2475 Graphic Novel: การ์ตูนอิงประวัติศาสตร์ที่ไม่ต้องกราบไหว้

ย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องพลิกผันโดยกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งที่เรียกขานกันอย่างคุ้นหูว่า ‘คณะราษฎร’ พวกเขาได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย มอบอำนาจการตัดสินใจในชีวิตคืนสู่มือปวงประชา

จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 90 ปีแล้วที่ระบอบประชาธิปไตยได้รับการสถาปนา ทว่าการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยของประชาชนก็ยังไม่ลุล่วงเสียทีเดียว อย่างไรก็ดีพลวัตของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้นได้ถูกบรรจุไว้ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของไทยเพียงน้อยนิด มีคนเพียงหยิบมือที่จะกระโจนเข้าไปศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียด ซึ่งนั่นรวมถึงสองหนุ่มที่น่าจะรุ่นราวคราวเดียวกับเหลนของเหล่าคณะราษฎรในครั้งนั้น พวกเขาทั้งสองช่วยกันรื้อประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติขึ้นมาใหม่ โดยมุ่งหวังจะถ่ายทอดออกมาในแบบฉบับที่ต่างไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทย

WAY จะพาผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับ ภูมิ-ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ หรือนักเขียนการ์ตูนในนามปากกา ‘สะอาด’ และ พชร-พชรกฤษณ์ โตอิ้ม เจ้าของโปรเจกต์ ‘๒๔๗๕: นวนิยายภาพอิงประวัติศาสตร์สยาม’ ซึ่งเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยตีความใหม่ผ่านสายตาของนักวารสารศาสตร์และนักเขียนการ์ตูน

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้คืออะไร ทำไมจึงต้องการเขียนการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์

ภูมิ: จุดเริ่มต้นมาจากองค์กร NGO ที่ชื่อ สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) เป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ เขาอยากให้เล่าเรื่องเกี่ยวกับคณะราษฎรซึ่งอาจเป็นกำลังใจให้คนรุ่นใหม่ที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคม และเกิดจากความสงสัยว่าคนรุ่นใหม่อาจไม่ค่อยรู้ว่าสมาชิกของคณะราษฎรมีใครบ้าง จึงอยากได้นักเล่าเรื่องสักคนมาเล่าเรื่องเหล่านี้ให้สนุก เขียนเป็นสารคดีหรือรูปแบบอะไรก็ได้ เพื่อให้เข้าถึงห้องสมุดหรือโรงเรียนในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นเครือข่ายคนรุ่นใหม่ของ SYSI ได้มีโอกาสอ่าน เขาก็เลยมาชวนเรา ซึ่งเขาคิดว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนที่น่าจะมีศักยภาพในการเล่างานเชิงสารคดีที่สนุกได้ 

ภูมิ-ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์

เราก็สนใจเพราะว่าตอนนั้นเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ ‘คณะราษฎร 2563’ พอดี เมื่อลองไปทำการบ้านและคิดว่าจะทำอย่างไรกับโปรเจกต์นี้ได้บ้าง สุดท้ายก็พบว่าเราทำไม่ได้ 

ความยากคือข้อมูลที่จะนำมาเล่าในเชิงสารคดียังมีน้อยมาก ความรู้ในหัวเราก็ยังมีไม่มากพอ เมื่อประเมินแล้วก็รู้เลยว่าเราทำคนเดียวไม่ได้แน่นอน ก็เลยชวนพชรมาช่วยพัฒนาโปรเจกต์ตั้งแต่ช่วงริเริ่ม เราคิดกันว่าจะเล่ามันออกมาอย่างไรดี จนได้ข้อสรุปว่าเล่าเป็นการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์ดีกว่า เพราะเปิดกว้างต่อการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องความเปลี่ยนแปลงมากกว่ารูปแบบอื่นๆ เราอยากลองเล่าเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ในแง่มุมใหม่ๆ บ้าง

ทำไมต้องเป็นช่วงเวลายุค 2475

พชร: ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ รวมถึงการตั้งคำถามที่อาจจะพูดได้ว่าแหลมคมมากขึ้น ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เรารู้สึกว่าความตึงเครียดทางการเมืองทำให้เรากลับไปสำรวจเรื่องราวต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ได้ยาก ในความเห็นเรา ช่วงเวลาก่อนปี 2475 มีความน่าสนใจอย่างมากในแง่ของการวางรากฐานของระบบต่างๆ ตั้งแต่ระบบกฎหมายจนถึงบทบาทสื่อมวลชน เราสนใจว่าภายใต้ความตึงเครียดทางวัฒนธรรมและสังคมไทย อะไรเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กนักเรียนนอกเพียงไม่กี่คนรวมตัวกันไปบุกวังเพื่อปฏิวัติยึดอำนาจ เราว่าเรื่องเหล่านี้น่าสนใจมาก และเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเข้าใจพลังการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันโดยที่มองไม่เห็นอดีต

พชร-พชรกฤษณ์ โตอิ้ม

การ์ตูนเรื่องนี้เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ในมุมมองใหม่เลยไหม

ภูมิ: ย้อนกลับไปช่วงเริ่มต้นโปรเจกต์ จุดกำเนิดมาจากการที่ SYSI อยากให้เล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ เราเริ่มจากจุดนั้น ซึ่งก็ยังเป็นเกณฑ์ที่เรายึดกันอยู่ แต่ว่าโปรเจกต์ก็ถูกพัฒนาให้มีอะไรใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาด้วย

มีความกดดันมากน้อยเพียงใดกับการเขียนการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์ที่แตกต่างไปจากการเล่าประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ

ภูมิ: ถ้าพูดว่าไม่กดดันก็คงเป็นการโกหก จริงๆ แล้วช่วงที่ทำโปรเจกต์นี้ เราไปวาดการ์ตูนนิทานชุด ‘วาดหวัง’ จนเป็นประเด็นร้อนที่โดนรัฐบาลเพ่งเล็ง และเราซึ่งเป็นหนึ่งในคนวาดอาจโดนจับก็ได้ เพราะเขาเห็นคำว่าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่จริงแล้วคำว่าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เนี่ยไม่มีอยู่ในบทนิทาน แต่เป็นสิ่งที่เราใส่ลงไปในภาพประกอบเอง ทำให้เขาไม่สบายใจ คงเพราะนิทานเป็นสื่อรูปแบบใหม่ที่รัฐอาจไม่เคยรับมือมาก่อน นิทานเป็นการสื่อสารที่ทำงานกับเด็ก คงไม่เคยมีใครสื่อสารกับเด็กในหนทางนี้มาก่อน ก็เป็นไปได้ว่าการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์ 2475 ชิ้นนี้อาจสร้างความกังวลให้รัฐบ้าง เขาอาจจะกลัวว่ามันจะไปล้างสมองเด็กก็ได้

สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เรากังวลมากเหมือนกัน เพราะในไทยอาจไม่มีงานประเภทนี้ออกมามากพอ แต่ยิ่งกังวลก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าต้องทำออกมาให้ได้

พชร: กดดันเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกัน พอเห็นม็อบต่างๆ แล้วก็รู้สึกเหมือนมีคนอยู่รอบข้างแล้วรอช่วยเราอยู่ ถ้าโดนอะไรขึ้นมาจากสิ่งที่เราทำ มันก็น่าจะมีคนช่วยนะ 

ในแง่ของการพัฒนาบท เราไม่ได้มีต้นแบบว่าต้องเป็นละครอิงประวัติศาสตร์แบบเก่าอย่าง ‘สี่แผ่นดิน’ หรือประเภทย้อนเวลากลับไปแล้วพบรักกับเจ้าขุนมูลนายอะไรแบบนั้น งานที่มองเจ้าเป็น ‘คน’ ยังมีน้อยมาก เราเลยอยากลองเล่าในมุมอื่นๆ บ้าง นี่เป็นแรงกดดันว่าเราจะทำออกมาอย่างไรให้สนุก

ความยากของโปรเจกต์นี้อยู่ตรงไหน

ภูมิ: ก็ทุกตรงนะ (หัวเราะ) มันยากตั้งแต่การวาด ร.7 เป็นตัวการ์ตูนแล้ว จะวาดให้มีคาแรกเตอร์แบบไหน จะวาดให้ดูเป็นปุถุชนธรรมดาที่สุดได้ไหม โดยที่ยังได้รับการยอมรับและไม่โดนเล่นงาน นี่เป็นสิ่งที่เราต้องคิดและต้องประเมิน หรือเราจะตีความตัวละครต่างๆ ทั้งฝั่งเจ้าและฝั่งปรีดีอย่างไร เราว่าเรื่องนี้ก็ไม่ง่าย เช่น จะตีความหรือนำเสนอปรีดีในเชิงตลกได้ไหม ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรากังวล รวมถึงประเด็นที่ว่างานที่เรากำลังทำอยู่ มันไม่มีต้นแบบให้เจริญรอยตามมากนัก เราไม่มีการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์ที่ไม่ต้องกราบไหว้ประวัติศาสตร์ ไม่มีเลย

เราเคยคุยกันในทีมว่า ทุกคนรับได้ไหมหากโดนแจ้งข้อหา 112 ทุกคนโอเคไหมหากต้องติดคุก สำหรับเรา คำตอบคือไม่

ฉะนั้นจึงต้องวางกรอบและแสวงหาที่ทางใหม่ เพื่อให้สามารถเล่าเรื่อง 2475 ได้โดยที่คนในทีมของเราไม่ต้องแลกกับค่าเสียโอกาส กรอบของการสื่อสารควรออกมาประมาณไหน มีทีมกฎหมายช่วยตรวจสอบหรือมีทีมประวัติศาสตร์ช่วยให้คำปรึกษาเพิ่มเติมได้หรือเปล่า ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องใหม่และยาก

พชร: สำหรับเรา รู้สึกว่ามันยากในการเป็นกองหลัง ซึ่งต้องอ่านและดูข้อมูลเยอะมาก มันทำให้เราเข้าใจว่า จริงๆ แล้ววงการวิชาการไทยมีปัญหา ตั้งแต่วิธีการเก็บข้อมูลและหลักฐาน ทุกอย่างเข้าถึงยากมาก เรารู้สึกว่าข้อมูลเหล่านี้ควรต้องเข้าถึงง่ายสำหรับคนทำสื่อและประชาชนทุกคน 

อีกทั้งบางทีข้อมูลที่ได้มาก็เป็นหลักฐานชั้นรอง ต้องอาศัยแหล่งอ้างอิงที่ต้องอ้างอิงอีกที ทำให้ยากมากกว่าจะได้เนื้อหาที่ต้องการเพื่อมาตีความแล้วพัฒนาไปใช้ในโปรเจกต์ หลายขั้นตอนกินพลังงานสูง ยกตัวอย่างเช่น สมมติเราอยากรู้ว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม สูบบุหรี่ยี่ห้ออะไร เราต้องอ่านจดหมายและอ่านหนังสืองานศพของใครไม่รู้ตั้งมากมายจนกว่าจะหาเจอ แต่ก็ต้องค้นเพื่อทำความเข้าใจคาแรกเตอร์ของคนคนนี้ เช่นว่าเขาต้องสูบบุหรี่แบบนี้ หรือเขาจะสั่งให้คนนั้นคนนี้ไปยืนตรงนั้นตรงนี้ ฯลฯ

เรารู้สึกว่าเรื่องพวกนี้น่าสนใจมาก เพราะทุกคนกลับมาให้ความสนใจกับคณะราษฎรมากขึ้น แต่เราว่ายังมีข้อมูลอื่นๆ อีกมากที่ไม่ได้ถูกเรียบเรียงหรือจัดเก็บเป็นระบบ ยังเป็นจักรวาลที่แตกย่อยออกไปได้อีก นี่รวมถึงการหาข้อมูลทางวิชาการเพื่อมาสนับสนุนความคิดของเราเองด้วย เพราะรู้สึกว่างานชิ้นนี้ต้อง ‘ดุ’ อย่างแน่นอน ในแง่ที่ว่าเรากำลังท้าทายประเด็นทางประวัติศาตร์ที่มีความอ่อนไหวอยู่ ทั้งหมดนี้คือความยากของงาน

ดังนั้น ฐานของเราจึงต้องแข็งพอที่จะยืนและย่างในสังคมที่พร้อมเล่นงานเราได้ทุกวินาที และเราจะไม่ยอมถอย

การเลือกใช้ ‘นักข่าวสาว’ เป็นตัวละครเอกในการดำเนินเรื่องถือว่าค่อนข้างน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากบริบทสังคมไทยในขณะนั้น มีแนวคิดเบื้องหลังอย่างไรในการเลือกใช้ตัวละครเช่นนี้

ภูมิ: เรารู้สึกว่าผู้หญิงกับตำแหน่งนี้จะเพิ่มมิติในการนำเสนอเรื่องเล่าได้อย่างมหาศาล เพราะว่าทุกอย่างในสมัยนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ จะใช้คำว่า ‘รสนิยม’ ก็ได้ ซึ่งเราไม่มีรสนิยมที่จะเอาผู้ชายเป็นตัวละครเอกเพื่อแสดงจิตวิญญาณของการเป็นนักปฏิวัติ หรือไปหนุนเสริมตัวละครอื่นๆ ในช่วง 2475 เรารู้สึกว่า ถ้าเป็นตัวละครผู้หญิงมันน่าจะเพิ่มมิติบางอย่างที่น่าสนใจได้มากกว่า นี่เป็นแค่เรื่องของความรู้สึก ส่วนเรื่องอาชีพนักข่าวเนี่ยพชรเป็นคนคิด

พชร: เราคิดว่าตัวละครนักข่าวน่าจะแบกรับคำถามใกล้เคียงกันกับเรา แล้วก็คิดว่าคนทำสื่อทุกคนที่สนใจประวัติศาสตร์น่าจะมีคำถามร่วมกัน อาทิ เราจะส่งเสียงของเราออกไปอย่างไร เราจะถ่ายทอดมุมมองของเราออกไปอย่างไร 

ไอเดียของเรื่องนี้คือเรากำลังพูดถึงเรื่องอิงประวัติศาสตร์ ในขณะที่เราเองในฐานะผู้แต่งก็กำลังเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ขึ้นมาเหมือนกัน ทั้งเราและตัวละครคนนั้นต้องเผชิญคำถามใกล้เคียงกัน แล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นการเดินทางที่น่าติดตาม เราจึงสนใจและอยากเข้าใจว่าเขารู้สึกและคิดอย่างไร

ภูมิ: ทั้งเราและพชรต่างก็เคยเรียนเขียนข่าว จึงน่าจะใช้ประสบการณ์ส่วนตัวมานำเสนอได้ง่าย เรารู้สึกว่าจุดยืนของนักข่าวเป็นจุดยืนที่คุณสามารถจะไปยืนอยู่ได้ทุกฟากทุกฝั่งทางการเมือง จุดยืนแบบนี้จึงน่าสนใจเมื่อเอามาเล่าเรื่องและตีความเหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมืองในตอนนั้น

คุณภูมิเขียนการ์ตูนประเด็นทางสังคมมามาก งานอิงประวัติศาสตร์ชิ้นนี้แตกต่างจากชิ้นอื่นอย่างไร

ภูมิ: ต่างทุกแง่เลยครับ ทั้งวิธีการทำงานที่ต้องทำกันเป็นทีม เนื่องจากเราคุ้นกับการทำงานคนเดียวมากกว่า มันมีสรรพสิ่งต่างๆ ให้ต้องบริหาร ต้องรับมือความกดดัน แม้กระทั่งว่าเราจะหาเงินมาหมุนเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้ต่ออย่างไร โปรเจกต์นี้เป็นครั้งแรกที่ทำให้เราต้องใช้เครดิตของตัวเองอย่างเละเทะ เราเอาชื่อ ‘สะอาด’ ไปแขวนแหลกเลย เพื่อขอทุนสนับสนุนการสร้างโปรเจกต์นี้ เพราะต้องอาศัยทีมงานจำนวนมากในการทำข้อมูล 

ทีมของเรามีความคิดว่า อยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจึงอยากเอาหนังสือที่ยังอยู่ในช่วง Pre-Order มาหมุนหาทุน แล้วไปขายโปรเจกต์กับคนที่อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวหรือว่าในม็อบ ตัวเราเองก็มีความคิดว่าอยากให้งานศิลป์ (Artwork) ที่เราทำมีความเป็น ‘Copyleft’ กล่าวคือ คุณเอา Artwork ของเราไปใช้ได้เลย เอาไปขายก็ได้ แต่ตัวเนื้อหาของการ์ตูนคงไม่ได้หรอกนะ เพราะเราต้องขายหนังสือเหมือนกัน 

งานของเราส่วนหนึ่งก็มาจากการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ เราก็เลยอยากให้มันมีคุณค่ากับคนอื่นๆ ได้ด้วย

จากตัวอย่างหนังสือ ดูเหมือนว่าลายเส้นของคุณจะเปลี่ยนไป

ภูมิ: อาจเป็นเพราะความคิดในฐานะนักเขียนการ์ตูนของเราก็ได้ นักเขียนการ์ตูนบางคนเลือกที่จะนำเสนอลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างชัดๆ อย่างนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นบางท่าน เวลาเขาวาดการ์ตูนเรื่องใหม่ เห็นปกแล้วเราก็รู้เลยว่า อ๋อ คนนี้ออกเรื่องใหม่แล้วนะ

แต่วิธีคิดในการทำงานของเราอาจจะคล้ายกับคนทำเพลงมากกว่า ซึ่งเปลี่ยนคอนเซปต์ของอัลบั้มไปเรื่อยๆ เราไม่ได้ยึดติดกับเอกลักษณ์ลายเส้นของตัวเองขนาดนั้น เราสนใจแค่ว่าวิธีการถ่ายทอดผ่านภาพแบบนี้น่าจะเหมาะกับการเล่าเรื่องแบบนี้มากกว่าแบบอื่น ความคิดหลายๆ อย่างที่ใช้ในการ์ตูนเรื่องนี้ ก็มาจากกลิ่นอายของงานภาพในยุคนั้น เราทำการค้นคว้าว่างานภาพแบบไหนน่าจะถ่ายทอดบรรยากาศความขมุกขมัวและความรู้สึกไม่น่าไว้วางใจที่เกิดขึ้นในสังคมยุคนั้นได้ ก็ไปเจอและได้แรงบันดาลใจจากหนังแนวฟิล์มนัวร์ (Film Noir) หนังขาวดำยุคเก่าๆ ที่พชรหามาเป็นตัวอย่าง หรือกระทั่งงานของ เหม เวชกร ที่จะมีความผีๆ อะไรทำนองนั้นอยู่ ซึ่งเรายังไม่เคยใช้ภาพทำนองนี้ในงาน จึงอยากลองใช้ดู มันน่าจะทำให้การทำงานสนุกขึ้น

นักประวัติศาสตร์สายรื้อสร้าง อาทิ ธงชัย วินิจจะกุล ณัฐพล ใจจริง ฯลฯ มักถูกกล่าวหาว่า ตีความหรือบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อรับใช้แนวคิดทางการเมืองของตนเอง ทางทีมงานกังวลเรื่องนี้บ้างไหม

ภูมิ: โดนอยู่แล้วล่ะ ไม่ว่าปล่อยออกมาแบบไหนก็น่าจะไม่มีทางรอดจากเสียงวิจารณ์ ความกังวลคงอยู่ตรงที่ว่างานชิ้นนี้ไม่ใช่งานประวัติศาสตร์จ๋าๆ แต่เป็นเรื่องแต่ง คือมันมีเรื่องแต่งอิงประวัติศาสตร์จำนวนมหาศาลที่โกหกแบบแหลกลาญ แต่ทุกคนที่ได้อ่านก็รู้ได้ว่ามันเป็นเรื่องแต่งแน่ๆ เช่น งานอ้างอิงชิ้นหนึ่งของเรา ได้แก่ หนังของเควนติน (Quentin Tarantino) เรื่อง Inglourious Basterds ซึ่งเอาฮิตเลอร์เข้าไปเผาในโรงหนัง แต่เรื่องจริงฮิตเลอร์ไม่ได้โดนเผา แต่เขาก็ใส่ฉากนี้ลงไปในหนังเฉยเลย ตอนเราดูก็ทึ่งมากแบบโอ้โห เป็นประสบการณ์การดูหนังที่ใหม่มาก เขาโกหกและเล่าเรื่องออกมาได้อย่างไม่ต้องกังวลเลย เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นเรื่องแต่ง

มันก็เป็นโจทย์ในการทำงานของเราว่า สุดท้ายเราจะโกหกโดยไม่ทิ้งข้อเท็จจริงได้แค่ไหนและอย่างไร สำหรับเราก็ได้คำตอบว่าพื้นฐานข้อมูลต้องแน่น เราจะอิงกับข้อเท็จจริงพื้นฐานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ส่วนที่เป็นเรื่องแต่งมันก็จะยังเป็นเรื่องแต่ง ซึ่งผ่านการตีความจากทีมงานและผ่านจุดยืนทางการเมืองของพวกเราอยู่ดี

พชร: แต่เรากลับรู้สึกว่าคำถามนี้มีปัญหานะ จริงๆ แล้วเราไม่ควรต้องมาคิดอะไรแบบนี้ ปัญหาไม่ใช่พวกเรา แต่เป็นกลุ่มคนที่พร้อมจะเล่นงานไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามต่างหาก เราว่ากรณีของอาจารย์ธงชัยหรืออาจารย์ณัฐพลเป็นปัญหาที่ไร้สาระมาก นี่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของวงการวิชาการที่ไม่เปิดกว้างต่อจินตนาการใหม่ๆ ในการเล่นกับข้อมูล ทั้งการอ่านใหม่ คิดใหม่ หรือตั้งคำถามใหม่ๆ สำหรับเรานี่คืออาชญากรรมต่อ Soft Power เลยด้วยซ้ำ 

เราเบื่อที่จะต้องทน เบื่อแล้วที่ต้องมาคิดเรื่องแบบนี้ เรื่องราวกลายเป็นใหญ่โตจนคนทำงานก็ไม่ได้ทำเท่าที่ควร สุดท้ายแล้วคู่กรณีของอาจารย์ณัฐพลก็ไม่ได้ถกเถียงในเวทีเดียวกันกับเขา มันเหมือนการชกใต้เข็มขัดแล้วเอากฎหมายปิดปาก แล้วสุดท้ายใครได้ประโยชน์ วงการวิชาการไม่ได้ประโยชน์ ไม่มีใครได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ เราว่ามันแย่มาก สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา และเราไม่ควรต้องมากังวลเรื่องแบบนี้เลย

หากงานชิ้นนี้เป็นการโยนหินก้อนแรก เพื่อให้เรื่องราวเหล่านี้ถูกพูดถึงได้มากขึ้น จนอาจมีการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ที่อิงประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรตามมา ในฐานะของนักเขียนหรือนักวาดการ์ตูน เรื่องราวควรออกมาแบบไหน

ภูมิ: จริงๆ ถ้าคิดในแง่การ์ตูนก็เป็นไปได้หมดแหละครับ จะเอาคณะราษฎรไปโผล่ในการ์ตูนแนว Sci-Fi ก็ยังได้ รูปแบบของการ์ตูนเป็นอะไรที่เหมาะมากๆ ในการทลายความขึงขัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ปกคลุมความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ของคนจำนวนมากในสังคมไทย

มังงะญี่ปุ่นเขาเอาจินตนาการเหล่านี้มาใช้กันอย่างเต็มที่ ลองนึกภาพความขึงขังของกษัตริย์หรือโชกุนสมัยก่อนสิ แต่เรากลับเห็นโชกุนใน อิคคิวซัง (เณรน้อยเจ้าปัญญา) ที่ให้ความรู้สึกว่า “โอ้โห โชกุนเป็นแบบนี้ก็ได้แฮะ” หรืออย่างซามูไรที่อาจจะดูเท่ในยุคหนึ่งมากๆ พอมาอยู่ในเรื่อง กินทามะ ก็จะเป็นซามูไรบ๊องๆ ซึ่งซามูไรในมังงะแทบทุกเรื่องแม่งบ๊องหมด

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในการ์ตูนไทยเลยใช่หรือเปล่า เพราะติดตรงที่ว่าเวลาเราเล่าเรื่องนักรบก็ต้องเป็นพวกนักรบที่รับใช้กษัตริย์แบบพระนเรศวรหรือว่าบางระจันอะไรอย่างนี้ เห็นค่อนข้างชัดว่า ในสังคมนี้เราไม่สามารถเขียนอะไรอย่างที่การ์ตูนญี่ปุ่นทำได้ เราไม่มีทางผลิตตัวละครแบบ ‘ชินจัง’ แล้วกลายเป็นกระแสหลักได้ การ์ตูนเกี่ยวกับเด็กที่เล่นกระเจี๊ยวตัวเองแล้วดังระเบิดแบบนี้ไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะจะถูกผู้ใหญ่จำนวนมาก รวมถึงกองทุนและหน่วยงานรัฐต่างๆ ติติง หรือกระทั่งว่านักเขียนคนนั้นอาจจะถูกกดดันหรือผลักออกไปจากวงการการ์ตูนเลยก็ได้

เราก็แค่อยากเปิดประเด็นในการนำเสนออะไรใหม่ๆ ทำนองนี้บ้าง หากเราเปิดทางให้แล้วไม่โดนอะไร มันก็น่าจะเป็นก้าวแรกที่ทำให้การเล่าเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ เดี๋ยวก็อาจจะมีคนเล่าเรื่องบางระจันหรือพระนเรศวรแบบ Sci-Fi ออกมา กระทั่งเราอาจได้เห็นการ์ตูนวายของพระนเรศวรบ้างก็ได้ เพราะการตีความแบบใหม่ๆ และการเปิดกว้างทางความคิดเป็นสิ่งสำคัญในมุมของคนทำงานสร้างสรรค์ มันยังมีพื้นที่อีกมากในการสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ออกมา 

สำหรับเราซึ่งมองในแง่ของการต่อสู้ทางการเมือง ศิลปะอาจเป็นพื้นที่เดียวที่ยังพอทำอะไรได้ เพราะว่าในม็อบคงทำยากแล้ว หากทำ คุณก็โดนจับ เพราะฉะนั้นศิลปะเป็นพื้นที่เดียวที่มีอิสระที่สุดในตอนนี้ จึงน่าเสียดายหากไม่มีใครสร้างสรรค์อะไรออกมาเพื่อต่อสู้ในเชิงวัฒนธรรมเลย

คิดว่าการ์ตูนเรื่องนี้จะสามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน

พชร: เราคิดว่าหากงานชิ้นนี้เสร็จและปล่อยออกไปได้ มันจะเป็นเครื่องยืนยันว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยังเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในสังคมที่อัดอั้นขนาดนี้ แม้เราเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่ศิลปะและเรื่องเล่า แต่สุดท้ายแล้วมันก็แยกไม่ขาดจากการเมืองขนาดนั้น อย่างเพลงหรือสื่ออื่นๆ เกือบทั้งหมดตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็ล้วนแต่สัมพันธ์กับความเป็นการเมืองทั้งนั้น เราคิดว่าทั้งในเชิงอุดมการณ์และในตัวชิ้นงานเอง เรายังมีพื้นที่ในการแสดงออกถึงเสรีภาพ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่คนทำสื่อทุกคนไม่ว่าจะแขนงไหน ควรยึดถือเป็นอันดับหนึ่ง

ภูมิ: นี่เป็นคำถามของตัวละครเอกในเรื่องนี้เหมือนกันนะ เขาในฐานะนักข่าวหรือนักเขียนก็ถามตัวเองว่า ควรจะยืนหยัดในเรื่องเสรีภาพในการพูดมากแค่ไหน ในสภาวะสังคมที่ไม่ได้เป็นมิตรต่อเสรีภาพขนาดนั้น

ถ้าเราคาดหวังล่วงหน้าไปแล้วว่างานชิ้นนี้จะต้องโด่งดังหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมหาศาล งานชิ้นนี้คงไม่ถูกเขียนออกมาเป็นแน่ ถ้าถามเราในขณะที่เขียนงาน ก็คงตอบว่าไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นเท่าไหร่ งานนี้อาจยังไม่ยิ่งใหญ่ถึงขั้นเป็น Soft Power ในตอนนี้หรือเร็วๆ นี้ เหมือนอย่างตอนปรีดีเขียนจดหมายแล้วเอาไปเก็บไว้ที่ฝรั่งเศส เขาอาจจะไม่ได้คาดหวังว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร แต่ก็ยังทำสิ่งนั้นออกมา จดหมายก็เป็นสื่อชนิดหนึ่งใช่ไหม ผ่านไปไม่รู้กี่ปีก็เห็นแล้วว่ามีกระแสตอบรับกับจดหมายปรีดีอย่างไร เจตนารมณ์แบบนี้น่าจะเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานของเรา

ได้เรียนรู้อะไรจากการทำโปรเจกต์นี้

พชร: เราได้เรียนรู้ว่าสังคมที่เราอยู่แทบไม่ได้ต่างจากร้อยกว่าปีที่แล้วนัก แต่ถ้าจะให้ตอบอย่างมีความหวัง เราคิดว่าการใช้ชีวิตอยู่โดยแยกตัวเองออกจากช่วงเวลา (moment) ทางประวัติศาสตร์แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เราหมายถึงว่า ความผิดหวัง ความรู้สึกด้านลบของเราเมื่อได้อ่านข่าวต่างๆ ในแต่ละวัน สิ่งที่ข่าวเหล่านี้กระทำต่อความรู้สึกของเราเนี่ย เราจะค่อยๆ เก็บมาคิดและสังเคราะห์มันอย่างดี เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดหากเราจะบันทึก เขียน หรือเล่ามันออกมา ก็จะได้ปรับมันเข้ากับงานของเรา โดยยังเคารพต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในปัจจุบันมากที่สุด

ภูมิ: งานชิ้นนี้คล้ายกับการทำธีสิส (thesis) อยู่เหมือนกัน มันเป็นโปรเจกต์ที่พาเราไปสำรวจข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบใหม่ๆ เพราะมีโจทย์บางอย่างที่งานวิชาการอาจไปแตะไม่ได้หรือยากที่จะคำนึงถึง เช่น การตีความตัวละคร เราคุยกับพชรเยอะพอสมควรว่า ปรีดี กับ จอมพล ป. เป็นคนแบบไหนกันแน่ การกระทำบางอย่างของพวกเขาดูขัดกันเอง แล้วเราจะอธิบายตัวละครแบบนี้ออกมาอย่างไร ให้โน้มน้าวใจคนอ่านให้คล้อยตามได้

โจทย์หลักของเราคือการไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง แต่ก็ต้องสมดุลกับความเป็นจริงด้วย เราต้องตรวจสอบกระบวนการทำงานอยู่เป็นระยะ ความท้าทายจึงเกิดขึ้นทั้งในแง่อุดมการณ์ว่าเรากล้าพอที่จะนำเสนอสิ่งเหล่านี้ไหม และเราพยายามมากพอหรือยังที่จะรีดเอาศักยภาพของตนเองในการทำงานชิ้นนี้ ยังทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีกหรือเปล่า

มีความคาดหวังกับปฏิกิริยาของสังคมหลังจากปล่อยงานออกไปอย่างไร

ภูมิ: เราอยากให้ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนองานศิลปะทางการเมืองรูปแบบใหม่ และเราก็ตั้งใจว่าจะเล่าสิ่งเหล่านี้ออกมาโดยไม่เซ็นเซอร์หน้าตัวเอง เราอยากบอกสังคมว่า

“เออ กูชื่อ ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ กูอยากนำเสนอเรื่องนี้ต่อสังคม ในขณะเดียวกันกูก็ยังอยากจะอยู่รอดปลอดภัยในประเทศนี้ด้วยนะ”

นี่เป็นความตั้งใจของเรา จริงๆ ก็มีการคุยกันในทีมอยู่เหมือนกันว่า บางทีเราควรทำฉบับเซ็นเซอร์ในภาษาไทย แล้วค่อยไปแปลเป็นฉบับฮาร์ดคอร์ในภาษาอังกฤษอีกทีดีไหม แต่ลงท้ายเราก็ได้ข้อสรุปกันว่า กลุ่มเป้าหมายจริงๆ ที่เราอยากสื่อสารด้วยก็คือคนในประเทศนี้ 

เรื่องเหล่านี้ยังสนุกและสร้างความบันเทิงให้กับผู้คนได้ เพราะเราตั้งใจสร้างเรื่องเล่าที่สนุกไปพร้อมกับการเป็นเรื่องเล่าที่ดีด้วย หากทำเช่นนั้นได้ก็เท่ากับว่าประตูหลายๆ บานของงานศิลปะในบ้านเราจะถูกเปิดออกตามไปด้วย

พชร: เหมือนกันครับ แต่เราก็อึดอัดเหมือนกันเมื่อคิดว่านี่ยังเป็นแค่ก้าวแรกเอง เราพูดในฐานะของคนที่อยากผลักดัน Soft Power เราเบื่อที่จะต้องมาพูดว่า เฮ้ย! มาสร้าง Soft Power กันเถอะ ไอ้เหี้ย ที่เราเขียนนี่โคตรจะ Soft Power ที่สุดแล้ว เราเบื่อที่จะต้องอ้อมค้อมหรือใช้สัญญะแล้ว 

ภูมิ: เราจะรู้สึกผิดมากหากไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่นี้ มีคนจำนวนมากต้องไปอยู่ในคุก การที่เรายังทำโปรเจกต์นี้อยู่ช่วยให้เราไม่รู้สึกแย่กับตัวเองเกินไปนัก มีคนต่อสู้แล้วต้องสูญเสียอะไรมากมาย แต่เรายังไม่เสียอะไรเลย

อยากพูดอะไรบ้างหากจะโฆษณาหนังสือเล่มนี้สั้นๆ

ภูมิ: ขายยังไงดีวะ (หัวเราะ) จริงๆ มันเป็นการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์ที่ตั้งใจให้มีนัยทางการเมือง แต่เราตั้งใจไม่ให้มันเอนไปข้างคณะราษฎรมากเกิน ไม่อยากให้เป็นงานแนวเชิดชูวีรบุรุษ เรากับพชรตั้งใจให้มันเป็นงานที่ตีความคณะราษฎรหรือสถานการณ์ทางการเมืองในอดีตผ่านแง่มุมใหม่ๆ เราพยายามสำรวจว่าการกระทำของแต่ละฝ่ายมีเหตุผลรองรับอย่างไร 

นี่จึงเป็นงานที่มีท่าทีทางการเมืองในแบบที่ไม่เชิดชูใครเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกัน เราตั้งใจมากๆ ว่ามันต้องเป็นการ์ตูนที่อ่านแล้วสนุก ต่อให้คุณไม่ได้สนใจการเมืองเลย เราก็อยากให้คุณอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความเพลิดเพลิน ตื่นเต้น และติดตามด้วยความเซอร์ไพรส์ไม่ต่างจากการอ่านการ์ตูนสืบสวนสอบสวนชิ้นหนึ่ง 

ดังนั้นสำหรับคนที่สนใจประเด็นทางการเมืองอยู่แล้ว เราคิดว่าเขาน่าจะได้อะไรใหม่ๆ จากงานชิ้นนี้บ้าง ขณะเดียวกันสำหรับคนที่ชอบอ่านการ์ตูน เรามั่นใจว่านี่น่าจะเป็นการ์ตูนไทยที่อ่านสนุกและน่าติดตามอีกชิ้นหนึ่ง อยากให้ทุกคนสนับสนุนครับ

เจียระไน ซองทอง
นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ ผู้หลงใหลในของเก่า เมืองเก่า ภาษาจีน หนังสือ และหมูกระทะ รักการอ่านตั้งแต่เด็กจนมีความฝันว่าอยากเป็นนักเขียน แต่ชอบตอบครูแนะแนวว่าอยากเป็นหมอ

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ช่างภาพและวิดีโอที่เริ่มจากงานถ่าย food และ portrait ปัจจุบันรับงาน production ครอบคลุมหลาย segment ตั้งแต่ food, product, event, wedding, portrait, interview, travel โดยมีเป้าหมายหลักคือ personalize งานทุกชิ้นให้ได้ตรงตามความต้องการจากบรีฟของลูกค้า รับงานได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีมเพื่อให้ผลงานออกมาเหมาะสมกับ scale งานที่ต้องการมากที่สุด

FB : Truetone Photography
IG: truetone_photography

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า