กอง บก. WAY (ก็) รักชาติ ช่วยรัฐบาลเลือกหนังลง THAIFLIX

เห็นคนในรัฐบาลออกมาแสดงไอเดียสุดบรรเจิดกับแนวคิดการสร้างแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งแบบไทยๆ โดยที่ไม่ได้ตั้งชื่อลอกใครว่า ThaiFlix คนดูหนังแบบเราๆ ก็อดรนทนไม่ไหวต้องชูจั๊กกะแร้เห็นด้วยอย่างสุดเหยียด

ไม่สนับสนุนแต่ปาก เราออกแรงเลือกหนังบางเรื่องที่น่าจะอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะนอกจากเนื้อหาจะชวนให้รักชาติยิ่งชีพแล้ว บางเรื่องอาจชวนอมยิ้มจนเหงือกแห้ง หรือฮึกเหิมกระทั่งอยากไปทวงคืนเทือกเขาอัลไตกันเลยทีเดียว

หนังเหล่านี้อาจจะอยู่ในกระแสรองบ้างหากพูดถึงความนิยม หรือบางรายการก็อาจไม่มีคนดู แม้ที่ผ่านมาจะพยายามแมสจนออกนอกหน้าก็ตามที อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาอยู่บนแพลตฟอร์ม ThaiFlix ก็ไม่ต้องพะวงมาก เรื่องไหนไม่มีคนดูก็เกณฑ์คนเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ชมได้ไม่ยาก หรือหนังเรื่องไหนปลื้มปริ่มประทับใจเหลือเกินก็ทำรีวิวออนไลน์ได้ง่ายๆ ด้วยข้อความต่อไปนี้

เป็นกำลังใจให้คนทำหนังทุกภาคส่วนครับ

เป็นกำลังใจให้คนทำหนังทุกภาคส่วนครับ

เป็นกำลังใจให้คนทำหนังทุกภาคส่วนครับ

เป็นกำลังใจให้คนทำหนังทุกภาคส่วนครับ

เป็นกำลังใจให้คนทำหนังทุกภาคส่วนครับ

เป็นกำลังใจให้คนทำหนังทุกภาคส่วนครับ

เท่านี้ก็สร้างกระแสได้แบบเก๋ๆ โดยที่ไม่มีใครจับได้แล้วว่าแอคหลุมเหล่านั้นเป็นใครมาจากไหน

หมวด: ภาพยนตร์

1
Ten Years Thailand

ภาพยนตร์สั้น 4 เรื่อง 4 รส จากจินตนาการของ 4 ผู้กำกับ ว่าด้วยภาพสะท้อนอนาคตของประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ในโครงการที่ร่วมทุนสร้างระหว่างไทย-ฮ่องกง-ญี่ปุ่น เป็นการรวมตัวกันครั้งแรกของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (Song of The City) วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (Catopia) อาทิตย์ อัสสรัตน์ (Sunset) จุฬญาณนนท์ ศิริผล (Planetarium/ท้องฟ้าจำลอง) โดยหนังแต่ละเรื่องนั้น คือบทบันทึกสังคม ผู้คน สถานการณ์ อารมณ์ โดยมีกลิ่นอายของการเมืองไทยเป็นฉากหลัง

Song of The City กำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หนังทดลองที่มีฉากเป็นสวนสาธารณะใจกลางเมืองขอนแก่น สถานที่ตั้งของอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กำลังบูรณะซ่อมแซม โดยตัวหนังเล่าเรื่องราวผ่านบทสนทนาของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่วนเวียนอยู่รอบอนุสาวรีย์ ด้วยดนตรีประกอบที่เนิบช้า ความปกติธรรมดาของตัวละครและบรรยากาศ คือการถูกทำให้ดูปกติ ด้วยวงจรอำนาจที่ไม่มีวันจบสิ้น

Sunset กำกับโดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ เล่าเรื่องนายตำรวจชั้นผู้น้อยที่ดำเนินอยู่บนสองเส้นเรื่องหลักคือ หนึ่ง เป็นเหตุการณ์ของกลุ่มทหารและตำรวจที่เข้าตรวจงานแสดงศิลปะและสั่งปลดภาพที่อ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และสอง ทหารพลขับที่หยอกเย้ากับหญิงสาวแม่บ้าน เป็นการขนานสองเส้นเรื่องที่มีมุมมองต่อสังคม ความรักของหนุ่มสาว และความหวัง

Planetarium/ท้องฟ้าจำลอง กำกับโดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล เป็นหนังเซอร์เรียลว่าด้วยฐานฝึกลูกเสือที่กำลังถูกล้างสมองด้วยหญิงวัยกลางคนในชุดสีชมพูแปร๋น ขณะดูอาจจะรู้สึกตลกขบขัน อดสู กระทั่งหัวเราะ หึหึ ออกมา ด้วยความที่หนังพูดถึงสิ่งที่เราพบในชีวิตจริงแต่กลับน้ำท่วมปาก ในโลกที่ระบบการศึกษาผลิตคนออกมาในพิมพ์เดียว ความดีและความถูกต้องถูกกำหนดไว้เพียงคนกลุ่มหนึ่ง ไม่มีการตั้งคำถาม และเป็นภาพสังคมที่จำยอมใช้ชีวิตเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย

Catopia กำกับโดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ตัวหนังพูดถึงวันที่มีมนุษย์เหลืออยู่เพียงคนเดียว ท่ามกลางมนุษย์หัวแมวโดยมีฉากหลังคือบ้านเมืองในยุคดิสโทเปีย การไล่ล่าและกำจัดมนุษย์ให้หมดไป โดยที่มนุษย์ต้องแฝงตัวเพื่อความอยู่รอดโดยการใช้สเปรย์ดับกลิ่น หนังสะท้อนโลกที่ไม่มีที่ทางให้ใครได้เห็นต่าง การไล่ล่ารุนแรงปิดปากปุถุชนให้เงียบงัน การใส่ร้าย แปะป้ายผ่านวาทกรรม เพื่อจัดการความคิดของคนกลุ่มตรงข้าม

2
เรื่องตลก  69

เรื่องตลก 69 ผลงานลำดับที่สองของผู้กำกับนาม เป็นเอก รัตนเรือง ว่าด้วยเรื่องตลก (โคตร) ร้าย ของหญิงสาวที่ถูกบังคับให้ออกจากงานด้วยการเสี่ยงเซียมซีกับพนักงานคนอื่นในออฟฟิศเพราะพิษเศรษฐกิจ ชีวิตที่ว่าลงสุดแล้วยังไม่สาสมพอ เพราะเธอดันได้รับกล่องปริศนาวางอยู่หน้าห้อง ในซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีเงินนับล้านอยู่ในนั้น ตามมาด้วยกลุ่มชายฉกรรจ์ที่ตามมาเอาของคืนเพราะส่งผิดห้อง ความร้ายๆ ของหนังคือทำให้เราแอบหัวเราะไปกับความป่นปี้ในการเอาชีวิตรอดของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เจอทางตันจนต้องเอาหลังชนฝาและหาทางรอดให้ตัวเอง

แล้วถ้าเรายังหัวเราะให้กับมีมตลกๆ ของผู้นำในประเทศได้ หนังเรื่องนี้คงไม่ไกลตัวเกินไปนัก กับการที่ต้องเจอเรื่องร้ายๆ ที่แทบไม่ตลกในสภาวะปัจจุบัน

3
หมานคร

ภาพยนตร์เสียดสีสังคม กำกับโดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ‘หมานคร’ เป็นหนังที่หยิบมาดูกี่รอบ ก็ได้มุมมองใหม่ทุกที ผ่านประสบการณ์ชีวิตของเราที่โตขึ้น (ยอมรับว่าดูครั้งแรกตอน ป.6 พูดตรงๆ ว่าไม่รู้เรื่อง โอ้ว…นี่มันหนังอะไร?)

หนังนำเสนอแบบเซอร์เรียล ภาพที่ไม่สมจริง ทั้งภูเขากองขยะขวดพลาสติก จิ้งจกหน้าคุณยาย ฝนหมวกกันน็อค เด็กหญิงแก่แดด และตุ๊กตาหมีสุดเถื่อน (ที่เถื่อนมาก่อนหมี TED เสียอีก) อื่นๆ อีกมากมาย ประกอบกับฟุตเทจสีสันจัดจ้าน ที่ถ้าใครไม่รักก็อาจจะบ่นว่า ‘แสบตาจังว้าาา’ รวมถึงการแสดงแบบแข็งๆ ใบหน้านิ่งเฉยของนักแสดง ที่ถ้าดูแล้วพยายามหาเหตุผล คาดว่าจะปวดหัวฟรีแน่นอน ทำใจให้สบายแล้วรับสารที่หนังต้องการจะเล่าดีกว่า

เรื่องราวความรักของ ‘ป๊อด’ หนุ่มต่างจังหวัดที่เข้ากรุงมาเพื่อตามหาความฝันและความหวัง โดยยายของเขาบอกไว้ว่า “เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ระวังจะมีหางงอกออกมาจากก้น” ยายทิ้งปริศนาไว้ในเสียงหัวเราะส่งท้าย เข้ากรุงมาไม่นาน ความรักก็วิ่งเข้ามาในความรู้สึกของเขา ป๊อดตกหลุมรัก ‘จิน’ พนักงานทำความสะอาดสาว เธอมีความฝันว่าวันนึงเธอจะอ่านหนังสือปกขาวที่ตกลงมาจากฟ้าออก บนสถานการณ์ที่ไม่สมจริงต่างๆ ภายในเรื่อง เล่าเสียดสีล้อไปกับเรื่องจริงในสังคม เรียกขำแบบหึหึได้เป็นระยะ

ฉากหลังของเรื่องเป็นกรุงเทพฯ ประมาณช่วงปี 2540 กว่าๆ ผ่านมาเกือบ 20 ปี สังคมเราดูไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ คงมีแค่ตึกสูงที่ผุดเพิ่มขึ้นราวกับกองขวดพลาสติกที่คล้ายคลึงกัน หรือชีวิตในมหานครเมืองฟ้าอมรชื่อ ‘กรุงเทพ’ จะเป็นแค่เพียง ‘หมานคร’ เช่นเดียวกับชื่อหนัง

ที่หยิบยก ‘หมานคร’ มาแนะนำ ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นหนังเสียดสีสังคม แต่เป็นหนังไทยที่ควรค่าในการรับชม และจดจำว่า 20 ปีที่แล้วเรามีหนังไทยที่ฉูดฉาดทางความคิด ทางการนำเสนอได้ขนาดนั้นเชียว ดูแล้วก็เศร้าใจที่ช่วงหลังหนังแนวๆ นี้แทบไม่ปรากฏบนจอภาพยนตร์

4
รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendour)

ภาพยนตร์ไทยของผู้กำกับไทยชื่อกระฉ่อน อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เคยคว้ารางวัลปาล์มทองคำมาแล้วในปี 2010 จากหนังเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives)

รักที่ขอนแก่น เล่าเรื่องแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ โดยมีฉากหลังคือขอนแก่นภูมิลำเนาของผู้กำกับ แต่ในลีลาปกติธรรมดานั้น ตัวเรื่องที่เล่ากลับมีความเหนือจริงอย่างมาก กล่าวคือทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งเป็นโรคหลับไม่ยอมตื่น พวกเขานอนอยู่ในโรงพยาบาลเฉพาะกิจในชุมชนที่เดิมเป็นโรงเรียน แถมอาคารนี้ยังตั้งอยู่ในเขตพระราชวังโบราณเสียด้วย

ตัวละครหลักคือป้าเจนที่เป็นอาสาสมัครพยาบาลมาดูแลทหารหนุ่มเหล่านี้ เธอได้พบกับเก่ง หญิงสาวผู้เป็นร่างทรง (เก่งนี่แหละที่ให้ข้อมูลและพาทัวร์พระราชวังโบราณ) นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังถ่ายทอดความเหนือจริงที่แสนจะธรรมดาจนชินตาของความเป็นอีสาน ผ่านศาลเจ้าแม่ บทสนทนากับริชาร์ด (ผัวฝรั่ง) ความเชื่อ วิถีชีวิต ลานแอโรบิค ทัศนียภาพของเมือง และการก่อสร้างที่ไม่มีวันเสร็จ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ฉายในประเทศไทยด้วยเหตุผลส่วนตัวของผู้กำกับ แต่เชื่อว่านี่คือจดหมายรักแสนหวานจากผู้กำกับถึงผู้ชมชาวไทย ผู้กำลังเคร่งเครียดเพราะปัญหาสังคมรุมเร้าจนนอนไม่หลับ ฉากลองเทคและเสียงประกอบในหนังเหมาะกับการสตรีมมิ่งและปล่อยใจไปในกระแสสัจนิยมมหัศจรรย์แบบอีสาน จนผู้ชมน่าจะหลับไม่ตื่นตามทหารหนุ่มในเรื่องได้เลย

5
แรงดึงดูด (The Life of Gravity)

อีกหนึ่งผลงานที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไหร่ของผู้กำกับสายติสท์ พี่ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง

หนังออกอากาศครั้งแรก 14 กุมภาพันธ์ 2557 ทางช่อง True Thai Flim เช่นนั้นทำไมถึงบอกว่าไม่เป็นที่รู้จักเลย ก็เพราะว่าหนังไม่ได้ฉายในโรงแต่ฉายในช่องเคเบิลทีวีเท่านั้น

พี่ต้อมได้ถ่ายทอดเรื่องราวความรักที่แตกต่างระหว่างหนุ่มออฟฟิศผู้ที่เลือกอาศัยอยู่บนเกาะ โดยไม่ได้บอกปูมหลังเอาไว้ว่าทำไมชายหนุ่มคนนี้ถึงอยากจะปลีกวิเวกหนีความวุ่นวายนักหนา ตัวเรื่องในช่วงแรกเล่าถึงชีวิตที่อยู่คนเดียวของชายหนุ่มผู้นี้ หากทุกท่านที่เคยดูหนังติดเกาะที่ผ่านตามามากมาย จะเห็นว่าตัวละครจะชำนาญและเอาตัวรอดบนเกาะได้อย่างง่ายดาย แต่กลับกันหนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เห็นว่าเขาอยู่เกาะแบบ survivor สักเท่าไหร่ แต่เขาอยู่แบบมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และก็ผิดพลาดเกือบทุกครั้งเวลาที่จะลงมือทำอะไร ก็เปรียบเสมือนชายหนุ่มทั่วไปที่ทำอะไรไม่ค่อยเป็นเลย

หนังดำเนินมาแบบเรียบง่ายให้เห็นวิถีชีวิตของชายหนุ่มผมยาว แต่แล้วจู่ๆ ก็มีหญิงสาวฐานะดีเปิดร้านอาหารสุดชิคที่พัดลอยมากับคลื่นทะเล ราวกับว่าพระเจ้าได้ประทานพรคู่ชีวิตมาติดเกาะอยู่ด้วยกันกับชายหนุ่ม ต่อจากนี้จะเป็นเรื่องราวการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เป็นเรื่องราวที่ค่อยๆ คลายปมความหลังของทั้งสองตัวละครผ่านการสนทนา ย้อนกลับไปบรรทัดแรกทำไมถึงบอกว่าทั้งสองคนแตกต่างกันถึงเพียงนั้น ก็ต้องหาช่องทางดูเอาเอง เป็นหนังที่ดูง่ายอยู่พอควรถ้าเทียบกับเรื่องอื่นๆ ของพี่ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง

6
ทองปาน

หนังปี 2519 ที่มีรายนามผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้กำกับ เขียนบท นักแสดง เป็นศิลปิน นักวิชาการชั้นหัวแถวของประเทศ เอาแบบชื่อคุ้นหูเลยโดยที่ไม่ต้องเกริ่นนำยืดยาวก็คือ สุรชัย จันทิมาธร, ยุทธนา มุกดาสนิท, รัศมี เผ่าเหลืองทอง, คำสิงห์ ศรีนอก, วิทยากร เชียงกูล, เสน่ห์ จามริก, เทพศิริ สุขโสภา รวมทั้ง สุลักษณ์ ศิวรักษ์

จะมีหนังสักกี่เรื่องที่ชวนคนระดับนี้มาใช้ชีวิตร่วมกันในแผ่นฟิล์มได้

หนังเล่าเรื่องของ ทองปาน ชาวนากาฬสินธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนลำปาว ทั้งที่อยู่ใต้เขื่อน แต่นาของเขาไม่ได้รับค่าเวนคืนเหมือนคนอื่นๆ ที่สุดนาของทองปานต้องจมอยู่ใต้ผืนน้ำ เขาพาลูกเมียออกจากบ้านระหกระเหินทำมาหากินตั้งแต่รับจ้างในโรงเลื่อยประเทศลาว กรรมกรก่อสร้างในสนามบินโคราช รับจ้างเลี้ยงไก่ เป็นนักมวย กระทั่งถีบสามล้อในจังหวัดเลย

การเดินเรื่องสลับไปมาระหว่างการร่อนเร่ของทองปาน และการสัมมนาวิชาการของฝั่งอยากสร้างและคนต้านเขื่อน กระทั่งจุดบรรจบคือทองปานนั่งอยู่ในวงสัมมนาแห่งนั้น เขาจะได้พูดในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อน แต่เมื่อถึงวินาทีที่ต้องพูด ทองปานหายไป เขาเลือกกลับบ้านเพราะเป็นห่วงเมียซึ่งเป็นวัณโรค ก่อนพบว่าตนเองมาถึงช้าเกินกว่าจะได้เห็นลมหายใจสุดท้ายของคู่ชีวิต

ความน่าเศร้าก็คือ นี่เป็นหนังที่ดัดแปลงจากเรื่องจริง ทองปานไม่ใช่ตัวละครที่สมมุติขึ้นมา และหากไม่ไร้เดียงสาเกินไป เราจะพบว่าเรื่องราวของหนังก็แทบจะเป็นเหตุการณ์จริงที่คนไทยจำนวนมากต้องต่อสู้มาตลอดกว่า 40 ปี วันนี้ก็ยังมีคนอยากสร้างเขื่อนโดยไม่เห็นหัวของประชาชนในพื้นที่เช่นเคย ต่อต้านมากเข้าก็จะมีประโยค “ต้องเสียสละ” ลอยตามมาจากอีกฟากเสมอ

อีกสักนิด หลังถ่ายทำหนังเรื่องนี้เสร็จ เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ไพจง ไหลสกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ต้องหอบฟิล์มเรื่องนี้หนีไปต่างประเทศ ‘ทองปาน’ กลายเป็นหนังต้องห้าม ส่วนเพลงประกอบภาพยนตร์ ‘คนกับควาย’ โดย สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน ก็กลายเป็นเพลงต้องห้ามไปด้วยเช่นกัน

7
ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง

เหมาะสำหรับคนที่เลือดรักชาติเข้มข้นจนกรีดออกมาเป็นน้ำเงิน ขาว แดง

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง หนังสารคดีโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล พาเราไปเจอสถานการณ์ที่อีรุงตุงนังอันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์บาดแผล และสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น หากจำกันได้ การเมืองเหลือง-แดง นำพาให้มิตรสหายหลายคนเดินทางไปทวงคืนเขาพระวิหารถึงผามออีแดง ฝั่งหนึ่งบอกปราสาทหินนั้นเป็นของไทย อีกฝั่งบอกไม่ใช่ ประเทศไทยเพิ่งมีมาไม่นาน โต้เถียงกันไปมากลายเป็นการใส่ข้อหาไม่รักชาติ และคลั่งชาติให้ฝั่งตรงข้าม กระสุนน้ำลายลอยข้ามหัวคนในพื้นที่ รวมทั้งกระสุนจริงด้วย

สารคดีเล่าผ่านชีวิตของชายคนหนึ่งที่มีบ้านเกิดอยู่ตรงพรมแดนแห่งความขัดแย้ง เขาจับใบแดงได้จึงต้องกลายเป็นทหารเกณฑ์ที่นราธิวาส การชุมนุมทางการเมืองเข้มข้นดุเดือดทำให้เขาถูกเรียกขึ้นมาปราบม็อบ นปช. ในเมืองหลวง โชคดีที่เขาไม่ได้ลั่นกระสุนใส่ใคร เพราะได้ปลดประจำการก่อน หาไม่แล้ว บางกระสุนของเขาอาจมีเป้าเป็นญาติพี่น้องของตนเอง

บ้านเกิดของเขา – นิยมสีแดง

เส้นเรื่องชวนเราให้เห็นทัศนคติของคนทั่วไปต่อเขาพระวิหาร ฟังเสียงของคนท้องถิ่นที่ต้องตกอยู่ในสนามความขัดแย้ง และข้ามพรมแดนไปฟังเสียงของชาวกัมพูชาว่าเขาคิดเห็นอย่างไร

คำตอบของแต่ละคน หากไม่ทำให้เลือดรักชาติพลุ่งพล่านอย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น ก็อาจทำให้มีสติขึ้นมาบ้าง – ไม่มากก็น้อย

 

หมวด: การ์ตูน

8
Shelldon เชลล์ดอน

ซีรีส์การ์ตูนแอนิเมชั่นสัญชาติไทย (ในด้านการผลิต ผลิตร่วมกับโปรดักชั่นเฮาส์ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และไต้หวัน) ที่นอกจากจะได้ฉายในไทยแล้วยังมีต่างประเทศซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เป็นแอนิเมชั่นที่การออกแบบตัวละครสวยงามไม่แพ้แอนิเมชั่นจากต่างประเทศเลย ในอีกทางก็เป็นแอนิเมชั่นที่โดนแซวว่าสร้างโดยคนไทย แต่ทำไมชื่อตัวละครเป็นฝรั่งหมดเลย? ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ไม่ขอฟันธง อาจเพราะการร่วมทุนสร้างของหลายประเทศ หรือตั้งใจสร้างเพื่อขายในตลาดต่างชาติก็ตาม นี่ถือเป็นแอนิเมชั่นที่สวยงามดูสนุก ที่นานๆ ครั้งจะเห็นใครลงทุนสร้าง และเนื่องจากเป็นเรื่องราวของสัตว์น้ำ เราจะไม่เห็นความพยายามใส่ความเป็นไทยลงไปในเนื้อหา ซึ่งดูจะเป็นข้อดีสำหรับใครที่เอียนกับการยัดเยียดความเป็นไทยลงไปในการ์ตูน แล้วได้แต่ตั้งคำถามอยู่ในใจ ‘ขยับไปพูดเรื่องอื่นกันบ้างไม่ได้หรือ?’ อย่างน้อยที่สุด เชลล์ดอนก็ช่วยสร้างความหลากหลายให้วงการการ์ตูนไทยได้อยู่บ้าง

เรื่องราวของ ‘เชลล์ดอน’ หอยพระอาทิตย์ ที่อาศัยอยู่ในเมืองเชลล์แลนด์ แต่ละวันก็จะมีเรื่องต่างๆ ให้เชลล์ดอนได้ผจญภัย และแก้ปัญหาร่วมกับเพื่อน และครอบครัว ตัวเรื่องจะพาผู้ชมไปรู้จักสิ่งต่างๆ ในมหาสมุทร สัตว์น้อยใหญ่นานาชนิด ทั้งยังแฝงเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติเอาไว้ด้วย ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ สภาวะโลกร้อนต่างๆ

ซีซั่นแรกสรุปท้ายตอนจะเป็นเกร็ดความรู้ในท้องทะเล พาเราไปรู้จักกับสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ ส่วนซีซั่นต่อมา นอกจากทางโปรดักชั่นที่ภาพดูสวยงามขึ้น เนื้อหาจะเน้นไปที่ soft skill ภายในตัวเอง เช่น การรู้จักคุณค่าในตัวเอง ความอิ่มเอมใจจากการรู้จักแบ่งปัน การอยู่ร่วมกับผู้อื่น

9
ชุมชนนิมนต์ยิ้ม

อย่าเพิ่งทำหน้าเอือมระอา ถ้าคุณแค่เห็นภาพ คน ชุมชน พระ อย่าเพิ่งคิดว่าการ์ตูนธรรมะยัดเยียดคุณธรรมแบบขาว-ดำจัด

ถ้า ‘เชลล์ดอน’ เป็นการ์ตูนไทยที่แทบไม่มีความเป็นไทยอยู่เลย ‘ชุมชนนิมนต์ยิ้ม’ ถือเป็นคู่ตรงข้าม ฉากชุมชนต่างจังหวัด ชาวบ้านใช้วัดเป็นศูนย์กลาง มีพระสงฆ์คอยสอนหลักธรรม เนื้อเรื่องเล่าถึงการอยู่ร่วมกันในชุมชน ร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาด้วยสติ ปัญญา ไม่งมงาย มีการสอดแทรกธรรมะเพื่อสอนเด็กๆ เป็นการ์ตูนธรรมะที่ไม่น่าเบื่อ ด้วยจังหวะการเล่าเรื่องที่ชวนติดตาม ดูแล้วไม่ง่วงหงาวหาวนอนไปเสียก่อน

จุดที่น่าสนใจของแอนิเมชั่นเรื่องนี้คือการออกแบบตัวละคร และฉาก ที่ดูแวบเดียวก็รู้เลยว่านี่แหละประเทศไทย บ้านไม้ สะพานข้ามคลอง ไก่ บ้านเรือนประดับธงชาติ เด็กแว้น หนุ่มช่างซ่อม แม่ค้าส้มตำ เจ๊เงินกู้ เฮียเจ้าของร้านกาแฟโบราณ เจ้าของร้านเสริมสวย เหมือนเราได้เห็นโลกย่อๆ ของคาแรคเตอร์ต่างๆ ในสังคมที่คุ้นตา ในแต่ละตอนจะมีเณรออกมาคลี่คลายปัญหา ทำให้ชาวบ้านแก้ปัญหาได้ ประโยคที่สอนชาวบ้านนั้นไม่ใช่การสั่งสอนแบบชี้นิ้ว ‘เธอต้องทำแบบนั้นแบบนี้สิ ถึงจะดี’ แต่เป็นการพูดให้ข้อคิด ชี้ให้เห็นมากกว่า

ความไม่เป็นขาวหรือดำจัดในเรื่องเป็นอีกจุดที่น่าสนใจ ตัวละครหลักแต่ละตัวในเรื่องมีข้อดี ข้อเสีย ทำผิดพลาดได้ ไม่มีการตราหน้าว่า ‘แกมันตัวร้าย’ ฉะนั้นต้องมีหน้าที่ออกมาทำชั่วแบบไม่มีเหตุผลในทุกๆ ตอน ผู้สร้างเลือกเล่าเรื่องแบบมีเหตุผลที่มาที่ไป ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น และมีการให้โอกาสแก่ผู้ที่ทำผิด หรืออย่างในตอนเลิกเหล้า ก็ไม่ได้ตราหน้าว่าเหล้าคือมารร้ายจงหนีไปให้ไกล เพียงเล่าว่าดื่มเหล้าแล้วเป็นอย่างไร แล้วเบนไปเล่าเรื่องหากอยากเลิกเหล้าทำอย่างไรได้บ้าง

จริงอยู่ที่ว่าสถานการณ์ในชีวิตจริงมันซับซ้อนกว่าโลกย่อยง่ายที่แอนิเมชั่นนำเสนอมากๆ บางครั้งคำสอนของเณรอาจขัดใจผู้ใหญ่เสียหน่อย แต่นี่อาจเป็นจุดดีที่เปิดโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองชวนลูกคุยถึงประเด็นต่างๆ ที่เราเชื่อหรือเห็นต่าง เพื่อฝึกให้เขาคิดพิจารณา รับสื่ออย่างมีวิจารณญาณ เลือกทิ้งสิ่งที่ไม่เชื่อและเก็บส่วนดีเอาไว้

 

หมวด: รายการทีวี

10
คืนความสุขให้คนในชาติและเดินหน้าประเทศไทย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สวมชุดเครื่องแบบทหารเต็มยศ กำลังพูดจาขึงขังยืนตรงจ้องมองมายังจอโทรทัศน์ ราวกับกำลังสบตากับเรา

ภาพดังกล่าวปรากฏให้เห็นจนชินตาในรายการ ‘คืนความสุขให้คนในชาติ’ ซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม 2557 ตามนโยบายของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการผลิตรายการโทรทัศน์ขึ้นมา โดยหวังให้เป็นช่องทางเชื่อมใจถึงใจและเป็นพื้นที่สื่อสารพูดคุยระหว่างรัฐบาลและประชาชน

รายการคืนความสุขให้คนในชาติออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 (หลังรัฐประหาร 9 วัน) ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลาประมาณ 20.30 น. ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) สำหรับรูปแบบรายการเรียกได้ว่าถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างหลากหลาย ทั้งวิธีการนำเสนอ mood and tone ของรายการ รวมถึงเครื่องแต่งกายของผู้ดำเนินรายการเอง

แรกเริ่ม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สวมใส่ชุดเครื่องแบบทหารจัดรายการในลักษณะนั่งพูด ก่อนเปลี่ยนไปยืนพูดหลังแท่นโพเดียมโดยยังคงสวมชุดเครื่องแบบทหารอยู่ จากนั้นเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้ดูผ่อนคลายมากขึ้น หันมาใส่สูทผูกเนคไท ชุดข้าราชการ หรือเสื้อผ้าไทยผลัดเปลี่ยนให้เหมาะสมตามแต่วาระ นอกจากนั้นรูปแบบรายการก็เปลี่ยนไป ถูกปรับให้อยู่ในลักษณะการนั่งสัมภาษณ์สบายๆ มีการพูดคุย โต้ตอบมากขึ้น โดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเข้ามาร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการคู่กัน

ต่อมาในปี 2559 รายการคืนความสุขให้คนในชาติ เปลี่ยนชื่อรายการเป็น ‘ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ โดยเนื้อหาว่าด้ายการดำเนินงานของรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับพระราชดำริต่างๆ ซึ่งช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันนั้น ในปี 2557 ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทุกวันศุกร์ ในวันที่เหลืออีก 6 วัน เมื่อสิ้นสุดการเคารพธงชาติ ทุกเย็นหลัง 18.00 น. มีการฉายรายการเดินหน้าประเทศไทยควบคู่ไปด้วย โดยเนื้อหาคือการนำเสนอผลงานด้านต่างๆ ของรัฐบาล คสช. โดยแบ่งหมวดหมู่ได้ดังนี้

วันจันทร์-เรื่องความมั่นคง วันอังคาร-แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันพุธ-เรื่องเศรษฐกิจ วันพฤหัสบดี-เรื่องสังคม วันเสาร์-เรื่องต่างประเทศ วันอาทิตย์-เรื่องกฎหมาย

เราพบความน่ารักที่เหมือนกันอย่างหนึ่งของทั้งสองรายการคือ ความกระเหี้ยนกระหือรือในการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้น่าสนใจขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ยิ่งในช่วงหลัง โทนรายการเริ่มนำเสนอในรูปแบบสกู๊ปพิเศษมากขึ้น มีการลงพื้นที่ไปพูดคุยเพื่อถาม-ตอบในประเด็นต่างๆ ปรับเวลาให้สั้น กระชับ ทันสมัย เชิญศิลปิน ดารา มาร่วมแจม เอาใจกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยเรียนมากขึ้น

นับเวลายาวนาน 5 ปี กว่าที่รายการทั้งสองจะโบกมือลาจอในปี 2562 คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า เรามองเห็นการเติบโตของประเทศไทย ผ่านรายการทั้งสองเคียงบ่าเคียงไหล่มากับรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า