Brief: ยุบ กอ.รมน. พร้อมปฏิรูปกองทัพ ส.ส.อมรัตน์ ชี้เป็นองค์กรล้าหลัง ผลาญงบ สร้างความแตกแยก 

ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สมควรถูกยุบ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ล้าหลัง สร้างความแตกแยกทางการเมือง และสิ้นเปลืองงบประมาณประเทศ

กอ.รมน. เคยเป็นองค์กรที่มีบทบาทสูงในช่วงที่รัฐต้องสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา ทว่าหลังสิ้นสุดสงครามเย็นและภัยคอมมิวนิสต์หายไป กองทัพไทยยังคงใช้ กอ.รมน. เพื่อแทรกแซงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่มีภารกิจจำเป็น จนเกิด ‘รัฐซ้อนรัฐ’ 

บทบาทของ กอ.รมน. เพิ่มสูงขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2549 จนโครงสร้างบริหารราชการแผ่นดินเกิดการทับซ้อนกัน กล่าวคือ นอกเหนือจากโครงสร้างบริหารทั่วไปของกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย นายกรัฐมนตรียังมีอำนาจสั่งการลงสู่ระดับภาคและระดับจังหวัด ผ่านเครือข่ายอำนาจของ กอ.รมน. ซึ่งไม่เพียงมีอำนาจซ้อนทับกับหน่วยงานพลเรือน แต่ยังมีภารกิจเกินกว่าที่ควรจะเป็น เช่น ปลูกป่า ลดมลภาวะ จัดงานกีฬา ไปจนถึงการจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง

หน้าที่หลักของ กอ.รมน. ในปัจจุบัน คือ ยุติปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทว่าสถานการณ์ความขัดแย้งยังห่างไกลจากคำว่ายุติ ทั้งที่ในแต่ละปี กอ.รมน. ใช้งบประมาณไปกว่า 10,000 ล้านบาท และมีข้าราชการในสังกัดประมาณ 1,200 นาย แต่ยังมีอำนาจเรียกใช้งานบุคลากรจากกองทัพ ตำรวจ และพลเรือนได้ไม่จำกัด จนปัจจุบันมีบุคลากรใต้สังกัดมากกว่า 50,000 นาย และเกิดเหตุการณ์ ‘บัญชีผี’ ที่บุคลากรบางคนมีชื่อกินเงินเดือน แต่ตัวไม่ได้ทำงานในพื้นที่

อีกหนึ่งวีรกรรมของ กอ.รมน. คือ การเปิดเว็บไซต์ Pulony สร้างข่าวปลอมเกี่ยวกับความขัดแย้งของพื้นที่ภาคใต้ เมื่อถูกจับได้ กอ.รมน. จึงอ้างว่า เว็บไซต์ดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก่อนจะยุติการเผยแพร่เนื้อหาในปี 2563 อมรัตน์ยังกล่าวว่า กอ.รมน. เคยทำคลิปบิดเบือนเพื่อใส่ร้ายพรรคอนาคตใหม่ คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล รวมถึงใส่ร้ายว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

การรัฐประหารแต่ละครั้งเพิ่มอำนาจให้ กอ.รมน. มากขึ้น เช่น หลังรัฐประหารปี 2549 มีการปรับโครงสร้าง กอ.รมน. ด้วยการดึงอัยการจังหวัดมาเป็นส่วนหนึ่ง จนทำให้กระบวนยุติธรรมอาจสูญเสียความมีอิสระไป 

อมรัตน์เห็นว่า ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารในปี 2557 กอ.รมน. ใช้อำนาจดำเนินคดีประชาชนไปแล้วกว่า 40,000 คดี ภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่าที่ขับไล่กลุ่มชาติพันธ์ุ ซึ่งมองประชาชนเป็นศัตรูด้วยวิธีคิดแบบทหาร นอกจากนี้ ก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 กอ.รมน. ยังจัดตั้งวิทยากรทหารจำนวน 100 ชุด เพื่อส่งไปบรรยายหลักการประชาธิปไตยแบบ คสช. ให้ประชาชนทั่วประเทศกว่า 83,000 หมู่บ้าน 

กอ.รมน. ยังใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาท จัดคอนเสิร์ตที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน อมรัตน์ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้เข้าร่วมเกือบทั้งหมดมีทรงผมทรงเดียวกัน และผู้ที่ได้ประโยชน์จากงานนี้ มีเพียงเจ้าของห้างสรรพสินค้าและผู้จัดงานเท่านั้น นอกจากนี้ กอ.รมน. ยังพยายามแทรกเข้าไปในโรงเรียนผ่านโครงการ ‘ทางสายใหม่ต้านภัยยาเสพติด’ ตลอดจนผูกขาดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย

ข้อกังวลหลักของ ส.ส.อมรัตน์ คือ กอ.รมน. กำลังรื้อฟื้นการจัดตั้งมวลชนฝ่ายรัฐ ไม่ต่างจากที่เคยทำในสมัยสงครามเย็นที่มีการล้อมปราบนักศึกษาช่วงปี 2519 ขณะนี้สมาชิกของ ‘ไทยอาสาป้องกันชาติ’ ที่ กอ.รมน. ดูแลมีจำนวนถึง 233,000 คน และคนเหล่านี้ก็พร้อมที่จะถูกปลุกระดมเพื่อตอบสนองการป้องกันความมั่นคงของรัฐบาล (หากอ้างอิงงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ มวลชนที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดย กอ.รมน. น่าจะมีมากถึง 600,000 คน)

ยิ่งกว่านั้น ในปี 2555 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) และ รอง ผอ.รมน. เคยส่งหนังสือถึงราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ว่าจะรื้อฟื้นกลุ่มไทยอาสาป้องกันชาติให้เป็นมวลชนหลักในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อมรัตน์เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์พยายามดึงสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง สร้างความแตกแยกในสังคม และคุกคามผู้เห็นต่างอย่างชัดเจน

ดังนั้น อมรัตน์เห็นว่า ควรดึงภารกิจดูแลความมั่นคงภายในประเทศออกจากหน่วยงานทหารและกองทัพ แล้วให้หน่วยงานพลเรือนเป็นฝ่ายดูแล และต้องใช้วิธีการทางการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาหรือวิกฤตภายในประเทศเท่านั้น เพราะหัวใจหลักของนโยบายความมั่นคงคือ ประชาชนทุกคนในชาติ ไม่ใช่สถาบันหรือองค์กรใดโดยเฉพาะ

อมรัตน์และพรรคก้าวไกลจึงมีข้อเสนอดังต่อไปนี้

  1. ยุบ กอ.รมน. ทิ้ง ควบคู่กับการปฏิรูปกองทัพ 
  2. ปฏิรูปสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้กลับมาเป็นองค์กรพลเรือนอย่างที่ควรจะเป็น เอาทหารอาวุโสออกจากตำแหน่งบริหารและเลขาธิการ แล้วให้พลเรือนที่เท่าทันโลกดำรงตำแหน่ง
  3. แก้ไขกฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ คือ 
  • – กฎอัยการศึก ให้อำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกเป็นของรัฐบาลพลเรือน ไม่ใช่ฝ่ายทหาร ควรประกาศก็ต่อเมื่อมีศึกจากภายนอกเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อทำรัฐประหาร และยกเลิกการโอนคดีทั่วไปให้ขึ้นศาลทหาร
  • – พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องได้รับการอนุมัติผ่านสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น 
  • – กฎหมายความมั่นคงมาตรา 116 มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องแก้ไขหลักการเพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้ในคดีการเมืองแบบเหวี่ยงแห 
  1. ลงนามสัตยาบันศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐที่เกินเลย ทั้งนี้ การลงนาม ICC ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 โดยเฉพาะประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างที่มีการกล่าวอ้าง อมรัตน์อธิบายว่า ประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อื่นๆ ก็ลงนามแล้ว เช่น สเปน ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร 
  2. มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดจากการบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีตามข้อหามาตรา 112 มาตรา 116 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็ตาม

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า