วัฒนธรรมการอ่านใต้ระบอบประยุทธ์ การปิดกั้นหนังสือและกำจัดความเห็นต่าง

นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ได้พยายามกล่าวว่าตนเองมีนโยบายส่งเสริมการอ่าน ผ่านแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560-2564 รวมไปถึงการแนะนำหนังสืออีกหลายเล่ม 

เอาเข้าจริงแล้ว วัฒนธรรมการอ่านภายใต้ระบอบประยุทธ์เป็นอย่างไร มีการส่งเสริมความคิดความอ่านให้แก่คนไทยมากน้อยแค่ไหน เราอาจต้องทบทวนดูตั้งแต่ต้นกันอีกครั้ง 

จุดเริ่มต้นที่สำคัญ คือการมองย้อนกลับไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการอ่านในไทย อย่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารอย่าง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยในหมวดที่ 1 หัวข้อ ‘สิ่งพิมพ์’ มาตราที่ 10 ระบุว่า ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีอำนาจออกคำสั่งห้ามนำเข้าหรือเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ในราชอาณาจักรได้ หากสื่อสิ่งพิมพ์นั้นถูกตัดสินว่ามีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 

แน่นอนว่ามีการห้อยท้ายกฎหมายดังกล่าวเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า หากเป็นสิ่งพิมพ์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผบ.ตร. มีอำนาจเต็มที่ในการ ‘เซนเซอร์’ ด้วยเช่นเดียวกัน 

ตลอดระยะเวลาการครองอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวได้ว่ามีสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกรัฐบาลชุดนี้ใช้อำนาจกฎหมายเล่นงานทั้งหมด 3 ฉบับ ดังต่อไปนี้

  1. หนังสือ A Kingdom in Crisis 

เนื่องจากหน่วยราชการไทยพบว่า บทวิจารณ์หนังสือ A Kingdom in Crisis เขียนโดยนาย David Elimer บนหนังสือพิมพ์ออนไลน์ South China Moring Post ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม 2557 และเขียนโดยนาย Andrew Buncombe เขียนลงบนหนังสือพิมพ์ออนไลน์ The Independent ฉบับวันที่ 8 ตุลาคม 2557 มีการอ้างอิงข้อมูลที่ถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายฉบับดังกล่าว 

ผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้า A Kingdom in Crisis มาเผยแพร่ จะถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งให้ยึดและทำลายสิ่งพิมพ์ดังกล่าวด้วย ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557

  1. บทความ ‘Thailand: Collossally Popular’ จากหนังสือ The New Age of the Kings: Modern Monarchies In Malaysia and The World 

ในรายละเอียดคำสั่งเซนเซอร์บทความชิ้นนี้ ระบุสาเหตุเอาไว้ใกล้เคียงกับเล่มก่อนหน้า ทว่าไม่ได้ลงรายละเอียดของโทษเอาไว้ในคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังเช่นเล่มที่ผ่านมา ลงวันที่ประกาศคำสั่ง 4 เมษายน 2559

  1. นิตยสาร Marie Claire ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2558 

เนื่องจากหน่วยราชการไทยพบว่า นิตยสารภาษาฝรั่งเศสนี้มีถ้อยคำดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ เข้าข่ายกฎหมายฉบับดังกล่าว แม้จะไม่ได้มีการระบุโทษของผู้ฝ่าฝืน แต่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่สามารถยึดหรือทำลายนิตยสารฉบับดังกล่าวได้ ลงวันที่ 16 มีนาคม 2559

การ ‘แบน’ หนังสือเหล่านี้ ยังไม่รวมการใช้อำนาจภายใต้กฎอัยการศึก ที่ประกาศออกมาหลังการทำรัฐประหาร ในการปิดปากสื่อมวลชนอีกเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ 3/2557 เรื่อง ห้ามการเสนอข่าว แจกจ่าย จำหน่ายสิ่งพิมพ์ ที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่เปิดช่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพวกสามารถ ‘แบน’ ทุกสิ่งพิมพ์ตามดุลยพินิจของตนได้ 

ท่ามกลางการแบนสิ่งพิมพ์ผ่านกฎหมายเหล่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังเคยใช้คำสั่ง คสช. ที่ 108/2557 เรื่อง การตักเตือนสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม มาใช้ในการ ‘ปราม’ หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ ฉบับที่ 251 อีกด้วย ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2557 ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ยังมีเหตุเจ้าหน้าที่บุกยึดหนังสือ ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง เขียนโดย ธงชัย วินิจจะกูล หนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี และ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เพื่อตรวจสอบว่ามีความผิดเข้าข่ายตามมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นให้ต่อต้านอำนาจรัฐหรือไม่อีกด้วย 

แน่นอนว่า หากนับรวมการใช้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 นอกเหนือไปจากสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว ย่อมมีหนังสือ สิ่งพิมพ์ ที่ถูกมาตรการปิดกั้นการเข้าถึงการอ่านอีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จนถึงยุคปัจจุบันที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี รายชื่อ ‘หนังสือต้องห้าม’ จำนวนมากก็ยังคงถูกปิดกั้นอยู่เช่นเดิม แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงมีอุปสรรคด้านการอ่านอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย 

รายการหนังสือต้องห้าม เคยถูกสั่งทำลาย หรือเคยถูกขอให้งดการจำหน่ายอย่างไม่เป็นทางการต่างๆ มีดังนี้

  1. The King Never Smile โดย Paul Handley สำนักพิมพ์ Yale Press 
  2. A Coup for the Rich โดย รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์
  3. Thailand’s Crisis and the Fight for Democracy โดย Giles Ungpakorn
  4. Asia! ฉบับที่ 8 และฉบับที่ 9 ปี 2007
  5. เก้าบทวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์ จัดพิมพ์โดย เดอะ อิพอคไทมส์
  6. กงจักรปีศาจ โดย Rayne Kruger 

นอกจากรัฐจะพยายามขจัดหนังสือที่นำเสนอความคิดความเห็นที่ต่างออกไปแล้ว ขณะเดียวกันยังมีหนังสือแนะนำให้คนไทยควรอ่าน โดย พล.อ.ประยุทธ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองอ่านหนังสือวันละ 800 บรรทัด ขอให้ข้าราชการนำไปเป็นแบบอย่าง โดยยังแนะนำหนังสือเหล่านั้นไว้อีกด้วย ได้แก่

  1. The Governance of China เขียนโดย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า มีลักษณะการบริหารที่เหมือนกับประเทศไทย เพราะอยู่ในระยะเวลาปฏิรูปเหมือนกัน
  2. Animal Farm เขียนโดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) โดย พล.อ.ประยุทธ์ อธิบายว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีเนื้อหาที่หมายถึงการเมืองไทย แต่ถ่ายทอดได้ดีและน่าสนใจ 
  3. ความฉลาดทางอารมณ์ โดย ทราวิส แบรดเบอร์รี่ (Travis Bradberry)
  4. จินดามณี โดย พระโหราธิบดี พระราชครูในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2215
  5. อื่นๆ (ตามที่ปรากฏกองอยู่บนโต๊ะในรูปถ่ายห้องทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์)
ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า