ฮ่วย! ร้อนกะด้อกะเดี้ยแท้

yendee 50.jpg

เรื่อง : วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

ภาพประกอบ :  k-9

จนพี่เลี้ยงร้องเสียงแข็ง ‘ฮ่วย! นอนกะด้อกะเดี้ยเกินคนแท้’ เย็นดีกระฟัดกระเฟียดลุกจากเตียงนอนทั้งที่ลืมตาตื่นมาค่อนชั่วโมงแล้ว เย็นดีเพียงอยากประชดพ่อ ประชดพี่เลี้ยง ประชดโลกร้อนๆ ใบนี้ จึงดึงเกมยืดเวลาหวังให้ทุกคนเป็นเดือดเป็นร้อน ลุ้นให้เธอไปโรงเรียนทันได้ร้องประโยคแรกของเพลงชาติ

“ฮ่วย ฮ่วย ฮ่วย” เย็นดีแลบลิ้นปลิ้นตาใส่พี่เลี้ยงก่อนจะเดินไปหยิบผ้าเช็ดตัวแล้วพบจดหมายฉบับหนึ่งบรรจุลายมือของพ่อ จึงเปิดอ่าน

 

เย็นดีลูกรัก

พ่อรู้ว่าหนูคงตื่นขึ้นมาทำหน้าทำตาเหมือนคนไม่เคยพบเจอเรื่องตลกในชีวิต พ่อรู้-หนูงอนพ่อเรื่องที่พ่อไม่ยอมขึ้นเงินรายวันให้ลูกไปโรงเรียน ก็เราตกลงกันแล้วนี่ว่าตอนนี้หนูจะได้เงินไปโรงเรียนวันละ 40 บาท ตาม ‘สนธิสัญญาขั้นบันได’ อย่างที่เราคุยกัน…จำได้มั้ย

เมื่อเย็นวาน หนูบอก “หนูอยากขึ้น ป.6 ในวันพรุ่งนี้เลยค่ะ” เพื่อจะได้เงินไปโรงเรียนวันละ 60 เหมือนเพื่อนที่ชื่อจารุณีซึ่งหนูแอบซนถามเพื่อนมาจนได้ความว่าจารุณีพกสตางค์มาโรงเรียนมากกว่าหนู 20 บาท ไม่รู้ว่าระหว่างนั้นจินตนาการไปถึงขนมนมเนยชนิดไหน จึงอุทาน ‘ป้าด’ ยาว พ่อยังแอบขำที่หนูบอกว่า “โธ่…คุณพ่อขา ขนาดรัฐบาลยังขึ้นค่าแรงให้เป็น 300 บาท คุณพ่อก็รู้ว่าค่าครองชีพทุกวันนี้มันสูงขนาดไหน” พ่ออดภูมิใจไม่ได้ที่หนูใฝ่รู้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง

หนูติด ‘โมกุโมกุ’ รสส้มหวานฉ่ำ ไหนจะเนื้อเยลลีกรุบกรับ จนต้อง ‘เบิ้ล’ หลังมื้อเที้ยง เป็นเหตุให้เงิน 40 บาทที่พ่อให้ไปไม่พอต่อความกระหายโมกุของหนู หนูเพิ่มเหตุผลว่าที่หนูต้องดื่มโมกุโมกุวันละ 2 ขวด เพราะอากาศมันร้อนมาก พ่อก็เห็นด้วยนะที่อากาศมันร้อน แต่จะมีเด็กสักกี่คนบนโลกนี้ได้ดื่มโมกุโมกุเหมือนลูกทุกเที่ยง และนอนในห้องแอร์ทุกคืน

หนูบ่นว่าตอนนี้อากาศร้อนมาก และหนูก็ทำตัวหงุดหงิดใส่พ่อบ่อยครั้ง…รู้มั้ย คนใจร้อนมักยากจนเสน่ห์ หนูทำตัวไม่สมชื่อที่แม่ของหนูตั้งให้ เวลาหนูทำหน้าบึ้งแล้วก็ร้องว่า ‘ฮ่วย’ แม่คงไม่ชอบใจนัก ถ้าไม่เชื่อคืนนี้ก็ลองมองดวงจันทร์ดูสิ แล้วจะเห็นว่าแม่ของหนูไม่เปล่งแสงสวยเหมือนทุกคืน

เอาล่ะ หนูโวยวายว่าอากาศร้อน พ่อก็อยากเล่าให้ฟังว่า นักวิทยาศาสตร์แห่ง NASA’s Goddard Institute for Space Studies (GISS) ศึกษาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นโดยประมาณ 0.8 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ปี 1880 หนูอาจยักไหล่ไม่แยแส ก็แค่ 0.8 องศาเอง

อุณหภูมิโลกนี้เป็นค่าเฉลี่ยทั่วทั้งผิวโลก ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ามีพลังงานเท่าไหร่ที่โลกรับจากดวงอาทิตย์ และมีจำนวนเท่าใดที่สะท้อนกลับจากผิวโลกออกสู่อวกาศ ปริมาณพลังงานดังกล่าวนี้มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย รังสีความร้อนที่แผ่ออกจากผิวโลกนั้นส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมีของชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวกักเก็บความร้อน แต่อุณหภูมิที่หนูประสบอยู่ทุกวันที่โรงเรียนนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้

แต่อุณหภูมิภูมิภาคย่อมเชื่อมโยงกับอุณหภูมิโลก เช่นเดียวกับการที่ลูกเป็นอย่างไรย่อมมีผลต่อความรู้สึกของพ่อ

 

heat wave yendee50

 

หนูอยากรู้มั้ยว่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยรายปีของประเทศไทยเป็นมายังไง ตั้งแต่ พ.ศ. 2494-2551 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยของประเทศไทยมีความผันแปรมาตลอดอันเป็นเรื่องธรรมดา ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 – 2529 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยของประเทศไทยต่ำกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง แต่ พ.ศ. 2530 – 2551 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง ยกเว้น พ.ศ. 2542-2543 และ พ.ศ. 2551 เมื่อพิจารณาระยะยาวอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยของประเทศเรามันก็ขึ้นๆ ลงๆ ถ้านึกภาพเป็นกราฟมันก็ดูเหมือนฟันปลา แต่ผลการศึกษาชิ้นนี้บอกว่ามีแนวโน้มว่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยของประเทศไทยจะสูงขึ้นต่อไปในอนาคต

ตอนนี้คนบ่นกันว่าประเทศไทยร้อนขึ้น…กรุงเทพฯร้อนขึ้น แน่นอนว่าย่อมโยงสู่ประเด็นภาวะโลกร้อน แต่ก็กลายมาเป็นเรื่องถกเถียงได้อย่างเหลือเชื่อ ฝ่ายหนึ่งบอกว่าอากาศปีนี้ไม่ได้ร้อนกว่าปีก่อนๆ เลย หากดูจากสถิติอุณหภูมิที่ผันแปรขึ้นลงไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นอย่าโฆษณาชวนตระหนกเหมือนนักโลกร้อนทั้งหลาย พ่อเข้าใจว่าฝ่ายนี้พยายามจะบอกว่าข้อมูลอุณหภูมิของประเทศไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ อีกฝ่ายบอกจะไม่ร้อนได้อย่างไร ไม่เชื่อก็ลองมายืนกลางแดดตอนบ่ายสองดูสิ หรือถ้ากรุงเทพฯไม่ร้อนขึ้น แล้วทำไมน้ำแข็งที่กรีนแลนด์จึงละลายด้วยอัตราเร่ง จนเกิดเป็นสำนักเหตุผลปะทะสำนักอารมณ์ วิทยาศาสตร์ปะทะไสยศาสตร์ โดยมีภาวะโลกร้อนเป็นฉากหลัง

ก็อย่างที่หนูบอกแหละว่า ช่วงนี้ร้อนมาก กรมอุตุฯแจ้งพวกเราว่า ช่วงเมษา-ต้นพฤษภาของปีนี้ กรุงเทพฯ มีอุณหภูมิ 40.1 องศาเซลเซียส ซึ่งก็เป็นอุณหภูมิที่ร้อนเอาเรื่องอยู่ แต่นักวิชาการบอกว่าทั้งการวางผังเมืองและจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ ที่เติบโตรวดเร็ว (ซึ่งหนูก็เป็นส่วน 1 ใน 12 ล้านคนนั้น) เป็นส่วนหนึ่งของความร้อน

ก็กรุงเทพฯ ชอบเล็มต้นไม้ตัดแต่งเพื่อให้สายไฟฟ้าได้ชู่ช่อรับแสงแดด เวลาพ่ออยากจะออกกำลังกายก็ต้องขับรถไปไกลถึงสวนสาธารณะ ก็ไม่มีสวนสาธารณะใกล้บ้านเราเลยนี่ ไหนจะการออกแบบตึกที่กักความร้อน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้กรุงเทพฯร้อนระอุ รวมทั้งการขาดพื้นที่สีเขียว

พื้นที่สีเขียวโดยเฉลี่ยของกรุงเทพฯมี 3 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งต่ำกว่าอัตราพื้นที่สีเขียวมาตรฐานเฉลี่ย 39 ตารางเมตรต่อคน ลองเทียบกับสิงคโปร์ที่มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 66 ตารางเมตรต่อคน แล้วบ้านเรือนและอพาร์ทเมนท์ต่างๆ ในกรุงเทพฯก็อยู่ใกล้กับตึกสูงและร้านสรรพสินค้าเสียขนาดนั้น อย่างกับคนยืนหายใจรอต้นคอกัน

 

เรื่องเศร้าเกี่ยวกับความร้อนได้เกิดในปี 2003 เมื่อคลื่นความร้อนได้พัดเข้ามาปกคลุมเมืองปารีส มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คนภายในคืนเดียว ในช่วงนั้นเป็นฤดูร้อนซึ่งมีอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียสเท่ากับกรุงเทพฯตอนนี้เลย ช่วงเวลานั้นเป็นซัมเมอร์ของชาวยุโรป ก็อย่างที่หนูมักจะเห็นคนหนุ่มสาวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศของเรา พวกเขามักลาพักร้อนไปท่องเที่ยวติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ปล่อยให้คนแก่อยู่บ้าน เมื่อความร้อนจัดปกคลุมยุโรป คนแก่ที่อยู่บ้านหรืออยู่อพาร์ทเมนท์ตามลำพังจึงเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด มีคนวิเคราะห์ว่าหลังคาบ้านส่วนใหญ่ในปารีสทำจากดีบุกเพื่อป้องกันความหนาว แต่เมื่อคลื่นความร้อนเข้ามามันก็เป็นเตาอบดีๆ นี่เอง

 

ในปีเดียวกันนั้นพืชและต้นไม้ในยุโรปเกิดปรากฏการณ์ไม่แผ่ใบ มันเป็นปฏิกริยาสะท้อนกลับของพืชที่ระบบสังเคราะห์แสงรวนไปหมด ก็อย่างที่หนูรู้ พืชและต้นไม้จะสูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปและคายออกซิเจนออกมา แต่ในสภาพร้อนจัดพืชบางชนิดกลับเก็บออกซิเจนเอาไว้แล้วคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแทน พ่อคิดว่าพืชในยุโรปปี 2003 เหมือนเย็นดีของพ่อตอนนี้เลย แทนที่จะยิ้มร่าเริงสดใสหนูกลับบึ้งตึงหงุดหงิดเพราะอากาศร้อน

ท่ามกลางข้อถกเถียงประเภทวิทย์กับไสย พ่อกลับชอบคำกล่าวของตามาร์ค ไลนัส นักเขียนสารคดีที่ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อดูว่าความร้อนเฉลี่ยของโลกแต่ละองศาที่เพิ่มขึ้นส่งผลอย่างไรกับโลก (พ่อรู้ว่าหนูสนใจ แต่พ่อจะเขียนเล่าให้ฟังในจดหมายฉบับต่อไปเมื่อหนูงอนพ่ออีก แต่ก็อย่าแกล้งงอนเพราะเพียงอยากรู้นะ พ่อเมื่อย)

ไลนัสบอกว่า ภาวะโลกร้อนไม่ได้หมายถึงการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่มันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของโลกอย่างสิ้นเชิง เหมือนตะแกจะบอกให้เราตระหนักถึงสิ่งที่มองไม่เห็นนอกจากความร้อนที่เราสัมผัสเพียงผิวกาย และมองข้ามข้อถกเถียงชนิดที่ว่าประเทศไทยร้อนขึ้นจริงหรืออย่างที่พวกเราเป็นกัน

เดือนนี้อากาศร้อน แต่เดือนพฤษภาจะมาพร้อมสายฝน พ่อหวังว่ามันคงทำให้ลูกใจเย็นสมชื่อ แต่ประเด็นของพ่อก็คือ ไม่ว่ากรุงเทพฯจะหายร้อนหรือเย็นลง อุณหภูมิจะผันแปร…ขึ้นๆ ลงๆ ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีแต่เพิ่มขึ้นๆ มันไม่เกี่ยวหรอกว่าเราอยู่ในประเทศที่อุณหภูมิเฉลี่ยไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้วเราจะปลอดภัย พ่อกลับคิดว่าในวันที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นระดับองศา วันนั้นโลกของเราจะเท่าเทียมกัน ไม่ว่ารัฐนั้นจะปกครองด้วยระบอบการปกครองใด หรือประชากรจะนับถือศาสนาใด อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ระบบการทำงานของโลกเพี้ยนไป และไม่มีเส้นแบ่งใดกีดกันเอาประเทศใดออกจากความผิดเพี้ยนของระบบโลกได้

พ่อไม่ได้อยากให้หนูตกใจ แต่อยากให้หนูเข้าใจระบบโลกที่ผิดเพี้ยนมีสาเหตุจากสิ่งใด อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้สุนัขลากเลื่อนในกรีนแลนด์ตกงานและหิวโหย เพราะเจ้าของไม่เห็นประโยชน์ที่จะให้อาหารมัน เมื่อไม่มีน้ำแข็งให้มันทำงาน

เมื่อหนูเข้าใจระบบที่ผิดเพี้ยนของโลกว่ามีเหตุจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น หนูก็จะเข้าใจระบบหัวใจตัวเองยามมีสิ่งไม่คาดหวังเข้ามากระทบ

ลองถามตัวเองหลังกลัดกระดุมเม็ดสุดท้าย แล้ววิ่งลงบันไดมานั่งดื่มโอวัลติน อยากยิ้มให้พ่อก่อนไปโรงเรียนมั้ย

พ่อรออยู่

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า