สองประเทศในเมืองเดียว: Baarle-Nassau / Baarle-Hertog

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

“สมัยนี้เขาไม่ต่อสู้กันแล้วใช่ไหมแม่”

เด็กชายเอ่ยถาม เมื่อรู้ว่าหมุดเหล็กขนาดใหญ่ที่ฝังอยู่บนพื้นทางเดินต่อด้วยกากบาทขาวเป็นแนวยาวที่เขากำลังยืนคร่อมอยู่คือเส้นพรมแดนระหว่างเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียม

ต้นเดือนพฤษภาคม ปี 2016 ฉันและลูกชายวัย 7 ขวบกว่า กระเตงกันขึ้นรถไฟต่อรถบัส วิ่งต่อรถหลายทอด วิ่งแบกเป้หลังขึ้นบันไดชานชาลาจนขาสั่น หวุดหวิดตกรถไฟก็หลายเที่ยว จากเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก วนวงกลมกลับเยอรมนีอีกรอบ ทั้งเหนื่อย สนุก และได้หลายสิ่งหลายอย่างกลับมา การเดินทางกับเด็กไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้นที่เติบโต บางความรู้สึกของผู้ใหญ่ที่ปิดตายไปนานก็ได้กลับมาหายใจงอกงามขึ้นอีกครั้ง

จากหมู่บ้านกังหันลม นั่งวอเตอร์บัส ต่อรถไฟ ต่อรถบัสอีกครั้ง ด้วยความสะดวกในระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อกันทุกส่วน ใช้เวลาไม่นานเราก็มาเดินท่อมๆ อยู่ในบาเรล์-นัสเซา (Baarle-Nassau) และบาเรล์-เฮร์ตโทก์ (Baarle-Hertog) สองเมืองสองประเทศที่หลอมรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันราวกับนิ้วมือซ้ายขวาประสานอยู่ระหว่างกันอย่างไม่น่าเชื่อ เด็กชายถือสมาร์ทโฟนเปิด Google Maps นิ้วมือเล็กๆ ของเขาแหวกจอเลื่อนนิ้วขยาย-ย่อ มองตำแหน่งบนแผนที่เทียบกับสถานที่ที่ยืนแล้วเดินหาเป้าหมาย อันหมายถึงกากบาทแนวชายแดนหมุดต่อไป เด็กชายกระโดดข้ามพรมแดนระหว่างสองประเทศไปมาอย่างสนุกสนาน บนถนนสายเล็กๆ สายหนึ่งเราข้ามพรมแดนกันถึงห้าครั้งในระยะทางราว 200 เมตร

โดยปกติถ้าพูดถึงชายแดนระหว่างประเทศ เราจะนึกถึงเทือกเขาสูง แนวแม่น้ำ หรือรั้วกั้นพร้อมด่านตรวจคนเข้าเมือง ส่วนในยุโรปที่เป็นหนึ่งเดียวด้วยยูโรโซน ก็จะมีป้ายบอกชื่อประเทศ จากนั้นเราก็จะข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศใหม่ แต่สำหรับชายแดนเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียมแถวเมืองบาเรล์-นัสเซาและบาเรล์-เฮร์ตโทก์ ไม่มีอะไรใกล้เคียงกับพรมแดนที่เราเคยรู้จักเลย

เมืองบาเรล์-นัสเซา อยู่ในจังหวัดนอร์ธบราแบนต์ (North Brabant) ทางใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่วนบาเรล์-เฮร์ตโทก์ ขึ้นกับจังหวัดอันต์เวิร์พ (Antwerp) ประเทศเบลเยียม บาเรล์-เฮร์ตโทก์มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดเพียง 7.48 ตารางกิโลเมตร ประชากร 2,000 กว่าคน พื้นที่จำนวน 22 ส่วน กระจายอยู่ในพื้นที่ของบาเรล์-นัสเซาซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 76.21 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 6,000 กว่าคน ส่วนอีกสามส่วนของบาเรล์-เฮร์ตโทก์ อยู่ใกล้แนวชายแดนทางใต้ของเนเธอร์แลนด์ นอกเหนือไปกว่านั้นยังมีส่วนของบาเรล์-นัสเซาแปดส่วนอยู่ในพื้นที่ของบาเรล์-เฮร์ตโทก์อีกที ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ ดูแล้วน่าพิศวง (ตามภาพแผนที่) เส้นพรมแดนตัดผ่านถนน บ้าน อาคาร ร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่เกษตรกรรม หลายอาคารถูกแบ่งเป็นบาเรล์-เฮร์ตโทก์ส่วนหนึ่ง บาเรล์-นัสเซาส่วนหนึ่ง เส้นพรมแดนที่วิ่งพล่านไปทั่วเมืองแทนด้วยแนวหมุดรูปกากบาท และตัวอักษรกำกับคนละฟาก NL หมายถึงเนเธอร์แลนด์ B หมายถึงเบลเยียม

02-edit

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1198 การซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ดินกันระหว่างดยุคแห่งบราแบนต์ (Brabant) และลอร์ดแห่งบรีดา (Breda) ผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์สืบทอดต่อต่างมีเจตจำนงที่จะขึ้นตรงต่อบราแบนต์หรือบรีดาอย่างเหนียวแน่น พวกเขาอยู่ด้วยกันช่วยเหลือกันในฐานะชุมชนเดียวกันมาอย่างปกติ ไม่มีการสู้รบชิงพื้นที่กัน แม้วันเวลาจะส่งผ่านไปถึงยุคสมัยที่ไม่มีลอร์ดแห่งบรีดา ไม่มีดยุคแห่งบราแบนต์ปกครองอีกต่อไปแล้ว พื้นที่ที่เป็นส่วนกระจัดกระจายแบบเดิมน่าจะค่อยๆ เลือนหายไป แต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้น พวกเขายังคงแบ่งข้างสืบทอดเจตนารมย์บรรพบุรุษเหมือนเดิม

ต้นศตวรรษที่ 19 เนเธอร์แลนด์และเบลเยียมประกาศเอกราช สนธิสัญญาแมสตริชท์ (Treaty of Maastricht 1843) ระหว่างสองประเทศมีขึ้นในปี 1843 ว่าด้วยเรื่องกำหนดเส้นพรมแดนอันชัดเจน ด้วยความทับซ้อนยุ่งยากของพื้นที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกำหนดเส้นพรมแดนลงรายละเอียดยิบย่อยขนาดนี้ ทั้งสองประเทศมีความพยายามที่จะแลกเปลี่ยนดินแดนกัน แต่ความพยายามไม่เคยสำเร็จ ไม่มีใครยอมละจากถิ่นเดิมของตัวเอง

การลงพื้นที่ลากเส้นพรมแดนและปักหมุดบอกอาณาเขตเป็นไปอย่างช้าๆ เส้นพรมแดนลากตัดผ่านถนน ผ่านชุมชน ผ่านบ้านผู้คน ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ซูเปอร์มาร์เก็ต และพื้นที่เกษตรกรรม บ้านที่โดนเส้นพรมแดนแบ่งออกเป็นสองส่วน มีข้อกำหนดให้ใช้ประตูหน้าบ้าน ถ้าประตูหันหน้าออกประเทศไหนก็ให้สมาชิกในบ้านขึ้นอยู่กับประเทศนั้น อาคารหลายหลังมีที่อยู่บ้านเลขที่ทั้งในเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ บางบ้านเปลี่ยนประตูทางเข้าไปอยู่อีกฝั่งเพื่อเปลี่ยนประเทศก็มี เนื่องจากมีความแตกต่างค่อนข้างมากในเรื่องภาษีและความผ่อนปรนในข้อกฎหมายบางอย่าง เช่น ภาษียาสูบในเบลเยียมถูกกว่าเนเธอร์แลนด์ ทำให้ร้านขายยาสูบอยู่เฉพาะในเบลเยียม เช่นเดียวกับร้านขายดอกไม้ไฟก็มีเฉพาะในเบลเยียม

ในช่วงเทศกาลใกล้คริสต์มาสและปีใหม่ คนเนเธอร์แลนด์จำนวนมากจะไปซื้อดอกไม้ไฟจากร้านในบาเรล์-เฮร์ตโทก์ ร้านค้าในเนเธอร์แลนด์หยุดวันอาทิตย์ แต่ในเบลเยียมไม่หยุด ร้านอาหารในเนเธอร์แลนด์ปิดตามเวลาแต่ในเบลเยียมผ่อนผันปิดดึกได้ มีเรื่องตลกเล่าต่อกันมาว่าพอถึงเวลาปิดร้านตามกฎของเนเธอร์แลนด์ บรรดาลูกค้าก็ย้ายไปนั่งดื่มต่อในฝั่งเบลเยียม ครั้นสหภาพยุโรปเดินทางมาถึงทั่วภูมิภาคโดยสมบูรณ์ ตลกร้ายเรื่องย้ายที่ดื่มกินก็หมดไป

03-edit

ในปี 1995 เขตแดนแนวสุดท้ายก็เสร็จสิ้น ใช้เวลาถึง 152 ปีหลังจากมีสนธิสัญญาแมสตริชท์ กว่าจะกำหนดเส้นพรมแดนได้ครบทั้งหมด ส่วนที่เล็กที่สุดคือส่วน H22 ของบาเรล์-เฮร์ตโทก์ที่มีขนาดเพียง 0.26 ตารางกิโลเมตร หรือราวไร่ครึ่งเท่านั้น

ทั้งบาเรล์-นัสเซาและบาเรล์-เฮร์ตโทก์ต่างมีที่ทำการอำเภอคนละแห่ง มีระบบการจัดการสาธารณูปโภคของประชาชนของตัวเอง จ่ายกระแสไฟฟ้าจากคนละแหล่ง เคเบิลทีวี สัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตจากคนละผู้ให้บริการ ยกเว้นแต่น้ำและแก๊สในครัวเรือนเท่านั้นที่ใช้บริษัทเดียวกัน บนหน้าประตูทุกบ้านอาคารร้านค้านอกจากแสดงเลขที่บ้านแล้วจะต้องมีธงชาติเล็กๆ กำกับบ้านป้ายบอกระบุสัญชาติของบ้านตัวเอง การส่งจดหมายจากบาเรล์-เฮร์ตโทก์ไปบาเรล์-นัสเซา บุรุษไปรษณีย์จะรวบรวมจดหมายขนส่งทางรถไปบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม จากนั้นส่งทางอากาศไปอัมสเตอร์ดัม ลำเลียงทางรถไปจนกลับถึงบาเรล์-นัสเซา การส่งจดหมายในทางกลับกันก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีเวลาอยู่ที่นั่นอีกสองสามวันฉันอยากจะติดตามการเดินทางของจดหมายของจดหมายฉบับหนึ่งที่ส่งถึงฟากถนนหนึ่งแต่คนละประเทศดูบ้าง น่าสนใจไม่น้อย

หลังจากเดินข้ามประเทศไปหลายรอบก็ถึงเวลาอาหารค่ำ ฉันพักที่ Den Engel เป็นทั้งโรงแรมและร้านอาหารเก่าแก่ สิ่งพิเศษที่ทำให้ผู้คนมาที่นี่ เพราะร้านอาหารที่มีเส้นพรมแดนผ่ากลางอาคาร ทะลุไปถึงกึ่งกลางถนนแล้วหักศอกผ่ากลางถนนไปราว 10 เมตร จากนั้นก็หักขึ้นไปตัดบนทางเดินเท้าและอาคารฝั่งตรงกันข้ามอีกหลัง สาวดัตช์วัยราว 30 ปลายมาให้บริการอย่างยิ้มแย้ม อาจจะเป็นเพราะเด็กชายที่ทำให้เธอคุยถึงลูกชายของเธอวัยไล่เลี่ยกับเด็กชาย เธอออกตัวว่าภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง แต่ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคสำหรับการสื่อสาร

“ฉันได้ยินมาว่าเมื่อก่อนร้านอาหารฝั่งดัตช์จะปิดเร็วกว่า พอถึงช่วงดึกลูกค้าต้องย้ายไปนั่งฝั่งเบลเยียมจริงไหม” ฉันถาม เธอหัวเราะ

“ฉันก็ได้ยินมาแบบนั้นเหมือนกัน แต่ฉันไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นอีกแล้วนะ ความเป็นยูโรทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น”

“แต่อะไรแบบนั้นก็น่ารักดีนะ มีเสน่ห์ดี”

“ใช่ อะไรที่มันง่ายก็ขาดเสน่ห์เป็นธรรมดา” เธอยิ้มก่อนจะหมุนตัวกลับไปทำงาน

IMG_2921-edit

“เพราะสมัยนี้เค้าไม่ต่อสู้กันแล้วใช่ไหมแม่”

เด็กชายเอ่ยถามเรื่องแนวกากบาทขาวที่เขาเพิ่งกระโดดข้ามไปข้ามมา

“ใช่ครับ” ฉันตอบ

“แต่ก็ยังมีคนร้ายอยู่นะแม่ คนไม่ดี คนที่ชอบทำร้ายคนอื่นน่ะ แม่ต้องระวังด้วย” เด็กชายใช้คำว่า criminal อย่างมั่นใจ ทำให้ฉันต้องตอบเขาด้วยความมั่นใจเช่นกัน
“ครับ แม่ระวังอยู่ เราทุกคนต้องระวังกัน โอเคไหม”

“โอเค”

ระวังไม่ได้หมายถึงระแวง ถ้าเราระแวงทุกอย่างมากเกินไปเราจะปิดประตูตัวเอง ประโยคนี้ฉันไม่ได้พูดกับลูกหรอก รอให้เขาเข้าใจเอง

 

Author

จันทร์เคียว
เป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ 10 กว่าปี ในวัย 30 ต้นๆ ลาออกจากงานหวังไปผจญภัยหาหนทางใหม่ที่ออสเตรเลียแต่กลับได้ล้างจานอยู่เมลเบิร์นสามเดือน แบกเป้ไปวิจัยฝุ่นในอินเดียเกือบปี ยังชีพโดยเขียนเรื่องเดินทางเสนอนิตยสาร ผลคือได้งานผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารท่องเที่ยว ปัจจุบันเป็นแม่บ้านอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแม่ของเด็กชายหนึ่งคนที่ยังอยากเดินทางไปสถานที่ที่ยังไม่เคยเหยียบย่าง และยังอยากเขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนบนโลกใบเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า