ราษฎรสำราญ สตรีสำเริง ใน ‘งานฉลองรัฐธรรมนูญ’ และการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของพานแว่นฟ้า

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และทรงลงพระปรมาภิไธยรับรองธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราว ก่อนที่ต่อมาจะมีการประกาศใช้ ‘รัฐธรรมนูญฉบับถาวร’ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 นั่นหมายความว่า นับแต่นี้ไปสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง 

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะราษฎรต้องการให้ราษฎรตระหนักถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ อันเป็นเครื่องมือในการกำหนดรูปแบบการเมืองการปกครองของสยาม และเน้นยํ้าถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) มาเป็นประชาธิปไตย (Democracy) ดังนั้น ทางรัฐบาลสยามจึงจัดให้มี ‘งานฉลองรัฐธรรมนูญ’ ในวันที่ 11-12 ธันวาคม 2475 จนกลายเป็นวาระแห่งชาติของราษฎรสยามในเวลาต่อมา 

งานฉลองรัฐธรรมนูญ เป็นงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อยึดโยงราษฎรเข้าสู่ระบอบใหม่ผ่านงานรื่นเริงนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยกิจกรรมมากมาย เช่น การจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ทางการเมืองการปกครองให้แก่พลเมือง การออกร้านรวง มหรสพสมโภช และการประกวดนางสาวสยามหรือนางสาวไทย เป็นต้น 

การประกวดนางงามและการจัดแสดงพานรัฐธรรมนูญจำลองที่จังหวัดหนองคาย ในปี 2480

นิทรรศการ ‘พานแว่นฟ้า’ การเรียนรู้และช่วงชิงความหมายทางการเมือง

งานฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2475 นอกจากมีมหรสพสมโภชแล้ว ยังมีการจัดแสดง ‘พานรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งเป็นพานแว่นฟ้าทอง 2 ชั้น ที่ใช้ในการทูลเกล้าฯ ถวายรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัชกาล 7 โปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 การจัดแสดงพานแว่นฟ้านั้น ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รู้จักว่ารัฐธรรมนูญมีหน้าตาอย่างไร ทั้งยังเปิดให้ประชาชนได้ทำความเคารพอีกด้วย ในต่างจังหวัดก็มีการจำลองพานแว่นฟ้าให้ประชาชนได้ทราบด้วยเช่นกัน รวมไปถึงพ่อค้าหัวใสก็ผลิตเข็มกลัดที่ระลึกพานแว่นฟ้าออกขายในงานวันฉลองรัฐธรรมนูญในปีต่อมา ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่สตรีเป็นอย่างมาก 

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ ‘กบฏบวรเดช’ จากการลุกฮือของฝ่ายผู้สูญเสียอำนาจ ก่อนจะถูกปราบปรามไปในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2476 หลวงวิจิตรวาทการ หนึ่งในคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีทางการเมืองเพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดละเมิดรัฐธรรมนูญ จึงต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพิทักษ์รัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลชุดพระยาพหลพลพยุหเสนาตระหนักว่า การสร้างสำนึกในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญในหมู่ราษฎรนั้นสำคัญ จึงมีความพยายามในการสร้าง ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ ให้กับพานแว่นฟ้าที่มีรัฐธรรมนูญนั้นวางอยู่ด้านบน เหมือนราษฎรต้องยกเทิดหัวเอาไว้ ประหนึ่งการพิทักษ์ปกป้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นการช่วงชิงความหมายของพานแว่นฟ้าเดิมที่ใช้เพื่อรองรับสิ่งที่เป็น ‘ของสูง’ ในพิธีกรรมทางศาสนาหรือพระราชพิธีต่างๆ 

ด้วยเหตุนี้ ในวันฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2477 รัฐบาลจึงสั่งให้มีการสร้างพานรัฐธรรมนูญจำลองขึ้นมา 70 ชุด เพื่อนำไปประดิษฐานในทุกจังหวัดด้วย

งานฉลองรัฐธรรมนูญของจังหวัดลำพูน ร้านค้าที่มาออกร้านได้ประดับตกแต่งร้านด้วยสัญลักษณ์พานแว่นฟ้าและรัฐธรรมนูญ

ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้ทัศนะกับนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ต่อกระบวนการทำให้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทยว่า

“เนื้อแท้ของกระบวนการทำให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็นไทยนั้น คือทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นวัตถุของขลัง (constitutional fetishism) นั่นเอง ผ่านการทำให้มันมีรูปร่าง (reification) ทำให้มันศักดิ์สิทธิ์ (monumentalisation) เพื่อหวังผลบั้นปลายให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็นแหล่งที่มาของอำนาจอันชอบธรรมในระบอบใหม่ เทียบเคียงกับสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบเก่านั่นเอง” 

หนังสือ เทอดรัฐธรรมนูญ ตีพิมพ์ในปี 2476 เพื่อจำหน่ายในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ ‘กบฏบวรเดช’

นางสาวสยาม = เทพีรัฐธรรมนูญ

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 รัฐบาลต้องการสนับสนุนบทบาทของสตรีในระบอบการปกครองใหม่ ให้มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับบุรุษเฉกเช่นนานาอารยะประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับการศึกษา สิทธิเสรีภาพเหนือร่างกาย และสามารถแสดงออกความสามารถของตนเองได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงจัดให้มีการประกวด ‘นางสาวสยาม’ ครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2477 ซึ่งได้รับความสนใจจากราษฎรเป็นอย่างมาก 

กันยา เทียนสว่าง คือ นางสาวสยามคนแรกที่คว้ามงกุฎไปครอง พร้อมด้วยเงินรางวัล 1,000 บาท เข็มกลัดลงยาว่า ‘รัฐธรรมนูญ ๗๗’ ล็อกเก็ตห้อยคอทองคำ และขันเงินสลักชื่อ ‘นางสาวสยาม ๗๗’ 

กันยา เทียนสว่าง นางสาวสยามคนแรก จากเวทีการประกวดงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2477

อุดมการณ์ทางการเมืองในการประกวดนางสยามเริ่มเข้นข้นมากยิ่งขึ้นในทศวรรษ 2480 สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการให้ความหมายนางสาวสยามหรือนางสาวไทย หลังจากการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย ว่าพวกเธอคือ ‘เทพีแห่งรัฐธรรมนูญ’ จากการประกวดความงามบนเวทีงานฉลองรัฐธรรมนูญ ขณะที่ สตรีในสมัยจอมพล ป. นั้นมีบทบาทในสังคมเฉกเช่นบุรุษ เช่น มีการจัดตั้งนายร้อยหญิง เป็นต้น 

‘เทพีรัฐธรรมนูญ’ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2483

ความโรยราและจุดสิ้นสุดของงานฉลองรัฐธรรมนูญ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2490 ที่ฝ่ายคณะราษฎรสูญเสียอำนาจทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมได้ขยับพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น งานฉลองรัฐธรรมนูญได้ลดบทบาทความสำคัญลงอย่างมาก จนกระทั่งภายหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ได้สั่งให้มีการยกเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2501 คงเหลือไว้เพียงงานพระราชพิธีในวันที่ 10 ธันวาคมเท่านั้น

อ้างอิง:

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า