2 พฤศจิกายน 2565 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ส.ส. ต่างหารือประเด็นปัญหาอุทกภัย พืชผลการเกษตรเสียหาย ถนนหนทางชำรุด การเยียวยาไม่ถึงประชาชน ตลอดจนคดีความทางการเมืองที่เผ็ดร้อน
อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้หารือประเด็นความเป็นอิสระของผู้พิพากษาศาลอาญาที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา โดยเฉพาะมาตรา 112 ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เตือนว่า “การประชุมสภาในวันนี้ เป็นการหารือเพื่อประโยชน์ของประชาชน อย่าไปไกลถึงสถาบันฯ” และประเด็นนี้ก็ถูกตัดจบไป
แต่ไฮไลท์ประจำวันอยู่ที่ ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ซึ่งหลังจากการแก้กฎกระทรวงเพียง 1 วัน ก่อนสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับ/ไม่รับ ร่าง ‘พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….’ หรือ ‘พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า’ ของพรรคก้าวไกล สภาผู้แทนราษฎรมีมติ 196 ต่อ 194 ไม่เห็นด้วย ร่าง พ.ร.บ. ทั้งฉบับในวาระที่ 3 ส่งผลให้ ร่าง พ.ร.บ. มีอันตกไปหลังจำเป็นต้องลงมติถึงสองครั้ง
ก่อนการลงมติ โกวิทย์ พวงงาม ส.ส. พรรคพลังท้องถิ่นไทย ขอแปรญัตติเนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า แก้ไขมาตรา 3 เปลี่ยนไปจากเดิม โกวิทย์ชี้ว่า การผลิตสุราเพื่อการค้า ควรกระจายอำนาจในการออกใบอนุญาตสู่ต่างจังหวัด และควรมีคณะกรรมการพหุภาคีจากหลายหน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบมากกว่าส่วนกลาง ปัญหาคือ ผู้ผลิตสุราที่ไม่ใช่เพื่อการค้าก็สามารถทำได้แต่อาจเกิดอันตราย ต้องอยู่ภายใต้การกำกับมาตรฐานคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตนคิดว่าคณะกรรมาธิการฯ กำหนดไว้ แต่คงไม่ลงรายละเอียดนัก
วิรัช พันธุมะผล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า การผลิตสุราอย่างไม่มีมาตรฐานจะนำไปสู่การก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน การกำหนดขั้นตอนการตรวจสอบจากอธิบดีกรมสรรพสามิตรนั้นจึงเป็นสิ่งถูกต้อง พร้อมยกตัวอย่างว่า ชาวบ้านบางพื้นที่ไม่รักษาความสะอาดในการผลิต ทั้งยังนำสารกรัมม็อกโซน (ยาฆ่าหญ้า) มาใส่เพื่อเร่งกระบวนการผลิต โดยเน้นย้ำว่า หากตนเป็นผู้เขียนกฎหมายฉบับนี้ จะเขียนรายละเอียดการตรวจสอบขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงประวัติทางคดีความของผู้ผลิตให้มากกว่าที่ระบุไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้ หรือที่กฎกระทรวงฉบับใหม่ของกรมสรรพสามิต
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า แม้มาตรฐานคุณภาพจะไม่ได้ระบุในกฎหมายนี้ แต่ถูกบังคับใช้ตามกฎหมายอื่นอยู่แล้ว ขณะที่ความแตกต่างระหว่างกฎกระทรวงกับกฎหมายฉบับนี้ คือ พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า จะปลดล็อกมากกว่ากฎกระทรวง และกล่าวว่า กฎกระทรวงปลดล็อกเพียงเพื่อสร้างล็อกใหม่
“เอากำลังการผลิต 10 ล้านลิตรของเบียร์ออก แต่ต้องทำ EIA ทั้งที่จริงๆ แล้ว EIA อาจไม่จำเป็นสำหรับโรงเบียร์ขนาดเล็กหรือโรงเบียร์ขนาดที่ไม่ใหญ่มาก” เท่าพิภพกล่าวต่อไปว่า “เราแค่ปลดล็อกทุกอย่าง ใบอนุญาตเบียร์ ก็ต้องเป็นเบียร์ ใบอนุญาตสุรากลั่น ก็ต้องเป็นสุรากลั่น นี่คือสิ่งที่กฎหมายควรออกมา”
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เน้นย้ำถึงศักยภาพของผู้ประกอบการสุราไทย ซึ่งหากถูกกฎกระทรวงควบคุมอยู่เช่นเดิม คงไม่สามารถไปได้ไกลถึงระดับโลก การปลดล็อก ‘ทั้งหมด’ เท่านั้นจึงจะผลักดันอุตสาหกรรมสุราของคนตัวเล็กตัวน้อย เนื่องจากไม่มีการกีดกัน ทั้งการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ขีดศักยภาพการผลิตและกำลังคน ตามวิธีคิดแบบระบบราชการ หรือวิธีคิดแบบกรมสรรพสามิต แน่นอนว่าการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และเป็นการป้องกันการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ราชการที่มักอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายขูดรีดผู้ประกอบการสุรารายย่อยอย่างที่เคยเป็นมา
อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อคืนนี้ มีการประกาศใช้ที่รวดเร็วมากกว่าปกติ จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปเพื่อทำให้กระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ได้รับผลกระทบหรือไม่
ขณะเดียวกัน การลงมติเพื่อรับรองร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าทั้งฉบับในวาระที่ 3 ปรากฎว่า มีผู้ลงมติ 365 ราย มีผู้เห็นด้วย 173 ราย ไม่เห็นด้วย 177 ราย งดออกเสียง 11 ราย และไม่ลงคะแนนเสียง 4 ราย
กระนั้น ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล เสนอให้นับคะแนนใหม่ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ 85 เพราะผลการลงมติห่างกันไม่ถึง 25 คะแนนเสียง และการนับคะแนนใหม่ ต้องใช้วิธีการขานชื่อจึงมีเสียงทัดทานจากพรรคฝ่ายรัฐบาล อย่างไรก็ตามนาย สุชาติ ตันเจริญ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียกให้ ส.ส. กดบัตรแสดงตนเพื่อลงมติและนับคะแนนใหม่โดยการขานชื่อ โดยมีองค์ประชุม 405 ราย ทำให้ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าทั้งฉบับ
หลังจากผ่านไปราว 2 ชั่วโมงครึ่ง นับแต่นับคะแนนใหม่โดยวิธีการขานชื่อ ผลปรากฎว่า เห็นด้วย 194 ราย ไม่เห็นด้วย 196 ราย งดออกเสียง 15 ราย ทำให้ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าถูกปัดตกไป