เรื่อง: วรณัน รอดนิตย์
illustration: Eif
ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในปลายทศวรรษ 2520 สภาพสังคมและเศรษฐกิจเกิดความเปลี่ยนแปลงโดยไม่อาจเลี่ยงได้ และมีการก่อเกิดภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการขยายตัวทางการผลิตและการส่งออกของประเทศจำนวนมาก สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ จึงได้ถูกยกให้เป็นแหล่งธุรกิจประมงที่สำคัญ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการซื้อขาย และมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลมากที่สุดของประเทศ
กิจกรรมการผลิตภายใต้อุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง โดยเฉพาะการแปรรูปกุ้งจากประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน หลั่งไหลเข้ามาทำงานเพื่อสนองการเติบโตขยายตัวทางการผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้แรงงานที่เข้ามาในประเทศไทยไม่เพียงแต่เป็นแรงงานผู้ใหญ่เพียงเท่านั้น หากแต่เป็นเด็กที่ติดตามแรงงานข้ามชาติเข้ามาอาศัยในประเทศไทยนี้ด้วย สิ่งที่น่ากังวลใจอาจจะไม่ใช่ที่พักอาศัยของแรงงานข้ามชาติ แต่เป็นความเสี่ยงที่เด็กเหล่านั้นจะกลายมาเป็นแรงงานเด็ก เข้าสู่วงจรการเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเฉกเช่นกับครอบครัวของเขา จนอาจก่อให้เกิดกิจกรรมที่เข้าข่ายแรงงานบังคับหรือแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ยิ่งไปกว่านั่นเด็กที่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม มีอายุที่ไม่เหมาะไม่ควรกับการเป็นแรงงานอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวหรือกระทั่งกิจการอื่นๆ
จากข้อมูลพื้นที่ฐานเบื้องต้นแสดงให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงที่เด็กข้ามชาติอาจเปลี่ยนสถานภาพสู่การเป็นแรงงานเด็กข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง โดยเด็กที่ไม่อยู่ในระบบของการศึกษามีความเสี่ยงสูงในการเข้าสู่สภาวะการเป็นแรงงานก่อนวัยที่เหมาะสม(อายุ 18 ขึ้นไป) เพราะเด็กกลุ่มนี้ไม่มีพื้นฐานความรู้มากพอ ขาดการพิจารณาสิ่งต่างๆอย่างถี่ถ้วน
สำหรับเด็กที่ไม่มีเอกสารประจำบุคคลมีความเสี่ยงสูงมากในการเป็นแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายและอาจตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถต่อรองสิ่งใดๆได้เลย จนอาจถูกละเมิดโดยเพื่อนร่วมงาน นายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปัจจัยเสี่ยงสุดท้ายที่สำคัญอย่างยิ่งที่สามารถทำให้เด็กเข้าสู่การเป็นแรงงานภายใต้ห่วงโซ่อุปทานของการผลิต เนื่องด้วยเด็กบางคนมีบิดาหรือมารดาที่ได้ทำอาชีพนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม
จากรายละเอียดของข้อมูลพบว่าสภาพการทำงานและเงื่อนไขของการทำงานของแรงงานเด็กข้ามชาติ มีลักษณะงาน สภาพแวดล้อม และเงื่อนไขต่างๆที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กที่ต้องกลายเป็นแรงงานในกิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมงหรือกิจการอื่นๆ
++++++++++++
กรณีศึกษา
1.กรณีศึกษาศึกษาแรงงานเด็กข้ามชาติที่ทำงานภาคประมง
เด็กชาย พอจี (นามสมมติ) อายุ 13 ปี เกิดที่เมืองทวาย ประเทศพม่า อพยพมาจังหวัดสมุทรสาครพร้อมกับบิดามารดาและพี่สาว พ่อและแม่มีอาชีพเป็นแรงงานทั้งหมด พอจีเคยเรียนหนังสือที่ประเทศพม่าจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พอที่จะพูด อ่าน เขียนภาษาพม่าได้
เด็กชายพอจีเริ่มต้นทำงานด้วยการช่วยแม่แกะกุ้งที่ล้งกุ้งใกล้บ้านย่านวัดน้อยนางหงส์ ด้วยความที่พอจีอายุยังไม่ถึง 15 ปี ทำให้การแกะกุ้งของเขาต้องคิดรวมบัญชีเดียวกับแม่ ( บัญชีในที่นี้คือสมุดบันทึกน้ำหนักหรือปริมาณของสัตว์น้ำ) พอจีทำงานแกะกุ้งเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนที่จะย้ายไปลงเรือประมงหาปลาทะเลกับพ่อของเขา
- ล้ง หมายถึง สถานที่แปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น อยู่ในการควบคุมดูแลของกรมประมง เป็นโรงงานประเภท ที่ไม่มีเครื่องจักร
เขาเล่าถึงการทำงานในล้งกุ้งว่าเริ่มทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึง 1 ทุ่ม การทำงานที่นี่ไม่มีวันหยุด “แล้วแต่ว่าจะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ บางครั้งถ้าเหนื่อยและไม่อยากทำ ก็จะขอแม่กลับไปนอน ส่วนใหญ่หลังเที่ยงก็จะกลับไปนอนบ่อยๆ” พอจีแกะกุ้งได้ประมาณ 30 กิโลกรัมต่อวัน ได้รับค่าแรงระบบเหมาคิดตามน้ำหนัก พอจีเคยถูกหักค่าแรงเพราะทำกุ้งเสียแต่เขาไม่รู้ว่าลักษณะใดที่เรียกว่าแกะเสีย “แต่เราก็ไม่รู้เลยว่ากุ้งแบบไหนที่เรียกว่ากุ้งเสีย จะรู้ก็เมื่อเขามาตรวจ”
ส่วนงานในเรือประมง เขารับหน้าที่ลากอวนในทะเลเข้ามาที่เรือ ก่อนที่ลูกเรือคนอื่นจะใช้เครื่องทุ่นแรงยกอวนขึ้นแล้วเอาปลาออกจากอวน จากนั้นพอจีจะช่วยขนปลาออกจากเรือใส่ในถังน้ำแข็ง ถึงการทำงานในเรือประมงจะมีเวลาพักผ่อน แต่เขาไม่สามารถไปเที่ยวเล่นเหมืนเด็กคนอื่นๆ เขายังบอกอีกว่าเขาเองก็อยากเรียนหนังสือโดยเฉพาะเรียนภาษาไทยมากกว่าไปทำงาน
เด็กชายพอจีเป็นตัวอย่างของเด็กข้ามชาติที่กลายมาเป็นแรงงานเด็กในกิจการประมงและต่อเนื่องประมง โดยที่บิดาและมารดาทำงานอยู่ก่อนในกิจการดังกล่าว ทำให้ให้เด็กชายพอจีก้ามเข้าสู่การเป็นแรงงานเด็กข้ามชาติได้โดยง่าย ปัจจัยเสี่ยงข้างต้นที่บิดาและมารดานำพาเด็กเข้าสู่สถานประกอบการหรือแหล่งงานด้วยตนเอง สนับสนุนให้เด็กชายพอจีเริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยทั้งงานแกะกุ้งและงานลูกเรือ ซึ่งเป็นการกีดกั้นโอกาสทางการศึกษา ซึ่งตัวของพอจีเองกำลังอยู่ในเกณฑ์เข้าเรียน และเด็กชายพอจียังคงต้องการเรียนหนังสือต่อ
การที่เข้าสู่วัยของการทำงานเร็วกว่าเกณฑ์อายุขั้นต่ำของแรงงานตามกฎหมายที่กำหนดที่อายุ 15 ปี การที่เด็กยอมรับการเป็นแรงงานเนื่องมาจาก การตัดสินใจของผู้ปกครอง จึงมีลักษณะการจ้างงานที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรมสำหรับเด็ก และทำให้กีดขวางการพัฒนาการตามวัยของเด็กอีกด้วย
2.กรณีศึกษาศึกษาแรงงานเด็กข้ามชาติที่ทำงานเต็มเวลา
ธานีโพ (นามสมมติ) อายุ 15 ปี เชื้อชาติมอญ ครอบครัวและญาติพี่น้องของธานีโพเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยเพื่อต้องการเก็บเงินไว้รักษาป้ากับยายที่อาศัยอยู่ประเทศพม่า เขาเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 และออกจากโรงเรียนที่ประเทศพม่า เพราะพ่อแม่เป็นห่วงและกังวลที่จะต้องอยู่ห่างกัน เขาจึงต้องอพยพมาพร้อมกับครอบครัวเมื่ออายุ 14 ปี โดยเดินทางมาพร้อมกับลุง
ธานีโพเริ่มทำงานแกะกุ้งพร้อมกับแม่ในล้งแห่งหนึ่งที่ลุงทำงานอยู่ พ่อและแม่ไม่ได้บังคับให้เขาทำงาน แต่เขาตัดสนใจทำเอง เพื่อต้องการช่วยเหลือครอบรัว “ไม่ได้แนะนำและสนับสนุนให้ลูกทำงาน แต่ความสมัครใจของลูก ลูกบอกว่าเขาจะช่วยทำด้วย ช่วยกันคนละไม้คนละมือ” แม่ของธานีโพกล่าว นอกจากความรับผิดชอบต่อครอบครัวแล้ว ธานีโพหวังว่าการทำงานของเขาจะช่วยให้น้องชายได้เรียนหนังสือสูงๆ เพื่อไม่ต้องทำงานแบบเขา เพราะงานบางอย่างไม่เหมาะกับเด็ก
ค่านิยมเรื่องความกตัญญูที่ปลูกฝังกันในหมู่แรงงานข้ามชาติ ด้วยการที่ธานีโพแบกรับความคาดหวังหรือความรับผิดชอบต่อสมาชิกในครอบครัว ด้วยความกตัญญูนี้เองจึงทำให้พ่อแม่มองเขามองข้ามบริบทอื่นๆ เช่น สิทธิเด็กในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น
3.กรณีศึกษาศึกษาแรงงานเด็กข้ามชาติที่กำลังศึกษาและทำงานบางเวลา
นีมู (นามสมมติ) อายุ 15 ปี เด็กสาวคนนี้กำลังเรียนหนังสืออยู่ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ที่สถานศึกษาแห่งหนึ่ง เธอเริ่มเรียนในเมืองไทยตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หลังจากย้ายมาเมืองไทยเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเธออาศัยอยู่กับแม่ พี่สาวสองคน พี่เขย และหลานรวม 6 คน ในหอพักใกล้กับล้งและโรงงานที่สมาชิกในครอบครัวทำอยู่ เด็กสาวทำงานครั้งแรกเมื่ออายุ 10 ปีจากการตามแม่มาที่ล้ง “แม่ไม่ดีใจที่ลูกทำงานได้ตั้งแต่เด็ก แม่ก็สงสาร แต่ว่าอยากรู้ว่าลูกทำงานได้แค่ไหน เลยให้ทำ เพราะลูกต้องดูแลตัวเอง” โดยความฝันของนีมูคือการช่วยแม่ทำงานเก็บเงินให้ครอบครัวสำหรับซื้อบ้านที่ประเทศพม่า และเก็บเงินไว้เรียนหนังสือในระบบการศึกษานอกโรงเรียน โดยความคาดหวังเธอจะมีโอกาสศึกษาถึงระดับปริญญาตรี
นีมูเรียนหนังสือวันจันทร์ถึงศุกร์และไปทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ งานที่เธอทำคือการแกะกุ้งในล้งแห่งหนึ่ง โดยคิดค่าแรงตามน้ำหนักกุ้งที่แกะได้และราคาตามขนาดของกุ้ง ที่นี่ไม่มีวันหยุด เธอจึงสามารถมาทำงานเฉพาะวันเสาร์ได้ ที่ล้งแห่งนี้มีเวลาเลิกงานที่ไม่แน่นอน หากวันไหนกุ้งน้อยจะเลิกงานประมาณบ่ายสาม แต่ถ้ามีกุ้งมากอาจเลิกงานช่วงหัวค่ำ โดยปกติแรงงานเข้างานตั้งแต่ 04.00 น.
นีมูเป็นตัวอย่างหนึ่งของเด็กข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาครที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับครอบครัวเป็นจำนวนมาก มีโอกาสและสามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาของไทยแต่ไม่สามารถศึกษาต่อไปจนถึงระดับชั้นสูงสุดอย่างที่เด็กปรารถนา เนื่องมาจากเงื่อนไขทางครอบครัว “เพราะที่บ้านฐานะไม่ดี อยากช่วยแม่ทำงานหาเงิน” โดยสิ่งที่น่าห่วงใยจากกรณีศึกษา หากเมื่อใดที่เด็กข้ามชาติเข้าสู่กระบวนการเป็นแรงงานแล้ว ทำให้มีแนวโน้มที่เด็กจะหลีกลี้หรือหลุดพ้นจากวงจรของแรงงานเด็กข้ามชาติได้ยากยิ่ง เพราะเด็กจำเป็นที่จะต้องรับบทบาทการเป็นแรงงานเต็มตัวอย่างยาวนาน
4.กรณีศึกษาศึกษาแรงงานเด็กข้ามชาติที่มีสภาพการทำงานที่เลวร้าย
แจม (นามสมมติ) อายุ 17 ปี เดินทางเข้ามาภายในประเทศไทยพร้อมพ่อและแม่เมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยผ่านนายหน้า แจมเคยเรียนหนังสือที่ประเทศพม่าจบชั้นประถมศึกษาแต่ไม่ได้เรียนหนังสือต่อที่เมืองไทย เธอพูดไทยได้บ้างแต่ไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้เลย แจมทำงานครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี เป็นงานแกะกุ้งกับพ่อแม่ที่ล้งกุ้งแห่งหนึ่ง ต่อมาล้งกุ้งเลิกกิจการ เธอจึงไปสมัครงานที่โรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง เธอทำงานผลิตปลาซาบะ รับหน้าที่ถอดก้างปลา ซึ่งปลาจะถูกแบ่งครึ่งแล้วส่งมายังแผนกนี้ ปลาครึ่งตัวมีก้างปลาที่ต้องถอดออกจำนวน 15 ก้าง ในวันหนึ่งหัวหน้างานได้กำหนดไว้ว่าจะต้องถอดก้างปลาให้ได้ 8 กระบะ (1 กระบะ = 24 ซีกหรือ 12 ตัว)
สภาพการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลาเช่นนี้ ทำให้แจมยอมรับว่าเป็นงานที่หนักและเธอไม่เคยทำจำนวนตามที่กำหนดไว้ได้ เมื่อถอดก้างปลาไปถึงตัวที่ 8 เธอก็ทำต่อไม่ไหว แต่หากไม่สามรารถทำครบจำนวน 8 กระบะตามที่สถานประกอบการตั้งเป้าหมายไว้ แรงงานจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน
นอกจากนี้เธอยังต้องทำงานกะดึกช่วงเวลาห้าโมงเย็นจนถึงตีหนึ่ง แจมและเพื่อนที่ทำอยู่ด้วยกันจึงหนีงานกลับบ้านมาก่อนบ่อยครั้งและในที่สุดเธอก็ลาออกจากงาน ปัจจุบันแจมออกมาทำงานที่โรงงานแปรรูปอาหารทะเลอีกแห่งหนึ่งและอาศัยอยู่กับน้าในจังหวัดสมุทรสาคร
แจมเป็นตัวอย่างการละเมิดข้อปฏิบัติสากลหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการจ้างเด็กที่อายุไม่ถึง 15 ปี ของสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำขั้นปฐมภูมิหรือล้ง การให้แรงงานเด็กทำงานในเวลากลางคืนของโรงงานแปรรูอาหารทะเล รวมไปถึงมาตรฐานของการผลิต แปรรูปสัตว์น้ำที่ถูกกำหนดขึ้นโดยสถานประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง อาทิ ยอดการผลิตในแต่ละวัน(คิดเป็นน้ำหนัก/ปริมาณ) ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีคุณภาพสูง เช่น เนื้อปลาที่ไร้ก้าง เป็นต้น โดยการทำงานของแจมอยู่ในสภาพการทำงานที่ไม่แตกต่างไปจากแรงงานผู้ใหญ่ และอยู่ในสภาพที่ถือเป็นการบังคับใช้แรงงาน
- พรบ.คุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 12 ว่าด้วยการมิให้จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในงานบางประเภท
- อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 138 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำในการทำงาน ระบุมิให้จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และห้ามเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ในสภาพการทำงานที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือศีลธรรมอันดี
++++++++++
จากรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพการทำงานและเงื่อนไขการทำงานของแรงงานเด็กข้ามชาติสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะงาน สภาพแวดล้อม หรือเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กที่เป็นแรงงานทั้งในกิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง รวมถึงการทำงานในกิจการอื่นๆ ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หากพิจารณาสภาพการทำงานของแรงงานเด็กข้ามชาติแล้วพบว่ามีเด็กหลายคนเข้าสู่ช่วงวัยของการเป็นแรงงานโดยมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งถือเป็นอายุตัวเลขที่น้อยมากสำหรับการเข้าเป็นแรงงาน และถึงแม้เด็กบางคนจะมีอายุที่สามารถเข้าทำงานตามสถานประกอบการได้แล้วนั้น สิ่งที่แรงงานเยาวชนข้ามชาติควรจะได้รับ คือความคุ้มครองตามที่กฎหมายได้ระบุเอาไว้ เพื่อความอยู่รอดและรอดพ้นจากความเสี่ยงอันตรายจากการทำงาน
นอกจากนี้หลายฝ่าย ทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการเข้าสู่วงจรการเป็นแรงงานเด็กก่อนวัยอันควร และตระหนักถึงสิทธิแรงงานข้ามชาติ รวมถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประสานความร่วมมือเพื่อสร้างกลไกป้องกันไม่ให้เด็กเข้าสู่การเป็นแรงงานเด็กข้ามขาติหรือตกอยู่ในสถานการณ์วังวนที่เลวร้าย
อ้างอิงจากรายงานวิจัย: มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) สนับสนุนโดย องค์กรแตร์ เดอ ซอมม์ เยอรมันนี (terre des hommes Germany). (พฤษภาคม 2558), รายงานสถานการณ์เด็กข้ามชาติและแรงงานเด็กข้ามชาติ ในกิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร