ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการปล่อยโฆษณารณรงค์ให้คนดื่มนม แต่อัตราการบริโภคนมในสหรัฐก็มีแต่จะลดลงอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี เนื่องจากการเข้ามาแข่งขันของผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม และเครื่องดื่มเติมวิตามินต่างๆ ในตลาด และนมก็เป็นสิ่งที่หาได้ยากในร้านค้าเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มอื่นๆ อีกทั้งจำนวนประชากรชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และชาวละตินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้นิยมบริโภคนมมาแต่ไหนแต่ไร
ประชากรกลุ่มอื่นๆ ก็เริ่มปฏิเสธการดื่มนม เช่น วัยรุ่น นักกีฬา ผู้ลดน้ำหนัก ผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากพวกเขาพยายามหลีกเลี่ยงคอเลสเตอรอล ไขมัน และสารก่อภูมิแพ้ ชาวเอเชียบางกลุ่มก็ไม่นิยมดื่มนม เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่สามารถย่อยแลคโทส ผู้เป็นภูมิแพ้ ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงกลุ่มผู้เคลื่อนไหวเพื่อชีวิตสัตว์และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้สาเหตุที่คนในยุคเบบี้บูมเริ่มเลิกดื่มนม มาจากคำแนะนำของดร.เบนจามิน สป๊อก ที่แนะนำว่าเด็กอายุเกิน 2 ปีขึ้นไปควรงดดื่มนม เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคหัวใจ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และมะเร็งที่เกี่ยวกับการรับประทานอาหารอื่น ๆ
แต่จากการตรวจสอบของคณะกรรมการการค้าแห่งชาติ แผนกคุ้มครองผู้บริโภค ได้ชี้ให้เห็นว่านมมีส่วนเชื่อมโยงกับการลดน้ำหนัก อีกทั้งนมยังประกอบไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ในทางตรงข้าม เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลนั้นเป็นแหล่งพลังงานหลักๆ ที่ทำให้วัยรุ่นประสบภาวะอ้วน โดยไม่ได้รับสารอาหารมีประโยชน์ใดๆ
อย่างไรก็ตาม นมแต่งรสเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำเงินได้มากที่สุดสำหรับบริษัทผลิตนม เพราะรสชาติของมันเป็นที่นิยมของเด็กๆ มากกว่านมจืดทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่านำไปสู่โรคอ้วนในเด็ก จนบางโรงเรียนต้องสั่งงดการดื่มนมประเภทนี้ ผู้ผลิตจึงใช้สารเพิ่มความหวานอย่างอื่นๆ แทนน้ำตาล เช่น แอสปาแตม ซึ่งอาจก่อผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ ได้เช่นกัน
************************************************
(ที่มา : alternet.org)