ปีที่แล้ว ผู้ชายเกาหลีใต้ใช้เงินไปกับเครื่องสำอางบำรุงผิวหรือสกินแคร์ไปประมาณ 495.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 21 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาดทั่วโลก จากการสำรวจของ บริษัท Euromonitor International ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นตลาดสกินแคร์ผู้ชายที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากจำนวนผู้ชายเกาหลีใต้ทั้งประเทศแค่ 19 ล้านคนเท่านั้น
Amorepacific บริษัทเครื่องสำอางที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ซึ่งผลิตเครื่องสำอางบุรุษป้อนตลาดทั้งหมด 17 แบรนด์ ประมาณไว้ว่า ปีนี้ยอดขายสกินแคร์สุภาพบุรุษจะมีมากกว่า 885 ล้านดอลลาร์
การเปลี่ยนลุคจากผู้ชายแมนๆ ไปเป็นหนุ่มเจ้าสำอาง ในรอบสิบปีที่ผ่านมานี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการแข่งขันเรื่องการงานที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความก้าวหน้า การสร้างเสน่ห์จากความเชื่อที่ว่า “รูปลักษณ์คืออำนาจ” ด้านผู้หญิงเองก็มีความคาดหวังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าผู้ชายใกล้ตัวจะให้เวลากับการดูแลปรนนิบัติผิวมากขึ้น
โรอัลด์ มาเลียงเคย์ หัวหน้าภาควิชาเกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) วิเคราะห์ว่า สำหรับเกาหลีใต้ ผู้ชายเนี้ยบ คือ ตัวแทนการประสบความสำเร็จทางสังคมรูปแบบหนึ่ง โดยได้แรงกระตุ้นอย่างหนักจากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโฆษณา ที่คอยย้ำว่าผิวที่เนียนหมดจดคือส่วนสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จทั้งเรื่องการงานและความรัก
แนวโน้มดังกล่าว น่าจะเริ่มตั้งแต่ปี 1990 เมื่อรัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มผ่อนปรนการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาพร้อมผู้ชายในรูปลักษณ์ที่ต่างออกไป เช่น ผู้ชายแต่งคอสเพลย์ ผู้ชายอ้อนแอ้นเจ้าสำอาง
อีกคนที่น่าจะมีอิทธิพลสำคัญ ในช่วงต้นปี 2000 คือ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ อย่าง อาห์น จุง ฮวาน ที่มาพร้อมกับรูปร่างและหน้าตาสมบูรณ์แบบ เขาถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “flower men” คือ ผู้ชายที่หน้าตารูปร่างดี ผิวเรียบเนียน เป็นนักกีฬ่าที่อินเทรนด์ อาห์น จุง ฮวาน ประสบความสำเร็จมากกับการเป็นพรีเซ็นเตอร์สกินแคร์ผู้ชาย และจากนั้นเป็นต้นมา เทรนด์ flower men ก็ไม่เคยแผ่วไปจากเกาหลีใต้อีกเลย
ที่มา : Huffingtonpost.com