เรื่อง : ณขวัญ
ภาพที่เราเห็นคือกองคาราวานรถซูซูกิ แคริบเบียน ที่ออกเดินทางข้ามพรมแดนจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 ผ่าผ่านลาวด้วยเส้นทางอินโดจีนหมายเลข 9 เข้าไปยังเวียดนาม…
หากว่ากันในเรื่องข้อเท็จจริง การเดินทางไกล 4,000 กิโลเมตร โดยไม่มีจุดมุ่งหมายอะไรเป็นพิเศษ นอกจากการนำรถขับเคลื่อนสี่ล้อไปลุยทะเลทรายเพื่อทดสอบสมรรถนะ ดั้นด้นไปยืนหนาวมองดูหิมะขาวบนเทือกหิมาลัย เพื่อจะได้ดื่มด่ำรสชาติของมาม่าและปลากระป๋อง…คงพูดได้อย่างชัดเจนว่า นี่คือความฟุ่มเฟือยของคนขี้เบื่อ
แต่คนเราก็ยังเดินทางกันไม่ยั้ง จากที่นี่สู่ที่นั่น ถี่กว่านกอพยพทุกฤดูหนาว ถี่กว่าปลาแซลมอนว่ายทวนน้ำไปวางไข่ แถมไม่ค่อยได้อะไรกลับมานอกจากของฝาก แต่ในความฟุ่มเฟือยที่ว่า เรามักจะได้ ‘บางสิ่ง’ ตอบแทนกลับมา
ภาพยนตร์มักกล่อมเราว่าการเดินทางเชิงกายภาพนั้นสะท้อนการเดินทางภายใน
เมื่อไปถึงหมุดหมาย เราย่อมเติบโตและเปลี่ยนแปลง และนี่อาจจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับ ‘ราคา’ ที่จ่ายไปในระหว่างทาง
เช่นเดียวกับราคาของเวลา 2 ชั่วโมงที่ถูกฆ่าจนกลายเป็นศพเกลื่อนโรง เราก็น่าจะได้อะไรออกมาบ้าง เหมือนบางสิ่งที่เราหวังได้จากหนัง Road Movie ดีๆ สักเรื่อง เช่น อาการคันเท้ายิบๆ อยากออกเดินทาง หรือแรงบันดาลใจในการลุกจากที่นี่เพื่อไปที่นั่น แต่สิ่งที่ ‘เราสองสามคน’ เล่าให้เราฟังนั้นค่อนข้างเรียบง่าย เหมือนเรื่องคุยเล่นในวงเพื่อนฝูงมากกว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณใดๆ หนังเลือกที่จะตัดความฟูมฟายต่างๆ ทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นงานด้านภาพที่ดิบและปรุงแต่งน้อย (หากคุณเคยไปเวียดนามแบบนักท่องเที่ยวมาก่อน คุณก็จะเห็นเวียดนามอย่างนี้นี่แหละ) บทสนทนาเรื่อยๆ เรียงๆ ที่มีสาระน้อยมาก เหมือนกับชีวิตจริง…ที่เราถนัดการส่งเสียงเพียงเพื่อเติมช่องว่างในอากาศมากกว่าจะสื่อสารกัน
กรอบถูกวางไว้อย่างหลวมๆ ประเด็นที่โฟกัสเหลือเพียงเรื่องระหว่างคนสองสามคน แต่เราอาจจะเห็นอะไรบางอย่างที่พอจะอนุมานได้ว่าคือจุดเปลี่ยนผ่านของตัวละคร…มันซ่อนเร้นเอาไว้อย่างแนบเนียนจนไม่สามารถชี้ลงไปชัดๆ ว่าจุดไหน
แทรกผสมกลมกลืนระหว่างจุดเริ่มต้นของความรักแบบหนุ่มสาว และความรักที่ผ่านช่วงเวลายาวนานแบบเพื่อนสาว… ถึงตอนนี้เราชักจะรู้สึกว่ามันคือหนังรักมากกว่า
. . .
สุนผู้หูตึงบอกว่า เธอไม่สามารถแน่ใจในอะไรได้อีกต่อไป ทั้งๆ ที่ผ่านมาเธอเปี่ยมด้วยความมั่นใจ เพียงนำถ้อยคำเลือนรางนั้นมาปะติดปะต่อกับการขยับของริมฝีปาก ท่าทาง และแววตา เธอสามารถอนุมานเป็นเรื่องราวเพื่อทำความเข้าใจ
วันหนึ่งเธอพบว่าบางความรู้สึก (ที่ช่างซับซ้อนเวียนหัวยิ่งนัก) นั้นไม่อาจอาศัยการอนุมานได้
มันต้องการความชัดเจน
เต๋อมองไม่ชัด
การมองไม่ชัดทำให้เราเข้าใจผิด ภาพเบลอๆ ที่เต๋อเห็นนั้นดูสวยงาม บางสิ่งที่คิดว่าเห็นชัด กลายเป็นเรื่องซับซ้อนน่าเวียนหัวพอกัน เมื่อมองชัด สิ่งที่ปรากฏสวนทางกับสิ่งที่เคยเข้าใจ เราผิดหวัง
ความเศร้าอนุญาตให้เราใช้เวลา ‘เล่นมิวสิคฯ’ สักพัก แต่เมื่อเพลงจบ เราจะมองเห็นความงามของความจริง
สิ่งที่สร้างความมั่นใจให้แก่นักอนุมาน (ที่ประกอบสร้างความจริง) คือความไว้เนื้อเชื่อใจที่สุนมีต่อเต๋อ
ชัดเจนว่าระหว่างสองคนนี้ — คือความรัก
. . .
สุดท้ายแล้วกิจกรรมฟุ่มเฟือยนี้อาจไม่ได้ให้อะไรเลย การเปลี่ยนผ่านของตัวละครไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 3 วัน 7 วัน (หรือ 2 ชั่วโมง) การเดินทางอาจเป็นเพียงการพักร้อน เราหลบไปจากกิจวัตรซ้ำซากชั่วคราว ไปในสถานที่แปลกตา แล้วถ่ายรูปกับแลนด์มาร์ค (หรืออย่างร้ายที่สุด—ป้าย) เพื่อจะบอกว่าที่นี่คือที่ไหน มองคนที่แตกต่างแล้วอนุมานไปว่ามองเห็นวิถีชีวิต กินอาหารในร้านที่ขึ้นชื่อว่าเป็นของประจำถิ่น นอนโรงแรม/เกสต์เฮาส์/โฮมสเตย์ ช็อปปิ้งในตลาดท้องถิ่นที่สินค้าล้วน Made in China
หรือเพียงฆ่าเวลาในในโลกของภาพยนตร์ด้วยการนั่งมองชีวิตของคนที่กำลังฆ่าเวลาอีกที
ถึงจะไม่ได้อะไรเลย แต่เมื่อเรากลับถึงบ้าน เมื่อไฟในโรงภาพยนตร์ค่อยๆ สว่าง
มีสิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้อยู่เสมอ
คือโอกาสทำความคุ้นเคยกับการจากลา
. . .
หนังให้ความรื่นเริงบันเทิงใจ และเสียงหัวเราะตามธรรมชาติมากกว่าหนังตลก ส่งผลให้เราสามารถหันไปยิ้มกับคนข้างๆ ได้อย่างมีความสุข
เราลุกออกมา สมทบกับคนแปลกหน้าที่ดุ่มเดินไปยังห้องน้ำ ล้างมือแล้วจึงสบตามองกระจกเงา
ยิ้มนิดๆ ให้กับความรักระหว่างตัวละครบนโลกใบนี้ ตัวละครที่เพิ่งเริ่มออกเดินทาง
แล้วลองกล่าวคำอำลาอย่างแผ่วเบา
ซ้อมไว้ก่อนน่ะ จะได้ไม่เศร้ามาก
……………………………………
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2553)