ปาฐกถาพิเศษ อธิคม คุณาวุฒิ: แด่ผู้กล้าหาญ ในนามของบรรณาธิการ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เรียน ผู้มีเกียรติทุกท่าน

ขอขอบคุณคณะทำงานสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ ที่กรุณาคัดสรรมอบรางวัลอันเป็นเกียรติสูงสุดของอาชีพบรรณาธิการในประเทศนี้ และเนื่องจากคำประกาศเกียรติคุณตอนหนึ่งกล่าวถึงบทบาทบรรณาธิการของผมว่า เป็นเสมือนสะพานเชื่อมยุคสมัยจากโลกสื่อสิ่งพิมพ์สู่โลกดิจิทัล ผมจึงขอใช้โอกาสนี้สร้างสะพานเพื่อเชื่อมต่อสังคมในบางประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบทบาทหน้าที่บรรณาธิการ

หากเราพินิจทำความเข้าใจแก่นสารความเปลี่ยนแปลงจากยุคสิ่งพิมพ์มาสู่ยุคออนไลน์ เราอาจจะสังเกตเห็นว่าลูกคลื่นขนาดมหึมาที่เปลี่ยนภูมิประเทศทางการสื่อสารอย่างสิ้นเชิงนั้น ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนจากกระดาษมาเป็นหน้าจอสมาร์ทโฟน ไม่ใช่แค่เปลี่ยนจากแท่นพิมพ์กูเตนเบิร์กมาเป็นปลั๊กอินกูเตนเบิร์ก อันเป็นระบบ Editor ของ WordPress ซึ่งเป็น CMS (Content Management System) ยอดนิยม ก่อนไปเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียสกุลต่างๆ หากแต่หัวใจของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือคุณค่าใหม่อันนำมาสู่พฤติกรรมใหม่และกำลังจำหลักเป็นวัฒนธรรมใหม่  

ภายในเวลาจำกัด ผมขออนุญาตแลกเปลี่ยนสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมใหม่ 3 คำ 3 ประเด็น เอาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่บรรณาธิการ

accountability

ตั้งแต่เริ่มต้นอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือหนังสือเล่ม ผมพบวัฒนธรรมการทำงานอย่างหนึ่งปรากฏอยู่ในหน้าบทบรรณาธิการ บางกรณีก็อยู่ในหน้าบรรณาธิการตอบจดหมายผู้อ่าน หรือบางกรณีก็ถึงขั้นต้องเปิดพื้นที่หน้ากระดาษเป็นพิเศษ นั่นก็คือเมื่อเกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงผิดพลาดคลาดเคลื่อน หรือข้อผิดพลาดอันเกิดจากกระบวนการผลิต ทั้งหมดนี้หากตรวจสอบพบว่าผิดจริง สิ่งแรกที่บรรณาธิการกระทำคือกล่าวคำขอโทษขออภัย สิ่งที่ทำถัดต่อไปคือลงมือแก้ไขสิ่งผิดให้ถูกต้อง

แน่นอนว่า สาเหตุหนึ่งที่ต้องแสดงออกดังกล่าวก็เนื่องจากปัญหาการฟ้องร้องตามข้อกฎหมาย แต่ในหลายกรณีก็ไม่ได้ถึงขั้นนั้น

เรียนด้วยความเคารพ ผมหาหลักฐานไม่ได้ว่าวัฒนธรรมการทำงานที่เคร่งครัดกับความถูกผิด พร้อมที่จะยืดอกรับความผิดพลาด เอ่ยขอโทษชัดถ้อยชัดคำ และลงมือแก้ไขให้ถูกต้อง มันสืบรากมาจากส่วนไหนของวัฒนธรรมความเป็นไทย…อันมีศรีธนญชัยเป็นแบบเบ้า

หลักฐานที่พอสืบได้ก็คือ นับตั้งแต่ โยฮันส์ กูเตนเบิร์ก ประดิษฐ์แท่นพิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1450 แท่นพิมพ์ของเขาก็เปลี่ยนโลกของการผลิตหนังสือจากยุคโบราณในกรีกและอียิปต์ มาสู่อุตสาหกรรมหนังสือแพร่ไปทั่วยุโรป ผู้ที่ทำหน้าที่เลือกสรรเรื่องที่จะตีพิมพ์ ทำความตกลงเงื่อนไขการทำงานกับผู้เขียน ตรวจทานปรับแก้ข้อความ จัดเตรียมเนื้อหาเข้าสู่ขั้นตอนการพิมพ์ ดูแลคุณภาพกระบวนการพิมพ์ ตลอดจนคิดอ่านวางแผนการจำหน่าย ก็คือบรรณาธิการ

อาจกล่าวได้ว่า ระบบบรรณาธิการได้วางรากฐานในโลกตะวันตกมาตั้งแต่บัดนั้น ผ่านวิวัฒนาการและปรับเปลี่ยนหลักคิดการทำงานมาตลอดหลายร้อยปี สิ่งเหล่านี้วิวัฒน์ควบคู่ไปกับวัฒนธรรมของสังคมตะวันตก ซึ่งมีถูกมีผิด ได้รับการยอมรับและไม่ยอมรับ แปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขเวลา

เป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากว่า โดยเงื่อนไขของสังคมที่ก่อรูปวิวัฒนาการขึ้นมาด้วยวัฒนธรรมการเขียนและการพิมพ์ ย่อมเคร่งครัดจริงจังกับการกระทำและการแสดงออกมากกว่าสังคมมุขปาฐะพูดปากเปล่าแบบสังคมไทยยุคโบราณ เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนักที่คำว่า accountability จึงไม่ใช่คำศัพท์พื้นฐานที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคย เนื่องจากมันไม่ใช่พฤติกรรมปกติที่อยู่ในวัฒนธรรมของเรา กระทั่งไม่มีคำแปลที่ครอบคลุมความหมาย คำแปลเท่าที่ยอมรับกันและใช้ในปัจจุบันคือ ความรับผิดรับชอบ

เพราะฉะนั้น เราจึงได้เห็นพฤติกรรมคนเฒ่าตกยุคตกสมัยบางคนเอ่ยคำขอโทษโดยปราศจากท่าทีทางวัฒนธรรมที่ถูกต้องรองรับ ถึงเวลาจนมุมไปต่อไม่ได้ก็ก้มหน้างุดๆ พูดจาส่งๆ ว่า “ขอโทษแล้วกัน” ซึ่งสะท้อนถึงการไม่รู้จักอารยธรรมวิถีปฏิบัติของการทำผิดแล้วกล่าวขอโทษ

บทบาทหน้าที่บรรณาธิการสอนให้ผมรู้จักความสำคัญของคำคำนี้ตั้งแต่วันแรกๆ ของการอ่าน มันเป็นข้อเตือนใจว่าทุกข้อเขียนทุกการแสดงออกล้วนถูกบันทึกเป็นหลักฐาน นี่คือวัฒนธรรมที่สืบรากมาจากสิ่งพิมพ์

คำเตือนจากโลกสมัยใหม่ก็คือ ทุกวันนี้มีสิ่งที่เรียกว่ารอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) ผู้ที่โตมากับโลกของการพูดปากเปล่า วันนี้พูดอย่าง พรุ่งนี้ทำอีกอย่าง กลับกลอกปลิ้นไปมา ยังเข้าใจว่าคำพูดและการกระทำจะสูญหายไปในอากาศ เมื่อเผชิญกับระบบการค้นหลักฐานอันฉับไวและประจักษ์ชัดแจ้ง ย่อมต้องประสบชะตากรรมน่าอเนจอนาถ ถูกเบียดขับออกจากพื้นที่ความน่าเชื่อถืออย่างรวดเร็ว

integrity

แม้นว่า accountability จะเป็นวัฒนธรรมที่ควรสร้างให้สำนึกอย่างจริงจัง แต่ในทางปฏิบัติผู้มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนย่อมไม่มีใครมีความสุขกับการต้องเอ่ยปากขอโทษ หรือมีเหตุบกพร่องให้ต้องออกแรงแก้ไขทุกครั้งเมื่อผลงานเผยแพร่

หากพิจารณาขอบเขตการทำงานของบรรณาธิการดังที่กล่าวไปเบื้องต้นว่า งานบรรณาธิการเริ่มต้นจากการคัดสรรเรื่องที่จะเผยแพร่ สื่อสารทำความตกลงกับผู้เขียน ตรวจทานปรับแก้ต้นฉบับ ตัดสินใจให้ความเห็นหรือกระทั่งลงมือทำงานออกแบบหน้าตาก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดพิมพ์หรือเผยแพร่ ตลอดจนวางแผนจัดจำหน่าย ทั้งหมดนี้จะยิ่งทวีความบันเทิง หากต้องบริหารองค์กร บริหารคน และบริหารความอยู่รอดทางธุรกิจควบคู่ไปด้วย

เราจะเห็นว่าขอบเขตความรับผิดชอบดังกล่าว นอกจากจะเรียกร้องทักษะหลากหลายด้านแล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะต้องรับมือแรงปะทะเสียดสีจากทั่วสารทิศ

ในสังคมที่มีวัฒนธรรมจึงมีคำอีกคำหนึ่งคอยกำกับการทำงาน นั่นคือคำว่า integrity ซึ่งก็อีกนั่นแหละครับ คำคำนี้ยังไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยตรงตัวและครอบคลุมความหมายทุกมิติ บ้างก็บอกว่าความซื่อตรง บ้างก็ว่าเป็นความสง่างาม บ้างก็ว่าน่าจะมีความหมายไปถึงความครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

หากเปิดพจนานุกรมเพื่อหาอ้างอิง กลุ่มคำที่ Cambridge Dictionary ยกตัวอย่างประโยคขึ้นมาอธิบายเพื่อความหมาย integrity ประกอบไปด้วยคำว่าซื่อตรง (honest) คุณภาพ (quality) หลักการ (principles) มืออาชีพ (professional) มาตรฐาน (standard) ศีลธรรมจรรยาบรรณ (moral) กระทั่งมีศิลปะมีรสนิยม (artistic)

ตามความเข้าใจของผม บรรณาธิการเป็นอาชีพหนึ่งที่เรียกร้อง integrity อย่างสูง แต่ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องทุกอาชีพต่างก็ต้องการวัฒนธรรมนี้ เราจะสังเกตเห็นว่าแทบทุกครั้งที่มีประเด็นความขัดแย้งทางสังคม ก่อให้เกิดความสับสน หาหลักการแนวทางการตัดสินใจเป็นมาตรฐานเดียวกันไม่ได้ รากของปัญหาล้วนเกิดขึ้นจากเราไม่มี integrity ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งสิ้น

เราไม่มีวัฒนธรรมการทำงานที่ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ขอบเขตรับผิดชอบงานสอดคล้องกับเพดานศักยภาพ หรือพูดง่ายๆ คือมีบทบาทหน้าที่ ประกอบสัมมาชีพด้วยการทำในสิ่งที่ตนเองมีความรู้ความชำนาญ

โครงสร้างอำนาจโบราณ ทำให้เคยชินกับการเห็นคนหยาบช้า ขีดความรู้ความสามารถต่ำกว่ามาตรฐาน ขึ้นมามีอำนาจโดยการละเมิดทุกกติกา จากนั้นก็ตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ โดยทำลายหลักการสำคัญครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อหายนะต่อปัจจุบัน และเหนี่ยวรั้งความเจริญสร้างภาระผูกพันไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต

การสยบยอมกับโครงสร้างอำนาจโบราณอันเหลื่อมล้ำให้ประโยชน์และข้อยกเว้นแต่กับอภิสิทธิ์ชน เป็นสาเหตุสำคัญที่ไม่สามารถผลักดัน integrity ให้เป็นวัฒนธรรมปกติ เนื่องจาก integrity เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมที่ผู้คนมีเกียรติเสมอกัน

อย่างไรก็ดี เท่าที่มองเห็นปรากฏการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมมีความหวังว่าในบรรดาคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นพลังหลักของสังคม พวกเขาตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ และกำลังออกแรงสร้างข้อตกลงใหม่ๆ ในการอยู่ร่วมกัน ทั้งนี้โดยเงื่อนไขของโลกปัจจุบัน มันย่อมไม่ใช่แค่การอยู่ร่วมกันในขอบเขตพรมแดนประเทศ แต่ต้องสามารถยืนหลังตรงพูดกับชาวโลกรู้เรื่อง เนื่องจากมีความรู้ ความเข้าใจ และนับถือคุณค่าชุดเดียวกัน

ศีลธรรมใหม่

จากที่กล่าวสองข้อข้างต้น ดูเหมือนว่าบทบาทหน้าที่บรรณาธิการนอกจากจะต้องเป็นคนแรกที่แบกรับข้อผิดพลาดแล้ว ยังถูกเรียกร้องให้มีทักษะความชำนาญอันหลากหลาย กระทั่งหากมีความรอบรู้ได้ก็จะยิ่งนับเป็นเรื่องประเสริฐ

อย่างไรก็ดี ในโลกปัจจุบันทุกท่านก็คงพอมองเห็นและเข้าใจร่วมกันว่า เรื่องราวแต่ละประเด็นต่างถมทับซับซ้อน ข้อมูลความรู้แตกย่อยลงลึกตามความสนใจเฉพาะกลุ่ม เพราะฉะนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่คนคนเดียวจะมีขีดความสามารถรอบรู้ทุกสิ่งทุกเรื่อง

สำหรับอาชีพบรรณาธิการต่อให้เรายอมรับว่าไม่สามารถรู้ทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยที่สุด บรรณาธิการจำเป็นต้องรับทราบสิ่งที่เรียกว่าคุณค่าใหม่ มาตรฐานใหม่ หรือที่ผมอยากจะใช้คำว่า “ศีลธรรมใหม่” เพื่อสื่อสารกับหลายๆ ท่านที่นั่งอยู่ในห้องประชุมแห่งนี้ได้เป็นอย่างมิตร สอดคล้องกับจริตมีศีลมีธรรม

ผมขอยกตัวอย่างการเงินการธนาคารยุคใหม่ หัวข้อการประเมินที่แนวร่วมองค์กร fair finance ใช้ประเมินธนาคารนั้น เขาประเมินจากหลายปัจจัยมากไปกว่าเงินทุนสำรอง เงื่อนไขอัตราดอกเบี้ย หรือแม้กระทั่งความเสถียรของแอพพลิเคชั่น แต่ผนวกรวมคุณค่าศีลธรรมใหม่ๆ โดยพิจารณาจากนโยบายธนาคาร อาทิ ธนาคารแห่งนั้นเคารพหลักสิทธิมนุษยชนแค่ไหน เคารพสิทธิแรงงานเพียงใด คำนึงถึงความเท่าเทียมและหลากหลายทางเพศหรือไม่ มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้เพียงใด ปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจค้าอาวุธหรือไม่ มีนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงประเด็นสุขภาพอย่างไร เป็นต้น

เช่นเดียวกันครับ ในแง่การเขียนและการสื่อสาร มันก็มีหลักศีลธรรมใหม่คอยกำกับการทำงานไม่ให้เราก้าวล่วง อาทิ ประเด็นเพศสภาพ สีผิว ร่างกาย วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ เป็นต้น

ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อตกลงใหม่ดังกล่าว ทำให้บรรณาธิการรู้เหตุผลว่า เหตุใดเราจึงต้องแก้ไขคำว่า “อินเดียนแดง” (หรือหนักกว่านั้นคือสะกดว่า “อินเดียแดง”) เปลี่ยนเป็นคำว่า “ชนพื้นเมืองอเมริกัน” เหตุใดเราจึงเลือกใช้คำว่า “ผู้บกพร่องทางสติปัญญา” หรือ “ผู้บกพร่องทางสมอง” แทนคำว่า “คนปัญญาอ่อน” เหตุใดจึงต้องละเลี่ยงการตั้งฉายาบุคคลสาธารณะโดยใช้ลักษณะร่างกาย อาทิ อ้วน เตี้ย ดำ  

ทั้งนี้รวมไปถึงไม่เอาชีวิตและความตายทางการเมืองมาเป็นการ์ตูนตลก ไม่เอาภาพเด็กหญิงในเครื่องแบบนักเรียนที่ออกไปชุมนุมบนถนนมาเอ่ยถึงในเชิงล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ใช้ทักษะการเขียนยั่วยุส่งเสริมให้ผู้อ่านผู้ติดตามเพิกเฉยหรือกระทั่งเห็นดีเห็นงามกับการทำร้ายร่างกายผู้เห็นต่างทางการเมือง เป็นต้น

ผมขอเรียกเงื่อนไขข้อตกลงเหล่านี้ว่าศีลธรรมใหม่ มันเป็นกฎการทำงานที่บรรณาธิการจำเป็นต้องยึดถือ โดยไม่ต้องเอ่ยอ้างใช้ภาษาบาลีแทรกอยู่ในถ้อยคำและตัวอักษร

แน่นอนครับ ข้อตกลงอันเป็นคุณค่าศีลธรรมใหม่นี้ ไม่มีทางงอกขึ้นมาจากเนื้อดินที่ผู้คนคลั่งอำนาจผูกขาดความดีความชั่วตามใจตัวเอง หากแต่มันถักทอสอดประสานกิ่งก้านขึ้นมาจากรากเดียวกัน นั่นคือความเคารพต่อสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค อันเป็นหัวใจของกติกาการอยู่ร่วมกันภายใต้หลักนิติรัฐและประชาธิปไตย

ท่านทั้งหลายครับ ผมเข้าใจดีว่าบางท่านอาจจะไม่ชอบขี้หน้าหรือเบื่อหน่ายท่าทีท่วงทำนองของนักประชาธิปไตยบางคน ข้อนี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ปัญหาน่าหนักอกหนักใจ แต่เมื่อใดก็ตามที่นักเขียนหรือบรรณาธิการ ล้ำเส้นหันไปหรี่ตาสมาทานอำนาจเผด็จการ จากนั้นก็นำเรื่องสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และประชาธิปไตย มาเป็นคำเสียดสีทีเล่นทีจริง แปรรูปออกมาเป็นมุกตลกอารมณ์ขันไร้รสนิยม เพิกเฉยหรือกระทั่งอดไม่ได้ที่จะแสดงความพึงพอใจเมื่อเห็นชะตากรรมอันเจ็บปวดของคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย ผมขอเรียนว่าท่านกำลังสูญเสียต้นทุนสำคัญของวิชาชีพ

ต้นทุนสำคัญที่สุดของนักเขียน นักสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะคนเป็นบรรณาธิการคือความน่าเชื่อถือ ความน่าเชื่อถือดังกล่าวจะมีค่าอันใด หากมันมิได้ใช้ไปเพื่อค้ำยันหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของผู้คน

ผมคงไม่ต้องกล่าวย้ำในที่แห่งนี้ว่า เจตนารมณ์ของ อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง ในการก่อตั้งสมาคมภาษาและหนังสือฯ ก็เพื่อต้องการให้มีองค์กรทำหน้าที่เป็นร่มเงาคุ้มครองเสรีภาพของนักเขียน รายละเอียดหลักฐานถ้อยคำนี้ปรากฏใน วารสารภาษาและหนังสือ ฉบับที่ 19 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2519 สัมภาษณ์โดย อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อีก 2 ปีต่อมาได้รับการเผยแพร่อีกครั้งในนิตยสาร โลกหนังสือ ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2521

สุดท้ายนี้ มีถ้อยคำหนึ่งในคำประกาศเกียรติคุณเอ่ยถึงผมว่า กล้าหาญในการวิพากษ์ปัญหาสังคมแม้นว่าจะเป็นเนื้อหาซึ่งทวนกระแสหลักก็ตาม ผมขอส่งมอบเกียรตินี้ไปยังกลุ่มบุคคลที่มีความกล้าหาญมากกว่าผมหลายเท่า ขออนุญาตเอ่ยนาม

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

พริษฐ์ ชิวารักษ์

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

อานนท์ นำภา

ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม

ภาณุพงศ์ จาดนอก

ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

รวมถึงนักโทษทางการเมืองที่ถูกจับกุมคุมขังด้วยกฎหมายไม่เป็นธรรมทุกคน ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอีกไม่กี่วันข้างหน้า

เผด็จการทุกรูปแบบจงพินาศ ราษฎรจงลุกขึ้นยืนหยัด เพื่อบอกกล่าวยืนยันว่าเราต่างมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมประเทศนี้เท่ากัน

ขอบคุณที่รับฟังครับ 

Author

อธิคม คุณาวุฒิ
เริ่มต้นชีวิตคนทำหนังสือหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 รับหน้าที่บรรณาธิการครั้งแรกปี 2543 ปี 2549 ก่อตั้งนิตยสาร WAY รับหน้าที่บริหารจัดการควบคุมทิศทางองค์กรเป็นงานหลัก ให้คำปรึกษาหารือ ปัดเป่าทุกข์โศก แก้ไขปัญหาชีวิต อกหัก รักคุด ให้พี่น้องญาติสนิทมิตรสหาย เป็นงานอดิเรก มีงานเขียนรวมเล่มออกมาแล้ว 8 เล่ม ‘พ่อหล่อสอนลูก’ เป็นผลงานเล่มล่าสุดเมื่อปี 2559

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า