วันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจัยกรณีพรรคก้าวไกลหาเสียงโดยชูนโยบายแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า แม้การเสนอร่างกฎหมายจะเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร และร่างกฎหมายการแก้กฎหมายมาตรา 112 จะยังไม่ได้ถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา แต่ความพยายามดังกล่าวก็มีเจตนาบ่อนเซาะสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 49 ซึ่งระบุว่าบุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวของพรรคก้าวไกลเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และมีคำสั่งให้ยุติการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการเสนอแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่นอกเหนือไปจากกระบวนการทางนิติบัญญัติทันที
หลังเสร็จสิ้นคำนิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีการคาดการณ์กันว่าหากมีกระบวนการยุบพรรคก้าวไกลหลังจากนี้ กรรมการบริหารพรรคชุดล่าสุดจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง ทำให้ไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองใดๆ ได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 93
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลชุดล่าสุด มีรายชื่อดังต่อไปนี้
- ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค
- อภิชาติ ศิริสุนทร เลขาธิการพรรค
- ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
- ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
- สุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรค
- เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรค
- สมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรค
- อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กรรมการบริหารพรรค
นอกจากนี้ คาดว่าการตัดสิทธิทางการเมืองอาจรวมไปถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสนอแก้มาตรา 112 ในคดีดังกล่าว โดยปัจจุบันนายพิธาดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค
และหากมีการยุบพรรคก้าวไกล ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 101 (10) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคที่ถูกยุบไป จะมีเวลาในการย้ายเข้าพรรคใหม่ภายใน 60 วัน