ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: “คนรุ่นผมไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นสิ่งนี้” มองปรากฏการณ์ก้าวไกล ในวันที่บ้านเมืองจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ย้อนกลับไปช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 2500 ความรู้ ความทรงจำ และเรื่องราวของคณะราษฎรแทบมลายหายไปสิ้นจากสังคมไทย แม้แต่ชื่อของ ปรีดี พนมยงค์ เองก็ยังไม่เป็นที่เล่าขานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยซ้ำไป ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความพ่ายแพ้ของเหล่าผู้นำคณะราษฎรในช่วงปลายศตวรรษก่อน จนทำให้เรื่องราวของคณะผู้ก่อการ 2475 ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถูกลบเลือนให้หายไปจากความทรงจำของคนไทยอย่างตั้งใจ

ทว่าในเวลาต่อมา เรื่องราวของคณะราษฎรก็ได้กลับมาสู่ความสนใจของสังคมไทยอีกครั้ง พร้อมกับการตีความและเล่าเรื่องอย่างเป็นระบบ หนึ่งในบุคคลที่ทำให้เรื่องราวของคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้งก็คือ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ศาสตราจารย์พิเศษ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ผลิตงาน ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500 โดยเล่าประวัติศาสตร์การเมืองนับตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ซึ่งมีแก่นเรื่องและการนำเสนอผ่านยุคสมัยของคณะราษฎร 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คุณูปการของงานชิ้นนี้เป็นการคืนชีพให้กับคณะราษฎรได้ฟื้นขึ้นมามีที่ทางในสังคม หลังจากเคยถูกประวัติศาสตร์ฝังกลบไปก่อนหน้านี้

วันเวลาล่วงเลยผ่านไป ชาญวิทย์ย่างก้าวเข้าสู่วัย 80 กว่า ยังคงสอนหนังสือ เผยแพร่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ และจับตามองสังคมไทยอยู่เสมอ แน่นอนว่าสำหรับชายชราผู้มีสายธารแห่งประวัติศาสตร์ไทยหลายร้อยกว่าปีทอดยาวอยู่ในจิตสำนึก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุคสมัยต่างๆ ไม่เคยทำให้เขาต้องรู้สึกประหลาดใจ 

จนกระทั่งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 กับ 14 ล้านเสียงของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ ก็ทำให้เขาถึงกับงงงวย และแปลกใจกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น 

“คนรุ่นผมไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นสิ่งนี้” ชาญวิทย์กล่าวประโยคนี้ซ้ำๆ ทว่าปนด้วยรอยยิ้ม

หลังชัยชนะของพรรคก้าวไกลในศึกเลือกตั้ง WAY เดินทางไปสนทนากับชาญวิทย์ เพื่อหาคำตอบว่าปรากฏการณ์ในครั้งนี้จะเป็นสัญญาณว่าประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปจริงหรือไม่

มองปรากฏการณ์ชัยชนะของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอย่างไร

ต้องตอบว่า ไม่คาดคิดนะครับ ผมคิดว่าพรรคเดิมน่าจะชนะเหมือนอย่างในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อเป็นอะไร จนกระทั่งเป็นพรรคเพื่อไทย ดังนั้น ผมเดาว่าผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง ผู้ที่ติดตามการเมืองไทยมาเป็นเวลานาน รวมทั้งบรรดานักวิชาการ ต้องบอกว่า ‘ช็อก’ ไม่คิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น 

ฉะนั้น เราคงสรุปได้ว่าความเปลี่ยนแปลง หรือคำว่า change มาถึงประเทศไทยแล้ว มันเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นมา อาจจะพูดได้ว่า Generation Z ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างยิ่ง แน่นอนล่ะ ผมว่าคนที่ออกมาโหวตจำนวนมากก็มีตั้งแต่รุ่น Baby Boomer X Y Z อะไรทำนองนี้ ซึ่งปรากฏการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นการเลือกตั้งที่คนเจน X กับคนเจน Z หรือพ่อแม่กับลูก อาจจะไปโหวตเหมือนๆ กัน มันจึงแปลว่า ผลคะแนนที่เราเห็นทั้ง 14 ล้านเสียงของพรรคก้าวไกล กับ 11 ล้านของพรรคเพื่อไทย รวมแล้วประมาณ 25 ล้านเสียง มันบอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยของเราได้

พอพูดอย่างงี้อาจเหมือนกับว่าในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งไทย มีน้อยครั้งมากที่คนต่าง Generation จะเลือกในทางเดียวกัน?

คิดว่าอย่างนั้นนะครับ จากปรากฏการณ์นี้ถ้าเราดูจากการสื่อสารในโซเชียลมีเดียอะไรทำนองนี้มันทำให้คนสื่อกันได้ง่ายมากและเร็วมากๆ ภายในเวลาไม่กี่วัน สิ่งที่เราคาดว่าเพื่อไทยต้องมาที่ 1 เหมือนที่เคยเป็นมาตลอด 20 ปี มันไม่ใช่แล้ว เพราะฉะนั้นรวมความแล้วทุกคนก็ประหลาดใจ อย่างผมเนี่ย ผมต้องบอกว่า เฮ้ย ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นนะครับ 

คนรุ่นผมอายุ 80 ปีกว่า รุ่นก่อน Baby Boomer ด้วยซ้ำไป Baby Boomer นี่คือรุ่นลูกศิษย์ผม เช่น ธงชัย วินิจจะกูล สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือคนรุ่น ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ก็รุ่นลูกศิษย์เราทั้งนั้น แต่รุ่นผมคือรุ่นประมาณ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อายุ 80 กว่าปีเนี่ย เราไม่คาดคิดว่าผลมันจะออกเป็นอย่างนี้ แต่ก็ดีใจที่ได้เห็น และพอจะเดาได้แล้วว่าเมืองไทยจะไปทางไหน

ชัยชนะของพรรคก้าวไกล สะท้อนว่าคนไทยก้าวหน้าและตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น หรือที่จริงแล้วอาจเพียงแค่เบื่อหน่ายระบอบเผด็จการเท่านั้น

มันเป็นทั้งสองอย่างนะ มันเป็นได้ทั้งความตื่นตัวและความเบื่อหน่าย การที่คุณประยุทธ์กับคุณประวิตรอยู่ยาว มองในอีกด้าน มันก็ทำให้เกิดการเทคะแนนเสียงแบบนี้ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ก้าวไกล เกิดปรากฏการณ์พิธาขึ้นมา 

ผมชอบคำหนึ่งจากหนังเรื่อง Saturday Night Fever (1977) ซึ่งคนรุ่น Baby Boomer อาจจะนึกออก มุมหนึ่งมันก็เป็นกระแส เป็นความคลั่งไคล้ที่มากับหนังเรื่องนั้น แต่ในปรากฏการณ์นี้มันแปลว่าการลงคะแนนเสียง การโหวตเนี่ยมันเกิดขึ้นหลังคืนวันเสาร์ แปลว่าวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 มันเป็นฟีเวอร์อย่างหนึ่ง ซึ่งตอนนี้เราก็เห็น ไม่ว่าคุณพิธา (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) จะไปปรากฏตัวที่ไหน ไม่ว่าจะพูดถึงอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยาดองของเมา สุราก็ดี ผลิตภัณฑ์ก็ดี สถานที่ก็ดี มันเกิดเป็นกระแสหมดเลย มันก็เป็นเรื่องใหม่จริงๆ ที่ผมมักจะใช้คำว่า ‘ไม่เคยคิดว่าจะมีก็มีแล้ว’ 

ปรากฏการณ์ ‘พิธาฟีเวอร์’ สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นการเชิดชูตัวบุคคลไปไหม 

มันคงหนีไม่พ้นนะ คือผมคิดว่าบางทีเราไปมองว่า ต้องยึดหลักการสิ ไม่ใช่ตัวบุคคล แต่ผมว่าหลักการกับตัวบุคคลมาด้วยกัน สถาบันกับตัวบุคคลก็มาด้วยกัน เวลาเราพูดถึง ‘สถาบัน’ ความจริงเราคิดถึง ‘ตัวบุคคล’ นะครับ มันซ้อนกันอยู่ แต่เราพยายามไปแยก ซึ่งในโลกความเป็นจริงแยกไม่ได้

แสดงว่าถ้าเรามองว่าเป็นการเชิดชูตัวบุคคล ก็ไม่ได้มีความหมายในแง่ลบเสมอไป?

ไม่มีครับ เราถูกทำให้คิดว่าไม่ถูก คุณจะแยกยังไงกับสิ่งที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยระดับโลก ประชาธิปไตยในระบอบสาธารณรัฐอย่างอเมริกา คุณแยกการปฏิวัติอเมริกากับ จอร์จ วอชิงตัน ได้ไหม คุณแยกเรื่องการเลิกทาสกับความเป็นประชาธิปไตยได้ไหม แยกระหว่างสถาบันประธานาธิบดีกับตัวประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ได้ไหม คุณแยกประชาธิปไตยแบบอเมริกัน กับจอห์น เอฟ เคเนดี ได้ไหม คุณแยกไม่ได้นะ มันมาด้วยกัน มันต้องมีทั้งสถาบันและมีตัวบุคคล สถาบันสร้างตัวบุคคล ในเวลาเดียวกันบุคคลก็รักษาสถาบันนั้นเอาไว้ 

ผมว่ากรณีของเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน คุณแยกเรื่องการปฏิรูปสยามประเทศเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว ออกจากพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ไหม มันแยกไม่ได้นะครับ ผมว่าเราถูกทำให้เข้าใจผิดมาตลอดเวลา ฉะนั้นในกรณีปัจจุบันก็แยกไม่ได้ คุณแยกคุณทักษิณออกจากประชานิยมได้ไหม ก็แยกไม่ได้ มันน่าจะหมดยุคคุณทักษิณไปแล้ว โดนรัฐประหารมาตั้งกี่ปีมาแล้ว ถึงแม้ว่าคุณทักษิณจะยังวนเวียนอยู่ และไม่ได้อยู่ในประเทศก็ตาม มันแยกไม่ได้ครับ มันต้องไปด้วยกัน

คนที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย เขาอาจรู้สึกว่าไม่แฟร์หรือเปล่า เพราะเวลาเขาชื่นชอบทักษิณ คนก็มองว่าเป็นลัทธิเชิดชูตัวบุคคล แต่พอสังคมเกิด ‘พิธาฟีเวอร์’ ขึ้นมา ดูเหมือนจะไม่มีใครมีปัญหาอะไร

ก็นั่นไง ผมถึงบอกว่าเราถูกสอนให้เข้าใจผิด เราถูกทำให้เข้าใจผิดว่าต้องแยกตัวบุคคลกับสถาบัน ซึ่งยากมากๆ ในบางกรณีแยกได้ แต่ในหลายกรณีแยกไม่ได้ คือมันไม่ขาวกับดำนะครับ มันเทาๆ

อาจารย์มีมุมมองอย่างไรต่อคำกล่าวที่ว่า ‘จากเหลืองเปลี่ยนเป็นส้มง่ายกว่าแดง’ 

มันก็คงเป็นอย่างงั้น คือโดยธรรมชาติ คุณเอาสีแดงกับสีเหลืองใส่กันเข้าไปมันก็กลายเป็นสีส้ม แต่ในแง่ของคนที่เป็นคนเสื้อแดงมาก่อนกับคนที่เป็นคนเสื้อเหลืองมาก่อน เสื้อแดงมีสิทธิเปลี่ยนเป็นส้มได้ แต่เสื้อเหลืองเปลี่ยนเป็นเสื้อแดงยากมากๆ เพราะฝังหัวมาตั้ง 20 ปีแล้ว ถ้าไม่อยากเป็นเหลืองแล้ว เปลี่ยนเป็นส้มจะง่ายกว่า

ความคิดอันนี้เกิดขึ้นมาจากคุยกับในหมู่เพื่อนแบบจริงบ้างไม่จริงบ้างตอนผมไปอยู่อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่ ก่อนการเลือกตั้ง และยังคิดว่าสันกำแพงนี่แดงชัวร์เลย ถ้าเรามองหาป้ายหาเสียง แทบไม่มีป้ายของพรรคใดเลยนอกจากป้ายของคุณอุ๊งอิ๊ง (แพทองธาร ชินวัตร) เพราะมันของตาย ยังไงอำเภอสันกำแพงก็ต้องโหวตเพื่อไทยแน่ๆ แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่ สันกำแพงออกมากลายเป็นส้ม เชียงใหม่เกือบทั้งหมดกลายเป็นก้าวไกลไปหมด อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่มันประหลาดมหัศจรรย์มาก แม้กระทั่งในเมืองหลวงของคนเสื้อแดงอย่างเชียงใหม่ หรืออย่างภูเก็ต ผมก็ช็อก

หากเรามองว่า ไม่ว่าเหลืองหรือแดงก็เปลี่ยนเป็นส้มได้ แสดงว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ดูสุดโต่งอย่างที่ถูกมอง แต่จริงๆ เป็นพรรคที่อยู่ตรงกลาง โอบรับทุกฝ่ายได้ อย่างนั้นใช่ไหม

มันน่าจะเป็นอย่างนั้นนะ ถ้าคุณเปิดกว้าง คุณก็อาจจะรู้ว่าคนแบบพิธาพูดว่าอะไร คนแบบธนาธร (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) พูดว่าอะไร คนแบบช่อ (พรรณิการ์ วานิช) คนแบบคุณเจี๊ยบ (อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล) เขาพูดอะไร บางทีพวกเขาก็ถูกมองว่าหัวรุนแรง ในแง่หนึ่งก็อาจจะใช่ แต่ในอีกแง่หนึ่ง เขากำลังเสนอทางออกให้กับสังคม กับประเทศชาติ แล้วมีคนตอบสนองด้วย

การเลือกตั้งที่ผ่านมา โหวตเตอร์เพื่อไทยอาจรู้สึกว่าโหวตเตอร์ก้าวไกลไปด้อยค่าการต่อสู้ของพรรคเพื่อไทยในอดีต การด้อยค่าในทำนองนี้มาจากการรู้ประวัติศาสตร์แบบไม่ครบถ้วน หรือมองข้างใดข้างเดียวหรือเปล่า

มันก็มีส่วนนะครับ เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่การศึกษาไม่ได้แปลว่าต้องเข้ามหาวิทยาลัยทุกคน มีคนจำนวนไม่น้อยที่เรียนไม่จบ แต่เก่งเป็นบ้าเลยก็มี มันอยู่ที่ตัวเราด้วยเหมือนกัน ผมคิดว่ายิ่งปัจจุบันมีโทรศัพท์เนี่ย คุณอยากรู้อะไร คุณเคาะปุ๊บเดียว ‘พระอาจารย์กู๋’ (กูเกิล) มันตอบได้หมดเลย อย่างคนรุ่นผมหรือแม้กระทั่งรุ่น Baby Boomer กว่าจะหาข้อมูลอะไรได้มันยากมากๆ ห้องสมุดก็ไม่ดี หนังสือก็ไม่ค่อยมี แต่ตอนหลังค้นด้วยมือถือมันก็แป๊บเดียว 

อย่างผมเล่นเฟสบุ๊ก ก็จะมีคนเข้ามาเชียร์ บางคนก็เข้ามากัด แต่ผมไม่ค่อยสนใจเท่าไร อยากจะกัดก็กัด ไม่ใช่ปัญหาของผม เป็นปัญหาของคุณเอง ถ้าคุณไม่อยากจะเรียนรู้อะไรเลย มันก็ช่วยไม่ได้นะผมว่า ถ้าคุณอยากฉลาดก็ฉลาดได้นะ หรือถ้าคุณไม่อยากฉลาดก็ได้

คะแนนเสียงที่พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยได้มาในการเลือกตั้ง เป็นไปได้ไหมว่าประเทศเราจะพัฒนาไปสู่ระบบพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค

เป็นคำถามที่ตอบยากมากเลย เราเคยฝันใช่ไหมว่าการเมืองไทยจะพัฒนาไปสู่การมีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ตอนนั้นเคยหวังว่าจะมีพรรคไทยรักไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ มันดูท่าจะดีนะ แต่มันก็ถูกรัฐประหารเข้ามาทำลายจุดนั้นไป 

ทีนี้พอมาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน มันจะออกหัวออกก้อยยังไง มันตอบยากมากๆ พิธาจะรอดเรื่องหุ้นไหม ในกลุ่มที่ผมคุยกันแถวท่าพระจันทร์กับแถวรังสิตบอกว่าน่าจะรอด กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) น่าจะส่งเผือกร้อนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ พอไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเล่นเกมอะไร จะเล่นเกมแบบเดียวกับที่คุณสมัคร สุนทรเวช โดนตอนทำกับข้าวหรือเปล่า น่าคิดเหมือนกันนะ เพราะว่ามันขึ้นอยู่กับกระแสของพิธาและกระแสของก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญจะเสี่ยงไหม ตอนนี้มันเหมือนกับเป็นประเด็นการเมืองมากๆ ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว มันตอบยาก 

ถ้าเอาประวัติศาสตร์เป็นตัวตั้ง กลุ่มอำนาจเดิมอาจจะยอมซื้อเวลาก็ได้ อาจปล่อยให้ตั้งรัฐบาลสักพัก แล้วค่อยจัดการทีหลังก็ได้ แต่ผมก็ไม่กล้าฟันธง แต่ถ้าเดาจากอดีต กลุ่มที่เรียกว่าอำนาจเดิม บารมีเดิม ทุนเดิม เขาอยู่ในอำนาจมานานมากเป็นร้อยๆ ปี เขามีความชำนาญมาก มีความรู้มากพอสมควร เขาอาจจะฉลาดพอก็ได้ที่จะต้องยอมก่อน แล้วค่อยคิดหาทางออกใหม่ อันนี้มองแบบร้ายๆ หน่อยนะ แต่ถ้ามองแบบโลกสวยหน่อย เขาอาจจะตระหนักได้ว่าเมืองไทยมันเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่เหมือนอย่างที่เป็นมาหลายสิบปี เพราะงั้นก็ต้องไปกับกระแสนี้ 

ขอนอกเรื่องนิดหนึ่ง ทำไมฝ่ายอนุรักษนิยมหรือกลุ่มอำนาจเดิมถึงเกลียดกลัวอเมริกามาก ทั้งๆ ที่ยุคก่อนหน้าก็อ้าแขนรับอเมริกาเข้ามา

อนุรักษนิยมไทยปัจจุบันแฮปปี้กับจีนมากกว่า เพราะคิดเหมือนกัน ปัจจุบันจะบอกว่าจีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ มันไม่ใช่นะครับ มันเป็นคอมมิวนิสต์แบบปลอมๆ เพราะฉะนั้นอนุรักษนิยมไทยก็เลยไม่กลัวจีนแล้ว ใครๆ ก็ชอบเมืองจีน ใครๆ ก็ไปเมืองจีน คุณทักษิณ คุณยิ่งลักษณ์ ยังไปเยี่ยมบ้านเกิดของตระกูลเลย 

แต่อเมริกามันไม่แน่นะ อเมริกายังให้ที่พักพิงกับผู้ที่ถูกมองว่าเป็นขบถอยู่ เดี๋ยวสุนัย (สุนัย ผาสุก) ก็ออกรายการมาละ เดี๋ยวจอม เพชรประดับ ก็ออกรายการมาละ เดี๋ยวจรัล (จรัล ดิษฐาอภิชัย) ก็บินจากปารีสไปอเมริกาแล้ว อเมริกาเล่นเกมสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นฝ่ายอนุรักษนิยมจะไปชอบอเมริกาได้ไง ทั้งๆ ที่ชอบของ Made in USA นะ อยากให้ลูกไปเรียนฮาร์วาร์ด ไปเบิร์กลีย์ ถามว่าฝ่ายอนุรักษนิยมจะส่งลูกไปเรียนเมืองจีนไหม ก็ไม่นะ ถ้าไปอเมริกาไม่ได้ ก็ไปออสเตรเลียก็แล้วกัน มันย้อนแย้งน่ะ มันขัดแย้งอยู่ในตัว ก็น่าเห็นใจเขาเหมือนกันนะ

การจะศึกษาประวัติศาสตร์ให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของประเทศในวันนี้ ควรต้องเริ่มจากตรงไหน

ถ้าพูดในแง่ของตัวเอง ฐานความคิดของผมต้องเอาอดีตมาเป็นตัวช่วยให้มองกลับไปประมาณ 100 ปี เราจะมองกลับไปในอดีตที่ยาวมากๆ ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘long history’ ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า ‘longue durée’ ถ้าคนที่คุ้นเคยงานประวัติศาสตร์ไทยของอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์ (Chris Baker) เขาจะใช้วิธีการมองกลับไปในอดีต เพราะจุดข้างหลังจะช่วยส่องทางให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของสยาม ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ 5 ไล่มาจนรัชกาลที่ 6 7 8 9 

ถ้าเรามองกลับไปยังปรากฏการณ์ที่สำคัญๆ ปรากฏการณ์แรกเลยคือ คำกราบบังคมทูลของเจ้านายกลุ่มเล็กๆ 10 กว่าคน กลุ่มของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ จากตระกูลชุมสาย กับบรรดาโอรสบางองค์ในสมัยรัชกาลที่ 5 กับบรรดาขุนนางในสมัยนั้น เขามองว่า เฮ้ย สยามประเทศต้องปฏิรูปนะ ตัวอย่างการปฏิรูปน่าจะเป็นแบบญี่ปุ่น สมัยจักรพรรดิเมจิ กลุ่มเจ้านายกลุ่มนี้เลยเสนอกับรัชกาลที่ 5 ว่าเราต้องปฏิรูป แต่รัชกาลที่ 5 บอกต้องรอไปก่อน แล้วก็ปฏิรูปไม่สำเร็จ 

พอมาถึงรัชกาลที่ 6 คนจำนวนมากอาจจะลืมไปแล้วก็ได้ คือเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 บางคนเรียกว่า ‘กบฏหมอเหล็ง’ กลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลการปฏิวัติจีนของ ดร.ซุนยัตเซ็น ซึ่งทำการปฏิวัติในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1911 หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 5 เพียงปีเดียว แปลว่าต้นรัชกาลที่ 6 เมืองจีนเปลี่ยนไปแล้ว ดร.ซุนยัตเซ็น ยึดอำนาจจากราชวงศ์ชิง เป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์สุดท้ายของจีน ขณะที่กลุ่มหมอเหล็งต้องการจะยึดอำนาจ แต่แผนการรั่วไหล เลยถูกจับติดคุกหมด ฉะนั้นถ้าเรามองอดีตอันนี้ แปลว่ามาถึงรัชกาลที่ 6 เกิดกระแสของบรรดาข้าราชการ ทหาร ที่บอกว่าต้องเปลี่ยน คนรุ่นนั้นอายุน้อยมากนะครับ อายุ 20 กว่าๆ แต่ทำไม่สำเร็จ ถูกจับติดคุก 

กระทั่งมาสำเร็จในปี 2475 คือกลุ่มของคณะราษฎรที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้นำ พระยาพหลพลพยุหเสนานั้นเป็นคนรุ่นเดียวกับหมอเหล็ง แต่ท่านไม่ได้อยู่เมืองสยามในตอนนั้น ท่านไปอยู่ยุโรป ไปเรียนเยอรมนีและเดนมาร์ก ท่านเลยหลุดรอดไป แล้วท่านก็เลยรู้บทเรียนว่า การวางแผนต้องเป็นความลับสุดยอด ไม่ให้หลุด 

ถ้าเราดูประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร 2475 เขาจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ ต่างคนต่างทำงานกลุ่มของตนเองไป กลุ่มพระยาพหลฯ ก็ทำงานไป กลุ่มพระยาทรงสุรเดชก็ทำงานไป กลุ่มปรีดี พนมยงค์ ก็ทำงานไป กลุ่ม ป. พิบูลสงคราม ก็ทำงานไป เป็นกลุ่มๆ ไม่รู้ซึ่งกันและกัน เก็บความลับได้ เพราะฉะนั้นพอถึงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จึงยึดอำนาจได้สำเร็จ

ความสำเร็จของคณะราษฎรในช่วงแรกประมาณ 10 กว่าปี มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก เพราะว่าเหตุการณ์ของโลกมันใหญ่มาก สงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ประเทศไทยต้องเข้าร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อรักษาประเทศเอาไว้ แต่โชคดีว่าบ้านเมืองไม่เสียหายล่มจมแบบฟิลิปปินส์ พม่า หรือหลายประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยรอดมาได้ด้วยนโยบายที่เราคุ้นเคยกันดีคือ ไผ่ลู่ลม ลมมันแรงมาทางไหนก็ลู่ไปทางนั้น 

แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีเหตุการณ์ใหญ่มากๆ คือ การเสด็จกลับมายังประเทศไทยของในหลวงรัชกาลที่ 8 แต่ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่ท่านอยู่เมืองไทยก็เกิดกรณีสวรรคต ผมว่ากรณีสวรรคตเป็นเหตุการณ์ใหญ่มากที่พลิกการเมืองไทย ทำให้เมืองไทยไม่สามารถจะเดินในเส้นทางประชาธิปไตยได้ มีการรัฐประหาร 2490 และการรัฐประหารหลายๆ ครั้งต่อมา ถึงแม้ว่าสมาชิกของคณะราษฎรคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะสามารถกลับมามีอำนาจได้ก็ตาม แต่ประชาธิปไตยแบบที่คณะราษฎรต้องการและได้ทำมาในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างที่ผมพูดไปแล้วนั้น มันเป็นไปไม่ได้แล้ว

จากนั้นคู่แข่งที่เกิดขึ้นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ ของนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะราษฎรด้วย ในขณะเดียวกันก็มีคนแบบหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ขึ้นมา เพราะฉะนั้นรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคหลังจึงไม่เหมือนกับยุคแรกแล้ว ต้องเล่นเกมประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจของอนุรักษนิยม ไม่ใช่อนุรักษนิยมล้าหลัง แต่เป็นอนุรักษนิยมค่อนข้างก้าวหน้า ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินคำของเสนีย์ ปราโมช ว่า “ประชาธิปัตย์ก็เป็นสังคมนิยมเหมือนกันนะ แต่เป็นสังคมนิยมอ่อนๆ” อันนี้เป็นช่วงที่เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากๆ เป็นจุดเปลี่ยนในแง่ของประวัติศาสตร์ที่เมื่อกลับไปดูแล้วมันทำให้เราคิดอะไรได้นอกจากการมองสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเดียว 

เมื่อเรามองกลับไป ปี 2500 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก เพราะมันเป็นการสิ้นสุดของคณะราษฎรคนสุดท้ายคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้เราเข้าสู่ยุคของรัฐบาลอันยาวนานของจอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีพรรคการเมือง คนรุ่นผม หรือก่อน Baby Boomer จะคุ้นเคยกับยุคสมัยนี้มาก เพราะเราเติบใหญ่ในรุ่นนี้ เราไม่อยู่จุฬาฯ เราก็อยู่ธรรมศาสตร์ เราก็อยู่เกษตร ทำให้เราเห็นปรากฏการณ์นี้ แล้วจึงต่อด้วยรุ่น Baby Boomer คือ 14 ตุลาคม 2516 ต่อด้วย 6 ตุลาคม 2519 ต่อด้วยพฤษภา 35 ต่อด้วยพฤษภา 53 

ถ้าเราลองประมวลเหตุการณ์เหล่านี้ดู มันจะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทำไมคนรุ่นปัจจุบัน หรือคนเจน Z จึงกลับไปหาแนวคิดคณะราษฎร 2475 อันนี้อาจจะอธิบายได้ว่า เพราะเขาไม่พอใจสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วเขามองเลยไปอีกนะครับ เขามองเลยพฤษภา 53 เขามองเลยพฤษภา 35 เขามองเลยตุลา 19 เขามองเลยตุลา 16 เขามองกลับไปที่ 2475 เลย

ช่วงเดือนมิถุนายนของทุกๆ ปี หลายสำนักพิมพ์มักจะมีหนังสือหรือปล่อยงานวิชาการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองออกมาอยู่เสมอ เรื่องราวของคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 ยังมีมิติหรือแง่มุมไหนที่ยังไม่ถูกเล่าออกมาอีกบ้าง

มันไม่มีเรื่องเล่า อดีต หรือประวัติศาสตร์ใดที่จบ ประวัติศาสตร์สามารถถูกตีความใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ดังนั้น หนังสือที่เกี่ยวกับการเมือง 2475 ของคณะราษฎร จึงถูกผลิตซ้ำๆ แล้วมันก็ขายดีเป็นบ้าเลย มันมีอะไรใหม่ๆ เยอะเลย มีดาวรุ่งดวงใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ผมว่าอย่างงานของ ณัฐพล ใจจริง ถึงขนาดต้องฟ้องร้องกันเป็นร้อยล้านอะไรทำนองนี้ แสดงว่ามันมีการตีความอะไรใหม่ๆ ออกมา การตีความแบบเดิม คนก็บอกว่ามันจืดไปแล้ว อย่างงานของผมเองก็ถือว่าเก่าไปแล้ว 

ทุกวันนี้มีงานใหม่ออกมาอีกเยอะแยะเลย ผมก็ไม่เคยคิดมาก่อน เราคิดไม่ถึง ข้อมูลเราก็ไม่มี แต่ตอนนี้ข้อมูลมีมากมายมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่มันถูกเปิดจากต่างประเทศ ขณะที่ข้อมูลของไทยมันลำบากที่จะไปดูเอกสารเก่าแก่ หรือเอกสารรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ดูยากมาก แต่ว่าเอกสารกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ โอ้โห มหาศาลเลย แปลว่าจะมีข้อมูลใหม่โผล่มาเรื่อยๆ แล้วก็สนุกด้วย

การที่ประวัติศาสตร์คณะราษฎรบูมขึ้นมาในช่วงหลายปีให้หลัง ทำให้จิตสำนึกและองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แพร่หลายอย่างกว้างขวางในสังคมแล้วหรือยัง

อาจไม่ได้กว้างขวางมากมาย แต่ก็มากกว่าที่เคยเป็นมา ถ้าพูดกันตรงๆ ผมมีนักเรียนนักศึกษา 100 คน เรียนกับผม คนที่จะเอาเรื่องเอาราว รู้เรื่องดีๆ ไม่เกิน 10 คน อีก 90 คน มันก็เล่นอะไรของมันไป ขอให้ได้ปริญญาก็แล้วกัน อาจารย์อย่าให้ F ก็แล้วกัน อะไรทำนองนี้ ฉะนั้นในเรื่องของวิชาการ ในเรื่องของประวัติศาสตร์ เราไปหวังมากไม่ได้ เพียงแต่เราพูดได้ว่า เดี๋ยวนี้มันดีขึ้น หนังสือที่ขายไม่ได้ก็ขายได้ หนังสือที่ผมพิมพ์มา 10 ปี 20 ปี เคยขายไม่หมด แต่ตอนนี้มันขายได้ ก็ต้องเรียกว่า ดีแล้ว

มีมุมมองอย่างไรกับการที่ประวัติศาสตร์ 2475 และเรื่องราวของคณะราษฎรถูกหลายฝ่ายนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับฝั่งตนเอง

ก็เป็นเรื่องธรรมดา คนมันก็อ้างได้เยอะแยะเลย อยู่ที่ว่าจะอ้างอะไร อ้างแล้วคนเชื่อไหม ถ้าอ้างมาแล้วคนบอกว่าแล้วไง ไม่เห็นจะได้เรื่องเลย มันก็จบ

ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้วกว่า 90 ปี ที่เราพูดกันบ่อยๆ ว่า “เวลาอยู่ข้างเรา” สุดท้ายแล้วเวลามันอยู่ข้างเราจริงหรือเปล่า 

ผมว่า ‘เวลา’ อยู่ข้างประชาชน แต่มันไม่ง่ายขนาดนั้น มันต้องมีคนแต่ละรุ่นขึ้นมาสู้ต่อ แต่ถามว่าไม่เอาประชาธิปไตยได้ไหม ไม่เอารัฐธรรมนูญได้ไหม กลับไปสู่วัฏจักรแห่งความชั่วร้าย ปฏิวัติ รัฐประหาร เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมาได้ไหม ผมว่าไม่ได้แล้ว 

ถ้าจะตีความให้เป็นบวก ว่าเวลาอยู่ข้างประชาชน มันก็คงประมาณนี้ แต่ต้องไม่ฝันหวาน ไม่ใช่อยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์… ทั้งๆ ที่ลาเวนเดอร์มันก็ไม่ค่อยมีในเมืองไทยด้วย (หัวเราะ)

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

Photographer

วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
กินเก่ง หลงทางง่าย เขียนและถ่ายในคนเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า