โตมร ศุขปรีชา
ผมไม่รู้ว่า คำว่า ‘เก๋’ กลายเป็นคำฮิตในเมืองไทยมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ทุกวันนี้ เมื่อนั่งลงที่โต๊ะทำงาน ผมจะพบกับคำคำนี้ผ่านแฟกซ์และจดหมายนับสิบนับร้อยฉบับที่หลั่งไหลเข้ามาหาทุกวัน
…ขอเชิญเข้าร่วมปาร์ตี้สุดเก๋
…ทริปเดินทางเก๋
…กระเป๋าเวอร์ชั่นใหม่สุดเก๋
…ไลฟ์สไตล์สุดเก๋
…สนทนากับเซเลบริตี้สุดเก๋
ที่จริงไม่ได้มีแต่คำว่า ‘เก๋’ อย่างเดียว แต่ยังมีคำในชุดเดียวกันพ่วงมาด้วยอีกหลายคำ อาทิ ฮิป สุดเท่ คูล รวมไปถึงการจูงใจด้วยพรรณนาโวหารประเภท ชวนหลงใหล, ละเลียด, ดื่มด่ำ หรือคำชวนเร้าใจอย่าง นวัตกรรม, ใหม่ล่าสุด, ทันสมัย, แห่งปี และคำแสดงระดับอันสูงส่ง อาทิ พรีเมี่ยม, ระดับสากล, ศิลปินไฮโซชื่อดัง ฯลฯ ทว่าเมื่อดูรวมๆ ทั้งหมด ผมคิดว่าคำว่า ‘เก๋’ ซึ่งเป็นคำไทยๆ จะครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่บ่งบอกไลฟ์สไตล์แบบ ‘เก๋ๆ’ ได้ดีที่สุด
จดหมายบางฉบับก็ประโคมใส่ชุดคำเหล่านี้ลงมาทั้งหมด เวลาอ่านจึงละลานตายิ่งนัก เพราะพร่างพรายไปด้วยความเก๋ฮิปเจ๋งคูลเท่มีระดับสุดยอดทันสมัยใหม่ไม่เหมือนใคร
อ่านแล้วอยากเก๋เป็นกำลัง อยากรู้ว่า ความเก๋ที่ว่าๆ กันมานั้นน่ะ คืออะไรกันแน่หนอ?
ว่าแล้วผมก็เลือกพาตัวเองเข้าสู่ความเก๋ ด้วยการลอบเข้าไปยังงานที่ลือกันว่าเก๋สองสามงานเพื่อทดลองดูว่า ที่ว่าเก๋นั้น เก๋กระไรหนอ
งานเก๋ๆ ที่ว่า เดี๋ยวนี้จัดขึ้นกันมากมายสัปดาห์ละหลายงานให้เราเลือกไปทำเก๋ได้ไม่หวาดไม่ไหว แต่ละงานก็ล้วนกล่าวอ้างว่า งานของตนสุดเก๋กว่าใครกันทั้งนั้น ผมเลยอดคิดไม่ได้ว่า แค่ก้าวเท้าเข้าไปในงาน ละอองความเก๋เห็นทีจะปลิวมาติดตัว ไม่ต้องติดสอยห้อยพกความเก๋มาจากบ้าน
แต่ผมคิดผิด!
เพราะโชคร้ายที่นิยามคำว่าเก๋นั้น ไม่ใช่แค่ก้าวเข้างานก็เก๋ได้ แต่มนุษย์ตนไหนอยากเก๋เกินหน้าคนอื่น จะต้องเตรียมตัวเก๋กันมาตั้งแต่ที่บ้าน
ใช่ครับ-เรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวที่ต้องเก๋ตามเดรสโค้ดที่ระบุมาไว้ในบัตรเชิญนั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่ไอ้ที่ความเก๋มันไม่เข้าใครออกใครก็คือความหิวน่ะสิครับ
งานที่ว่าเก๋นักเก๋หนาทั้งหลาย ผู้คนที่ไปร่วมงานมักจะเก๋กันมาตั้งแต่หุ่น คือต้องจัดการให้รูปร่างของตนนั้นบอบบางราวนางแบบ ด้วยเหตุนี้ อาหารในงานเก๋ๆ จึงมักไม่ค่อยมีอะไรให้กินกันเป็นล่ำเป็นสัน ส่วนใหญ่มักเป็นอาหารกระจุ๋มกระจิ๋มขนาดกระจ้อยร่อยที่จัดวางมาในจานใบใหญ่ยักษ์ เล่นเอาต้นแขนของบริกรสาวที่แบกถาดใหญ่บวมขาดความเก๋ และสามารถบ่งชี้ได้ทันใด ว่าใครคือแขกคนเก๋ และใครคือผู้รับใช้ในสถานที่แห่งความเก๋นั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณคิดจะไปร่วมงานเก๋สักงาน อย่างแรกที่ต้องทำหลังแต่งตัวได้เก๋แล้วก็คือ พึงขวนขวายหาชายสี่บะหมี่เกี๊ยวรองท้องก่อนเข้างาน แต่ก็ควรหาหมากฝรั่งดับกลิ่นปากมาเคี้ยวเสียด้วย แล้วถึงจะก้าวเท้าเข้างานเก๋ๆ ได้ ไม่อย่างนั้น ยืนๆ อยู่ในงานคุณก็อาจท้องร้องจ้อกๆ ให้หมู่ชนชาวเก๋เขาปริเวทนาเอาได้
แล้วที่บอกคุณไว้ว่า กลิ่นปากห้ามมีนั้น เป็นเพราะบัดเดี๋ยวนี้ ณ กรุงสยามเลิศวิไลของเรา วัฒนธรรมการยื่นแก้มเข้าไปแนบแก้ม แล้วก็ทำปากจุ๊บๆ เหมือนดูดอากาศเข้าไปในกระพุ้งแก้มเพื่อให้เกิดเสียงคล้ายจูบแต่ไม่ได้จูบ (เผลอๆ บางทีแก้มก็ไม่แนบแก้มด้วยซ้ำไป) กำลังเป็นกิริยาอาการทักทายกันที่สุดเก๋ ด้วยเหตุนี้ คุณจึงไม่พึงกินชายสี่บะหมี่เกี๊ยวใส่กระเทียมเจียวรองท้องโดยไม่ได้เคี้ยวหมากฝรั่งดับกลิ่นปากเสียก่อน ไม่อย่างนั้นถ้าต้อง ‘คิส’ เก๋ๆ ทักทายกันละก็ บางทีกลิ่นกระเทียมเจียวที่หมักหมมไว้ในซอกฟันของคุณอาจล่องลอยไปติดผมพองๆ ของคู่คิสคุณก็ได้
อ้อ! หมากฝรั่งที่จะใช้เคี้ยวดับกลิ่นปากนั้น คุณก็ต้องเลือกแบบที่ไร้น้ำตาลแต่ใส่ไซลิทอลแทนด้วย เพราะมาบัดนี้ อะไรที่มีน้ำตาลผสมอยู่ ดูเหมือนจะเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ไร้ความเก๋ไปแล้วอย่างสิ้นเชิง และเพราะเหตุนี้ เวลาอยู่ในงาน ถ้าจะสั่งซอฟท์ดริงค์มาดับกระหาย คุณก็ไม่พึงสั่งโคล่าเฉยๆ เพราะไม่เก๋ ควรสั่งโคล่าไลท์ (จะเป็นยี่ห้อใดก็ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว นัยว่ายี่ห้อหนึ่งเก๋กว่าอีกยี่ห้ออยู่นิด) และหากอยากให้เก๋ขึ้น ก็ควรสั่งมะนาวฝานใส่ลงไปในแก้วโคล่าไลท์นั้นด้วย จะทำให้เก๋ขึ้นเป็นทวีคูณ
เมื่อเข้าไปอยู่ในงาน สิ่งที่คุณพึงทำเป็นอันดับแรกก็คือมองซ้ายป่ายขวาหาคนรู้จัก ยิ่งมีคนรู้จักในงานมากๆ ยิ่งดี แต่ต้องแค่รู้จักเท่านั้น ห้ามสนิทสนมด้วยเป็นอันขาด เพราะถ้าสนิทสนมด้วยเมื่อไหร่ คุณเป็นต้องยืนรากงอกพูดคุยกับเพื่อนสนิทนั่น ซึ่งจะทำให้ขาดความเก๋เป็นอันยิ่ง คนที่จะเก๋ได้ในงานเก๋อย่างนี้ จะต้องเป็นคนสมาธิสั้นสักหน่อย คือคุยๆ พอให้ปากขยับกับกลุ่มหนึ่ง เสร็จแล้วก็โผผวาเข้าหากลุ่มอื่น คิสกันจูจุ๊บ แล้วพูดคุยด้วยสั้นๆ สลับกับโอบกอดทักทาย ให้ทำดังนี้เรื่อยไป จนกว่าคุณจะหมุนคว้างไปทั่วห้องทักคนได้ทั่วจักรวาล เพราะจะเป็นเครื่องสำแดงให้คนเก๋ทั้งหลายในงานรู้ว่า คุณนั้นเด่นดังรู้จักคนเก๋มากมายเพียงใด เป็นการเพิ่มคะแนนความเก๋ให้กับตัวเองมากยิ่งขึ้นไปอีก
สิ่งที่ไม่พึงทำอย่างยิ่งก็คือการปล่อยให้ท้องว่างหิวซ่ก แล้วยืนเกาะขอบโต๊ะบุฟเฟต์คว้าอาหารชิ้นกระจ้อยร่อยเข้าปากชิ้นแล้วชิ้นเล่า เพราะนอกจากจะไม่เก๋แล้ว กินเข้าไปอย่างไรก็ไม่อิ่ม เนื่องจากอาหารเก๋ๆ นั้นมักมีปริมาณน้อย ทำให้คุณต้องกินแล้วกินเล่า จึงไม่เพียงทำลายความเก๋ของตัวคุณ แต่ยังทำลายความเก๋ของงานเป็นล้นพ้น
ส่วนใหญ่แล้ว งานเก๋ๆ ทั้งหลายมักไม่มีเนื้อหาสาระอันเป็นประโยชน์เท่าใดนัก เพราะคนเราจะเก๋ได้ ก็ต่อเมื่อไม่มีอะไรหนักสมองนัก หนังสือที่คนเก๋อ่าน พึงมีรูปภาพประกอบเยอะๆ ตัวอักษรและการให้ความรู้ถือเป็นที่เดียดฉันท์ของความเก๋แบบไทยๆ ดังนั้น สิ่งประกอบความเก๋ในงาน จึงมักเป็นแฟชั่นโชว์ ซึ่งก็มักไม่ใช่แฟชั่นโชว์แบบซีเรียส กล่าวคือไม่ได้มีดีไซเนอร์ชั้นนำสมองยุ่งที่ไหนมาออกแบบอะไรน่าทึ่งหรือกระตุ้นให้ขบคิด แต่มักเป็นการเชิญเซเลบริตี้สุดเก๋มาเดินยักไหล่ส่ายสะโพกบนแคตวอล์ค เสื้อผ้าก็มักใช้เสื้อผ้าตัวเอง เพราะเซเลบริตี้ย่อมมั่นใจแล้วว่าเสื้อผ้าตัวเองเก๋กว่าใคร โดยมักมีการเซ็ตธีมให้เซเลบริตี้พอทำเนา อาทิ ให้ทุกคนใส่เสื้อแบบวินเทจเก๋ๆ (แปลว่าเสื้อเก่าๆ เก๋าๆ) ให้ตัดกันฉูดฉาดกับงานเปิดตัวมือถือรุ่นล่าทันสมัย เป็นต้น
สิ่งที่คนเก๋อย่างคุณพึงทำถ้าไม่ได้ขึ้นไปเดินแบบด้วยตัวเอง ก็คือการยืนอยู่ข้างล่าง มือคีบก้านแก้วไวน์ (ควรเป็นไวน์ขาว ไวน์แดงหนักเกินไป-ไม่เก๋ หรือถ้าจะให้ดี งานเก๋นั้นน่าจะมีแซงเกรียหรือไม่ก็แชมเปญ-ลองถามบริกรสาวแขนล่ำดู) หาคนเก๋ๆ เหมือนๆ กันจับกลุ่มยืนด้วยกัน หวีดร้องพองามเมื่อเซเลบริตี้ที่รู้จักยักย้ายสะโพกออกมา เพื่อเป็นนัยให้คนอื่นรู้ว่า ฉันเก๋จริงเพราะรู้จักเซเลบริตี้คนนั้นๆ แล้วความเก๋ในงานก็จะยืนยงสถาพรอยู่คู่กับความเก๋ในตัวคุณได้ตลอดไป
งานเก๋มักจะเก๋กันจนดึก แต่ถ้าอยากเก๋จริง คุณต้องทำทีรีบล่ำลาคนอื่นๆ หลังงานจบ ไม่อ้อยสร้อย พร้อมบอกคนอื่นๆ ว่า ยังมีงานอีกหลายงานที่ต้องไป
แล้วคุณก็เดินแกว่งแขนบอบบางเรียวสวย ผ่านหน้าบริกรสาวแขนล่ำที่กำลังแบกถาดเก็บแก้วอยู่ เพื่อออกไปซุ่มเสาะสูดบะหมี่เกี๊ยวริมถนนกิน
**************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์ cramp พฤศจิกายน 2549)