ถอดรหัส 02:22:21 ในปัจฉิมบทของ Daft Punk

“Like the legend of the phoenix all ends with beginnings”

Get Lucky, Daft Punk

0

มันเริ่มที่โรงเรียนมัธยมลิเซ การ์โนต์ (Lycée Carnot) ปี 1987 เด็กหนุ่มสองคนนาม กี-มานูเอล เดอ โอเมม-คริสโต (Guy-Manuel de Homem-Christo) และ โตมาส์ บองแกลแตร์ (Thomas Bangalter) ได้เชื่อมความสัมพันธ์ผ่านความหลงใหลในภาพยนตร์และดนตรียุค 60s และ 70s ไม่ต่างอะไรกับวัยรุ่นทั่วไปในยุคสมัยนั้น การได้ทำวงดนตรีขึ้นมาสักวงคือสิ่งที่ทุกคนใฝ่หา

โอเมม คริสโต และ บองแกลแตร์ ชักชวน โลรองต์ บรองโกวีตซ์ (Laurent Brancowitz) เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ให้จับเครื่องดนตรีและมาสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน ภายใต้วงที่ได้ชื่อมาจากเพลงหนึ่งของ The Beach Boys อย่าง ‘Darlin’ ’

ชื่อ Daft Punk ได้มาจากคำวิจารณ์ของ Dave Jennings ในนิตยสาร Melody Maker ที่บอกว่าเพลงขอวง Darlin’ เป็น ‘a daft punky thrash.’

วง Darlin‘ มีอายุขัยอยู่ได้เพียงไม่กี่ปีก็ต้องเลิกรากันไป บรองโกวีตซ์แยกออกไปทำวงดนตรีร่วมกับน้องชาย ในชื่อ Phoenix วงดนตรีที่จะก้าวขึ้นมามีคุณภาพและชื่อเสียงระดับโลก ในขณะที่ โอเมม คริสโต และ บองแกลแตร์ ยังคงตัดสินใจจับมือเดินหน้าทำเพลงไปด้วยกัน ภายใต้ชื่อ Daft Punk

2:22:2 

2 แรก คือ Homework (1997)

Homework (1997)

Daft Punk เริ่มต้นเดบิวท์ด้วยอัลบั้ม ‘Homework’ (1997) อัลบั้มที่บรรจุเพลงสัดส่วนประหลาด โครงสร้างซับซ้อน ใช้เสียงจากดรัมแมชชีนเป็นตัวเดินหลัก อัลบั้มนี้นับเป็นอัลบั้มเดบิวท์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก คำชมจากนักวิจารณ์มากมายหลั่งไหลมาหาพวกเขา

ในตอนนี้คำว่า ‘Daft Punk’ ก็คงถูกปล่อยออกมาจากปากแล้วปากเล่า ซ้ำไปซ้ำมา เหมือนคำว่า ‘around the world’ ที่ถูกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในเพลง Around the World

ความพิเศษของอัลบั้มเดบิวท์นี้ ยังปรากฏชัดในเพลง Teachers ที่เนื้อร้องตลอดความยาวของเพลง เป็นการเปล่งชื่อของศิลปินที่มีอิทธิพลต่อ Daft Punk ออกมา ในแง่นี้ อัลบั้ม ‘Homework’ จึงคล้ายเป็นการส่งการบ้านของ โอเมม คริสโต และ บองแกลแตร์ เพื่อขอบคุณ บูชา และโปรโมท บรรดาศิลปินรุ่นพี่ไปในตัว

2 ที่สอง คือ Discovery (2001)

Discovery (2001)

อัลบั้ม ‘Discovery’ (2001) เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของ Daft Punk หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากในอัลบั้มแรก เพราะนอกจากจะเป็นอัลบั้มที่ โอเมม คริสโต และ บองแกลแตร์ เริ่มกลายร่างเป็นโรบอทแล้ว ในอัลบั้มนี้พวกเขาก็ได้มีโอกาสร่วมงานกับศิลปิน ‘ชั้นครู’ ที่พวกเขาเคยยกย่องไว้ในเพลง ‘Teachers’ ในอัลบั้มก่อน อาทิ Romanthony, Todd Edwards และ DJ Sneak เป็นต้น

มากกว่านั้น แกนหลักของอัลบั้มนี้ คือการนำเสียงจากเพลงชั้นเยี่ยมในอดีตมาผสมปรุงแต่งขึ้นใหม่ หรือที่ในภาษาดนตรีเรียกว่า sampling ซึ่งในทางศิลปะแล้ว นับเป็นการไหว้ครู (homage) กลายๆ อีกด้วย

อัลบั้มเปิดด้วยเพลงอย่าง One More Time ราวกับต้องการกล่าวเปิดปาร์ตี้ เพื่อเป็นสัญญาณให้ทุกคนเริ่มโยกย้ายส่ายสะโพก และปิดด้วยเพลง Too Long ราวกับการต้องปาร์ตี้เป็นระยะเวลากว่า 1 ชั่วโมงกับอีกเกือบ 1 นาที เป็นอะไรที่ยืดเยื้อเกินไป (แต่ด้วยดนตรีที่ยอดเยี่ยมตลอดทั้งอัลบั้มนี้ มันก็คงเป็นช่วงเวลาที่แสนสั้นสำหรับใครหลายคน … ไม่เชื่อลองไปถาม Kanye West ดู)

2 ที่สาม คือ Human After All (2005)

Human After All (2005)

อัลบั้ม ‘Human After All’ (2005) เป็นอัลบั้มที่มีระยะเวลาสั้นที่สุดของ Daft Punk (45.38 นาที) ในขณะเดียวกัน ยังเป็นอัลบั้มที่มีคอนเซ็ปต์แข็งแรงและชัดเจนมากที่สุดของ Daft Punk

บองแกลแตร์เคยให้สัมภาษณ์กับ Time ว่า “มันเป็นการเต้นรำไปมาระหว่างความเป็นมนุษย์กับเทคโนโลยี”

ทั้งหมดดูจะสะท้อนสภาวะของ Daft Punk ที่ต้องกลายเป็นโรบอทในอัลบั้มก่อนหน้าได้เป็นอย่างดี มันเป็นสภาวะที่หมุนวนไปเรื่อยๆ หาทางออกไม่ได้ ไม่มีจุดสุดยอด (climax) หรือท่อนฮุค ตกลงแล้ว Daft Punk จะเป็นคนหรือโรบอท … บอกไม่ได้

ทุกเพลงในอัลบั้มเป็นเพลงจุลนิยม (minimalism) ที่ไม่มีการบีบตัวและการปลดปล่อย (tension/release) กล่าวคือ เป็นสภาวะที่กระโดดไปมาระหว่างความเป็นมนุษย์กับความเป็นเครื่องจักร ความเป็นเครื่องจักรกับความเป็นมนุษย์ สภาวะที่สับเปลี่ยนไปมานี้ ส่งผลให้ยากที่จะหาจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุดไปโดยปริยาย

ถึงที่สุดแล้วเราล้วนเป็นมนุษย์ (Human After All) ที่ตกอยู่ภายใต้วัฏจักร กิน ขี้ ปี้ (Make Love) นอน แต่มันก็ดูไม่ต่างอะไรกับเครื่องจักร (Steam Machine) ที่ต้องมีคนเข้ามาควบคุมสายพานการทำงาน (On/Off) ให้เป็นไปตามคำสั่งที่ถูกป้อน ซึ่งอยู่ในรูปของตรรกะทางเทคโนโลยี (Technologic) คำถามสำคัญที่จะเกิดตามมาก็คือ ตรรกะสามารถแยกออกจากอารมณ์ (Emotion) ได้จริงหรือ? นี่ดูจะเป็นคำถามที่คล้ายกับนิยาย Steppenwolf ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส ก็ไม่ปาน

ในการครองความเป็นเจ้าเหนืออารมณ์ของเหตุผล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเพียง 200-300 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น โดยนัยนี้ตัวเหตุผลเองก็ต้องอาศัยอำนาจบางอย่างในการก่อร่างขึ้นมา มันจำเป็นที่จะต้องมีการฝังหัว (The Brainwasher) ให้เชื่อว่ามีความเหนือกว่าสิ่งอื่นๆ

ความรู้เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความเชื่อร่วมกันของผู้คนจำนวนมาก (ว่ามันเป็นความรู้) ในแง่นี้ความรู้ที่ต้องการสถาปนาให้เหตุผลอยู่ในฐานะตัวชี้วัดความประเสริฐของมนุษย์ ก็ต้องมีการโฆษณาชวนให้คนอื่นเชื่อและคิดเห็นตรงกันด้วย (Television Rules the Nation [around the world]) ดังนั้นแล้ว ชีวิตจะหาความเจริญไม่ได้ หากไม่ยอมรับชมช่วงเวลาทองที่กำลังถูกเผยแพร่ออกอากาศ (The Prime Time of Your Life

2 ที่สี่ คือ Random Access Memories (2013)

Random Access Memories (2013)

Random Access Memories หรือ ‘RAM’ เป็นส่วนประกอบสำคัญของคอมพิวเตอร์ มันทำหน้าที่เป็นหน่วยความจำชั่วคราว ซึ่งจะเก็บชุดคำสั่งและข้อมูลในขณะที่ระบบคอมพิวเตอร์กำลังทำงานอยู่ โดยมันจะทำการอ่านหรือเขียนข้อมูลร่วมกับ CPU 

ต่างจากการเข้าถึงข้อมูลแบบ Direct Access Memory ซึ่งเป็นความจำถาวรที่อยู่ในฮาร์ดดิสก์ ในการเข้าถึงข้อมูลของ RAM นั้นจะเป็นการเข้าถึงแบบสุ่ม (Random Access) ซึ่งหมายถึง CPU สามารถเข้าถึงทุกๆ ส่วนของหน่วยความจำหรือพื้นที่เก็บข้อมูลได้โดยตรง เพื่อเพิ่มความเร็วในกระบวนการเขียนและอ่านข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

อัลบั้ม ‘Random Access Memories’ (2013) จึงสามารถเข้าออกที่เพลงไหนก็ได้ เราอาจจะเริ่มฟังมันด้วยเพลงที่ 1 เพลงที่ 7 หรือเพลงสุดท้ายของอัลบั้มก็ได้ กลไกของอัลบั้มนี้ในฐานะ RAM ส่งผลให้ตัวผู้ฟังไม่ต่างอะไรกับ CPU ที่กำลังเข้าถึงเพลงในฐานะข้อมูล/ความจำระยะสั้น และเมื่อเราหยุดฟัง ข้อมูลเหล่านี้ก็จะหายไปโดยอัตโนมัติ 

คำถามสำคัญคือ ข้อมูลหรือความจำระยะสั้นนี้เป็นของใคร? 

Daft Punk ออกตัวเสมอว่า การทำเพลงของพวกเขาเกิดขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัว มันเป็นความพยายามในการเข้าใกล้ประสบการณ์ ณ ขณะนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด ในอัลบั้มนี้ก็ดูจะไม่ต่างกัน

การทำเพลงผ่านประสบการณ์ส่วนตัว ชัดเจนมากในเพลง Giorgio by Moroder ที่เนื้อหาตลอดทั้งเพลงจะเป็นการวิ่งไล่ตามฝันเพื่อจะเป็นนักดนตรีของ จิออร์จิโอ โมโรเดอร์ (Giorgio Moroder) นักดนตรียอดฝีมือชาวอิตาเลียน

แต่เพลง Beyond เอง ก็ทำให้อัลบั้มนี้มีความเป็นอภิปรัชญา (Metaphysics) มันชวนให้คิดถึงอะไรบางอย่างที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ส่วนตัว เป็นความฝันเหนือความฝัน เป็นเสียงที่อยู่ก่อนหน้าเสียง

“Dream
Beyond dreams
Beyond life
You will find your song
Before sounds to be found
…
The perfect song is framed with silence
It speaks of places never seen
You hold your promise long forgotten
It is the birthplace of your dreams”

ดังนั้น ทุกเพลงในอัลบั้มนี้จึงมีชีวิตโดยตัวมันเอง แต่อายุขัยของมันก็ยังขึ้นอยู่กับผู้ฟัง อันจะทำหน้าที่เป็น CPU ในการทำให้ข้อมูลเหล่านี้มีชีวิตขึ้นมาผ่านการฟัง และทำให้ตายด้วยการหยุดฟัง ทั้งหมดนี้ชัดเจนมากในเพลง Fragments of Time

“Keep building these random memories
Turning our days into melodies
But since I can't stay”

1

การเดินมักจะถูกใช้อธิบายความสัมพันธ์อยู่เสมอๆ วิดีโอปัจฉิมบท (Epilogue) ของ Daft Punk ก็เริ่มต้นด้วยการเดิน ฉากเปิดนี้คล้ายกับฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Electroma (2006) ที่พวกเขากำกับเอง

ตัว โอเมม คริสโต ยังคงรุดหน้าไปด้วยความเร็วคงที่ ในขณะที่ บองแกลแตร์ผ่อนแรงและชะลอตัว การเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่ต่างกัน ทำให้ระยะห่างเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อัตราความเร็วที่ลดถอยลงเรื่อยๆ ทำให้สุดท้ายมันกลายเป็น 0 บองแกลแตร์ยืนหยุดนิ่งไปในที่สุด

ความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง แต่เป็นเรื่องระหว่างผู้อื่น เพื่อจะรักษาความสัมพันธ์ก็จำเป็นต้องอาศัยการบริหาร เมื่อเส้นด้ายแห่งความสัมพันธ์ตึงเต็มที่ มันจึงเหนี่ยวรั้ง โอเมม คริสโต และเพื่อไม่ให้เส้นด้ายนี้ขาดวิ่นไป เขาก็ต้องเดินด้นกลับมาหาขั้วคู่ความสัมพันธ์

และความลับในความสัมพันธ์ของ Daft Punk ก็ถูกเปิดเผย ภายใต้แจ๊คเก็ตของบองแกลแตร์ คือระเบิดที่ฝังอยู่กลางหลัง ซึ่งเดาได้ว่า ที่หลังของ โอเมม คริสโต ก็คงจะมีไม่ต่างกัน

‘แผ่นหลัง’ คือสิ่งที่ตลอดชีวิตของมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ ดวงตาของมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาให้มองข้างหลัง เบื้องหลังคือสิ่งที่อยู่พ้นวิสัยของดวงตา มนุษย์จะเห็นมันได้ก็เฉพาะแต่ผ่านตัวกลางเท่านั้น มนุษย์จึงไม่เคยเห็นแผ่นหลังของตัวเองอย่างแท้จริง จะว่าไปแล้ว ‘ใบหน้า’ ก็เป็นส่วนที่มนุษย์ไม่เคยเห็นด้วยตาตัวเองด้วยเช่นกัน

ความตายเป็นเรื่องปัจเจก แต่แผ่นหลังและใบหน้า เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยสิ่งอื่น

ระเบิดที่ติดอยู่กลางหลังของ บองแกลแตร์ จึงต้องอาศัย โอเมม คริสโต ในการสับชนวน

60 วินาที เป็นระยะเวลาที่บองแกลแตร์จะต้องตีห่าง เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด และมันยังเป็นระยะเวลาที่เหลืออยู่ของความสัมพันธ์ที่ชื่อว่า Daft Punk ด้วยเช่นกัน

ในตอนแรกบองแกลแตร์เป็นฝ่ายที่ต้องมองแผ่นหลังของ โอเมม คริสโต ค่อยๆ ขยับห่างออกไป แต่ในตอนนี้กลับเป็นฝ่าย โอเมม คริสโต ที่ต้องมองบ้าง … ช่างเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมเสียยิ่งกระไร

เมื่อตัวเลขหยุดเดิน ร่างของบองแกลแตร์แตกเป็นส่วนๆ ถ้าสมการของ Daft Punk คือ 1+1=2 (Bangalter + Homem-Christo = Daft Punk) การขาดหายไปของ 1 หรือ Bangalter ก็ทำให้ Daft Punk หายไปในทันที

ตัวเลข 02:22:21 ในตอนต้นของวิดีโอ จึงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่เดือน วัน ปี ที่ปล่อยวิดีโอหรือประกาศแยกทางกันเท่านั้น แต่ยังเล่าเรื่องราวการเดินทางของ Daft Punk ที่เริ่มมาจาก 0 เดินไปด้วย 2 คน 4 ครั้ง แล้วจบด้วยการแยกเหลือเพียง 1

อ้างอิง

Robocall: A Conversation with Daft Punk

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า