หลังจากปี 2004 ที่ แบร์รี ป๊อปกิน นักวิจัยจากภาควิชาโภชนาการศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา และ จอร์จ เบรย์ นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยชีวเวชศาสตร์เพนนิงตัน ออกมาให้ข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำตาลในน้ำอัดลมแบรนด์ยักษ์ ที่เลือกใช้น้ำเชื่อมข้าวโพดและให้พลังงานจากความหวานในระดับเกินพอดี (น้ำอัดลม 1 กระป๋อง มีน้ำตาลราว 7 ช้อนชา ขณะที่เด็กควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน ผู้ใหญ่ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน)
นักโภชนาการทั่วโลกต่างพร้อมใจแนะนำให้หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม แล้วหันมาดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำผลไม้ปั่นแทน ขณะที่โค้กและเป๊ปซี่เริ่มหาทางออกด้วยการตระเวนซื้อกิจการบริษัทผลิตน้ำผลไม้ทั่วโลกนับสิบบริษัท ในอังกฤษ บริษัทน้ำอัดลมดังต่างเป็นเจ้าของแบรนด์น้ำผลไม้สำเร็จรูป (ไม่ใช่น้ำผลไม้ 100 เปอร์เซ็นต์) โดยโค้กเป็นเจ้าของแบรนด์ Innocent smoothies ขณะที่เป๊ปซี่ก็มีแบรนด์ Tropicana เป็นของตัวเอง
แต่จากผลศึกษาล่าสุดของทั้งคู่ที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมแพทย์อังกฤษ พบความเชื่อมโยงระหว่างน้ำผลไม้ชนิดสำเร็จรูปกับความเสี่ยงต่อเบาหวานแบบที่ 2 ที่เกิดจากภาวะน้ำหนักเกิน
ผลสำรวจสารให้ความหวานในผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในสหรัฐ ระหว่างปี 2005-2009 ระบุว่า น้ำผลไม้เข้มข้นอยู่ในอันดับ 5 ของสารให้ความหวานทั้งหมด และอยู่ในอันดับ 2 ของสารให้ความหวานที่นิยมใช้ในน้ำอัดลมและอาหารเสริมสำหรับทารก รองจากน้ำเชื่อมข้าวโพด โดยน้ำผลไม้เข้มข้นส่วนใหญ่ในตลาดโลกเป็นสินค้าส่งออกมาจากจีน
พวกเขาสรุปผลศึกษาครั้งนี้ว่า การดื่มน้ำผลไม้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานแบบที่ 2 (เกิดจากภาวะน้ำหนักเกิน) ร้อยละ 8
ขณะนี้ มีชาวอังกฤษ 2.7 ล้านคน ป่วยเป็นเบาหวานแบบที่ 2 และกว่า 850,000 คน มีแนวโน้มเป็นเบาหวานแต่ยังไม่ได้รับการตรวจรักษา ขณะที่อีกราว 7 ล้านคน อยู่ในข่ายเสี่ยงจะพัฒนาจากภาวะน้ำหนักเกินไปเป็นเบาหวานได้
โดยอาการแทรกซ้อนของเบาหวานแบบที่ 2 มีตั้งแต่ปัญหาแผลเรื้อรังจนต้องตัดแขนขา ตาบอด ไตวาย โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
ที่มา: theguardian.com