สัมพันธ์สั่นคลอน หวั่นจีนสอดแนม ปมสหรัฐไม่ขายเครื่องบินรบ F-35 ให้รัฐบาลไทย

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากข่าวเรื่องพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมีวิวาทะกันเพราะการจัดสรรตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ลงตัว ก็มีอีกประเด็นหนึ่งที่เห็นว่าน่าสนใจ คือ กรณีที่สหรัฐอเมริกาปฏิเสธการขายเครื่องบินรบ F-35 ให้แก่รัฐบาลไทย แม้ทางฝั่งไทยจะชงเรื่องและเดินหน้าพูดคุยกับฝั่งอเมริกามาตั้งแต่ปีก่อน 

หากดูอย่างผิวเผินหรือฟังเอาจากที่ทางการไทยออกมาชี้แจงก็คงจะพอทึกทักเอาได้ในเบื้องต้นว่า สาเหตุที่อยู่ดีๆ อเมริกาก็ไม่ยอมขายยุทธภัณฑ์ดังกล่าวให้นั้น เป็นเพราะอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานของกองทัพอากาศไทยยังไม่ล้ำสมัยเพียงพอที่จะรองรับเครื่องบินรบ F-35 ซึ่งถูกออกแบบมาด้วยเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ แปลเป็นภาษาเข้าใจง่ายได้ว่า การลงทุนนี้จะไม่ได้จบที่ตัวเครื่องบิน แต่จะต้องพ่วงมาด้วยการปรับโครงสร้างพื้นฐาน และระบบรักษาความปลอดภัยใหม่ทั้งหมดให้เป็นไปตามเงื่อนไขของอเมริกา

แต่หากจะว่ากันถึงเบื้องลึกเบื้องหลัง ว่าจริงๆ แล้วมันมีประเด็นอยู่เพียงเท่านี้จริงหรือไม่ ผู้ที่ชื่นชอบเรื่องลับ ลวง พราง ส่วนใหญ่ยอมยากที่จะปักใจเชื่อเป็นแน่แท้อยู่แล้ว เพราะขึ้นชื่อว่า ‘การเมืองระหว่างประเทศ’ ทุกการกระทำ และการเดินหมากของแต่ละรัฐ ย่อมสะท้อนไปถึงแนวคิดเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติของตนเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะรัฐขนาดเล็กหรือใหญ่ 

ยิ่งโดยเฉพาะในกรณีของรัฐขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลกว้างขวาง การจะนำหลักการชี้ไม้เป็นไม้ (might-is-right principle) หยิบยกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมาวางเป็นเงื่อนไขบนโต๊ะเพื่อกดดันคู่เจรจาย่อมเกิดขึ้นให้เห็นได้อยู่บ่อยๆ ไทยในฐานะรัฐขนาดกลาง (middle power) ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างอเมริกา-จีน-รัสเซีย ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกนี้คงคุ้นเคยกับแบบแผนพฤติกรรมดังกล่าวของรัฐมหาอำนาจเป็นอย่างดี เพราะเมื่อ 1-2 ปีก่อน ไทยก็เคยโดนกดดันด้วย ‘เรื่องเล็กๆ น้อยๆ’ อย่างกรณีการใช้แรงงานลิงกังในอุตสาหกรรมผลิตน้ำมะพร้าวเช่นกัน

ครั้งก่อนมีแบบแผนและรูปการณ์อย่างไร ครั้งนี้ก็อาจจะไม่ค่อยแตกต่างไปมากนัก เพราะมีอยู่เพียงไม่กี่ประเด็นเท่านั้นที่จะทำให้อเมริกาเกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจรัฐบาลไทยในช่วงนี้ได้ นอกเสียจากการทำตัวแตกแถวบนเวทีสหประชาชาติ ไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่รัฐบาลโจ ไบเดน (Joe Biden) พยายามชี้นำเอาไว้หลังเกิดความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซีย-ยูเครนแล้ว ก็คงจะเป็นท่าทีทางนโยบายต่างประเทศของไทยที่ดูจะเอนเอียงไปทางจีนเสียจนแลดูขาดความสมดุลในสายตาของผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายต่างประเทศของอเมริกา (The Blob) ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นกรณีหลังนี้มากกว่า 

เพราะหลายปีมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไทยมีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในหลายๆ มิติ ตั้งแต่ในด้านเศรษฐกิจที่ไทยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกรอบความร่วมมือทางการค้า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ของจีน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางรถไฟความเร็วสูงร่วมกัน อีกทั้งยังมีการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าต่อกันในหลายระดับ ตั้งแต่รัฐบาลจนถึงภาคเอกชน ส่วนในด้านความมั่นคงนั้นไทยได้หันไปขยายกรอบความร่วมมือทางการทหารกับจีนมากขึ้นช่วงหลังการรัฐประหารปี 2014 โดยมีการริเริ่มโครงการซ้อมรบร่วมระหว่างกองทัพอากาศไทย-จีน (Falcon Strike) ในปี 2015 แทนที่โครงการ Cobra Gold ที่ถูกอเมริกาลดทอนความสำคัญลงไปเพื่อกดดันรัฐบาลคณะรัฐประหารไทยในขณะนั้น พร้อมๆ กันกับการลดระดับความสัมพันธ์ทางการค้าอาวุธยุทโธปกรณ์กับไทยลง เป็นเหตุให้จีนกลายเป็นรัฐผู้สนับสนุนการจัดหาอาวุธรายใหญ่แก่ไทยแทนที่อเมริกา ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา 

เช่นนี้แล้ว หากรัฐสภาอเมริกาจะตัดสินใจไม่ขาย F-35 ให้ไทยจากพฤติกรรมที่กล่าวถึงข้างต้นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจแต่อย่างใด สิ่งที่ต้องตระหนัก คือ ในเวลานี้อเมริกากำลังอยู่ในวังวนของการแข่งขันกับจีน และมีความหวาดระแวงจีนค่อนข้างสูง เสียงส่วนใหญ่ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างเอนเอียงไปในเชิงลบต่อจีน ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐสภา Congress พยายามจะผลักดันกฎหมายที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการกีดกันทางเศรษฐกิจกับจีน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในสมรภูมิเทคโนโลยีแก่อเมริกาออกมาหลายฉบับ โดยหนึ่งในนั้น คือ บทบัญญัติ CHIPS and Science Act ปี 2022 

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าจะทำให้อเมริการู้สึกกระอักกระอ่วนและคับข้องใจในรัฐบาลไทยมากที่สุด อาจเป็นกรณีที่ไทยไปตอบตกลงเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) กับบริษัท Huawei Technologies ของจีน อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Huawei ได้เข้ามามีบทบาทในการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสัญญาณการสื่อสารในไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะในส่วนของโครงการร่วมกับภาครัฐหรือภาคเอกชน 

อนึ่ง Huawei เป็นบริษัทที่หน่วยข่าวกรองและความมั่นคงในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ฯลฯ มีความเห็นตรงกันว่าเป็นบริษัทที่ดำเนินการสอดแนมประชาชน และจารกรรมข้อมูลในต่างประเทศเพื่อรวบรวมส่งให้แก่รัฐบาลจีน เมื่อปีที่ผ่านมา ทางการไทยก็เพิ่งจะถูกหน่วยข่าวกรองไต้หวันตำหนิเรื่องการใช้ระบบการรักษาความปลอดภัยของ Huawei ในพื้นที่ท่าอากาศยาน จนทำข้อมูลการเดินทางของฝั่งไต้หวันรั่วไหลไปสู่รัฐบาลจีนได้

นอกจากนี้ ประเด็นที่ทำให้อเมริกากังวล อาจมีส่วนมาจากการที่ทั้งกองทัพอากาศและกองทัพเรือของไทยต่างใช้บริการระบบป้องกันภัยทางอากาศของจีน (KS-1C และ FK-3) ส่วนเมื่อ 5-6 ปีก่อนนี้ กองทัพบกเองก็ได้นำระบบเรดาร์ของบริษัท China North Industries Group (NORINCO) มาใช้ เรียกได้ว่าปัจจุบันระบบการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงในไทยพึ่งพาอุปกรณ์และซอฟต์แวร์จากจีนค่อนข้างเยอะ ทำให้อเมริการู้สึกไม่ไว้วางใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อเมริกาจะต้องขายอาวุธที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง F-35 ที่มีเพียงไม่กี่ประเทศในเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ซึ่งความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลอเมริกา และเคยประกาศตัวชัดเจนว่าจะอยู่เคียงข้างอเมริกาเท่านั้นที่จะสามารถเจรจาขอจัดซื้อไปครอบครองไว้ได้ 

ในขณะที่ไทยยังดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบไผ่ลู่ลม (bamboo diplomacy) เปิดหน้าตีสนิททุกฝ่ายเช่นปัจจุบันนี้ ในมุมของผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศอเมริกา อาจพิจารณาไว้ได้ว่าไทยมีแนวโน้มที่จะทำให้ข้อมูลหรือความลับเกี่ยวกับเทคโนโลยีภายใน F-35 รั่วไหลไปยังรัฐบาลจีนได้โดยที่ทางการไทยอาจจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าจีนนั้นมีความเชี่ยวชาญในด้านการสอดแนมและจารกรรมข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลทางด้านสินทรัพย์ทางปัญญาและเทคโนโลยี การที่รัฐบาลจีนจะฝังอุปกรณ์ดักรับสัญญาณหรือข้อมูลไว้ภายในโครงสร้างพื้นฐานที่มาติดตั้งให้แก่ไทย จะมีสักกี่คนที่รับรู้และสามารถตรวจสอบได้ ไหนๆ อุปกรณ์และเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยส่วนใหญ่ก็มาจากจีนทั้งนั้น 

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าประเด็นนี้จะไม่มีทางแก้ไขไปเสียทีเดียว หากรัฐบาลไทยมีความหนักแน่นในเรื่องการจะขอจัดซื้อ F-35 มาแทน F-16 ที่จะปลดระวางไปจริงๆ อาจลองเจรจาโน้มน้าวทางฝั่งอเมริกาอีกสักรอบ เพื่อทดสอบระดับความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และดูว่าอเมริกาจะมีท่าทีอย่างไร ซึ่งคำตอบนั้นง่ายมาก อเมริกาอาจยื่นข้อเสนอให้ไทยยกเครื่องล้างระบบรักษาความปลอดภัยทางอากาศจากของจีนไปเป็นของอเมริกาแทนเสียเองในราคาพันธมิตรที่ต่ำกว่าราคาตลาดสักร้อยละ 5-10 

ปัญหาอยู่ที่ว่า รัฐบาลไทยจะกล้ารับข้อเสนอที่ดูจะสั่นคลอนความสัมพันธ์อันดีงามกับมหาอำนาจประจำภูมิภาค (regional power) อย่างจีนหรือไม่เท่านั้นเอง

ป.ฐากูร
นักเขียนอิสระที่ผันตัวมาเป็นมือปืนรับจ้างด้านนโยบาย สนใจการบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เวลาว่างชอบอ่านหนังสือพิมพ์และดูหนัง บางวันเป็นลิเบอรัล บางวันก็สวมบทคอนเซอร์เวทิฟ แต่ยังไม่ถึงขั้นไบโพลาร์

พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ [email protected]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า