ล่มสลายหรือไปต่อ…อุตสาหกรรมหนังสือกับมรสุมรอบทิศ

ตลาดหนังสือในประเทศไทย ปี 2557 มีมูลค่ารวมสูงถึง 29,300 ล้านบาท แต่เมื่อถึงปี 2563 กลับเหลือเพียง 12,500 ล้านบาท ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทย และหากเทียบเคียงกับสถานการณ์ปัญหาที่ตลาดหนังสือโลกกำลังเผชิญ มีความเหมือนหรือต่างอย่างไร 

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคากระดาษสำหรับกระบวนการตีพิมพ์ของบรรดาสำนักพิมพ์อังกฤษพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 70 จากราคาเดิม สืบเนื่องจากค่าไฟที่แพงขึ้นกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ ขณะเดียวกันผู้จัดจำหน่ายอย่าง The Bookseller ในอังกฤษเองก็รายงานว่า ร้อยละ 68 ของจำนวนพนักงานสำนักพิมพ์ในอังกฤษมีภาวะหมดไฟ (Burned-out) ซึ่งแสดงถึงสภาพปัญหาสำคัญที่คนในวงการสิ่งพิมพ์ยุโรปกำลังเผชิญ

ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังสหรัฐอเมริกา แม้ว่ารูปแบบของหนังสือเล่มจะยังตอบโจทย์การอ่านเป็นอันดับ 1 โดยในปีล่าสุดสามารถทำยอดการขายทะลุ 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้แล้ว แต่การเพิ่มจำนวนของหนังสือเสียงและหนังสืออิเล็กทรอนิก (e-book) ก็กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเว็บไซต์สถิติ Statista ได้ระบุเพิ่มเติมว่า ความท้าทายปัจจุบันของวงการหนังสือประการหนึ่งคือ ความนิยมของสื่อดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมหนังสือเล่มในอนาคตอย่างชัดเจน 

ดังนั้นไม่อาจจะปฏิเสธได้เลยว่า อุตสาหกรรมหนังสือโลกกำลังเข้าสู่สภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ อันเป็นผลพวงจากสภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ สงคราม และโรคระบาดโควิด-19 ขณะเดียวกันการ disruptive ของสื่อใหม่ๆ ที่เริ่มเข้ามาแทนที่ก็มีผลกระทบมากยิ่งขึ้น การสำรวจแง่มุมเหล่านี้ให้รอบด้านจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากกว่าที่เคยเป็นมา

พิษเศรษฐกิจ ภัยสงคราม โรคระบาด กับความยากแค้นของสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก

สำนักข่าว The Economist รายงานว่า ในยุคปัจจุบันที่ยุโรปและทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขณะเดียวกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ยังคงทิ้งรอยแผลเอาไว้ให้แก่ภาคเศรษฐกิจ ท่ามกลางสภาพบรรยากาศเช่นนี้ เหล่านักอ่านจะพบได้ว่าบรรดาหนังสือที่วางแผงในปัจจุบัน หากเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็กมักจะปรากฏร่องรอย ‘ความยากแค้นของยุคสมัย’ อยู่ในรูปเล่ม เนื่องจากได้รับผลกระทบมากกว่าสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่นั่นเอง

ในขั้นแรก ผู้อ่านจะพบว่ากระดาษมีคุณภาพลดลงเนื่องจากการลดต้นทุน ต่อมาจะเริ่มสังเกตเห็นว่าระยะห่างระหว่างตัวอักษรแคบลงเป็นอย่างมาก ในบางกรณีสำนักพิมพ์ถึงกับย่นระยะการเคาะระหว่างคำอีกด้วย กรณีเช่นนี้หนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Swift Press อย่าง Diana Broccardo ระบุไว้ว่า “เล็กๆ ถ้ารวมกันก็จะมาก” การลดสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ หากรวมกันแล้วก็จะช่วยประหยัดไปได้มาก โดยเฉพาะจำนวนช่องว่างที่ไม่จำเป็นระหว่างตัวอักษร อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว The Economist ระบุว่า สภาวะเงินเฟ้อช่วงสงครามถือเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาตลาดวงการหนังสือ โดยเฉพาะการตัดลดส่วนเกินจำนวนมากทิ้งไป

ข้อมูลจากฝั่งกลุ่มสำนักพิมพ์อินดี้ในลอนดอนอย่าง Black Spring Press Group ทำการแจกแจงยอดค่าใช้จ่ายในหนังสือหนึ่งเล่มออกมา พบว่าหากนำราคาบนหน้าปกหนังสือหนึ่งเล่มมาตั้งแล้ว ตัวเลขรายได้ร้อยละ 45 จากราคาปก จะแบ่งออกได้ดังนี้

  1. ผู้เขียนจะได้ร้อยละ 6-15 จากราคาปก
  2. สายส่งหนังสือจะได้ร้อยละ 15 จากราคาปก
  3. ผู้จัดจำหน่ายจะได้ร้อยละ 15 จากราคาปก

ขณะที่ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 55 ของราคาปก จะถูกแบ่งเป็นค่าตอบแทนสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตหนังสือเล่มหนึ่งให้เสร็จสมบูรณ์ เช่น ค่าตอบแทนบรรณาธิการ ค่าตอบแทนนักพิสูจน์อักษร ค่าตอบแทนนักจัดรูปเล่ม ค่าตอบแทนนักออกแบบหน้าปก ค่าตอบแทนโรงพิมพ์ ค่าตอบแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดส่งหนังสือไปยังโกดังหรือร้านหนังสือ ค่าตอบแทนนักการตลาดและการประชาสัมพันธ์ รวมถึงยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากตามแต่กรณีจำเป็น

ท้ายสุดกำไรที่สำนักพิมพ์จะได้รับจึงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 จากราคาปกเท่านั้น ซึ่งสำนักพิมพ์อิสระที่มีกำลังทุนไม่มากนักมักพิมพ์หนังสือแต่ละครั้งเพียงไม่เกิน 1,000 เล่มต่อ 1 ปก และยังคงเป็นเรื่องยากที่จะสามารถขายได้หมด ซึ่งตามปกติแล้วจะขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 250 เล่มเท่านั้นต่อยอดพิมพ์แต่ละครั้ง

สิ่งที่ Black Spring Press Group พยายามนำเสนอคือ หากค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ค่ากระดาษที่ใช้ในการหีบห่อหนังสือ หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายในการประชุมงาน (เช่น ค่ากาแฟนักเขียน) เพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ซึ่งเป็นผลกำไรที่สำนักพิมพ์ควรจะได้รับตามปกติ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตั้งราคาหนังสือให้สูงขึ้น และเมื่อราคาหนังสือถีบตัวสูงขึ้นก็ยังยิ่งผลักกลุ่มผู้อ่านออกไปจากตลาดหนังสือ โดยเฉพาะในประเทศที่มีค่าครองชีพสูง อีกทั้งค่าใช้จ่ายครัวเรือน ค่าสาธารณูปโภค หรือค่าอาหารก็ถีบตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

งานหนัก แต่เงินเบา ภาวะหมดไฟของหนูถีบจักรในวงการหนังสือ

ไม่ใช่แค่สภาวะเลวร้ายทางเศรษฐกิจจะส่งผลกับการผลิตหนังสือเล่มเพียงเท่านั้น แต่ยังบีบให้คนที่ทำหน้าที่ในสายพานการผลิตหนังสือเล่มเหล่านั้นค่อยๆ ล้มหายตายจากออกไปจากวงการอีกด้วย

ผู้จัดจำหน่ายอย่าง The Bookseller รายงานว่า ร้อยละ 68 ของจำนวนพนักงานสำนักพิมพ์ในอังกฤษตกอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burned-out) โดยส่วนมากมองว่าเป็นเพราะภาระงานที่หนักขึ้น วัฒนธรรมองค์กรที่กดดันให้ลูกจ้างต้องมีผลิตภาพ (productivity) มากขึ้น ไปจนถึงเรื่องรายได้และการเลื่อนขั้นในธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ยากกว่าธุรกิจอื่น

“ในปัจจุบันต้องขอบคุณช่องทางสื่อสารใหม่ๆ ที่ทำให้สำนักพิมพ์ได้รับรู้ปัญหามากขึ้น ความทุกข์ที่มีมาตลอดแต่แรก อย่างอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงานในสายพานการผลิตหนังสือ การเลื่อนขั้นในสายอาชีพที่เป็นไปได้ยาก สิ่งเหล่านี้ถูกรับฟังได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก” ผู้บริหารระดับสูงของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์อย่างไม่ระบุนามกับเว็บไซต์ The Publisher Weekly 

ขณะที่ในฝั่งของลูกจ้างได้ให้สัมภาษณ์ไว้เช่นเดียวกันว่า “คนที่มีความสนใจ มีงานอดิเรก หรือมีสิ่งอื่นที่อยากทำนอกสายงานนี้จะไม่มีความสุข เพราะมันยากมากที่จะรักษาสมดุลของชีวิตกับการทำงานในธุรกิจหนังสือ” รวมไปถึงปัญหาใหญ่อย่างการสร้างครอบครัว “ฉันคงทำงานในวงการนี้ต่อไปไม่ได้ถ้าฉันมีลูก ฉันได้ยินมาตลอดว่า พวกบรรณาธิการมักลาออกเวลามีลูก เพราะทำเงินได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กสักคน”

จากการสำรวจฐานเงินเดือนเฉลี่ยของลูกจ้างในกลุ่มธุรกิจการพิมพ์ในสหรัฐ โดย The Publisher Weekly พบว่า ในปี 2013 ลูกจ้างเพศชายมีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 78,000 เหรียญสหรัฐ เพศหญิงอยู่ที่ 59,000 เหรียญสหรัฐ และชะงักงันอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน จนกระทั่งปี 2021 มีการสำรวจพบว่า เพศชายเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 เหรียญสหรัฐ ขณะที่เพศหญิงเพิ่มขึ้นเป็น 62,750 เหรียญสหรัฐ โดยกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า อัตราเงินเดือนในปี 2021 เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 3 ของเงินเดือนทั้งหมด แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในสภาวะเงินเฟ้อก่อนปี 2022 เสียด้วยซ้ำ ขณะที่บางแห่งเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 45,000 เหรียญเท่านั้น

ด้วยปริมาณคนทำงานในวงการที่น้อยลงทุกวันจากหลายสาเหตุ ทว่าปริมาณต้นฉบับที่ถูกส่งไปถึงสำนักพิมพ์กลับเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ส่วนหนึ่งเพราะขั้นตอนการส่งต้นฉบับง่ายขึ้นด้วย e-mail ดังนั้นบรรณาธิการและเหล่าผู้ช่วยจึงต้องใช้เวลาอ่านต้นฉบับมากขึ้น และส่วนมากมักล่วงเลยชั่วโมงทำงานปกติ ขณะเดียวกันสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ก็ส่งผลให้เกิดการปรับลดอัตราลูกจ้างจำนวนมาก บรรณาธิการหลายคนจึงขาดผู้ช่วยบรรณาธิการที่เพียงพอต่อการทำงาน

ประกอบกับการสำรวจที่พบว่าในหมู่พนักงานกลุ่มธุรกิจการพิมพ์ช่วงอายุต่ำกว่า 30 ปี ปัญหาใหญ่ที่สุดที่ถูกโหวตเป็นลำดับ 1 ก็คือปัญหารายได้ที่ต่ำ ส่วนปัญหาด้านความยากลำบากในการเลื่อนตำแหน่งเป็นลำดับที่ 2 และปัญหาการเพิ่มขึ้นของภาระงานเป็นลำดับที่ 3 ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ในสหรัฐ เคยถึงกับออกมาตอบโต้ปัญหาเหล่านี้ว่า “ทุกอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ก็จ่ายค่าตอบแทนในระดับค่าจ้างขั้นต่ำกันหมดนั่นแหละ ทั้งวงการภาพยนตร์ ละครเวที พิพิธภัณฑ์ศิลปะ และสิ่งพิมพ์”

ปัญหาด้านสภาพเศรษฐกิจจึงส่งผลต่อทิศทางการเติบโตของแวดวงธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งรายได้ที่น้อย ภาระงานที่มาก และการเลื่อนตำแหน่งที่ต้องใช้เวลายาวนาน ยิ่งบีบให้คนในวงการค่อยๆ ทยอยลาออก ขณะที่คนนอกก็เริ่มไม่อยากจะเข้ามาในสายอาชีพนี้มากขึ้น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะความนิยมของโซเชียลมีเดียที่เริ่มเข้ามาแทนที่ และการระบาดขนาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้สังคมเริ่มเห็นด้านทุกข์ยากของวงการหนังสือสิ่งพิมพ์มากกว่าเดิม ทั้งหมดนี้ทำให้ The Publisher Weekly ระบุว่า เป็นยุคสมัยที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์มีความยากลำบากมากขึ้นในการแสวงหาคนรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบ

เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มทุเลาลงแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะได้รับแก้ไขมากน้อยเพียงใด เป็นสิ่งที่บรรดานักอ่านและสังคมโลกต้องจับตามอง

ทิศทางวงการหนังสือไทยในสายลมของความเปลี่ยนแปลง

แม้ว่าตลาดอุตสาหกรรมหนังสือไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรงจากภาวะสงครามเหมือนในตลาดหนังสือตะวันตก แต่ทิศทางของอุตสาหกรรมนี้ก็กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยสามารถสังเกตได้จากข้อมูลรายงานประจำปี 2021 ของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ดังต่อไปนี้

ภาพรวมตลาดอุตสาหกรรมหนังสือในไทยมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 มีมูลค่ารวมสูงถึง 29,300 ล้านบาท ปี 2560 ลดลงมาอยู่ที่ 23,900 ล้านบาท ก่อนจะตกวูบลงมาในปี 2563 เหลือเพียง 12,500 ล้านบาท ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ประกอบกับสถิติการจดแจ้ง ISBN (เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ) พบว่าช่วงปี 2559 มีจำนวนถึง 22,535 หมายเลข แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2563 กลับลดลงมาเหลือเพียง 17,911 หมายเลข (แม้ในปี 2564 จะมีวี่แววปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 18,291 หมายเลขก็ตาม) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อุตสาหกรรมหนังสือไทยอยู่ในระยะ ‘ขาลง’ และซบเซากว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ แม้ว่าหนังสือและสิ่งพิมพ์จะยังคงเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้อ่านอันดับ 1 มาโดยตลอด ถึงจะปรับตัวลดลงไปบ้าง แต่รายได้ของบริษัทในเครือผู้ผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกกลับมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยในปี 2561 บริษัท MEB ทำรายได้อยู่ที่ประมาณ 260 ล้านบาท และเมื่อเข้าสู่ปี 2564 สามารถทำรายได้มากถึงประมาณ 1,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัท OOKBEE ในปี 2561 ทำรายได้อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท เมื่อเข้าสู่ปี 2563 ก็สามารถไต่ระดับขึ้นไปถึงประมาณ 300 ล้านบาท การเติบโตที่สวนทางระหว่างมูลค่าตลาดหนังสือและสิ่งพิมพ์ กับรายได้ของบริษัทหนังสืออิเล็กทรอนิก จึงนับว่าน่าสนใจอย่างมีนัยสำคัญ

ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้สรุปเอาไว้ในช่วงท้ายของรายงาน ว่าในปี 2021 อุตสาหกรรมหนังสือของไทยคาดว่าได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 รวมไปถึงมีปัญหาจากสภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด สำนักพิมพ์หลายสำนักต่างปรับตัวจากผู้ผลิตเป็นผู้ขายโดยตรง โดยที่ต้องแย่งความสนใจจากผู้บริโภคที่มีเม็ดเงินจำกัดท่ามกลางอุตสาหกรรมอื่นๆ สภาพเช่นนี้ทำให้ทุกสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ และทุกองคาพยพ ต้องดิ้นรนอย่างยากลำบากเพื่อเอาตัวรอด แน่นอนว่ายังมีปัจจัยจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในการสั่งซื้อและการอ่านหนังสือของผู้บริโภคเป็นส่วนประกอบสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ ทิศทางของธุรกิจสิ่งพิมพ์ในปี 2022 ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้ระบุเอาไว้ว่า จะต้องพยายามลดต้นทุนแต่เพิ่มยอดขาย จัดหาพื้นที่ขายที่มีประสิทธิภาพสูง หาช่องทางและนวัตกรรมมาเพิ่มศักยภาพ ขณะเดียวกันก็มุ่งผลักดันยอดขายของสมาชิกสมาคมให้เติบโตมากขึ้น รวมไปถึงพยายามต่อรองต้นทุนในการผลิตหนังสือให้ถูกลง ทั้งหมดนี้เพื่อพยายามประคองอุตสาหกรรมหนังสือในไทยให้อยู่รอดต่อไปได้

จากปัจจัยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้อ่าน การพยายามปรับตัวของสำนักพิมพ์ ประกอบกับพิษเศรษฐกิจตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ของเหล่าคนในบรรณพิภพไทยยังคงเปราะบางและง่อนแง่น ท่ามกลางสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ การร่วมกันทำความเข้าใจและปรับตัวของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงการเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่รัฐบาลไทยพยายามปลุกปั้นมานานหลายปี อาจจะส่งผลชี้เป็นชี้ตายให้กับธุรกิจหนังสือในไทยได้มากกว่าที่คิด

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Author

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า