ชาติ สาด กระสุน: รุ่งอรุณของปฏิบัติการ ‘ล้างสมอง’

ปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อผ่านภาพยนตร์ไทยใน 3 ทศวรรษ (2490-2520)

Part 1 (2490-2500)

รุ่งอรุณของปฏิบัติการ ‘ล้างสมอง’

เหตุการณ์วันเสียงปืนแตก 8 สิงหาคม 2508 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อาจเป็นจุดสูงสุดของความรุนแรงสุดขั้วสองด้านของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์แรกคือ การเปิดฉากต่อสู้ทางอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับรัฐไทย ในที่ราบแถบหมู่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เหตุการณ์หลังคือ การสังหารหมู่กลางเมืองที่รัฐกระทำต่อนักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ทั้งสองเหตุการณ์ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเลย จากระยะเวลาที่ห่างกันกว่าทศวรรษ จากจุดเกิดเหตุที่ห่างกันหลายร้อยกิโลเมตร ทว่าหากเราตั้งจุดเริ่มของความรุนแรงในเช้าวันที่ 8 สิงหาคม 2508 มาบรรจบในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่กินระยะเวลา 11 ปีนี้ มีภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการปราบปรามคอมมิวนิสต์และผู้มีอิทธิพลเถื่อนด้วยวิธีนอกกฎหมาย ออกฉายเป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์กลุ่มนี้เรียกกันเล่นๆ ว่า ‘ภาพยนตร์บู๊ ผกค.’ อันหมายถึง ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาแนวบู๊แอคชั่น พระเอกจะต้องปราบผู้ร้ายที่เป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ภาพยนตร์กลุ่มนี้เป็นตระกูลย่อย (sub-genre) ของภาพยนตร์แนวบู๊ภูธรที่นับว่าเป็นตระกูลภาพยนตร์หลัก (genre) ตระกูลหนึ่งสำหรับภาพยนตร์ไทยในอดีต (ผู้อ่านสามารถอ่านที่มาและประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์บู๊ภูธรได้ในบทความ การเมือง เสือไทย และจุดกำเนิดหนังบู๊ภูธร)

ภาพยนตร์เหล่านี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปลูกฝังความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้มีความคิดเห็นต่าง ทั้งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ หัวหน้าฝ่ายแรงงาน แกนนำสมัชชาคนจน จนถึงนักศึกษาและประชาชน อย่างเป็นระบบ ผ่านสื่อบันเทิงตลอดทศวรรษ 2510 ทำให้เกิด ‘คนไทยคนอื่น’ คนไทยที่ไม่เหมือนไทยด้วยกัน จนนำมาสู่คำว่า ‘หนักแผ่นดิน’

2496

12 ปี ก่อนเกิดเหตุวันเสียงปืนแตก เอิร์ล วิลสัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายการข่าวของอเมริกา เพิ่งตีตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวด่วนจากปารีสสู่กรุงเทพฯ โดยรู้เพียงว่าตัวเองจะเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มแรกๆ ที่ถูกส่งตัวมาสังกัดองค์กรยูซิส (USIS – United State Information Service) ซึ่งเพิ่งถูกก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ ณ เวลานั้น (2496) ตำแหน่งของเขาคือ Country Director

เจ้านายโดยตรงของวิลสันคือ จิม มีเดอร์ ผู้อำนวยการยูซิส โดยมีเอกอัครราชทูต วิลเลียม เจ. โดโนแวน คอยผลักดันโครงการนี้ โดโนแวนมีฉายาว่า ‘ไวลด์บิล’ เพราะมักได้รับภารกิจเป็นทูตในพื้นที่เสี่ยงภัยห่างไกล และไอเดียเรื่ององค์กรยูซิสนี้ก็เกิดขึ้นจากตัวโดโนแวนนี่เอง เพราะเห็นว่าประเทศไทยในขณะนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการเมืองในสงครามเย็น หลังจากจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ เกิดการเปิดศึกปลดแอกเวียดนามจากฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู ขณะที่อเมริกาเข้าสู่ช่วง ‘ไคลแม็กซ์’ ของสงครามเกาหลีแล้ว ซึ่งโดโนแวนพอจะมองเห็นแล้วว่าพื้นที่อันตรายลำดับถัดมาก็คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะจีนมีอิทธิพลเหนือประเทศไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาช้านาน คอมมิวนิสต์แทรกเข้ามาในประเทศต่างๆ โดยมีไทยเป็น ‘ไข่แดง’ อยู่ตรงกลาง ไอเดียที่โดโนแวนเสนอต่อประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ก็คือ ตั้งรับที่ไทยไว้ให้มั่น เพื่อยันคอมมิวนิสต์ไม่ให้กลืนกินภูมิภาคนี้ เมื่อไอเซนฮาวร์ตกลง เมกะโปรเจ็คต์ที่โดโนแวนคุมผ่านยูซิส โดยมีวิลสันเป็นลูกมือ จึงเริ่มต้น

แผนการยับยั้งคอมมิวนิสต์ที่โดโนแวนคิด ไม่ใช่การรบพุ่งด้วยอาวุธ แต่จะเป็นการทำ ‘สงครามจิตวิทยา’ เป้าหมายคือ พวกเขาต้อง ‘ให้ความรู้’ แก่รัฐบาลไทยและประชาชนไทย ถึงอันตรายของคอมมิวนิสต์และความสำคัญที่จะต้องธำรงระบอบประชาธิปไตยเอาไว้เพื่อยืนยันว่าไทยอยู่ข้างกลุ่มโลกเสรี สิ่งที่ทำให้วิลสันทึ่งคือ สงครามทางจิตวิทยานี้ถูกใช้ในไทยเป็นที่แรก หลังแผนประสบความสำเร็จด้วยดีมันจึงถูกใช้ต่อในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา รวมทั้งประเทศอื่นๆ ตลอดช่วงสงครามเย็น

สงครามจิตวิทยานี้ได้ชื่อเรียกในภายหลังว่า ‘แผนโฆษณาชวนเชื่อ’ (Psychological Indoctrination Program)

หากในช่วงแรกๆ ลำพังการให้ความรู้แบบบรรยายหรือปราศรัย โดยฝากผีฝากไข้ไว้กับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐนั้น กลับไม่มีพลังพอจะดึงดูดคนหมู่มาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการเมืองมาก่อน ขณะที่ระบบปฏิบัติการออกแบบจากบนลงล่าง โดยวิลสันและทีมยูซิสจะให้การอบรม/ฝึกทักษะแก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยโดยตรง แล้วให้ทางไทยจัดการอบรมเจ้าหน้าที่ลำดับล่างๆ ลงไป พวกเขาจะได้รับชุดความรู้มือสอง-สามจากบรรดาเจ้าหน้าที่ไทยระดับสูงอีกทอดหนึ่ง ทว่าก็ดูจะไม่ได้ผลนัก สุดท้ายวิลสันและทีมยูซิสจึงต้องการอาวุธหนักที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย

ในที่สุดพวกเขาก็พบ มันคือภาพยนตร์ หรือ ‘หนัง’ ที่คนไทยรู้จักกันดี

หนังโฆษณาชวนเชื่อ

หน้าที่หลักๆ ของวิลสันคือ จัดสร้างและผลิตสื่อบันเทิงเพื่อใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ ตั้งแต่การ์ตูนช่อง (strips comics) จนถึงหนังข่าว เพื่อให้ ‘หน่วยลงพื้นที่’ มีสื่อที่สามารถนำไปประกอบการให้ความรู้ในพื้นที่กันดาร รูปแบบนี้ได้มาจากการฉาย ‘หนังขายยา’ โดยบริษัทยาในไทยในช่วงทศวรรษเดียวกัน (มีหลักฐานว่าบริษัทยาเจ้าแรกๆ ที่ใช้วิธีการฉายหนังเพื่อดึงดูดชาวบ้านในภูมิภาคก็คือ ยาสตรีเพ็ญภาค ตราพญานาค เริ่มฉายตั้งแต่ปี 2492) สำหรับพื้นที่เป้าหมายในการฉายก็คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประเมินว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุด เพราะติดชายแดนลาว-กัมพูชา ตลอดจนเวียดนามสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านภูมิภาคนี้ได้ง่าย โดยเวียดนามในขณะนั้นถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงจะเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว

โรงหนังที่อุบลราชธานี

แผนการของยูซิสในช่วงแรกเริ่มคือผลิตภาพยนตร์เอง โครงการชุดแรกตั้งเป้าว่าจะผลิตภาพยนตร์ถึง 10 เรื่องในไทย มีทั้งภาพยนตร์เล่าเรื่องและสารคดี โดยได้มอบหมายให้ เทอร์เนอร์ เชลตัน โปรดิวเซอร์จากฮอลลีวูดมารับหน้าที่ดูแลการผลิต (เชลตันมีเครดิตใน IMDB อยู่เพียงเรื่องเดียวคือ T-Men (1947) – ผู้เขียน) เชลตันเรียกมือเขียนบทจากฮอลลีวูดมาขึ้นเรื่อง แต่ดูเหมือนจะไม่เวิร์คสำหรับวิลสัน สุดท้ายจากการเป็นหัวหน้าฝ่ายข่าว วิลสันกลับต้องเขียนเรื่องย่อหนัง ลามจนถึงสคริปต์หนังเรื่องแรกด้วยตัวเอง

ความสำเร็จของการผลิตหนังฉายเองในพื้นที่เป้าหมายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทำให้แผนกภาพยนตร์ของยูซิสกลายเป็นแผนกสำคัญที่ต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ วิคเตอร์ แอล. สเตียร์ (ประจำการระหว่าง 2498-2503) สเตียร์เล่าถึงบรรยากาศการทำงานในแผนกภาพยนตร์ว่า มีเจ้าหน้าที่ภาพยนตร์ประจำออฟฟิศจำนวนมาก และยังมีผู้สร้างหนังชาวไทยแวะเวียนเข้ามาผลิตหนังให้แก่ยูซิสด้วย (เพื่อทำหนังพูดภาษาไทย) สเตียร์ย้ำว่าพลังของภาพนั้นเป็นหัวใจสำคัญในการสื่อสาร แม้กระทั่งแผ่นภาพของยูซิสที่แจกประกอบการฉายหนังก็จะ “very light on text and strong on pictures and caption” คือเน้นภาพชัดเจนและใช้คำโปรยใหญ่ๆ เตะตารุนแรง แทบไม่มีตัวหนังสือให้รกรุงรังมากนัก

หนึ่งในภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของยูซิสที่หลงเหลือถึงปัจจุบันก็คือ คำสั่งคำสาป (Dead Man Voices, 2497) ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เพิ่งจะค้นพบและนำกลับมาบูรณะออกฉายอีกครั้งเมื่อ 26 กันยายน ที่ผ่านมา นอกจากคำสั่งคำสาป แล้ว ยังคงมีผลงานภาพยนตร์สารคดีข่าวอย่าง กรุงเทพเมืองหลวงของเรา (Bangkok, Our Capital, 2500) และ ไฟเย็น (2508) ที่เป็นผลงานการผลิตของทีมภาพยนตร์ยูซิสในช่วงเวลาดังกล่าว

คำสั่งคำสาป (Dead Man Voices, 2497)

นอกจากภาพยนตร์เล่าเรื่องแล้ว ภาพยนตร์สารคดีเชิงข่าวของยูซิสก็ถูกผลิตเป็นจำนวนมากในช่วงทศวรรษ 2500 ริชาร์ด เอ. เวอร์เด็น เจ้าหน้าที่ยูซิส ผู้เคยประจำการในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และพิษณุโลก (2510-2512) เล่าว่า หนึ่งในภาพยนตร์สารคดีข่าวที่สำคัญสุดของพวกเขาคือ ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ โดยตัวหนังจะบันทึกพระราชกรณียกิจของพระองค์ระหว่างเสด็จเยือนภูมิภาคต่างๆ เวอร์เด็นบอกว่าภาพยนตร์สารคดีชุดที่เกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นจุดแข็งที่สุด (was the strongest asset) ในการสร้างความจงรักภักดีแก่สถาบันในหมู่ชาวบ้าน ทำให้พวกเขาได้เห็นพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์

ปลายทศวรรษ 2500 ดูเหมือนจะเป็นช่วง ‘พีค’ ของการผลิตภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อโดยยูซิส พอล กู๊ด ที่เคยประจำการในหน่วยยูซิส ที่อุบลราชธานี (2506-2508) และกรุงเทพฯ (2509-2511) กู๊ดรับหน้าที่ประสานงานการฉายตามภูมิภาค ที่ไม่ใช่แค่การฉายหนังโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น แต่ยังแจกจ่ายเอกสารและภาพพีอาร์ให้แก่ชาวบ้านในภูมิภาค

‘ภาพ’ ที่กู๊ดจดจำได้ชัดก็คือ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แจกให้แก่ชาวบ้าน พร้อมๆ กับภาพโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อและหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กๆ เพื่อให้ความรู้เรื่องระบอบประชาธิปไตยและความหวาดภัยคอมมิวนิสต์แก่พวกเขา

ช่วงเวลาที่กู๊ด ‘ปฏิบัติการฉายหนัง’ ตามหมู่บ้านต่างๆ ในแถบภาคอีสาน เป็นช่วงเวลาที่ภาพยนตร์แนวคาวบอยสปาเก็ตตี้ (Spaghetti Westerns – ตัวอย่างภาพยนตร์กลุ่มนี้ ได้แก่ หนังชุด มือปืนเพชรตัดเพชร (Fistful of Dollars / For a Few Dollar More / The Good, the Bad and the Ugly นำแสดงโดยดาราอเมริกัน คลินท์ อีสท์วูด แต่ถ่ายทำในอิตาลีและสเปน – ผู้เขียน) กำลังเฟื่องฟูในประเทศไทย โรงฉายติดป้ายคัตเอาท์ขนาดใหญ่

หากหนังที่ยูซิสผลิตและนำไปฉายกลับเป็นหนังที่กู๊ดเรียกว่า ‘หนังหมอลำ’ (น่าจะเป็นหนังข่าว-สารคดีที่ใช้การร้องหมอลำแทนการบรรยายประกอบ เรื่องสำคัญคือ The Community Development Worker (1958) – ผู้เขียน)

กู๊ดบอกสาเหตุที่หนังหมอลำได้รับความนิยมกว่าหนังประเภทอื่นๆ เพราะเรื่องราวใกล้ตัวผู้ชมที่เป็นชาวบ้าน พูดภาษาเดียวกับพวกเขา (ใช้ภาษาอีสานเป็นหลัก) กู๊ดยกตัวอย่างว่า หนังอย่าง New York, New York ภาพยนตร์เพลงที่ฉายภาพเมืองนิวยอร์คอันหรูหราทันสมัย แม้จะมีภาพอันน่าตื่นตา แต่กับชาวบ้านในภูมิภาค พวกเขาสนใจดูมันแค่ 5 นาที ก็เบื่อแล้ว เพราะมันเป็นโลกที่ห่างไกลพวกเขา หนังหมอลำซึ่งใกล้ตัวกว่าจึงทำหน้าที่ ‘ให้ความรู้’ ตรงตามที่ยูซิสต้องการมากกว่า โดยเนื้อหาของหนังยังเปิดโอกาสให้สอดแทรกการเมือง อุดมการณ์รัฐ รวมทั้งต่อต้านแนวคิดคอมมิวนิสต์ลงไปได้ด้วย

‘ปฏิบัติการฉายหนัง’ ตามหมู่บ้านที่กู๊ดพูดถึงก็คือ การฉายหนังกางแปลงที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในเวลาต่อมา

และความนิยมของหนังตระกูลคาวบอยสปาเก็ตตี้ในไทยนี่เอง ที่เป็นต้นกำเนิดของ ‘หนังบู๊ภูธร’ ที่จะรับช่วงต่อการโฆษณาชวนเชื่อจากหนังยูซิสในทศวรรษถัดมา

จดหมายถึงวอชิงตัน

นอกจากจะมียูซิสเป็นหน่วยผลิต ประชาสัมพันธ์ และทำการจัดฉายภาพยนตร์ในภูมิภาคแล้ว ยังมีหน่วยงานข่าวกรองที่ทำหน้าที่ส่งข่าวแก่ทางวอชิงตันให้ทราบถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ผ่านทางสื่อต่างๆ รวมถึงภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาหรือมีบุคลากรที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยเช่นกัน

หลักฐานที่ปรากฏในเอกสารจดหมายในหอสมุด CIA ในหัวชื่อ ‘Confiscation of Thai Films’ ลงวันที่ 12 มิถุนายน 1950 (2493) มีเนื้อหาดังนี้

  1. ตำรวจไทยได้มีการตรวจยึดฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง เหมืองระเบิด (The Explode Mine) ซึ่งสร้างโดยบริษัท เจตนากรภาพยนตร์ ของ หม่อมเจ้าเจตนากร วรวรรณ ผู้ล่วงลับ
  2. ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสั่งห้ามฉายโดยกองเซ็นเซอร์ (ในขณะนั้นกองเซ็นเซอร์สังกัดสันติบาลพระนคร) เนื่องจากมีฉาก ‘ต้องห้าม’ หลังจากได้ฉายให้แก่คณะรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของพระยารามราชบดีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2493 ก็ได้มีคำสั่งให้แบนหนังทันที เนื่องจากฉากต้องห้ามดังกล่าวเป็นฉากแสดงกระบวนการปลุกปลั่นม็อบคนงานให้ลุกขึ้นประท้วงสไตรค์การทำงานเหมือง
  3. เนื้อหาของหนังเกี่ยวกับชีวิตที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมของเหล่าคนงานเหมืองในภาคใต้ของไทย บทหนังเรื่องนี้เขียนโดย รัตนา อมาตยรัตนา ซึ่งเป็นนามแฝง เชื่อกันว่าเจ้าของนามแฝงนี้คือ กัณหา บูรณปกรณ์ ผู้แปลบทหนังโฆษณาชวนเชื่อของโซเวียต (ที่ได้ออกฉายในไทยอย่างลับๆ ในเวลานั้น กัณหา บูรณปกรณ์ เป็นชื่อจริงของ ก.สุรางคนางค์ ผู้ประพันธ์นิยายเรื่อง บ้านทรายทอง – ผู้เขียน)
  4. ฮวด ทองโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม เป็นตัวตั้งตัวตีวิ่งเต้นให้หนังเรื่องนี้ผ่านกองเซ็นเซอร์ เป็นที่รู้กันดีว่านายฮวดผู้นี้มีความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ นายฮวดได้ขออนุญาต นายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ให้แก่บรรดาสมาชิกพรรคได้ชมในคืนวันที่ 7 พฤษภาคม 2493 ที่ผ่านมา (มีข้อมูลขัดแย้งเล็กน้อย เมื่อมีการระบุว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ฉายตั้งแต่ 14 เมษายน 2493 ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร ดูได้ในลิงค์ (https://thaibunterng.fandom.com/th/wiki/เหมืองระเบิด_(2493) – ผู้เขียน)

เอกสารชุดนี้เป็น ‘รายงาน’ กลับไปทางวอชิงตันให้คอยสังเกตการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ผ่านสื่อภาพยนตร์ โดยจะเห็นว่าผู้แจ้งเอกสารได้ระบุชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง และให้ข้อมูลเบื้องต้นถึงความเกี่ยวพันของตัวบุคคลกับขบวนการคอมมิวนิสต์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เอกสารลักษณะเช่นนี้ถูกพบมากในห้องสมุดออนไลน์ของ CIA ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าค้นหาข้อมูลในช่วงทศวรรษ 1950-1960


อ้างอิง
  • บทสัมภาษณ์ เอิร์ล วิลสัน (Earl Wilson) วิคเตอร์ แอล. สเตียร์ (Victor L. Stier) และ พอล กู๊ด (Paul Good) จากเว็บไซต์ https://adst.org/ (Association for Diplomatic Studies and Training) ค้นหาเอกสารด้วยคำค้นว่า Thailand จะพบเอกสารชุดแรกชื่อ Thailand ซึ่งรวมบทสัมภาษณ์อดีตเจ้าหน้าที่ USIS ที่ปฏิบัติการในไทยตั้งแต่ปี 1948-1998
  • เอกสาร CIA จากฐานข้อมูลกลาง www.cia.gov/library/readingroom/ เอกสารหมายเลข CIA-RDP82-00457R005000410006-9 ค้นหาด้วยคำสำคัญ หัวเรื่อง ‘Confiscation of Thai Films’
  • เอกสาร CIA จากฐานข้อมูลกลาง  www.cia.gov/library/readingroom/ เอกสารหมายเลข CIA-RDP80-01065A000300020002-1 ค้นหาด้วยคำสำคัญ หัวเรื่อง ‘U.S. PSYCHOLOGY STRATERGY BASED ON THAILAND’
  • วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก Thai Cinema as National Cinema: An Evaluative History นำเสนอแก่มหาวิทยาลัย Murdoch University ในปี 2004
  • การก่อกรณี 6 ตุลาฯ https://doct6.com/learn-about/how/chapter-4
  • Grant Watts (2014), Communism Amongst the Stars: Anti-Communism in Film during the 1940s-50s
ที่มาภาพ

Author

ชาญชนะ หอมทรัพย์
ชาญชนะ หอมทรัพย์ เกิดในยุคโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเต็มเมือง ผ่านทั้งยุควิดีโอเทป ติดหนังจีนชุดจนถึงซีรีส์ Netflix ปัจจุบันทำงานเขียนบทภาพยนตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งไทย-เทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า