นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
เมื่อครั้งทำงานอยู่ในชนบท ผมเคยเห็นแม่หลังคลอดหลายคนเอาลูกน้อยนอนในอู่หรือไม่ก็ใช้กระด้งใบใหญ่ที่มีผ้าปูรองไว้เป็นที่นอนของลูก ถ้าเป็นทารกเพศชายในอู่หรือกระด้งก็มักมีสมุดกับหนังสือหรือปากกาดินสอ ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะมีเครื่องเย็บปักถักร้อยวางไว้ที่ข้างที่นอนเด็กด้วย
ที่ทำกันอย่างนั้น ชาวบ้านบอกว่า จะทำให้เด็กชายโตขึ้นได้ร่ำได้เรียนหนังสือและเป็นเจ้าคนนายคน ส่วนเด็กผู้หญิงจะได้เป็นแม่บ้านแม่เรือน
สำหรับพ่อแม่สมัยใหม่ทุกวันนี้คงไม่ค่อยมีใครสนใจเรื่องการเป็นเจ้าคนนายคนหรือเป็นแม่บ้านแม่เรือนกันสักเท่าไรนัก ผมคิดว่าถ้าหากพ่อแม่สมัยใหม่โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองจะใฝ่ฝันอยากให้ลูกเป็นอะไรสักอย่าง ก็คงอยากให้ลูกเป็นเด็กอัจฉริยะเสียมากกว่าอย่างอื่น
ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะสังเกตว่าระยะหลังนี้ เห็นมีโฆษณานมหรืออาหารเสริมต่างๆ รวมทั้งมีหนังสือยอดนิยมประเภท How to ที่ช่วยสร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะ รวมทั้งมีผู้เสนอตัวว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กอัจฉริยะและเด็กปัญญาเลิศอยู่มากกว่าเมื่อก่อน
ที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือโฆษณานมผงสำหรับทารกแทนที่จะเน้นภาพความรักและความอบอุ่นที่แม่มีให้ลูกเหมือนเมื่อก่อน งานโฆษณาส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเน้นไปที่ส่วนผสมที่สร้างความฉลาดเป็นสำคัญ ทั้งโอเมก้าทรี เลซิติน ดีเอชเอและเออาร์เอ เรียกว่าถ้าลูกใครไม่ได้กินสารอาหารเสริมเหล่านี้ก็อาจเป็นพวกไอคิวต่ำไปเลยทีเดียว (แต่โฆษณามักไม่บอกว่าเด็กที่ดื่มนมเสริมด้วยดีเอชเอและเออาร์เอจะมีไอคิวต่ำกว่าเด็กที่ดื่มนมแม่อย่างเดียวอย่างมีนัยยะสำคัญ)
หนังโฆษณาพวกนี้พยายามจะทำให้เห็นว่าเด็กที่ใช้สินค้าพวกนี้แล้วจะฉลาดสุดๆ บางคนดื่มนมแล้วฉลาดคิดเลขไว หรือไม่ก็สะกดคำศัพท์คล่อง ผสมสีเป็น เล่นดนตรีได้ เด็กบางคนคิดได้แก่แดดเกินวัยและยังรู้จักใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกจูบแก้มเด็กผู้หญิงด้วยการเอารูปรอยจูบไปแอบติดไว้ที่เสื้อด้านหลัง แล้วก็ไปจูบแก้มเขาเหมือนกับอ้างว่ามีป้ายให้จูบฟรี (อันหลังนี้อาจไม่ได้สะท้อนสติปัญญาของเด็กเท่ากับระดับสติปัญญาของทีมผู้สร้างและผู้ว่าจ้างให้ทำโฆษณา)
เด็กบางคนดื่มเครื่องดื่มอาหารเสริมแล้วฉลาดกว่าคนอื่น ลูกบอลที่เพื่อนๆ เล่นเกิดตกลงไปในสระน้ำ เพื่อนๆ ที่โง่กว่าเพราะไม่ได้ดื่มอาหารเสริมยี่ห้อนั้นพากันเอาไม้ไปเขี่ยเอาบอลที่ลอยไปถึงกลางสระ เด็กที่ฉลาดกว่าก็เลยเอาขวดอาหารเสริมที่เพิ่งดื่มหมด ขว้างไปในสระจนแรงกระเพื่อมของน้ำซัดลูกบอลจนพุ่งกลับเข้ามาที่ขอบสระ
ผมไม่แน่ใจว่าพ่อแม่ที่ดูโฆษณาเหล่านี้แล้วจะเชื่อตามหรือเปล่า แต่ผมแน่ใจว่าถ้าพ่อแม่สมัยใหม่เชื่อโฆษณากันง่ายๆ ก็อาจแสดงว่าพ่อแม่ที่อยากให้ลูกมีปัญญาเลิศนั้น อาจเป็นพ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีปัญญาก็ได้
จะว่าไปแล้ว พ่อแม่ทุกคนมีแนวโน้มจะเห็นลูกตัวเองเป็นอัจฉริยะอยู่แล้ว วันๆ มองหาแต่ความเก่งของลูก ยิ่งมองหาก็ยิ่งเห็น พอเห็นเข้าก็ยิ่งใส่ใจ ยิ่งกระตุ้น ยิ่งป้อนข้อมูลให้ พอเจอเพื่อนฝูงหรือเจอญาติพี่น้องก็พากันอวดลูกตัวเองว่าเก่ง ว่าฉลาด น่าจะเป็นอัจฉริยะ
ลูกบางคนจำรถยนต์ได้ทุกยี่ห้อ แค่เห็นบังโคลนก็รู้รุ่น รู้ยี่ห้อ รู้ พ.ศ. ที่ออก บางคนจำชื่อทางวิทยาศาสตร์ของไดโนเสาร์ได้ทุกชื่อ พร้อมประเภทกินพืชหรือกินสัตว์ เกิดในยุคไหนๆ จำได้หมด บางคนเล่นดนตรีได้โดยไม่ต้องสอนหรือร้องเพลงได้หมด เรียกว่าพอเสียงดนตรีดังก็รู้ว่าเพลงของบี้ ของเบิร์ด หรือของบุ๋มบิ๋ม
ผมรู้สึกว่าปรากฏการณ์นี้จะเป็นมากโดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลาง อาจเป็นเพราะคนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอะไรไว้โอ้อวด รวยก็ไม่ได้รวยมาก ชาติตระกูลก็ไม่ได้สูงส่งพอที่จะไว้อวดอ้าง ทั้งไม่มีประวัติศาสตร์และประเพณีวัฒนธรรมที่เทิดทูนตัวเองพอจะให้ภูมิใจได้ ที่สำคัญ ที่เงยหน้าอ้าปากได้ทุกวันนี้ก็อาศัยความสามารถสร้างเนื้อสร้างตัว ฟันฝ่าอุปสรรค แข่งขันกันมาตั้งแต่เข้าสู่ระบบการศึกษา สอบเข้ามหาวิทยาลัยจนถึงหน้าที่อาชีพการงาน
ประสบการณ์ที่สอนให้รู้ว่าชีวิตคือการต่อสู้แข่งขัน ทำให้พ่อแม่คนชั้นกลางทุ่มเทให้กับการทำให้ลูกของตัวเองได้เปรียบคนอื่นให้มากที่สุด
ตั้งแต่ตั้งท้อง (แม่อย่าลืมดื่มโอเมก้าทรีด้วย) ต้องฟังเพลงโมสาร์ตตั้งแต่ยังท้องด้วย จองโรงเรียนอนุบาลมีชื่อไว้ตั้งแต่ยังไม่คลอด เปิดวิดีโอดนตรี ภาษาและเลขให้ดูตั้งแต่เป็นทารก พอโตขึ้นต้องเข้าเรียนโรงเรียนดัง (ยิ่งเป็น อีพี หรืออิงค์ลิชโปรแกรมยิ่งดี หรือไม่ก็ต้องไปโรงเรียนอินเตอร์เลย) เรียนในโรงเรียนก็ยังไม่พอ ต้องกวดวิชาอีก ดนตรีก็ต้องบังคับให้เรียน วาดรูปก็เอา ภาษาอังกฤษขาดไม่ได้ ภาษาอื่นๆ อีกสัก 2-3 ภาษาก็ยิ่งดี นาฏศิลป์ บัลเล่ต์ เทควันโด แถมด้วยจินตคณิต จินตภาษา ครูแอ๋ว ครูอุ๊และคุมอง
พอมีคนบอกว่าอัจฉริยะสร้างได้ ก็ต้องบอกว่า โดนใจใช่เลย
ถ้าจำกันได้ หลายปีก่อนเคยมีภาพยนต์ที่โจดี้ ฟอสเตอร์กำกับการแสดงเป็นเรื่องแรก ชื่อ Little Man Tate โดยตัวเธอเองแสดงเป็นแม่ที่ต้องทำงานและต้องเลี้ยง “เทต” ลูกชายที่ดูเหมือนว่าจะเป็นอัจฉริยะของเธอ ด้วยวัยประมาณ 5 ขวบเทตสามารถคิดโจทย์คณิตศาสตร์ชั้นสูงและยังเล่นดนตรีจนออกแสดงคอนเสิร์ทได้ นักจิตวิทยาที่ “ค้นพบ” เทตคาดคั้นคะยั้นคะยอจนแม่ของเทตพาเขาไปทดสอบไอคิวและให้เข้าเรียนในหลักสูตรสร้างอัจฉริยะ
ดูเหมือนนักจิตวิทยานั่นอยากให้แกเป็นอัจฉริยะปัญญาเลิศมากยิ่งกว่าที่แม่และตัวเด็กชายเทตเองจะต้องการเสียอีก
เพราะที่เทตต้องการคือความรัก ความอบอุ่นของแม่ ไม่ใช่เอาแกไปเข้าซองเหมือนม้าแข่งเพื่อพิสูจน์ความเป็นอัจฉริยะที่ตัวแกเองก็ไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไร แม่ของเทตเองก็ไม่แน่ใจว่าควรจะทำอย่างไร แต่เมื่อลูกไม่มีความสุข และชีวิตวัยเด็กที่แสนสั้นของลูกก็กำลังหมดไปอย่างไม่มีวันได้มาคืน จึงตัดสินใจพาลูกออกจากสถาบันสร้างเด็กอัจฉริยะ กลับไปเป็นเด็กธรรมดาที่มีเติบโตและได้รับการดูแลจากเธออย่างที่ลูกต้องการ
เรื่องราวในภาพยนตร์คงเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น ซึ่งจะสะท้อนความจริงในสังคมฝรั่งมากหรือน้อยแค่ไหนผมก็ไม่แน่ใจ แต่ผมคิดเล่นๆ ว่าถ้าเป็นเรื่องที่เกิดกับพ่อแม่สมัยใหม่ในเมืองไทยสมัยนี้ชะตากรรมของเด็กอย่างเทตจะเป็นอย่างไร เพราะดูเหมือนพ่อแม่ในสังคมไทยสมัยใหม่จะอยากให้ลูกเป็นอัจฉริยะมากกว่าอย่างอื่น
แต่เคยสงสัยไหมครับว่า พวกเด็กอัจฉริยะทั้งหลายโตขึ้นหายไปไหนหมด การเป็นเด็กอัจฉริยะไม่ได้มีหลักประกันว่าจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อัจฉริยะหรือประสบความสำเร็จในชีวิตเสมอไป
JASCHA HEIFETZ นักไวโอลินอัจฉริยะชาวรัสเซีย หนึ่งในอัจฉริยะไม่กี่คนในโลกที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน (นอกจากคนอื่นๆ ที่ได้สร้างระเบิดปรมาณู ระเบิดนาปาล์ม แก้โจทย์คณิตศาสตร์ หรือชนะเลิศการเล่นหมากรุก) เปรียบเปรยการเป็นเด็กอัจฉริยะปัญญาเลิศว่าเป็นโรคร้ายแรงที่ทำให้เด็กๆ เสียชีวิต และเขาเป็นหนึ่งในจำนวนน้อยที่รอดชีวิตจากโรคที่ว่าจนโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ทำอะไรได้สำเร็จบ้าง (ในกรณีของเขาคือเล่นไวโอลินและกวาดรางวัลแกรมมี่ไปหลายรางวัล)
ที่แกเปรียบเทียบกับการเป็นโรคก็เพราะการเป็นเด็กอัจฉริยะนั้นต้องถูกคาดหวังและถูกเคี่ยวเข็ญอย่างหนักทั้งจากพ่อแม่ที่อยากให้ลูกตัวเองเป็นอัจฉริยะ จากสังคมที่คาดหวังและจากผู้เชี่ยวชาญที่มักต้องการมีเด็กอัจฉริยะเป็นผลงานที่ตัวเองสร้างขึ้น เพื่อยืนยันความเป็นไปได้ของวิธีการสร้างเด็กอัจฉริยะของตัวเอง
ราวปี คศ. 2001 มีเด็กอัจฉริยะชาวอินเดียคนหนึ่งที่ได้รับการเสนอชื่อให้ร่วมกับทีมนักวิทยาศาสตร์อินเดีย 17 คนไปพบปะและสนทนากับผู้ได้รับรางวัลโนเบล เด็กคนนี้ได้รับปริญญาโทเมื่ออายุเพียง 11 ปี มีความรู้เรื่องฟิสิกส์ถึงขนาดคิดค้นและปรับแก้สมการของไอน์สไตน์ ค้นพบอนุภาคใหม่ และยังได้สร้างทฤษฎี Electro-gravity unification ที่บูรณาการสนามพลังแม่เหล็กไฟฟ้ากับแรงโน้มถ่วง
ต่อมามีการตั้งข้อสังเกตว่าเด็กอัจฉริยะนี้น่าจะเป็นของปลอม เพราะมีเรื่องผิดสังเกตหลายประการ เช่น การไม่สามารถนำหนังสือที่อ้างว่าเป็นผลงานมาแสดง ซึ่งในที่สุด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินเดียก็ออกมายอมรับถึงความผิดพลาด
ความจริงถูกเปิดเผยว่าพ่อเด็กทำหน้าที่เป็น “ป๋าดัน” สร้างกระแสในสื่อและอวดอ้างความเป็นอัจฉริยะจนกระทรวงวิทย์ฯ เองก็หลงชื่อ
ถึงตอนนี้ พ่อของเด็กก็ยังยืนยันว่าลูกแกเป็นอัจฉริยะ (ถึงแม้ว่าลูกของแกตอนนี้ก็ชักไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นอัจฉริยะหรือเปล่า) ที่สำคัญ พ่อของเด็กยังบอกอีกว่า ตัวเองมีสูตรที่จะสร้างอัจฉริยะได้เหมือนอย่างที่แกสร้างลูกแกมาแล้ว สูตรที่ว่านี้ แกพร้อมที่จะขายให้แก่ผู้ที่สนใจ
ถึงตอนนี้ พ่อแม่ที่ต้องการสร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะอาจต้องระวังสักนิดว่า ในโฆษณานม อาหารเสริม หรือสูตรและหนังสือ how to เพื่อสร้างลูกคุณให้เป็นอัจฉริยะนั้น
ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่ออกมาพูดนั้นต้องการ ‘สร้างอัจฉริยะ’ หรือต้องการ ‘สร้างรายได้’ กันแน่
…………………………………………………………………..
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์คิดสลับขั้ว สิงหาคม 2551)