ระบบปฏิบัติการ ‘Single Window’ เตือนภัยผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัย

capture-20150227-181836

เรื่อง: พัชรา ไชยฤทธิ์

ภาพ: อารยา คงแป้น

ไม่ว่าจะเปิดโทรทัศน์ เล่นอินเทอร์เน็ต หรือฟังวิทยุ สื่อโฆษณาจำพวกผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ครีมไวท์เทนนิ่ง ยาแผนโบราณ ยาวิเศษรักษาโรค ฯลฯ มักมีปรากฎอยู่ในสื่อเหล่านั้น ซึ่งสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกช่องทาง โฆษณาเหล่านี้มักมีเนื้อหาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โดยนำเสนอถึงผลิตภัณฑ์ว่าให้คุณประโยชน์มหาศาล รักษาได้ทุกโรค ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อในคำโฆษณา เพราะไม่รู้เท่าทัน ขาดความรู้ความเข้าใจ กระทั่งส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและทรัพย์สิน

จริงอยู่ว่าแม้ผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ให้โทษมากกว่าประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ ‘ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี’ จึงพยายามคิดค้นหาแนวทางรับมือและป้องกันปัญหาผลิตภัณฑ์หลอกลวงผู้บริโภคมิให้ลุกลาม โดยมีการสร้างระบบแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยสุขภาพ หรือที่เรียกว่า ‘Single Window’ เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้ตระหนักถึงการคุ้มครองตัวเองและรู้เท่าทันผลิตภัณฑ์ลวงโลก

Single Window เป็นระบบแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยสร้างฐานข้อมูลออนไลน์ให้ผู้บริโภคสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.tumdee.org/alert/ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เป็นทั้งผู้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุ่มเสี่ยง และสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลได้ในฐานะผู้บริโภค

เวทีประชุมแลกเปลี่ยน ถอดบทเรียนและสรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ Single Window เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการหารือถึงแนวทางพัฒนาระบบและติดตามความก้าวหน้า โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าแนวทางที่จะทำให้โครงการประสบผลสำเร็จคือ จะต้องเน้นการลงพื้นที่ในชุมชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะโครงการ Single Window เป็นงานที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ฉะนั้นต้องทำงานเชิงรุกเพื่อให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจและรู้เท่าทันตนเอง

 

capture-20150227-160641

 

เภสัชกรวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี กล่าวว่า ถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน ต่อให้มีโฆษณา รถเร่ขายยา รถฉายหนังขายยา ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ โดยที่ไม่ต้องรอส่วนราชการ ทว่าชุมชนจะเข้มแข็งได้ก็จำเป็นต้องมีปัจจัยสนับสนุนเกื้อกูล ทำอย่างไรให้พี่น้องภายในชุมชนได้รู้เท่าทัน ไม่เป็นเหยื่อของการโฆษณา

ระบบการปฏิบัติงานของ Single Window เตือนภัย คือ การลงไปในพื้นที่นำร่อง 63 แห่ง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับระบบฐานข้อมูลในอินเทอร์เน็ต โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและประชาชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูลได้

การหาข้อมูลมาบรรจุไว้ในฐานข้อมูล Single Window คือภารกิจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เภสัชกร อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งชาวบ้าน ทุกฝ่ายต้องช่วยกันตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณ อาหาร และเครื่องสำอางที่มีขายในพื้นที่ว่ามีสารอันตรายเจือปนหรือไม่ เช่น สเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ ฟอร์มารีนในปลาช่อน ฯลฯ หากพบสารที่เป็นอันตรายก็จะส่งข้อมูลมาที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง และนำข้อมูลเข้าบรรจุลงในเว็บไซต์ http://www.tumdee.org/alert/ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจเช็คได้ว่ามีผลิตภัณฑ์ใดบ้างเป็นอันตราย

 

+ ‘นาม่วง’ โมเดลต้นแบบ

โครงการ Single Window เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 8 และเขตบริการสุขภาพที่ 10 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแหล่งชุมชนที่ลงไปปฏิบัติการทั้งหมด 63 แห่ง โดยการสนับสนุนของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี เป็นหนึ่งในพื้นที่แรกๆ ที่มีการปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้เมื่อปี 2549-2550 ซึ่งเป็นช่วงที่พบปัญหาสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์สุขภาพแพร่ระบาดอย่างหนัก

ชุลีพร จันทรเสนา นักวิชาการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี เล่าถึงการริเริ่มโครงการว่า “เราได้จัดตั้งเวทีการเรียนรู้อบรมการใช้ชุดทดสอบสารสเตียรอยด์ โดย อสม. ก็ให้ความร่วมมืออย่างดี ส่วนชาวบ้านก็เป็นคนยกมือขึ้นถามเราเองเลยว่า พวกเขาสามารถเป็น ‘นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน’ ได้หรือไม่ ตรงนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เราตระหนักว่า ชุมชนมีส่วนสำคัญที่จะทำให้งานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นรูปเป็นร่างได้”

“การจัดเวทีการเรียนรู้ตลอดหลักสูตร 6 เดือน เราจัดสาธิตวิธีการตรวจ ให้ประชาชนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง สุดท้ายเขาก็จะรู้ของเขาเอง ชุมชนสามารถจัดการเรื่องนี้ได้เป็นรูปเป็นร่าง และตอนหลังชาวบ้านก็เริ่มตื่นตัว รับรู้มากขึ้น ทำให้เราขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไปได้” ชุลีพร กล่าว

หลังจากนั้นศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 ยังมีการจัดทำหลักสูตร ‘นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน’ โดยให้ อสม.ที่สนใจ และมีคุณสมบัติตามแบบอย่างนักวิทยาศาสตร์เข้าร่วมฝึกอบรมตำบลละ 2 คน เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการใช้ชุดทดสอบ และเข้าใจว่าสารที่ตรวจพบมีผลเสียอย่างไร เพื่ออธิบายให้คนที่อยู่ในพื้นที่ที่ อสม.ดูแลได้ทราบ

“เรามองเห็นว่าจริงๆ แล้วเรื่องปัญหาสุขภาพในชุมชนจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสี่ยง คนที่มีพลังที่จะจัดการเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือคนในชุมชนเอง เพราะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ คลุกคลีกับชาวบ้าน”


capture-20150227-160257

 

ขณะที่ ศิริชัย สายอ่อน ผู้อำนวยการสถานีอยามัยเฉลิมพระเกียรติฯ นาม่วง กล่าวเสริมว่า “ในปี 2554 เราคัดเลือก อสม.หมู่บ้านละ 2 คน มาฝึกอบรมการใช้ชุดทดสอบอาหาร 4 ชนิด และเรื่องน้ำมันทอดซ้ำ ตั้งแต่นั้นมาก็มีการพัฒนาระบบเทรนนิ่ง อสม. โดย อสม.จะทำหน้าที่ออกตรวจวัตถุดิบตามร้านอาหาร และทุกวันศุกร์ที่ 4 ของเดือนจะมีการตรวจผลิตภัณ์สุ่มเสี่ยงทั้งอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ที่ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนที่สถานีอนามัยตำบลนาม่วง ตอนนี้ชาวบ้านตื่นตัวในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์กันมาก”

 

+ ประชาชนต้องพึ่งตนเอง

เมื่อขยายผลลงไปในพื้นที่นำร่องทั้ง 63 แห่ง แต่ละแห่งก็มีการลงไปดำเนินงานในชุมชนอย่างเป็นรูปเป็นร่าง โดยมีโมเดลนาม่วงเป็นต้นแบบ เน้นให้ชุมชนเกิดความเข้าใจตรงกัน ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ในระยะแรกคือ ประชาชนไม่มีความเข้าใจว่า ระบบการแจ้งเตือนคืออะไร และให้ผลอะไรแก่ชุมชน

เภสัชกรเด่นชัย ดอกพอง เภสัชกรโรงพยาบาลขุขันธ์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า “การดำเนินการของเราคือ อันดับแรกประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักการแจ้งเตือนภัยในระบบ Single Window จากนั้นให้คนในชุมชนได้ลองใช้ชุดทดสอบผลิตภัณฑ์สุ่มเสี่ยง หากตัวใดที่ไม่มีฐานข้อมูลอยู่อยู่ในเว็บไซต์ก็จะให้ชาวบ้านลงมือตรวจเอง เพราะการตรวจคือกระบวนการหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่า เขาสามารถจัดการตัวเองได้ ซึ่งความรู้สึกตรงนี้สำคัญมากสำหรับการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค และเราคิดว่ามันเป็นพื้นฐานของการพึ่งตัวเองของประชาชน”

 

capture-20150227-160850

 

นอกจากนี้ โรงพยาบาลขุขันธ์มีการนำกิจกรรมจาก Single Window มาเชื่อมโยงกับระบบเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ของโรงพยาบาลขุขันธ์ เพื่อเป็นการควบคุมโรคและภัยสุขภาพอื่นๆ

เภสัชกรเด่นชัย กล่าวต่อว่า “ถ้าเราทำให้เรื่อง Single Window เป็นขบวนที่เชื่อมโยงกับระบบปกติ ที่มีทีมนักวิชาการดูแลอยู่ เวลามีเรื่องร้องเรียนเข้ามา งานก็สามารถดำเนินการได้ไว”

อีกด้านหนึ่งในพื้นที่นำร่องโรงพยาบาลกุดชุม อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร นอกจากจะสามารถทำให้ประชาชนเข้าใช้งาน Single Window เตือนภัยได้แล้ว ยังมีการนำผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยงมาสร้างมูลค่า เกิดนวัตกรรมใหม่โดยคนในชุมชน

“ที่อำเภอกุดชุม ตอนนี้เราไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว คือนอกจากจะใช้ชุดทดสอบในน้ำมันทอดซ้ำ เราได้มีการแปรรูปน้ำมันทอดซ้ำให้เป็นไบโอดีเซล สามารถนำไปใช้กับรถกระบะหรือรถเกษตรกรรม เช่น รถไถ แม้ตอนนี้ชาวบ้านจะยังไม่ค่อยเชื่อถือ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือภาพสะท้อนจากในชุมชนว่าเขาเริ่มคิดและประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ในชุมชน โดยมีผู้สูงอายุและ อสม.เป็นตัวขับเคลื่อน และมี อบต.เป็นผู้นำกิจกรรม” เภสัชกร
ชาญชัย บุญเชิด เภสัชกรประจำโรงพยาบาลกุดชุม กล่าว

การขับเคลื่อนงานในพื้นที่นำร่องอื่นก็เห็นผลใกล้เคียงกับโมเดลนาม่วง ขณะเดียวกันที่เมยวดี จ.ร้อยเอ็ดซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเขตของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี ได้เห็นการปฏิบัติในโครงการ Single Window เตือนภัย ของพื้นที่ใกล้เคียง จึงติดต่อไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 ขอศึกษาโครงการ และมีการลงมือปฏิบัติการในพื้นที่

 

capture-20150227-160446

 

เภสัชกรหญิงกุสุมาลย์ บรรเทา โรงพยาบาลเมยวดี อำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า “เราดำเนินงานร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดในการจัดการสเตียรอยด์ และการใช้ Single window ของเราจะใช้ในระดับจังหวัด โดยเผยแพร่วิธีการใช้งานระบบแจ้งเตือนภัยในกลุ่มสถาบันการศึกษา ทั้งครู อย.น้อย นักเรียน รวมทั้ง อสม. และเภสัชกรทั้งจังหวัดร้อยเอ็ด

เภสัชกรหญิงกุสุมาลย์ บอกว่า แต่เดิมประชาชนในพื้นที่ยังไม่มีความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง เช่น ยาน้ำสมุนไพร ซึ่งสามารถปนเปื้อนสเตียรอยด์ได้ แต่ทุกวันนี้ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือโดยนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์นั้นมามอบให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบมากขึ้น

ทั้งหมดนี้คือผลจากการลงพื้นที่ปฏิบัติการตรวจสอบผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง ทั้งยาแผนโบราณ เครื่องสำอาง และอาหาร ที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

+ ปัญหามีไว้ให้แก้

นอกจากปัญหาสื่อโฆษณาชวนเชื่อที่มีอยู่มากมายในปัจจุบันแล้ว ปัญหาความไม่เข้าใจกันภายในชุมชนก็นับเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการทำงาน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม. เท่าที่ควร และอีกส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากผู้ประกอบการในท้องที่ที่ไม่ยินยอมให้ตรวจสอบ ซึ่งส่วนนี้ยังไม่มีมาตรการใดมารองรับเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ออกไปปฏิบัติงาน

ทางสถานีอนามัยนาม่วง เสนอให้มีการออกกฎกหมายคุ้มครอง ให้สิทธิ์ อสม. และเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติงาน เพราะมีหลายครั้งที่เกือบจะมีแรงปะทะกันระหว่างผู้เข้าไปตรวจสอบกับผู้ประกอบการ

“หลายครั้งเรามักจะเจอคำถามจากผู้ประกอบการว่า นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนนาม่วง มีใบอนุญาตอะไรบ้างที่จะไปตรวจร้านเขา แม้ตอนนี้พื้นที่ตำบลนาม่วงจะได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบการแล้ว แต่ในอีกหลายพื้นที่ยังคงเป็นปัญหาที่ควรเร่งแก้ไข” ศิริชัย กล่าวพร้อมเสริมว่า “ถ้าจะให้ อสม.ปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัว ก็ควรมีข้อกฎหมายอีกชุดไปคุ้มครองเจ้าหน้าที่ และ อสม.”

 

IMG_8896

 

เภสัชกรศศิพงค์ ทิพย์รัชดาพร โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “ตอนที่ทำงานครั้งแรกชาวบ้านเขาก็ไม่กล้า โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เวลาพาเราไปตรวจยาในหมู่บ้าน เขาจะไม่ค่อยอยากเข้าไปกับเรา เพราะเขากลัวว่าจะมีปัญหากับผู้ประกอบการ ผู้ใหญ่บ้านเขาก็กลัวที่จะเข้าไปกับเรา มันเป็นเรื่องของฐานนิยม กลัวลูกบ้านจะว่า”

เภสัชกรหญิงพิมล ศรีภูธร โรงพยาบาลโนนสัง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู เล่าถึงปัญหาช่วงแรกของการลงพื้นที่พร้อมแนวทางแก้ไขว่า “ตอนลงพื้นที่ตอนแรกก็ไม่กล้าลงไปตรวจบ้าง แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ไม่ได้ลงไปตรวจแบบนักกฎหมาย แต่เราเป็นนักประชาสัมพันธ์ เอาข้อมูลจาก Single Window ไปแจ้งข่าวว่ามีผลิตภัณฑ์ตัวนี้เข้ามาใหม่ในเว็บไซต์ ให้ อสม.เป็นเสมือนผู้สื่อข่าวในชุมชน ส่วนในเรื่องของการตรวจวิเคราะห์ก็เก็บตัวอย่างมาตรวจที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่วนนี้เป็นการลดภาพลักษณ์ที่ขัดแย้ง ทำให้ภาพลักษณ์ดูดีขึ้น และ อสม.ไม่ต้องมากดดัน”

จากการถอดบทเรียนในโครงการ Single Window เตือนภัย ไม่เพียงจะช่วยสกัดกั้นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพให้หมดไปจากชุมชนแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านเกิดความตระหนัก และรู้จักป้องกันตนเองมากขึ้น และในอนาคตหากทุกครัวเรือนรู้จักการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล Single Window ก็จะทำให้ผู้บริโภคทั่วประเทศเกิดความเข้มแข็งขึ้นได้

เภสัชกรวรวิทย์ กล่าวสรุปภาพรวมของโครงการ Single Window ว่า การทำงานในพื้นที่มีประโยชน์อย่างมาก การทำข้อตกลงกับชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นการทำงานที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ทำให้ชุมชนได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์สุ่มเสี่ยงที่เป็นปัญหาของงานคุ้มครองผู้บริโภค

“ตอนนี้หลายพื้นที่ไม่อนุญาตให้รถเร่ขายอาหารเข้าไปในชุมชนแล้ว เพราะมีการตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ อสม.และคนในชุมชนเองก็มีความเข้าใจระบบเตือนภัย แต่ขณะเดียวกันจะต้องมีการพัฒนาให้พี่น้อง อสม. เชี่ยวชาญเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น”

เภสัชกรวรวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมคือ จะต้องมีการจัดการกับโฆษณาชวนเชื่อของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย เพราะนี่คือตนตอของปัญหา ไม่เช่นนั้นแล้วในพื้นที่ก็จะเหนื่อยกับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ซ้ำไปซ้ำมา อีกส่วนคือหลังจากมีการเตือนภัยผลิตภัณฑ์แล้ว อย.จะต้องมาร่วมจัดการผลิตภัณฑ์เหล่านั้นให้เด็ดขาดด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นปัญหาซ้ำซากไม่สิ้นสุด”

 

*************************************

logo

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า