IFFR และนักล่าศิลปะ

เรื่อง : ฝนพรำ

กรุ๊งกริ๊ง กรุ๊งกริ๊ง…เสียงเตือนจากรถ 2 ล้อถีบแว่วผ่านมาให้รู้ว่าเราควรหลีกทาง

ในยามสายของเช้าวันเสาร์ เราต่างมาถึงที่หมายด้วยความสวัสดี แสงตะวันอุ่นกล่าวทักทายในอากาศหนาวยะเยือก เสียงของคนข้างๆ กระซิบบอกว่า “อุณหภูมิขนาดเจ็บใบหูกำลังดี”

จากสถานีรถไฟ พวกเรามุ่งหน้าไปยัง De Doelen* โดยเท้าเพียง 3 นาที เพื่อลงทะเบียนในการใช้สิทธิพิเศษต่างๆ ของการเป็นแขกในงาน IFFR (International Film Festival Rotterdam) ทว่า อันที่จริง เป้าหมายของการเดินทางในครั้งนี้ มี 2 จุดประสงค์ด้วยกันคือ การมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาล IFFR และการท่องเที่ยว (ซึ่งนับเป็นจุดประสงค์หลัก)

เรานั่งอยู่ใน De Doelen อย่างอบอุ่นท่ามกลางคนแปลก(ใบ)หน้า ระหว่างนั่งมองดีเจที่กำลังง่วนกับแผ่นเสียงตรงหน้า เสียงเพลงในภาษาที่ไม่คุ้นเคยแว่วมาแผ่วเบาช่วยลดกลิ่นฉุนความแปลกถิ่นได้ไม่น้อย

International Film Festival Rotterdam เป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 จากกองทุนศิลปะภาพยนตร์เมืองรอตเตอร์ดัม โดยแรกเริ่มเดิมทีเพื่อจัดจำหน่ายรวมทั้งเผยแพร่ศิลปะภาพยนตร์ตามโรงหนังเฮาส์เล็กๆ ในเนเธอแลนด์ ทั้งนี้จุดประสงค์หลักคือเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่ภาพยนตร์อิสระ รวมไปถึงงานประเภทวิดีโอทดลองและมีเดียอาร์ต โดยมีกองทุน Hubert Bals Fund เป็นผู้สนับสนุนหลัก

ในปีนี้เองที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างบ้านเรา ก็มีการผลิตภาพยนตร์อิสระส่งไปเข้าร่วมประกวดรางวัล tiger awards** กับเขาด้วย

เทศกาลภาพยนตร์อิสระดีๆ แบบนี้ ถูกจัดขึ้นในช่วงต้นปี ซึ่งเป็นเวลาที่ซีกโลกฝั่งนู้นมีสภาพภูมิอากาศที่เย็นจัด จึงเหมาะสมอย่างมากที่จะมีเทศกาลแบบที่จัดกิจกรรมในร่ม เรียกร้องเชิญชวนผู้คนที่ซุกตัวขลุกอยู่กับฮีทเตอร์ในห้องให้ออกมารวมตัวกัน จิบเบียร์ไป ชมภาพยนตร์ไป ซึ่งในปีนี้ International Film Festival Rotterdam 2011 เข้าสู่ปีที่ 40 พอดี ทางเทศกาลจึงได้จัดให้มีโปรแกรมพิเศษเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 40 ปี อย่างโปรแกรม XL ซึ่งผู้ถือบัตร XL นี้ สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี ในพื้นที่จัดแสดงงานของโปรแกรม XL ฟรี! เราจึงไม่รอช้าที่จะใช้สิทธิ์นี้ในทันใด

นับเป็นโชคดี ที่บรรดาพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี ที่มีอยู่ในคู่มือท่องเที่ยว ตั้งอยู่ล้อมรอบบริเวณโรงแรมที่เราพักอุ่นอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เริ่มตั้งแต่ NAI (The Netherlands Architecture Institute) สถาบันสถาปัตยกรรมแห่งเนเธอร์แลนด์ เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และแหล่งรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมแบบครบวงจร ซึ่งน่าเสียดายมากที่เราไม่มีโอกาสได้เข้าไปดูงานในตึกล้ำๆ แบบนี้ เนื่องจากกำลังปิดปรับปรุงอยู่ ที่อยู่ถัดกันมาคือ Museum Boijmans Van Beuningen เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่มีทั้งนิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียน ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เราจะได้ชมภาพเขียน ภาพปั้น ภาพพิมพ์ ที่จัดเป็นงานมาสเตอร์พีซของศิลปินในยุโรปตั้งแต่สมัยยุคกลางตอนต้นไปจนถึงงานศิลปะแบบ Comtemporary Art ในปัจจุบัน ซึ่งการได้ดูได้ชมผลงานของแรมแบรนต์ (Rembrandt Van Rijn) โมเนต์ (Claude Monet) หรือ ดาลี (Salvador Dali) ถือเป็นบุญตาบุญใจของเราอย่างยิ่ง

หากเดินต่อมาอีกประมาณ 3 นาที ก็จะพบกับ Kunsthal ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนของศิลปะในหลายแขนงด้วยกัน ในวันนี้พวกเรามีโอกาสได้ดูผลงานของ Edvard Munch ศิลปินชาวนอร์เวย์คนสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะ (ต้นศตวรรษ 20) ที่กำลังเวียนมาจัดแสดง และที่อยู่ตรงกันข้ามในระยะ 20 เมตรจาก Kunsthal คือ Natural and Historic Museum เป็นสถานที่สุดท้ายในละแวกดงมิวเซียมใจกลางเมืองที่เราได้แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชมแบบไม่เสียค่าธรรมเนียม โดยที่นี่จัดแสดงสายพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่สำคัญคือเราจะได้ชื่นชมนิทรรศการไปพร้อมๆ กับเด็กนักเรียนตัวน้อยที่ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวชวนครึกครื้นท่ามกลางกระดูกสัตว์ ซากสัตว์ที่เรียงรายจากเศษดินเศษหอยไปจนถึงซากวาฬขนาดคับตึก

เมื่อย่างกรายออกนอกบริเวณตัวตึก ความหนาวเหน็บถาโถมมาสู่ผิวกร้านๆ ของเราอีกครั้ง แค่เพียงเสียงลมหนาวเพียงแผ่วแผ่ว กระทบกับอวัยวะข้างใบหน้า ก็ทำให้ร่างกายสั่นเทิ้ม ไม่รีรอที่จะดึงหมวกมาปกปิดกระดูกอ่อนบางๆ จากความโหดร้ายของอากาศ พวกเราไม่รอช้าพากันเคลื่อนตัวกลับโรงแรมเพื่อพักเหนื่อยพักเมื่อย ก่อนเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติภารกิจที่โรงภาพยนตร์ในเวลาต่อมา ในยามหนาวเช่นนี้เครื่องดื่มอุ่นๆ ช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น ตามด้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปร้อนๆ ก็ทำให้ร่างกายกลับมากระปรี้กระเปร่าอีกครั้ง

วันถัดมา ก่อนที่พวกเราจะมุ่งหน้าเข้าเมืองหลวงอย่างอัมสเตอร์ดัม เพื่อเปิดหูเปิดตากับย่านเมืองเก่า เสียงคนข้างๆ บอกว่าขอพักตาจากศิลปะ ไปเที่ยวแบบประวัติศาสตร์บ้าง เราจึงไม่รอเวลาให้เคลื่อนไปแบบเปล่าๆ รีบออกเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังที่หมายในทันที

วันนี้ลมกรรโชกสาหัสกว่าเมื่อวาน พร้อมๆ กับความเย็นที่เกินความพึงพอใจ จักรยานมากมายนอนเกลื่อนตามทางเท้าสะเปะสะปะ ดูเหมือนมีใครมาทำลายข้าวของที่นี่ พวกเรารีบเดินฝ่าลมที่พัดมาไม่เป็นทางจนถึงที่หมาย ซึ่งใช้เวลาเดินเท้าจากโรงแรมเพียง 10 นาที ก็พบกับเรือ! เรือมากมายใหญ่น้อยลอยละล่องอยู่กลางใจเมือง ใช่ เรามาถึงพิพิธภัณฑ์การเดินเรือสมใจคนข้างๆ แล้ว

Maritiem Museum เป็นพิพิธภัณฑ์การเดินเรือที่เก่าแก่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ แต่ที่เราเห็นจากภายนอกแล้ว มันช่างดูล้ำยุคล้ำสมัยหาความเก่าไม่เจอ พิพิธภัณฑ์การเดินเรือแห่งนี้จัดแสดงทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรือและการเดินสมุทรของเนเธอร์แลนด์ ทั้งในส่วนของประวัติศาสตร์การเดินเรือ โครงสร้างของเรือตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงสมัยปัจจุบัน ความเป็นมาเป็นไปของเรือ ข้าวของเครื่องใช้ที่ได้มาจากการเดินสมุทร ไปถึงวิวัฒนาการของแฟชั่นคนเรือก็มีให้ชม ซึ่งรูปแบบการจัดนิทรรศการส่วนใหญ่จะเน้นให้ความรู้ในแบบ Interactive คือผู้ดูงานสามารถตอบโต้กับข้าวของที่แสดงอยู่จับต้องสัมผัสได้ ซึ่งก็เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ และพวกเราอย่างมาก นับเป็นข้อดีที่ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ไม่เป็นเรื่องที่น่าเบื่ออีกต่อไป

ในส่วนที่โปรดมากที่สุดคือส่วนของเรือรบที่ถูกจัดแสดงอยู่ภายนอกอาคาร ซึ่งเราสามารถเดินเข้าไปในเรือได้จริงๆ ภายในเรือมีการจัดจำลองสภาพวิถีชีวิตของการอาศัยอยู่บนเรือรบในสมัยก่อน มีทั้งชีวิตของเจ้านาย ห้องอาหารสุดหรูบนเรือ หรือบ่าวไพร่ผู้ใช้แรงงาน ชีวิตของทหารเรือไปจนถึงห้องคุกเย็นที่ใช้กักกันนักโทษ ซึ่งพวกเราใช้เวลาอยู่ในเรือนี้นานพอควรเพราะข้าวของเครื่องใช้ที่จัดให้เข้าไปเล่น จับ สัมผัสนั้น สร้างความเพลิดเพลินให้คนอย่างเราๆ และพ่อแม่พี่น้องที่มาดูชมงานเป็นอย่างมาก

ตามคำนัดหมายของผู้ควบคุมการผลิต ณ โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในบริเวณ De Doelen เราทั้งหมด มีภารกิจที่นี่

เสียงปรบมือดังขึ้นหลังจากขึ้นเครดิตของภาพยนตร์เคล้ากับเสียงเพลง ‘ที่รัก’ ทำให้หลังของข้าพเจ้าติดพนักพิงอย่างตื่นเกร็งกับสถานที่ ผู้คนพากันหลั่งไหลออกจากโรงภาพยนตร์ บางส่วนยังคงนั่งอยู่กับที่เพื่อรอการ Q&A (ถาม-ตอบ กับผู้กำกับหนังหลังการฉายภาพยนตร์) ซึ่งคนที่นั่งรอการ Q&A มีเหลือให้เห็นเป็นกระหย่อม เบาความขวยเขินไปได้ไม่น้อย

เราสังเกตเห็นว่าผู้ชมมากกว่ากึ่งหนึ่งนั้นเป็นผู้สูงอายุ ทำให้อดคิดถึงโรงภาพยนตร์ในบ้านเราไม่ได้ ที่มีแต่คนหนุ่มสาวหรือวัยรุ่นเท่านั้นที่จูงมือกันเดินเข้าโรงภาพยนตร์ถือกระป๋องป๊อปคอร์นไปกันเป็นคู่ๆ

ภารกิจการ Q&Aนี้ถูกดำเนินไปซ้ำแล้วซ้ำอีกตามรอบหนังของเราที่ฉาย (4 รอบ) พี่ชายคนขายตั๋วบอกว่าหนังของพวกเราตั๋วหมดไวมาก ซึ่งในการฉายรอบสุดท้าย (หลังจากที่หนังของเราได้รับรางวัล Tiger Awards) สังเกตได้ว่าใบปิดโฆษณาหนังของเราถูกดึงไปอยู่หลายใบด้วยกัน ช่างน่ายินดีแทนผู้กำกับเสียจริง

กระทั่งเสียงนกยังแว่วร้องร่วมยินดีกับเรา ท่ามกลางน้ำในคลองที่เป็นน้ำแข็ง เราหอบหิ้วหัวเสือกลับบ้านพร้อมความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ในซอกหลืบของวงการหนังไทย

ไม่มีอาหารจานหรู ไม่มีแชมเปญให้ฉลอง พวกเราตกลงปลงใจกันว่าจะจบมื้อสุดท้ายที่ร้านอาหารจีนแห่งหนึ่งที่มากินเป็นประจำ ซุปกระดูกหมูร้อนๆ ในบะหมี่ชามโต แกล้มกับเบียร์ชิงเต่า(Tsingtao) รสละมุนทำให้ค่ำคืนสุดท้ายของเราจบลงอย่างสมบูรณ์แบบ

ในความหนาวเกินจุดเยือกแข็ง ใบหน้าเปื้อนยิ้มของพวกเราทุกคนสร้างความอบอุ่น สดชื่นกว่าการดื่มช็อกโกแลตร้อนๆ

ขากลับ พวกเราไม่ลืมแวะซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อเหมา Stroopwaffle*** ขนมประจำถิ่นกลับมาเป็นของฝากตัวเองและคนที่บ้าน ขนมหวานๆ หอมๆ นี้ชวนให้หวนระลึกถึงวันเวลาแห่งความสำราญในประเทศหนาวๆ นี้ไม่น้อย

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า