เกิดอะไรขึ้นกับศาลสูงสหรัฐ ในวันที่พลิกกลับหลักคำพิพากษา

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะได้ยินว่าศาลสูงของสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States: SCOTUS) มีคำพิพากษาที่สร้างกระแสฮือฮาหลายคดี

ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาคดี New York State Rifle & Pistol Association, Inc. v. Bruen ซึ่งพิพากษาว่ากฎหมายควบคุมอาวุธปืนของรัฐนิวยอร์กที่มีมาตั้งแต่ปี 1911 ขัดต่อบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 2 หรือ Second Amendment เนื่องจากกฎหมายนี้เข้มงวดเกินไปจนเป็นการลิดรอนสิทธิในการครอบครองปืน

หรือ Vega v. Tekoh ซึ่งพิพากษาว่า แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหา ที่เรียกกันว่า Miranda’s right (คำเตือนว่า “คุณมีสิทธิที่จะไม่พูด สิ่งที่คุณพูดอาจถูกใช้ในการพิจารณาคดีกับคุณในชั้นศาล…” ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ในหนังนั่นแหละ) ขณะทำการจับกุม ก็ไม่สามารถฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ในฐานละเมิดสิทธิตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 5 (Fifth Amendment) ซึ่งรับรองสิทธิในการปฏิเสธไม่ให้การอันเป็นโทษต่อตัวเอง (the right against self-incrimination) สวนทางกับสิ่งที่ศาลสูงวางหลักเอาไว้มานาน

และล่าสุด ก็คือคดี Dobbs v. Jackson Women’s Health Organization ซึ่งศาลพิพากษาว่า รัฐธรรมนูญสหรัฐไม่ได้ให้สิทธิในการทำแท้ง เพิกถอนคำพิพากษาในอดีตคือ Roe v. Wade และ Planned Parenthood v. Casey ซึ่งสองคดีนี้อาศัยการตีความบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 14 (Fourteenth Amendment) เพื่อรับประกันสิทธิในการทำแท้งจนถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ทว่าในคดี Dobbs v. Jackson Women’s Health Organization นี้ ศาลสูงพิพากษาว่า “บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 14 ไม่ได้ปกป้องสิทธิในการทำแท้ง” (“…the Fourteenth Amendment does not protect the right to an abortion”) 

เกิดอะไรขึ้นกับศาลสูงสหรัฐ? ทำไมศาลสูงถึงพลิกกลับหลักคำพิพากษาที่ทั้งศาลสูงเองก็เคยรับรองมาแต่อดีต หรือกฎหมายของบางมลรัฐที่มีอายุเกินร้อยปี? 

บทความนี้ ผู้เขียนอยากอธิบายถึงตำแหน่งแห่งหน กลไกที่มา และอุดมการณ์ทางการเมืองของศาลสูงสหรัฐ ซึ่งนำไปสู่คำพิพากษาที่สร้างความฉงนและฮือฮาในเวทีโลก อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะอธิบายถึงประเด็นกฎหมายในแต่ละคดีอย่างละเอียด เพราะมีรายละเอียดทั้งทางกฎหมายและประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก 

ประเด็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจเรื่องนี้ มีดังต่อไปนี้

  1. Judicial Review อำนาจนี้ศาลท่านได้อำนาจแต่ใดมา? รู้จักคดี Marbury v. Madison
  2. ที่มาของผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐ และ The Federalist Society
  3. การตีความรัฐธรรมนูญแบบ Originalism และ Textualism และ Substantive Due Process 

Judicial Review อำนาจนี้ศาลท่านได้อำนาจแต่ใดมา? รู้จักคดี Marbury v. Madison

เรื่องแรกที่ควรพิจารณาก่อน คือ อำนาจที่ศาลสูงสหรัฐกำลังใช้ในการพิพากษา ว่ากฎหมายหรือการใช้อำนาจของรัฐบาลใดขัดรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกกันว่าหลัก Judicial Review นั้น ศาลมีอำนาจมาจากไหน? 

อำนาจนี้ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรบนรัฐธรรมนูญของสหรัฐ แต่เป็นอำนาจที่ศาลสูงประกาศขึ้นเองในคดีชื่อ Marbury v. Madison 

ประเด็นนี้ต้องย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์การก่อตั้งประเทศสหรัฐในช่วงปี ค.ศ. 1800 คดีนี้เกิดขึ้นในบริบทของการแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหาร กล่าวคือ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 1800 เมื่อ จอห์น แอดัมส์ (John Adams) ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของสหรัฐพ่ายแพ้แก่ ทอมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) แต่ในโค้งสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง แอดัมส์พยายามจะทิ้งทวนด้วยการตั้งผู้พิพากษาซึ่งเป็นพวกพ้องตนเองให้มากที่สุดก่อนจะหมดอำนาจ โดยร่วมมือกับสภาคองเกรสออกกฎหมายที่ชื่อ Judiciary Act of 1801 ซึ่งแก้ไขกฎหมายเดิมในปี 1789 เพื่อจัดตั้งศาลและผู้พิพากษาขึ้นใหม่ เรียกกันว่า ‘ผู้พิพากษาเที่ยงคืน’ เพราะว่ากันว่าแอดัมส์เซ็นเอกสารแต่งตั้งจนถึงคืนสุดท้ายที่มีอำนาจ (midnight judges – บริบทคุ้นๆ ไหม) แต่เนื่องจากเวลากระชั้นมากจึงไม่สามารถทำหนังสือแต่งตั้งทันเวลาได้ทั้งหมด ซึ่งหนึ่งในคนที่อดได้หนังสือแต่งตั้งก็คือ นายวิลเลียม มาร์บิวรี (William Marbury) นี่เอง 

เมื่อรัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดี ทอมัส เจฟเฟอร์สัน ซึ่งเป็นอริทั้งในทางส่วนตัวและทางการเมืองของแอดัมส์ขึ้นมามีอำนาจ จึงสั่งให้ เจมส์ แมดิสัน (James Madison) ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ทำการระงับหนังสือแต่งตั้งของมาร์บิวรีไว้ เมื่อถูกดองแบบนี้ มาร์บิวรีเลยไปฟ้องศาลสูงซึ่งมีหัวหน้าองค์คณะเป็นอดีตรัฐมนตรีของ จอห์น แอดัมส์ ก็คือเป็นคดีที่พวกเดียวกันพิพากษากันเองนี่แหละ ทว่า แม้ศาลสูงพิพากษาว่ามาร์บิวรีมีสิทธิในการได้รับการแต่งตั้ง แต่กลับไม่ออกคำสั่งบังคับรัฐบาลให้แต่งตั้งนายมาร์บิวรี โดยให้เหตุผลว่ากฎหมาย Judiciary Act ซึ่งสร้างอำนาจในการแต่งตั้งนายมาร์บิวรีนี้ขัดกับมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐในส่วนที่ว่าด้วยอำนาจของศาลสูง กล่าวคือ Judiciary Act ขยายอำนาจของศาลสูงเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ และสภาคองเกรสผู้ผ่านกฎหมายนี้ ก็ไม่มีอำนาจในการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการนิติบัญญัติปกติ เพราะมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่า Supremacy Clause กำหนดว่ารัฐธรรมนูญมีลำดับศักดิ์สูงสุดเหนือกฎหมายอื่นๆ ทั้งปวง ศาลจึงไม่สามารถมีคำสั่งเยียวยาความเสียหายของนายมาร์บิวรีให้ได้เป็นผู้พิพากษาดั่งหวังได้

ที่คำพิพากษาออกมาเช่นนี้ มีการวิเคราะห์ไว้ว่า[1] ณ ขณะนั้น ศาลสูงเป็นสถาบันที่อ่อนแออยู่มาก เมื่อเทียบกับประธานาธิบดีและสภา ถ้าศาลออกคำสั่งบังคับรัฐบาล มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะเพิกเฉยและจะยิ่งทำให้สถาบันศาลอ่อนแอลงไปอีก แต่หากจะตัดสินให้นายมาร์บิวรีแพ้ไป ก็จะกลายเป็นว่าศาลซึ่งเป็นพวกของนายจอห์น แอดัมส์ ประกาศว่าฝั่ง ทอมัส เจฟเฟอร์สัน ชนะอย่างหมดจดต่อพวกตนเองอีก 

ดังนั้น ผู้พิพากษา จอห์น มาร์แชล (John Marshall) ซึ่งเป็นหัวหน้าองค์คณะในตอนนั้น จึงหาทางออกโดยตัดสินว่าศาลไม่มีอำนาจแต่งตั้งนายมาร์บิวรี แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้คำพิพากษานี้ขยายอำนาจของศาลในการพิจารณาว่ากฎหมายและการใช้อำนาจของรัฐชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการขยายอำนาจของฝ่ายตุลาการให้มีอำนาจต่อรองต่อฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร 

นี่จึงเป็นมรดกที่สำคัญที่สุดของคดีนี้ คือศาลสูงได้ประกาศอำนาจของตนเองด้วยการเขียนว่า ศาลสูงมีอำนาจในการทบทวนว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นพื้นฐานของอำนาจในการทบทวนความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย หรือ Judicial Review ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของศาลสูงสหรัฐจนถึงวันนี้ เห็นได้จากคำพิพากษาว่ากฎหมายควบคุมอาวุธปืนของรัฐนิวยอร์กขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ศาลสูงก็ใช้อำนาจนี้ในการพิจารณา

ผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐมาจากไหน และ The Federalist Society

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดคำพิพากษาเหล่านี้ คือ การเปลี่ยนแปลงขององค์คณะศาลสูงสหรัฐ ซึ่งจากองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน มีผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษนิยมจากการแต่งตั้งของพรรครีพับลิกันถึง 6 คน

กระบวนการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐนั้น เริ่มจากประธานาธิบดีมีอำนาจในการเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่ง จากนั้นผู้ชิงตำแหน่งจะต้องมาให้การต่อกรรมาธิการตุลาการของวุฒิสภา (ซึ่งวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งนะเออ) เพื่อให้ลงคะแนนรับรอง เมื่อผ่านการโหวตในชั้นกรรมาธิการแล้ว จะไปสู่ขั้นตอนในวุฒิสภาทั้งสภา 

ในอดีต ผู้ชิงตำแหน่งมักต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 60 เสียง จาก 100 เสียงในวุฒิสภา ในการโหวตเพื่อปิดขั้นตอนการอภิปรายในวุฒิสภา (ไม่เช่นนั้นวุฒิสมาชิกที่ไม่อยากให้ผู้ชิงตำแหน่งได้รับการแต่งตั้ง ก็จะอภิปรายไปเรื่อยๆ จนลงมติรับรองไม่ได้เสียที ลูกไม้นี้เรียกว่า filibuster) เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการลงมติรับรองด้วยเสียงข้างมาก ถึงจะได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งเกณฑ์นี้แทบจะไม่เคยเป็นประเด็น เพราะผู้ชิงตำแหน่งศาลสูงซึ่งได้รับการแต่งตั้งมักจะเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และถูกลงมติรับรองด้วยคะแนนท่วมท้นอยู่แล้ว แต่ในปี 2017 ซึ่งอยู่ในสมัยของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) บรรดา ส.ว. ของพรรครีพับลิกัน ซึ่งมีเสียงข้างมากในขณะนั้น ได้ทำการลงมติให้ลดเกณฑ์ขั้นต่ำในการปิดอภิปรายจาก 60 เป็น 51 เสียง การทำเช่นนี้ทำให้ประธานาธิบดีสามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงได้ง่ายขึ้นมาก 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้พิพากษาอีก 4 ท่าน ซึ่งถูกแต่งตั้งหลังจากการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การปิดอภิปราย โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับการแต่งตั้งทั้งหมด 3 คน ได้แก่ นีล กอร์ซัช (Neil Gorsuch) เบรตต์ คาวานอห์ (Brett Kavanaugh) และเอมี โคนีย์ แบร์เรตต์ (Amy Coney Barrett) และที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) แต่งตั้งล่าสุด ได้แก่ เคทานจี บราวน์ แจ็คสัน (Ketanji Brown Jackson) ล้วนแล้วแต่ถูกแต่งตั้งด้วยคะแนนเกินครึ่งเพียงเล็กน้อยทั้งสิ้น ทำให้เห็นว่า ปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต ได้สำแดงอาการออกมาในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงด้วย 

สำหรับผู้ติดตามการเมืองสหรัฐ มักมีการพูดเชิงทีเล่นทีจริงว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นคนที่มากับดวงในเรื่องของการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูง เพราะดำรงตำแหน่งเพียงแค่ 4 ปี แต่สามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงได้ถึง 3 คน (ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงเป็นตำแหน่งตลอดชีพ จะว่างลงก็ต่อเมื่อตายหรือลาออก) ขณะที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา (Barack Obama) ซึ่งดำรงตำแหน่งถึง 8 ปี กลับแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงได้เพียง 2 คนเท่านั้น 

และก็เป็นผู้พิพากษาที่ทรัมป์แต่งตั้งนี้แหละ ที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมในศาลสามารถมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแนวคำพิพากษาชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

แต่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์เอาชื่อผู้ชิงตำแหน่งมาจากที่ไหน? ผู้เขียนขอแนะนำให้รู้จักกับ Federalist Society

Federalist Society เป็นสมาคมของกลุ่มนักกฎหมาย และล็อบบี้ยิสต์สายอนุรักษนิยมในสหรัฐ ซึ่งก่อร่างสร้างตัวในยุคกระแสอนุรักษนิยมมาแรงสมัยประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ในช่วงยุค 1980 มีจุดประสงค์จะเพิ่มพลังให้กับแนวคิดอนุรักษนิยมในวงการกฎหมายของสหรัฐ Federalist Society ได้เติบโตจนมีเครือข่ายตามคณะนิติศาสตร์ชั้นนำทั่วสหรัฐ และมีอำนาจสูงสุดในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ (ฟังเหมือนจะเป็นองค์กรรัฐพันลึก แต่จริงๆ แล้วก็คือมหาวิทยาลัยที่มีคณะนิติศาสตร์ ส่วนใหญ่ก็จะมี ‘ชมรม’ ที่ชื่อ Federalist Society ให้นักศึกษาที่สนใจแนวคิดของ Federalist Society ร่วมกิจกรรมนั่นแหละ) 

ประมาณการกันว่า ผู้พิพากษามากกว่าร้อยละ 80 ที่ประธานาธิบดีทรัมป์แต่งตั้ง ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวโยงกับ Federalist Society และผู้พิพากษาศาลสูงจำนวนถึง 6 จาก 9 คน ขององค์คณะปัจจุบัน (ซึ่งในจำนวนนี้ 3 คนถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีทรัมป์) ล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกหรืออดีตสมาชิกของ Federalist Society

หัวใจสำคัญของนักกฎหมายกลุ่ม Federalist Society นี้ คือสนับสนุนแนวคิดตีความรัฐธรรมนูญสหรัฐแบบยึดความหมายดั้งเดิมของรัฐธรรมนูญ (Originalism) และแบบตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด (Textualism) ซึ่งการตีความลักษณะนี้ ขัดแย้งกับสิ่งที่เรียกว่า Substantive Due Process ซึ่งเป็นรากฐานของการรับรองสิทธิการทำแท้งในรัฐธรรมนูญ โดยผู้เขียนจะขออธิบายในส่วนถัดไป ว่าศัพท์แสงเหล่านี้แปลว่าอย่างไร

การตีความรัฐธรรมนูญแบบ Originalism และ Textualism และ Substantive Due Process

การตีความแบบ Originalism คือ การตีความรัฐธรรมนูญโดยยึดหลักว่าบุคคลซึ่งมีชีวิตอยู่ ณ เวลาที่บทบัญญัติมีผลบังคับใช้จะเข้าใจบทบัญญัตินั้นว่าอย่างไร พูดอีกอย่างหนึ่งคือ พยายามตีความตามความหมายดั้งเดิมของบทบัญญัติ ส่วนการตีความแบบ Textualism คือ การตีความรัฐธรรมนูญตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด ซึ่งโดยปกติแล้ว การตีความรัฐธรรมนูญทั้งสองแบบนี้มักได้ผลแบบเดียวกัน ซึ่งไม่ต้องแปลกใจว่าการตีความตามแบบที่คนซึ่งตายไปแล้วหลายร้อยปีคิดหรือเขียนอย่างเคร่งครัด ส่วนใหญ่ผลก็ต้องออกมาในทางอนุรักษนิยมอยู่แล้ว 

แล้ว Substantive Due Process คืออะไร? เป็นแนวคิดว่ารัฐธรรมนูญนั้นรับประกันสิทธิบางประการ แม้ว่าสิทธิเหล่านั้นจะไม่ได้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ เพราะการรับรองสิทธิดังกล่าวทำให้สิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอยู่แล้วมีความหมายที่ครอบคลุมและสมบูรณ์ขึ้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นสิทธิโดยนัย ยกตัวอย่างเช่น การตีความว่าบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 4 ซึ่งปกป้องบุคคลและทรัพย์สินจากการค้นหรือจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม ว่ามีความหมายโดยนัยคือปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวในการตัดสินใจเรื่องของตนเอง (Right to Privacy) ด้วย แนวคิดนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายในกลุ่มนักกฎหมายหัวก้าวหน้าในสหรัฐ และเป็นเครื่องมือชิ้นหลักของผู้พิพากษาที่ขึ้นชื่อว่าหัวก้าวหน้าเอามาใช้ตีความให้ครอบคลุมสิทธิต่างๆ ตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป 

จึงไม่น่าแปลกใจว่า การตีความรัฐธรรมนูญแบบ Originalism และ Textualism กับหลัก Substantive Due Process นั้น ขัดแย้งกันในระดับพื้นฐานมากๆ เพราะฝ่ายหนึ่งอยากจะตีความตามแบบดั้งเดิม แต่อีกฝ่ายอยากตีความขยายความไปเกินกว่าที่ตัวบทบัญญัติกำหนดไว้มาก ความขัดแย้งนี้เกิดจากการมองบทบาทหน้าที่ของรัฐธรรมนูญและศาลสูงที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ฝั่ง Originalism และ Textualism มักจะมองว่ารัฐธรรมนูญควรตีความอย่างแคบ และปล่อยให้อำนาจหน้าที่ในการกำหนดตัวบทกฎหมายส่วนใหญ่อยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งในระดับมลรัฐหรือระดับชาติ มากกว่าศาลที่ไม่ได้ถูกเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ส่วนฝั่งหัวก้าวหน้ามักจะมองว่าบทบาทหน้าที่ของรัฐธรรมนูญ และศาลสูงสุดคือการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร เพื่อรับรองสิทธิเสรีภาพอันพึงมีของประชาชนอย่างดีที่สุดตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่า 

แน่นอนว่าความขัดแย้งในจุดนี้นำไปสู่ข้อขัดแย้งในการพิพากษาคดีต่างๆ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพที่ฝั่งเสรีนิยมและฝั่งอนุรักษนิยมขัดแย้งกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น คดี Roe v. Wade ซึ่งใช้หลัก Substantive Due Process รับรองสิทธิในการทำแท้งว่าเป็น Right to Privacy หรือ คดี Obergefell v. Hodges ซึ่งใช้หลักการเดียวกันมารับรองว่า สิทธิการสมรสของคนเพศเดียวกันนั้น เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 14 ซึ่งว่าด้วยหลักคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกัน (รัฐย่อมไม่ปฏิเสธบุคคลใดที่อยู่ในเขตอำนาจของตนในการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน) และหลักศุภนิติกระบวน (Due Process of Law — อธิบายง่ายๆ คือการที่รัฐต้องดำเนินกระบวนการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดนั่นแหละ) อย่างไรก็ดี ในคดีเดียวกันนี้ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยบางคนได้แสดงความเห็นปฏิเสธการมีอยู่ของ Substantive Due Process ไปเสียเลย โดยโต้แย้งว่าหลักนี้เปิดช่องให้ผู้พิพากษาอนุมานสิทธิตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาตามอำเภอใจตนเองได้ 

อย่างไรก็ตาม สามารถมองได้ว่า สำหรับฝั่งหัวก้าวหน้าแล้ว ถ้าหากต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐเพื่อรับรองสิทธิอันพึงมีตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดแจ้งทุกครั้งไป ในทางปฏิบัติแล้วเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง แม้แต่อดีตผู้พิพากษาศาลสูงคนสำคัญของฝั่ง Originalist อย่าง แอนโทนิน สกาเลีย (Antonin Scalia) เมื่อขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เคยเอ่ยปากว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐถูกแก้ไขได้ยากเกินไป (จะไม่ขอลงรายละเอียดกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐในที่นี้ — ผู้เขียน) เพราะอาจมีกรณีที่ประชากรไม่ถึงร้อยละ 2 ของทั้งประเทศ สามารถขัดขวางกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และรัฐธรรมนูญสหรัฐควรจะถูกแก้ไขได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ข้อสรุป?

ทวนความจำอีกทีว่า ศาลสูงสหรัฐเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจการเมืองมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งประเทศแล้ว ด้วยคำพิพากษาคดี Marbury v. Madison และปัจจุบันนี้ผู้พิพากษาศาลสูง 6 คน จากทั้งหมด 9 คน ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกับ Federalist Society ซึ่งเป็นกลุ่มนักกฎหมายอนุรักษนิยมในสหรัฐ ดังนั้น คงจะไม่เป็นการเกินเลยไปนักถ้าจะกล่าวว่า เวลานี้คือยุคทองของอุดมการณ์อนุรักษนิยมในศาลสูง แม้ในระยะหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ จะมีคำพิพากษาซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นชัยชนะสำคัญของกลุ่มอนุรักษนิยมไปแล้วหลายคดี แต่คำพิพากษาสำคัญ (หรือที่เรียกว่า landmark cases) ของศาลสูงสหรัฐในอดีตซึ่งอาศัยหลัก Substantive Due Process ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก และน่าจะเป็นแกนกลางของการโต้เถียงเกี่ยวกับศาลสูงสหรัฐในอนาคต ซึ่งมีอำนาจทั้งตีความรัฐธรรมนูญและทบทวนความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายอย่างที่ว่าไป

เชิงอรรถ

[1] The American Supreme Court: Fifth Edition By Robert G. McCloskey
(หน้า 26) “If they upheld Marbury and ordered delivery of the commission, the order would surely be ignored by Madison, the Court would be exposed as impotent”
(หน้า 28) “The decision does suggest, however, that Marshall…did not for a moment forget the long-term objectives — enhancement of judicial power in general and diminution of state autonomy in particular”

คีรี เชาวน์เจริญ
คนไทยในสหรัฐ ทุกวันนี้ถูกเก็บภาษีแต่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ตามคำกล่าวว่า Taxation Without Representation มีความสนใจด้านประวัติศาสตร์ และ Junk Food

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า