กฤษฎางค์ นุตจรัส: คำว่า ‘ล้อเลียน’ ไม่เท่ากับ ‘ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย’ ตามมาตรา 112 คดีแต่งชุดไทยร่วมม็อบแฟชั่นโชว์

หลังการต่อสู้คดีและการสืบพยานทั้งฝั่งโจทก์และจำเลย ซึ่งกินเวลาเกือบ 1 ปี ของ ‘นิว’ จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมการเมือง และผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากเหตุแต่งชุดไทยไปร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ในกิจกรรม ‘รันเวย์ประชาชน’ บริเวณหน้าวัดแขก ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563

เมื่อวานนี้ (12 กันยายน 2565) ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดอ่านคำพิพากษาคดีของ นิว จตุพร โดยคำพิพากษาระบุเนื้อหาโดยย่อ ใจความว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี และมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ลงโทษปรับ 1,500 บาท ส่วนข้อหาอื่นๆ ให้ยกทั้งหมด

“อย่างไรก็ดี ศาลระบุว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท โดยโทษจำคุกไม่รอลงอาญา”

ทันทีที่คำตัดสินและเนื้อความโดยย่อของคำพิพากษาปรากฏสู่สายตาประชาชน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างและเกิดข้อถกเถียงว่า เหตุใดการใส่ชุดไทยไปร่วมกิจกรรมรันเวย์ประชาชนของนิวในครั้งนั้น จึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินีตามมาตรา 112 ไปได้ 

ในส่วนของคดี ขณะนี้ทนายความกำลังยื่นขอปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับคำตอบในเร็ววัน ว่า นิว จตุพร จะได้รับการประกันตัวหรือไม่ 

ถัดจากนี้ คือข้อสังเกต กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะผู้ติดตามข้อมูลคดีของ นิว จตุพร อย่างใกล้ชิด โดยเขาออกตัวก่อนว่า “ผมไม่ได้พูดในฐานะทนายของจำเลย หรือมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐ” แต่เป็นข้อคิดเห็นต่อหลักการทางนิติศาสตร์ หลักการทางนิติปรัชญา หลักกฎหมายอาญา และหลักการแปลความตามมาตรา 112 ทั้งในคดีของ นิว จตุพร และคดีอื่นๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะต้องทำตามถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ศาลต้องตีความให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิประชาชนด้วยความเคร่งครัด

“มาตรา 112 นั้น มีองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายอาญาอยู่ 3 ประเด็น คือ ‘ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย’ ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ ดังนั้น การตีความตามตัวบทกฎหมายอาญาซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาหรือประชาชนนั้น จะต้องตีความโดยเคร่งครัด การแปลความมาตรา 112 ก็เช่นกัน นอกจากจะต้องทำตามถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ศาลต้องตีความให้มาตราดังกล่าวไปในทางที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิในการแสดงออกโดยสุจริตของประชาชน 

“ส่วนความเห็นของผมในคดี เท่าที่เห็นจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาล เพราะเรายังไม่เห็นคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์ ซึ่งศาลเห็นว่า เป็นกรณีที่มีการแต่งกายชุดไทย แล้วมีองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย เช่น มีคนถือร่ม มีคนมาจับขาว่าแล้วพูดว่า พระราชินีสวย แล้วมีคำพูดในคลิปที่มีคนอื่นซึ่งไม่ใช่นิวพูด เขาตะโกนว่า ทรงพระเจริญ ซึ่งในความเห็นของศาลตามคำพิพากษาเป็นกรณีที่เหมือนกับล้อเลียน ดูให้ขบขัน เป็นเรื่องตลก ซึ่งก็ถือว่าเป็นการดูหมิ่น ล้อเลียน ทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสื่อมเสียต่อพระราชีนี จึงเป็นความผิด โดยศาลใช้คำว่า ‘ล้อเลียน’ 

“ผมมองว่า กรณีที่วินิจฉัยว่าการล้อเลียนพระราชินีคือการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย เป็นเรื่องที่ผมรับไม่ได้ ผมรู้สึกว่าเป็นการตีความตัวบทกฎหมายเกินเลยกว่าความเป็นจริง เพราะการแต่งกายเลียนแบบ ไม่ใช่การ ‘อาฆาตมาดร้าย’ แน่นอน ถามว่าเป็นการ ‘หมิ่นประมาท’ ไหม ก็ไม่ใช่การหมิ่นประมาท ส่วนคำว่า ‘ดูหมิ่น’ นี่ไม่ต้องพูดเลย เพราะคำคำนี้ กฎหมายบอกว่าต้องดูหมิ่นกันตัวต่อตัว เช่น ตะโกนด่ากันซึ่งหน้า ดังนั้น ตีความยังไงก็ไม่เป็นการดูหมิ่นตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มันจึงเป็นข้อสงสัยว่า เราลงโทษนิวในฐานอะไร อาฆาตมาดร้ายไหม? ถ้าไม่ใช่ คุณจะเอามาลงมาตรานี้ไม่ได้ 

ในทัศนะของกฤษฎางค์ หากมาตรา 112 มีความประสงค์ที่จะคุ้มครองบุคคลทั้ง 4 ฐานะ คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ ไม่ให้ถูกล้อเลียน เช่นนั้นแล้วก็ต้องบัญญัติเพิ่มเติมคำว่า ‘ล้อเลียน’ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มิฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นการ ‘ตีความเกินกว่าที่กฎหมายมีอยู่’ ของผู้พิพากษา ซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตยของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

“ผมยกตัวอย่างแบบนี้ว่า สมมุติมีใครสักคนไปขโมยของในพระราชวังซึ่งเป็นของพระมหากษัตริย์ โจรที่ไปขโมยก็ต้องถูกฟ้องด้วยข้อหาลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ไม่ใช่ถูกฟ้องในมาตรา 112 ว่าทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย เพราะกฎหมายมีขั้นตอนในการรักษาสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาและรักษาผลประโยชน์ของผู้เสียหายที่ถูกขโมย มันเป็นไปไม่ได้ที่คนลักขโมยของ 1 ชิ้น คุณจะเอาเขาไปตัดสินจำคุก 15 ปี 
“เพราะฉะนั้น กรณีของนิว จตุพร ก็เหมือนกัน การที่ศาลอาญากรุงเทพใต้บอกว่าเป็นการล้อเลียน เข้ามาตรา 112 ผมเห็นว่า ยังไงมันก็ไปไม่ถึง ผมรับไม่ได้ ผมก็ให้นิว จตุพร เขาอุทธรณ์คดีไปเลย เรามีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะคำพิพากษาของศาลไม่ได้ผูกพันเฉพาะโจทก์ จำเลย หรือผู้ฟ้องคดีเท่านั้น แต่อาจสร้างบาดแผลให้ระบบยุติธรรมด้วย และทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาในระบบยุติธรรมหรือในกระบวนการศาลสูญหายไป ยิ่งมากเท่าไหร่ คนก็จะไม่นับถือระบบยุติธรรม แล้วไปแสวงหาการต่อสู้และจัดการชีวิตเขาด้วยวิธีอื่น”

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า