เรื่อง/ภาพ: ปริตตา หวังเกียรติ
1
ก่อนที่แสงสุดท้ายจะลาลับอ่าวปากบารา จังหวัดสตูล สีของท้องฟ้าเปลี่ยนเฉดจากส้มแสดเป็นม่วงคราม ตัดกับเงาดำทะมึนของเกาะเขาใหญ่ที่ตระหง่านเป็นฉากกั้นอยู่เบื้องหลัง
มองไปเบื้องหน้า…ระดับน้ำทะเลกำลังลดลงเรื่อยๆ ผืนทรายผสมดินเลนโผล่ให้เห็นเป็นทางยาว
หน้าแข้งทั้งสองข้างของฉันกำลังถูกดินเลนหลังน้ำลดดูดกลืน ราวกับว่าร่างกายค่อยๆ จมลงไปทุกๆ ครั้งที่น้ำหนักร่างกายกดลงไปยังสองฝ่าเท้าอันเปล่าเปลือย
แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับชาวบ้าน-ชาวประมงที่อยู่รอบตัวฉัน พวกเขาดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทุกคนย่างเท้าก้าวเดินด้วยท่าทีผ่อนคลายด้วยความเคยชิน
แม้ชายหาดที่ทอดยาวจะเต็มไปด้วยดินเลนรูปลักษณ์ไม่สวยงาม เม็ดทรายไม่ละเอียดและไม่ขาวโพลนเหมือนชายหาดในความฝัน หากแต่ตะกอนดินสีดำขุ่นเหล่านั้น คือแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตตัวเล็กตัวน้อยนับล้านชีวิต
…จะเป็นอะไรไป ถ้าดินเลนจะทำให้เราเสียหลักหรือเดินขลุกขลักไปบ้าง ก็นี่คือความสมดุลที่ธรรมชาติมอบให้มิใช่หรือ?
ขณะเดินย่ำเท้าโซเซไปเรื่อยๆ จนถึงสุดเขตดอนทราย ซึ่งเป็นบริเวณรอยต่อผืนดินกับอาณาจักรอันกว้างใหญ่แห่งอันดามัน พลันเกิดความรู้สึกแปลบขึ้น เพราะฝ่าเท้าถูกบาดด้วยเปลือกหอยคมกริบ ชาวปากบาราเรียกมันว่า ‘หอยกะพง’
หอยกะพงตัวเขื่องนับไม่ถ้วนอาศัยอยู่บนดินเลนแห่งนี้ จำนวนของมันยังคงเดิมตามระบบนิเวศ มีบ้างที่คนท้องถิ่นเข้าไปเก็บ เข้าไปจับมาทำอาหาร แต่ก็เฉพาะเมื่อมีงานบุญหรือพิธีสำคัญเท่านั้น ทรัพยากรจึงมีเพียงพอสำหรับลูกหลานชาวปากบาราอีกหลายรุ่นที่กำลังจะเกิดต่อมา
ใกล้ๆ กันนั้น ครอบครัวชาวประมงพื้นบ้านกำลังสาวแหดักปลาขึ้นมา พวกเขาดึงปลาออกจากแหทีละตัว และค่อยๆ วางปลาใส่ในกระสอบที่เตรียมมา แม้ว่าเท้าของเขาจะถูกกรีดด้วยคมเปลือกหอยบ้าง แต่ใบหน้ากลับคงไว้ด้วยรอยยิ้ม นั่นเพราะพวกเขาจะมีอาหารให้พอกินไปอีกหลายวัน
ชีวิตคนและสัตว์นับล้านกำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่แยกเผ่าพันธุ์ ไม่แยกวัฎจักร ชาวบ้านขุดดิน หาหอย จับปลา สัตว์น้ำเซลล์เดียวไหลไปตามกระแสน้ำ ฝูงปูทหารขึ้นมาเขี่ยหาอาหารบนหน้าดิน เป็นจุดเล็กๆ หลายจุดที่มีคุณค่าอนันต์ แต่อาจถูกตีค่าเป็นศูนย์เมื่ออยู่ใต้แทบเท้ามนุษย์ผู้ทะนงตัว
ฉันปล่อยให้เวลาทอดผ่านไปอย่างช้าๆ ค่อยๆ ซึมซับความเย็นจากน้ำและผืนดิน
ฟ้าโปร่งทำให้สมองปลอดโปร่งตาม จะมีก็แต่ข่าวคราวการรุกคืบของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ว่าด้วยการพัฒนาอ่าวปากบาราและการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ยังกวนใจ
2
เมื่อความมืดเริ่มย่างกราย ดอนทรายจึงค่อยๆ ร้างผู้คน ชุมชนที่ตั้งอยู่ตลอดแนวอ่าวปากบาราเติมเต็มด้วยผู้คนต่างบ้าน ต่างศาสนา ต่างความหลัง และต่างมาพบเจอกันในร้านอาหาร ร้านน้ำชา
เสียงอาซานดังขึ้นจากสุเหร่าไม่ใกล้ไม่ไกล เหมือนเสียงดนตรีเบาๆ ขับกล่อมลมเย็นยามค่ำคืน
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กำลังเพลิดเพลินกับรสชาติหวานกลมกล่อมของชาชักและโรตีหวานทอดกรอบในร้านน้ำชาริมหาดแห่งหนึ่ง เขาพูดคุยกับกลุ่มชาวประมงที่มาเจอกันโดยไม่ได้นัดหมาย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนประเด็นต่างๆ นานา แต่ดูเหมือนว่าการทำประมงจะเป็นประเด็นพูดคุยหลัก
ทะเลสตูลกำลังอยู่บนทางแพร่ง เมื่อภัยร้ายจากเรือปั่นไฟพาณิชย์กำลังดูดกลืนทรัพยากรสัตว์น้ำ ในอีกด้าน ‘โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา’ กำลังถูกผลักดันอย่างหนักโดยผู้นำประเทศและผู้กุมนโยบายจำนวนหยิบมือ ผืนทะเลอันอุดมสมบูรณ์กำลังจะเป็นที่รองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่
“เขาว่าเขาจะทำท่าเรือ เอาแน่แล้วยัง?”
“นายกฯ ออกมาพูดแล้วว่าจะเดินหน้า”
“แล้วบ้านเราจะอยู่กันพรือ?”
คำตอบคงไม่ใช่สิ่งที่น่าจินตนาการนัก…
ร้านน้ำชาที่วิโชคศักดิ์และสหายนั่งอยู่ อาจจะถูกแทนที่ด้วยถนนกว้างเชื่อมต่อจากชายฝั่งสู่ท่าเรือน้ำลึกไกลออกไปเป็นระยะสี่กิโลเมตร ผ่าใจกลางแหล่งอาหารหลักของชุมชนในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
“คนสตูลมีความสัมพันธ์กับปากบาราอย่างแยกไม่ออก ท่าเรือน้ำลึกจะทำลายความสัมพันธ์นี้อย่างที่ไม่มีใครคาดถึง” วิโชคศักดิ์พูดขึ้น
แสงไฟสลัวของหลอดไฟสีส้มนวลส่องกระทบใบหน้าของเขาและผู้ร่วมสนทนา ฉันบังเอิญสบตาวิโชคศักดิ์ เห็นเงาสะท้อนแห่งความกังวล หรือนี่อาจเป็นเพียงการเล่นของแสงไฟกับดวงตาเขาก็เป็นได้ เพราะเมื่อฉันมองให้ชัดอีกครั้ง ดวงตาของเขากลับสะท้อนการดิ้นรน ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตาที่ผู้อื่นกำหนด
อีกหนึ่งเสียงพลันเรียกร้องความสนใจจากฉันและวิโชคศักดิ์ เป็นเสียงดังแหลมตะโกนขึ้นจากอีกมุมหนึ่งของร้านน้ำชา
“สตาลิน เลนิน ครุสซอฟ!”
“สตาลิน เลนิน ครุสซอฟ!”
นั่นเป็นเสียงของ ซอและ ชายร่างผอม ผิวสีน้ำตาลคล้ำ ผู้เป็นที่คุ้นเคยของชาวปากบารามาอย่างยาวนาน
ซอและไว้ผมยาวรุงรัง เขามักไม่สวมเสื้อ แต่งตัวด้วยกางเกงขาดวิ่นเปรอะเปื้อน เขามักปรากฏตัวให้เห็นบ่อยครั้งที่ปากบารา ชาวบ้านเล่าว่าเขาเคยเป็นผู้ทรงความรู้ด้านประวัติศาสตร์คนหนึ่งในท้องถิ่น ชีวิตเขายังคงเป็นปริศนา มีเพียงชิ้นส่วนความทรงจำของชื่อบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เล็ดลอดออกมา บ่อยครั้งที่เขาจะตะโกนชื่อบุคคลเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องตามเสียงอักขระท่ามกลางความสับสนของผู้เฝ้ามอง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ชาวปากบารามองว่าเขาจะอยู่ร่วมกับชุมชนไม่ได้
เจ้าของร้านน้ำชานำชาชักเย็นฉ่ำมาเสิร์ฟให้เขาหนึ่งแก้วโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีหลายครั้งที่วิโชคศักดิ์เสนอบุหรี่ให้เมื่อเขาเรียกขอ พลางชวนคุยอย่างเป็นไมตรีจิต ทุกคนเป็นคนปากบาราร่วมกัน
ไม่บ่อยครั้งที่คนเราจะสามารถอยู่ร่วมบนความแตกต่างได้โดยไม่รู้สึกกระอักกระอ่วน
ความรู้สึกนี้เป็นสิทธิพิเศษที่ฉันขอโอบรับไว้ในฐานะผู้ผ่านทาง
3
ร้านข้าวยำใต้ต้นมะขามเต็มไปด้วยผู้คนขวักไขว่ในตอนเช้า อาหารพื้นถิ่นหลายชนิดถูกเสิร์ฟแก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นข้าวยำราดน้ำบูดู ขนมจีนรสจัด และข้าวหมกไก่พร้อมน้ำจิ้มรสเด็ด
ร้านข้าวยำเป็นจุดร่วมอีกแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านมาพบกันโดยไม่ต้องนัดหมาย เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรื่องราว สำหรับคนแปลกหน้า บทสนทนาเหล่านี้มีมิติกว้างเกินกว่าที่หนังสือเล่มหนาจะบรรจุเป็นตัวอักษรไว้ได้
อาหารรสชาติละมุน บทสนทนาเป็นกันเอง อากาศโปร่งสบาย ดูเหมือนว่าแค่นี้จะเพียงพอแล้วสำหรับชีวิตคนคนหนึ่ง
“แลข่าวเมื่อคืนไหม? ผมไม่เชื่อว่าชาวโรฮิงญาจะถูกพาขึ้นฝั่งสตูลโดยไม่มีใครบนฝั่งช่วย” ชายวัยกลางคนคนหนึ่งพูดขึ้นบนโต๊ะอาหาร ชายร่วมโต๊ะอีกห้าคนพยักหน้ารับ ฉันได้กลิ่นเค็มของทะเลผสมผสานกับกลิ่นกาแฟอย่างลงตัว
“ผมได้ยินเสียงเครื่องยนต์เมื่อคืนนี้แถวป่าชายเลนใกล้บ้าน ไม่เหมือนเสียงเครื่องยนต์ของเรือบ้านเรา” อีกคนพูด
“เห็นพวกนี้ลอยลำอยู่แล้วน่าสงสาร อยู่กันแน่นพรรค์นั้น ของกินก็ไม่มี”
“ผมอยากให้มันมีการแก้ปัญหาให้จริงจัง” อีกคนกล่าวพลางยกแก้วกาแฟขึ้นจิบ หลายคนก็กำลังหวังเช่นเดียวกัน
เสียงบทสนทนาค่อยแผ่วเบาลงในตอนสาย เมื่อลูกค้าต่างกระจายตัวกลับบ้าน ถัดไปจากร้านเล็กน้อย ความจอแจกำลังเกิดขึ้นที่ท่าเรือท่องเที่ยวปากบารา นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศเพื่อรอขึ้นเรือไปยังจุดหมายปลายทางที่วาดฝันไว้ นั่นคือเกาะแก่งต่างๆ ในอุทยานแห่งชาติทางทะเลหมู่เกาะตะรุเตา
ไกรวุฒิ ชูสกุล เดินทักทายแขกนักท่องเที่ยวของเขาอย่างเป็นมิตร เขาเป็นผู้จัดการบริษัทเรือทัวร์ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นนักพูดลิ้นทอง หากถามเขาเรื่องบ้านเกิดในจังหวัดสตูล คงต้องเผื่อเวลาเป็นวันเพื่อฟังเรื่องราวนับร้อยของเขา วันนี้เขาตัดสินใจเป็นไกด์นำแขกชาวไทยกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งไปดูความพิเศษของทะเลสตูล
“อ่าวปากบารามีความพิเศษเฉพาะ ส่งเสริมให้ทะเลสตูลอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศหลากหลาย” เขากล่าวกับแขก “พืชและสัตว์พันธุ์ที่หายากก็สามารถพบเจอได้ในบริเวณนี้ ไม่ว่าจะเป็นปูทหารแห่งพระราชา รองเท้านารี ปะการังเจ็ดสี”
ฉันลองหลับตานึกตามที่ไกรวุฒิกล่าว จินตนาการว่าร่างกายตัวเองลอยอยู่เหนือจังหวัดสตูลและชายฝั่ง เมื่อมองจากมุมสูงจะเห็นความเชื่อมโยงของอ่าวปากบารากับทะเลอันดามันได้ชัดเจนขึ้น
น้ำทะเลอันดามันหมุนวนจากนอกฝั่งสู่ภายในอ่าวปากบารา พัดพาสัตว์น้ำและอาหารในอ่าวสู่ทะเลชั้นนอก ก่อเกิดแหล่งปะการังและอาหารตามเกาะแก่ง ชาวประมงจึงหาปลาได้ การท่องเที่ยวจึงเติบโต เมื่อนักท่องเที่ยวใคร่รู้ใคร่เห็นความงามจากทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกร่ำลือซ้ำๆ
การสร้างท่าเรือน้ำลึกสักแห่งต้องมีการขุดลอกร่องน้ำลึกเพื่อเปิดทางให้เรือสินค้าขนาดใหญ่แล่นผ่าน ทำให้เกิดตะกอนดินมหาศาล ปกคลุมสัตว์น้ำและปะการังจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เมื่อผนวกกับการแล่นผ่านของเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่เหนือทะเลผืนนี้แล้ว การท่องเที่ยวและประมงพื้นบ้านคงถึงจุดอวสาน ชุมชนกลายเป็นเพียงลูกจ้างแทนที่จะเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง
เหมือนการเป็นพนักงานออฟฟิศที่อิสระเสรีถูกจำกัด ความคิดถูกตีกรอบ เกิดคำถามว่าชีวิตเป็นของใครกันแน่ ถูกกรอกหูบ่อยครั้งว่าให้ทำเพื่อองค์กร เหมือนกับที่ชาวปากบาราถูกบอกให้เสียสละเพื่อเศรษฐกิจชาติ การตัดสินใจบนฐานการเติบโตของเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่างเดียว อาจเป็นการตัดสินใจบนความไม่รู้รอบด้านก็เป็นได้
เมื่อไกรวุฒินำเรือถอยหลังเข้าสู่หาดหินงาม ภาพจินตนาการวันแห่งหายนะของฉันพลันต้องหยุดชะงัก แทนที่ด้วยภาพความรื่นรมย์ของหาดหินสีดำที่ถูกขัดจนมันวาวด้วยแรงคลื่นกระทบฝั่ง ถ้าหลับตาแล้วเงี่ยหูฟังจะได้ยินเสียงกระทบกันของหินแต่ละก้อนในเวลาที่คลื่นสาด เกิดเสียงไพเราะเป็นจังหวะกลมกลืนตามธรรมชาติ
ไกรวุฒิพาแขกของเขานั่งเรืออ้อมไปทางด้านหลังของหาดหินงามเพื่อดำน้ำชมปะการังน้ำตื้น ที่นั่น ฝูงปลาหลากสีแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางปะการังหลากรูปร่างลักษณะ ชูคอสง่าต้อนรับผู้มาเยี่ยมชม ราวกับการแสดงร่ายรำที่ผู้ชมต้องประทับในความทรงจำไปอีกนานเท่านาน ฉันเห็นแววตาอิ่มเอมของนักท่องเที่ยวจวบจนกระทั่งเรือพาพวกเขากลับขึ้นฝั่ง
4
“มีเรือลำเล็กออกไปกลางทะเลใหญ่ วางอวนจับปลาตามประสาคนเล อุดมสมบูรณ์ด้วยปลาน้อยใหญ่ มันมีมากมายทั่วท้องทะเลแถบนี้ ลำคลองบารา สองฝั่งเป็นชายเลน มีป่าโกงกางขึ้นเรียงราย มีชีวิตเรียบง่าย รายได้นั้นพอมี ชุบชีวีให้ชื่นใจด้วยเสียงเพลงร็องเง็ง”
ในมุมหนึ่งของ ‘ลาน 18 ล้าน’ ที่ตั้งชื่อตามจำนวนงบประมาณที่ใช้สร้าง เสียงเพลงจากวงดนตรีท้องถิ่นนามว่า ‘กัวลาบารา’ ถูกบรรเลงขึ้นเบาๆ เสียงเส้นสายกีตาร์ประสานเสียงกับเครื่องดนตรีร็องเง็ง ตามด้วยเสียงร้องสำเนียงชาวใต้ของ หมอดดี สำสู ขับกล่อมจังหวะการเดินของผู้มาแวะเวียน
หาดปากบาราถูกแต่งแต้มด้วยสีสันจากผู้คนก่อนที่ตะวันจะลาลับฟ้า ลูกเด็กเล็กแดงว่ายน้ำอย่างสนุกสนาน สมาชิกครอบครัวช่วยกันขุดทรายเพื่อหาหอยบนฝั่ง บางคนก็พักผ่อนบนเสื่อผืนเล็ก ยกมือถือขึ้นถ่ายภาพอาทิตย์อัสดงอย่างไม่รู้เบื่อ ลาน 18 ล้าน ถูกเปลี่ยนเป็นตลาดขนาดเล็กในวันอาทิตย์ เป็นอีกหนึ่งที่นัดพบของชาวสตูลที่มาพักผ่อนริมทะเล เสาะหาอาหารทะเลสดอร่อย
ฉันมีโอกาสได้คุยกับหมอดดีเพียงสั้นๆ ทำให้พอเข้าใจได้ว่า รากเหง้าความเป็นจังหวัดสตูลคือสิ่งที่ทำให้ชายคนนี้มีแรงบันดาลใจในการเรียงร้อยถ้อยคำและตัวโน้ตเพื่อเล่าเรื่องราวของ ‘บ้าน’ ของเขาให้ผู้มาเยือนฟัง ความงามธรรมชาติสร้างวิถีชีวิตและบทเพลง ดึงมนุษย์ผู้ทะเยอทะยานให้กลับลงสู่ดิน
“ผมเป็นลูกชาวประมง ออกเรือหาปลาตั้งแต่ยังเด็กเหมือนลูกชาวเลคนอื่นๆ ชายหาดและทะเล บกและน้ำ เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิถีแบบนี้มานาน ทั้งหมดผูกพันอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน”
มองจากลาน 18 ล้านออกสู่ทะเล ฉันเห็นผู้คนหลากหลายที่อ่าวปากบารา ทั้งบนบกและเหนือผิวน้ำ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชาวประมง เกษตรกร คนค้าขาย คนทำทัวร์ หรือนักประดาน้ำ ต่างคนล้วนมีทักษะชีวิตเฉพาะตัวที่ขับเคลื่อนปัจจุบันสู่อนาคต ช่วยกันผลักดันให้ชุมชนค่อยๆ เติบโตตามการหมุนของโลก ด้วยก้าวเดินที่มั่นคงและสม่ำเสมอ มีความสุข และร่ำรวยได้บนฐานการตีความที่เป็นกบฏต่อทฤษฎีเศรษฐศาสตร์บางสำนักที่ใช้เพียงตัวเลขมวลรวมเป็นดัชนีชี้วัดคุณค่าชุมชน
หากวันหนึ่ง ผู้คนเหล่านี้ถูกลิดรอนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ การดำรงอยู่ของชุมชนแห่งนี้คงถูกตัดตอนภายใต้อำนาจตัดสินใจของคนเพียงไม่กี่คน และคุณค่าท้องถิ่นจะถูกตีความเหลือเพียงแค่มูลค่า
ก่อนจะหมดวันอีกครั้ง สัตว์น้ำนับจำนวนไม่ได้ยังคงออกมาหากินบนดินเลนเช่นเคย แม้เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณค่าจะน้อยลง มองขึ้นไปเหนือท้องฟ้านั่น นกนางแอ่นแปซิฟิกบินลงมาพักตรงหัวเสาหนึ่งของท่าเรือท่องเที่ยวปากบารา มันกระพือปีกเบาๆ บิดตัวไปซ้ายไปขวา ค่อยๆ สะบัดน้ำออกจากขนสีดำสลับส้มของมัน เมื่อตัวแห้งพอ มันจึงบินออกไปเหนือป่าชายเลนตรงข้ามกับท่าเรือ
มันยังคงจะกลับมาในวันพรุ่งนี้ เหมือนเช่นที่ชาวสตูลออกเรือและกลับเข้าฝั่งปากบาราซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตราบเท่าที่แหล่งอาหารของพวกเขายังไม่ถูกทำลาย ตราบเท่าที่ยังได้รับสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างสงบ
ทุกค่ำคืน ร้านน้ำชายังเต็มไปด้วยผู้คน เสียงอาซานจากสุเหร่าจะยังคงก้องกังวาน บทสนทนาและเรื่องราวที่หลากหลายจะยังคงถูกเล่าสู่กันฟัง
——————————————————————————————————
หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กุมอำนาจการบริหารราชการ ‘โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา’ ถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งหลังจากล่าช้ามากว่า 20 ปี นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งสัญญาณไฟเขียวเดินหน้าโครงการอย่างชัดเจนผ่านการให้สัมภาษณ์และการพูดในรายการ ‘คืนความสุขให้คนในชาติ’ ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ตอบรับโดยจัดสรรงบกลาง 50 ล้านบาท เพื่อจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมด้านยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนปี 2559 พร้อมกันนี้กรมเจ้าท่าได้เสนอตั้งงบปี 2559 จำนวน 120 ล้านบาท เพื่อจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental and Health Impact Assessment: EHIA) โดยหนึ่งในเป้าหมายของแผนนี้คือ การพัฒนาภาคใต้เป็นฐานเศรษฐกิจแห่งใหม่ของประเทศ และสร้างศูนย์กลางระบบลอจิสติกส์ระดับนานาชาติ
‘แนวสะพานเศรษฐกิจ’ (Land Bridge) ปากบารา-สงขลา ถูกเสนอขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของสะพานเศรษฐกิจแห่งนี้ เพื่อขนถ่ายสินค้าไปทวีปยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง
ก่อนหน้านี้กรมเจ้าท่าได้จ้างที่ปรึกษาออกแบบและศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ในปี 2548-2549 โดยโครงการมีขนาด 4,734 ไร่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลหมู่เกาะเภตราทั้งหมด จึงต้องมีกระบวนการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยาน โดย EIA ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในปี 2552
อย่างไรก็ตาม โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งมีข้อกังวลต่อผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถประเมินค่าได้
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ sub way นิตยสาร Way ฉบับที่ 88