคม ครั้งหนึ่งเขาเคยสัมภาษณ์พระรักเกียรติ รักขิตตะธัมโม (สุขธนะ) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อครั้งที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีทุจริตยา แต่ต่อจากนี้เขาจะกล้าสัมภาษณ์นักการเมืองที่ถูกกล่าวหาไหม เขาจะทำหน้าที่นี้ได้อีกไหม เพราะเขาต้องถูกสวนกลับแน่นอน และเขาจะหมดคุณค่าไปทันที การเป็นนักสัมภาษณ์ที่โดดเด่นในอดีตจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ทำได้แค่การเล่าข่าวเรื่องปาหัวหมาด่าแม่เจ๊ก

 

แม้ข่าวนี้จะได้รับความสนใจในวงกว้าง แต่สื่อหลายสำนักก็ไม่ได้นำเสนอหรือแกล้งปิดตาข้างหนึ่ง เข้าทำนองแมลงไม่ตอมแมลงวัน

นี่คือจุดอ่อนอย่างหนึ่งของสื่อมวลชนไทย คุณเคยเห็นสื่อสำนักไหนเสนอข่าวที่เป็นด้านลบกับตัวเองไหม แทบไม่มีเลย เวลามีข่าวพาดพิงถึงองค์กรตนเองสื่อมักไม่ยอมเผยแพร่ข้อมูลให้คนอื่นได้รับรู้ แต่กลับลงข้อแก้ตัวหรือคำชี้แจงของตัวเองเพียงฝ่ายเดียว หรือไม่ก็หลบเลี่ยงด้วยการไม่นำเสนอข่าวนั้นเลย ซึ่งช่อง 3 เองก็ไม่ได้ผิดแปลกไปจากสื่ออื่นๆ ทั้งที่จริงถ้าเสนอข้อมูลทั้งสองด้าน โดยไม่สองมาตรฐานหรือปกปิดข้อเท็จจริง จะยิ่งทำให้สื่อได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น

ฉะนั้นถ้าถามว่าการนำเสนอข่าวแบบนี้ผิดจริยธรรมไหม บอกได้เลยว่าผิด เพราะเล่นชกข้างเดียว แต่ถ้าคุณเสนอข้อเท็จจริงทั้งสองด้านให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ประชาชนก็จะเป็นฝ่ายตัดสินเองว่าอะไรถูก อะไรผิด

ในแวดวงสื่อมวลชนเองก็มีคำพูดทำนองว่า แมลงวันต้องไม่ตอมแมลงวัน หนังสือพิมพ์หลายฉบับอาจลงข่าวนี้ แต่หลายฉบับก็ไม่ลง เพราะอาจมีผลประโยชน์ผูกพันหรือมีข้อตกลงเป็นพันธมิตรกัน แต่บางฉบับที่ไม่ลงเพราะเขาคิดว่าตัวเองไม่ใช่เจ้าของข่าว นี่คือวิธีคิดของสื่อบ้านเรา คือถ้าใครเล่นข่าวนั้นก่อนก็ถือว่าเป็นเจ้าของข่าว ส่วนฉบับอื่นก็แค่ติดตามกระแสเป็นครั้งคราว แต่จะไม่ลงมือค้นหาข้อมูลแบบเจาะลึกเพื่อให้ได้ข่าวของตัวเอง

คำว่าแมลงวันไม่ตอมแมลงวันมันก็ยังมีอยู่ แต่เชื่อว่าปัจจุบันแนวคิดแบบนี้กำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ และผมคิดว่าผลพวงสำคัญที่เกิดขึ้นจากเรื่องนี้อยู่ที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ประสงค์ เลิศรันตวิสุทธิ์ 4

 

แสดงว่าเมื่อแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน ทำให้ประชาชนต้องลุกขึ้นมาตรวจสอบเอง

การเคลื่อนไหวของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นก็เพื่อต้องการให้สังคมเกิดความตื่นตัว ไม่ยอมรับคนที่มีพฤติการณ์เสี่ยงต่อการทุจริต เพราะการต่อสู้ที่ได้ผลดีที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการใช้มาตรการทางสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างมาตรฐานในเชิงจริยธรรม โดยผู้ที่มีมลทินมัวหมองต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ทำเหมือนนักการเมืองที่มักปัดความรับผิดชอบด้วยการอ้างว่าคดียังไม่ถึงที่สุด ฉะนั้นจึงถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมและเป็นคนละมาตรฐานกัน

การเคลื่อนไหวตรงจุดนี้จึงเป็นการยกระดับการรับรู้ของสังคมให้เห็นว่าสื่อสารมวลชนต้องมีความรับผิดชอบที่สูงกว่าปกติ โดยเฉพาะคุณสรยุทธเป็นบุคคลสาธารณะที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคน แม้อาจไม่ได้คาดหวังถึงขั้นว่าจะต้องยุติการจัดรายการ แต่นี่กลับไม่แสดงความรับผิดชอบอะไรเลย ไม่เคยมีคำขอโทษหลุดออกจากปาก ไม่มีการแถลงโดยเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้ซักถาม ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่นักวิชาการและนักนิเทศศาสตร์รับไม่ได้ ถ้าคุณสรยุทธมีความแฟร์เหมือนกับเวลาที่คุณซักคนอื่นในรายการ คุณก็ควรไปออกรายการให้คนอื่นซักบ้าง

 

การรับผิดชอบด้วยการยุติบทบาทหรือการแสดงสปิริตบางอย่าง มันสามารถรักษาความน่าเชื่อถือได้จริงหรือ

มันก็ควรมีการแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น แสดงความเสียใจที่เกิดข่าวแบบนี้ขึ้นทำให้ผู้ชมไม่สบายใจหรือเกิดความไม่ไว้วางใจในตัวผม อย่างน้อยๆ เคยมีคำว่าขอโทษหลุดจากปากเขาไหม แต่ตอนนี้มันเลยสถานการณ์ไปไกลแล้ว จะมาขอโทษอะไรตอนนี้ ถ้ามาพูดตอนนี้คนก็คิดว่าคุณคงไปไม่รอดแล้ว

 

นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวของภาคีต่างๆ ควรมีมาตรการทางสังคมอย่างไรบ้างในการกำกับดูแลสื่อ

ปรากฏการณ์แบบนี้ในสังคมไทยมันไม่ค่อยเกิด แต่ในต่างประเทศถ้ามีรายการทีวีที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ปกครองจะใช้วิธีร้องเรียนไปยังสถานีโดยตรง แต่หากยังเพิกเฉยก็จะทำหนังสือไปถึงสปอนเซอร์รายการนั้น พร้อมกับรณรงค์เลิกซื้อสินค้าของคุณ สุดท้ายสปอนเซอร์เองก็ต้องแจ้งสถานีว่าถ้ายังไม่มีการปรับปรุงรายการจะถอนโฆษณา ซึ่งได้ผลทันที

แต่ในสังคมไทย นักธุรกิจมักถือคติว่าอย่ามีเรื่องกับคน 2 กลุ่ม คือผู้มีอำนาจรัฐกับสื่อมวลชน เพราะกลัวจะมีผลกระทบต่อธุรกิจ ฉะนั้นการจะปลุกให้นักธุรกิจลุกขึ้นมาถอนโฆษณาหรือเรียกร้องให้คนเลิกดูรายการนั้นมันไม่สามารถทำได้ฉับพลันทันที แม้ว่ากรณีนี้จะเป็นประเด็นที่ค่อนข้างแรง แต่ก็ยังไม่แรงพอ อีกทั้งสังคมไทยก็ยังมีเหตุผลแปลกๆ เช่น เขาเคยทำความดีในช่วงน้ำท่วม ก็ควรเอาความดีนั้นไปลบล้างความผิด ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่านี่คือการจุดประกายอย่างหนึ่ง เหมือนโยนก้อนหินลงในสระย่อมทำให้เกิดแรงกระเพื่อม แม้จะไม่ใช่หินก้อนใหญ่ แต่มันจะค่อยๆ ขยายวงออกไป และหากมีแรงกระตุ้นซ้ำเชื่อว่าวันหนึ่งมันอาจจะได้ผลไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ทำให้หน่วยงานของรัฐอย่าง ก.ล.ต. ต้องทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังบริษัทต่างๆ ว่าให้ระมัดระวังในการติดต่อกับผู้ที่เข้าข่ายทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกอีกเช่นกัน และเป็นก้าวที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม

สิ่งหนึ่งที่จะควบคุมสื่อที่มีพลังมากที่สุดไม่ใช่มาตรการทางกฎหมายหรือระบบการควบคุมกันเองของสื่อ แต่อยู่ที่สังคม วันหนึ่งถ้าคนในสังคมเห็นพ้องต้องกันและลุกขึ้นมาต่อต้านสื่อที่ไม่เหมาะสม สื่อที่เสนอภาพอุจาดลามก หรือรวมตัวกันส่งหนังสือทักท้วงถึงสปอนเซอร์รายการนั้น ซึ่งเป็นกลไกที่ได้ผล แต่ปัญหาคือเมื่อไหร่จะถึงเวลานั้น

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า