10 ปี 10 วัน คดีเขื่อนไซยะบุรี “แม้ใช้กระบวนการยุติธรรมต่อสู้ ก็ใช่ว่าจะได้รับความยุติธรรม”

“แม้เราจะใช้กระบวนการยุติธรรม ก็ใช่ว่าจะได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง”

ในฐานะทนายความ ผู้นำกลไกทางกฎหมายมาใช้เพื่อความยุติธรรม เธอไม่ควรกล่าวประโยคนี้เสียด้วยซ้ำ แต่จะให้ทำอย่างไรได้ ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมมีสภาพไม่ต่างจากถ้อยคำของเธอแม้แต่น้อย การกลืนภาพฝันลงลำคอแล้วเอ่ยความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา คือสิ่งแรกที่เธอทำได้และต้องทำ เพื่อให้ลูกความใคร่ครวญความเสี่ยงที่อาจเผชิญ ก่อนตัดสินใจลงเรือลำเดียวกันในการต่อสู้บนชั้นศาล

การเรียกร้องความยุติธรรมผ่านกลไกกฎหมาย มีเบี้ยบ้ายรายทางที่ต้องจ่ายมหาศาล ยิ่งในคดีความที่มี ‘รัฐ’ เป็นคู่กรณีด้วยแล้ว การขายฝันว่าระบบกฎหมายจะมอบความยุติธรรมและการเยียวยาอย่างสมเหตุสมผล คือสิ่งสุดท้ายที่เธอจะเลือกทำ 

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน บอกกล่าวกับเราเช่นนี้ 

หลังสอบได้ใบอนุญาตว่าความ ส.รัตนมณี เข้าไปข้องแวะกับคดีสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเป็นระยะ จนถึงในปี 2553 เธอตัดสินใจก่อตั้งศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งต่อมาเป็นมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และควานหาเงินทุนเพื่อใช้ในการทำคดีช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ในการต่อสู้คดีความ 

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ก่อตั้งขึ้นบนหลักคิดว่า บทบาทของนักกฎหมายเป็นได้มากกว่าการว่าความ แต่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้ และสามารถให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ในลักษณะของ Legal Empowerment (การเสริมอำนาจทางกฎหมาย) โดยเอากฎหมายมาสร้างความเข้มเเข็งให้กับชุมชนได้ 

WAY สนทนากับ ส.รัตนมณี พลกล้า ถึงประสบการณ์ด้านคดีสิ่งแวดล้อม อาทิ คดีเหมืองแร่ คดีสายส่งไฟฟ้า คดีการปนเปื้อนมลพิษ คดีที่ดิน และคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่าน ‘โครงการพัฒนา’ ของรัฐ​ รวมไปถึงคดีล่าสุดอันโด่งดังอย่าง ‘เขื่อนไซยะบุรี’ มหากาพย์การต่อสู้คดีข้ามพรมแดนที่กินเวลาถึง 10 ปี 10 วัน ในชั้นศาล

นี่คือนักกฎหมายที่เต็มเปี่ยมด้วยความทะเยอทะยานในวิชาชีพ และโจนทะยานสู่สนามการต่อสู้ ด้วยการใช้กฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ชุมชน และปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญอันไม่ควรถูกละเมิด

ส.รัตนมณี พลกล้า

เหตุใดคุณจึงสนใจประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน 

ตอนเรียนนิติศาสตร์ เราได้ไปรู้จักกับกลุ่ม ‘อิสระนิติธรรม’ ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาในคณะนิติศาสตร์ที่สนใจเรื่องสังคม ไม่ใช่แค่เรียนอย่างเดียว รุ่นพี่ในตอนนั้นคือ สมชาย ปรีชาศิลปกุล, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, สุรชัย ตรงงาม, วาสนา เก้านพรัตน์ ฯลฯ เราได้ไปทำค่ายที่อีสาน ซึ่งไม่เคยไป เราเป็นเด็กใต้ที่อยู่แต่กับสวนยาง พอได้ไปอีสาน ก็ได้ไปฟังเรื่องราวมากมายเช่นผีปอบ (หัวเราะ) และวัฒนธรรมต่างๆ 

พอเรียนจบ เราไปสมัครฝึกงานที่สำนักงานทนายความของคุณสุรชัย ศุภบัณฑิต เป็นทนายทั่วไปเลย แต่การอยู่ที่นั่นทำให้เราได้ฝึกเรื่องการเป็นทนายอย่างแท้จริง จากนั้นก็สอบตั๋วทนาย (ใบอนุญาตว่าความ) ได้ภายใน 1 ปี 

หลังจากได้ตั๋วทนาย เราไปลงชื่อเป็นทนายขอแรง (ทนายความอาสา) ไว้ที่ศาลอาญา และได้ทำคดีอาสาอยู่ 2 คดี คือคดีฆาตกรรมและคดีปล้นทรัพย์ เราพบว่า มันมีการซ้อมทรมานให้ผู้ต้องหารับสารภาพในคดีปล้นทรัพย์ เรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง เราก็สู้ จนกระทั่งศาลพิพากษายกฟ้อง ตอนนั้นเรายังไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเขาเรียกว่า การซ้อมทรมาน 

หลังได้ตั๋วทนาย เส้นทางอาชีพนี้ในช่วงแรกเริ่มเป็นอย่างไร 

เราทำงานเป็นทนายความปกติไปอยู่พักหนึ่ง จนรู้สึกว่ามันมีความไม่ชอบธรรมในกระบวนการยุติธรรมเยอะมาก เรารู้สึกไม่ดี ไม่อยากเป็นทนายแล้ว ก็เลยกลับไปอยู่บ้านปีกว่าๆ เอาความรู้ที่เรียนมาไปทำงานเป็น shipping ได้ไปเจอระบบอีกแบบหนึ่งของศุลกากร ซึ่งมันแย่มากกว่าระบบศาลที่เราไปเห็นเสียอีก คอร์รัปชันเยอะมากตอนนั้น รู้เลยว่าเราอยู่ไม่ได้แล้ว 

เราเลยกลับมาเป็นทนายในกรุงเทพฯ ช่วงแรกก็เป็นนิติกรในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ หลังจากนั้นก็ไปทำงานในสำนักงานกฎหมายสายธุรกิจทั่วไป ประมาณปี 2543 พี่ทอม (สุรชัย ตรงงาม) พี่กลุ่มอิสระนิติธรรม ได้ก่อตั้งโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) แล้ว และมี ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล เพื่อนกลุ่มอิสระนิติธรรมได้ทำงานอยู่ด้วย เขาก็ชวนเรามาทำคดีด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน เราได้ทำคดีโคบอลต์-60 ตอนนั้นมีการฟ้องคดีปกครอง แล้วศาลปกครองเพิ่งเริ่มตั้งปี 2542 เราก็มาช่วยกันทำคดี จากนั้นก็ได้มาช่วยคดีเหมืองแร่คลิตี้ และเหมืองแคดเมียมที่แม่สอด

พอเริ่มรู้สึกว่างานคดีช่วยเหลือเริ่มเยอะขึ้น เราก็เลยลาออกจากสำนักงานกฎหมายโดยที่ยังไม่มีที่ไป แต่มีรุ่นพี่ที่เห็นว่าเราสามารถทำงานได้ เขาก็ช่วยส่งงานให้ทำบ้าง สุดท้ายก็มาเป็นทนายอิสระประมาณปี 2544 เริ่มทำคดีช่วยเหลือ ไม่ว่าจะสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชน ทั้งในนามสภาทนายความและในนาม EnLAW

คุณก่อตั้งมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre) ในปี 2553 จุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้คืออะไร

ตั้งแต่เริ่มทำคดีสลายการชุมนุมต่อต้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ปลายปี 2545 ตลอดมาจนปี 2546-2547 ที่ชาวบ้านมีการปฏิรูปที่ดิน มีการยึดที่ดินที่สุราษฎร์ธานี กระบี่ และลำพูน รวมถึงที่ดินจากกรณีสึนามิ เรารับผิดชอบอยู่หลายสิบคดี ช่วงนั้นทำคดีที่ดินและคดีสิทธิเยอะมาก และในช่วงตั้งแต่ปี 2548 คุณวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนในขณะนั้น ได้แต่งตั้งให้ร่วมเป็นอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่ด้วย ทำให้สนใจในประเด็นสิทธิชุมชนและทรัพยากร 

จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ของ Asian Human Rights Commission: AHRC (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย) เขาให้ความสนใจกับทนายความที่ทำคดีเหล่านี้ ชวนให้เราไปประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในแถบภูมิภาคเอเชียที่ฮ่องกง ช่วงปี ค.ศ. 2006 หรือ 2007 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ไปประชุมที่ต่างประเทศ

พอกลับมาจากประชุมครั้งนั้น เพื่อนทนาย คุณเยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ได้ไปฝึกงานที่ AHRC กลับมา เจ้าหน้าที่ AHRC ก็ชักชวนให้เราไปฝึกงาน โดยพี่ทนายก็สนับสนุนให้ไป สุดท้ายก็เลยตัดสินใจไปฝึกงานที่ AHRC ตั้งแต่ปี 2007-2008 พอฝึกงานเสร็จ เราก็ขอทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ต่อ ช่วงปี 2009-2010 กลายเป็นว่า ช่วงเวลานั้นเราแทบจะไม่ได้ทำงานเป็นทนายความเลย แต่ได้ไปฝึกความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน จากเดิมที่ไม่เคยรู้จักคำว่า ‘ซ้อมทรมาน’ เราก็เริ่มเข้าใจและรู้ว่า อ๋อ…ไอ้คดีแรกที่เราทำตอนเป็นทนายความ มันก็คือเรื่องซ้อมทรมาน

การเรียนรู้ที่นั่น ทำให้เรามีไอเดียว่า อยากกลับมาประเทศไทยเพื่อหาทุนทำองค์กร พอดีกับว่าเราได้เจอแฟน เขาเป็นคนอินเดียที่ไปฝึกงานที่เดียวกัน เราจึงคุยกันว่า หากกลับมาประเทศไทย เราต้องหาอะไรทำด้วยกันนะ ซึ่งเขาทำได้ เพราะเขาเป็นแอคทิวิสต์เรื่องแรงงานที่อินเดียอยู่แล้ว

ปี 2553 เราจึงกลับมาประเทศไทย เราคุยกับแหล่งทุนไว้แล้วว่าอยากตั้งองค์กร ใช้ชื่อว่า ‘ศูนย์ข้อมูลชุมชน’ หลักคิดคือ เราจะได้อยู่ได้และมีเงินมาทำคดีช่วยเหลือได้ เรารู้ว่าชาวบ้านไม่มีเงินมากมายที่จะมาจ่ายได้ แล้วเราก็รู้ว่า หากเรายังใช้วิธีรับคดีช่วยเหลือจากสภาทนายความ ปัญหาคืองบประมาณของสภาทนายความมีไม่พอที่จะสนับสนุนให้ทนายทำงาน empower กับชาวบ้าน งบของเขามีให้เฉพาะทนายที่ทำคดีในศาลเท่านั้น ซึ่งเราคิดว่ามันไม่พอ เราทำอะไรได้มากกว่านั้น เราสามารถเอาคดีที่ชาวบ้านโดน มาผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้ และสามารถให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ในลักษณะของ Legal Empowerment (การเสริมอำนาจทางกฎหมาย) โดยเอากฎหมายมาสร้างความเข้มเเข็งให้กับชุมชนได้ 

คดีด้านสิ่งแวดล้อม มีความพิเศษหรือแตกต่างจากคดีประเภทอื่นๆ อย่างไร 

สำหรับเรา ความยากอาจจะมีมากกว่าคดีอื่นๆ ยิ่งคดีสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษและระบบนิเวศ เราจำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะด้านเพื่อใช้ประกอบการต่อสู้คดีเยอะมาก ทั้งเรื่อง วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ศาสตร์ทางกฎหมายอาจจะเป็นเรื่องรองไปเลยด้วยซ้ำ เพราะเราแค่ไปดูว่าโครงการนั้นๆ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ อย่างไร 

เช่น คดีเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย เราฟ้องร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษจากการทำเหมืองแร่ และจ่ายค่าเสียหายให้ชุมชนอันเนื่องมาจากการที่ชาวบ้านไม่สามารถทำมาหากิน ไม่สามารถเก็บพืชพรรณสัตว์น้ำต่างๆ หรือใช้น้ำในพื้นที่รอบๆ ได้ 

เราต้องไปพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า แหล่งมลพิษรอบๆ ชุมชนที่เกิดขึ้นนั้น คือมลพิษเดียวกันกับที่อยู่ในเหมืองแร่ทองคำ เราต้องช่วยกันหานักวิทยาศาสตร์มาเก็บตัวอย่างไปตรวจเพื่อหาความจริงว่า สารพิษที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อชุมชน คือสารเคมีชนิดเดียวกันกับในเหมืองแร่ทองคำ 

มีอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมมาช่วยในการวิเคราะห์และอธิบายว่า การที่บริษัทไประเบิดหินในเหมือง แล้วเอาหินไปกองไว้เฉยๆ ทั้งที่หินเหล่านั้นมันคือแร่ และมีเพื่อนแร่ที่เป็นสารหนู สารไซยาไนด์ ฯลฯ​ มากับแร่ด้วย ฉะนั้น เมื่อคุณเอาหินที่มีแร่และเพื่อนแร่ไปกองๆ ไว้ เมื่อมีฝน สารโลหะหนักเหล่านี้ก็จะไหลไปปนเปื้อนรอบๆ พื้นที่เหมือง คดีประเภทนี้จะยาก เพราะเราต้องทำความเข้าใจกับศาสตร์หลายศาสตร์

หรืออีกคดีคือ โคบอลท์-60 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทย เราต้องไปคุยกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสี เพื่อจะได้รู้ว่า โคบอลท์-60 ที่เป็นสารกัมมันตรังสีนั้น ถูกใช้ในการแพทย์เพื่อฆ่ามะเร็ง ขณะเดียวกันมันมีผลต่อเม็ดเลือดขาว ซึ่งจะทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้ คือมันฆ่าคนได้นะ ต้องรู้เรื่องค่าชีวิตของกัมมันตรังสีว่าจะลดลงทุกๆ กี่ปี เพื่อให้เห็นว่ามันมีความรุนแรงต่อมนุษย์อย่างไร 

หรืออีกคดีหนึ่ง เราเคยไปฟ้องคดีเรื่องเสียงดังจากโรงงาน สร้างความรำคาญแก่ชุมชนโดยรอบ คำถามคือ แล้วมันจะพิสูจน์ยังไงให้ศาลเห็นว่า เสียงรำคาญนี้มันส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่ตรงนั้น ซึ่งกรณีนี้ค่ามาตรฐานมลพิษทางเสียงก็พบน้อยมาก แต่มันมีเสียงดังตลอดเวลา เราก็ต้องไปคุยกับนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการที่เรียนเรื่องเสียงมาโดยเฉพาะ เขาก็อธิบายว่า เสียงรำคาญพวกนี้มันทำให้เกิดปัญหายังไง อาจารย์หมอก็มาอธิบายให้ฟังว่ามันคืออะไร มีผลต่อสุขภาพอย่างไร แล้วเราก็เอาไปใช้เพื่ออธิบายให้ศาลฟัง ไม่เช่นนั้น ศาลก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่า เขาจะให้ค่าเสียหายอย่างไร หรือจะให้ฟื้นฟูในรูปแบบไหน 

ความยากในงานพิสูจน์ให้ศาลเห็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมคืออะไร

ต้องเข้าใจว่า ศาลไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ ทำให้ยากต่อการกำหนดค่าเสียหายที่ชุมชนจะได้รับ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องยากมากสำหรับทนายในการพิสูจน์ เพื่อทำให้ศาลกล้าที่จะสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายให้มากเพียงพอต่อความเสียหายของประชาชน มันยากมาก มันไม่เหมือนที่สหรัฐอเมริกา เราอาจเคยได้ยินการพิพากษาคดีที่ สเตลลา ไลเบค (Stella Liebeck) วัย 79 ปี ลุกขึ้นมาฟ้องร้องบริษัท แมคโดนัลด์ จากการที่เธอถูกน้ำร้อนในกาแฟของแมคโดนัลด์ลวกจนเป็นแผลฉกรรจ์ คือน้ำในกาแฟมันร้อนเกินไป คดีนี้เขาฟ้องได้เงินเป็นล้านๆ เพราะที่สหรัฐอเมริกาเขามีหลักเรื่องความรับผิดโดยเคร่งครัด (strict liability) แล้วเขาก็มีข้อกำหนดเรื่องค่าเสียหายเชิงลงโทษ (punitive damages) ด้วย หมายความว่า ถ้าคนคนนั้น หรือบริษัทนั้นๆ รู้อยู่แล้วว่าเขาต้องระวังอะไร เขาก็จะต้องระวัง โดยเฉพาะเรื่องการขายสินค้า เพราะฉะนั้น ถ้าเขาไม่ระมัดระวัง เขาควรได้รับการลงโทษที่มากขึ้น หรือแม้กระทั่งเรื่องการเกิดมลพิษ 

แต่ประเทศไทยมันยังไปไม่ถึง เพราะเราดันไปมองเรื่องว่า การจ่ายค่าเสียหายเยอะๆ จะทำให้คนมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันเยอะ ตรงนี้เรามองว่าแค่หลักคิดก็ผิดแล้ว 

10 ปี 10 วัน คดีเขื่อนไซยะบุรี

เหตุใดคุณถึงได้เข้าไปทำคดีไซยะบุรี ซึ่งถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนคดีแรกของประเทศไทย 

กรณีเขื่อนไซยะบุรีก่อนหน้านี้ ชาวบ้านและคนทำงานเขารณรงค์กันมาเยอะมาก ทั้งยื่นหนังสือ ไปประท้วงหน้าธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ให้สร้างเขื่อน ไปประท้วงหน้าบริษัทก็แล้ว ชุมนุมก็แล้ว ก็ยังไม่สามารถหยุดโครงการได้ 

เราได้รับการติดต่อจากองค์กรที่ทำงานรณรงค์ดังกล่าว ในฐานะนักกฎหมาย เราก็ค้นหามุมกฎหมายที่อาจพอทำอะไรได้บ้าง เราพบว่า ถ้าจะฟ้องเขื่อนไซยะบุรีตรงๆ ปัญหาคือเจ้าของเขื่อนไม่ใช่หน่วยงานราชการของไทย แล้วหากเราจะฟ้องเอกชน เราต้องฟ้องคดีแพ่ง ซึ่งในคดีแพ่งก็จะมีเงื่อนไขว่า ต้องเกิดความเสียหายก่อนจึงจะฟ้องร้องได้ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากเขื่อน

เราก็เลยคิดจะฟ้องคดีปกครอง คำถามคือ เราจะฟ้องมุมไหน ถกกันไปกันมาก็พบว่า มันมีเรื่องประเด็นสัญญาซื้อไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) พูดง่ายๆ คือ เรากำลังพูดเรื่อง Demand & Supply ถ้าไม่มีความต้องการซื้อ ก็จะไม่มีความต้องการขาย เราก็เลยศึกษากันว่า หากเราจะเล่นประเด็นสัญญาซื้อไฟฟ้าก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะสัญญานี้ทำโดย กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เราจึงฟ้องศาลปกครองได้

กระบวนการเตรียมคดีในการฟ้องร้องใช้เวลานานแค่ไหน

เราเริ่มจากการไปดูขั้นตอนการทำสัญญาซื้อไฟฟ้า พบว่า มันมีช่องว่างที่กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายคือ

หนึ่ง – ปกติแล้วสัญญาซื้อไฟฟ้าต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และต้องผ่านมติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ว่า ก่อนเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้า จะต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่า PNPCA (ระเบียบปฏิบัติเรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง) ก่อน จึงจะทำสัญญาซื้อไฟฟ้าได้ แต่ กฟผ. กลับมีการเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าไปแล้วโดยที่กระบวนการทำ PNPCA ยังไม่เสร็จ 

สอง – กระบวนการ PNPCA ในขั้นตอน Prior Consultation (การปรึกษาหารือล่วงหน้า) ในประเทศไทย ทำไปเพียงแค่ 4 ครั้ง ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมี 8 จังหวัดที่อยู่ติดแม่น้ำโขง และจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ซึ่ง 4 ครั้งที่ว่า มีเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้นที่จัดในพื้นที่แม่น้ำโขง อีก 1 ครั้งจัดที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกันแต่อย่างใด 

เรามองว่า ประเด็นนี้แหละคือช่องทางที่จะฟ้องร้องเพื่อเพิกถอนสัญญาซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ. ทำไว้กับเอกชนได้ 

จากนั้นทุกคนก็มาช่วยกันค้นข้อกฎหมาย แล้วก็มีเจ้าหน้าที่ EarthRights International มาช่วยค้นกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้เราพบว่า มีกฎหมายระหว่างประเทศ ปฏิญญาสตอกโฮล์ม 1972 ระบุไว้ว่า รัฐต้องไม่กระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมของรัฐอื่น และปฏิญญาว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา Rio Declaration กำหนดว่ารัฐจะต้องแจ้งให้รัฐอื่นที่จะได้รับผลกระทบทราบข้อมูลล่วงหน้า และกิจกรรมที่ส่งผลกระทบร้ายแรงด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจะต้องปรึกษาหารือกับรัฐที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นการกำหนดในลักษณะที่ว่า หากพื้นที่นั้นมีแม่น้ำนานาชาติ (แม่น้ำที่ไหลผ่านหลายประเทศ) ประเทศที่อยู่บริเวณต้นน้ำต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศปลายน้ำ เราจึงใช้ประเด็นความรับผิดชอบของผู้ลงทุนต่อประเทศท้ายน้ำมาประกอบการฟ้องร้องด้วย ซึ่งในกรณีเขื่อนไซยะบุรี ประเทศไทยคือผู้ลงทุนผ่านการทำสัญญาซื้อไฟ 

อีกทั้ง PNPCA มันไม่ใช่แค่เรื่องการรับฟังความคิดเห็นอย่างเดียว แต่ต้องมีขั้นตอนการแจ้งเตือน การปรึกษาหารือล่วงหน้า และทำข้อตกลงระหว่างกัน ซึ่งขั้นตอนข้อตกลงนี้ก็ไม่มี จนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่เห็น 

เราได้รวบรวมข้อมูลและช่วยกันทำร่างคำฟ้อง ขณะเดียวกัน มีหลายองค์กรที่เก็บข้อมูลมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะ International Rivers, TERRA (โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคแม่น้ำโขง) และเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เขาก็รวบรวมข้อมูลมาให้ คดีนี้จึงใช้เวลาในการเตรียมคดีประมาณ 1 ปี เราเดินทางไปคุยกับชาวบ้านหลายพื้นที่ในหลายจังหวัด ว่ามันเกิดสิ่งนี้ขึ้นนะ ซึ่งชาวบ้านเขาสู้กันอยู่แล้ว เราแค่ไปบอกเขาว่า ตอนนี้มันมีเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งนะในการฟ้องคดี 

ความท้าทายของการทำงานเตรียมคดีเพื่อฟ้องร้องคืออะไร 

สิ่งที่ท้าทายมากๆ สำหรับเราคือ เราต้องบอกกับชาวบ้านทุกครั้งว่า เราไม่รู้ว่าจะชนะหรือเปล่า อาจจะแพ้ก็ได้นะ เพราะมันคือคดีแรกในประเทศไทยที่มีการฟ้องคดีข้ามพรมแดน เราไม่รู้ว่าผลจะเป็นยังไง ชาวบ้านก็เข้าใจ แต่เราก็รู้ว่า ชาวบ้านเขาก็ตั้งความหวัง 

 เมื่อทนายรวบรวมข้อมูลมาในลักษณะนี้ ทางคู่กรณีแก้เกมอย่างไร 

เขาเริ่มด้วยการขู่ชาวบ้านก่อนเลย (หัวเราะ) เราพบว่ามีคนเข้าไปคุยกับชาวบ้านว่า หากฟ้องแล้วแพ้ขึ้นมาจะโดนดำเนินคดีกลับนะ แล้วการจะฟ้อง ต้องเอาเงินไปวางที่ศาลนะ มีค่าใช้จ่ายนะ มันคือการข่มขู่ไม่ให้ชาวบ้านเข้ามาเกี่ยวข้องกับการฟ้อง

อีกส่วนคือ เขาสู้ว่า เขาทำเรื่องรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายแล้ว อีกทั้ง PNPCA มันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ยังไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายไทย ฉะนั้นจะเอามาบังคับใช้ไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายไทยเป็นระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) หมายความว่า หากกฎหมายนั้นๆ ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมายไทย กฎหมายระหว่างประเทศจะเอามาใช้ไม่ได้เลย ถือว่าไม่สามารถบังคับใช้ได้ ไม่เหมือนกับระบบกฎหมายจารีต (The Common Law System) ที่สามารถใช้กฎหมายอื่นแม้ว่าไม่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในกฎหมายประเทศนั้นๆ

นี่คือประเด็นที่เขาเอามาสู้ว่า สุดท้ายแล้ว ข้อตกลงแม่น้ำโขงจะไม่สามารถเอามาบังคับใช้ได้ กติการะหว่างประเทศที่เราอ้างเรื่องกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชนก็เอามาใช้ไม่ได้

ขณะที่เราก็อ้างว่า ตัวสัญญาซื้อไฟฟ้ามันคือผลผูกพันทำให้เกิดการสร้างเขื่อนไซยะบุรี แล้วเขื่อนจะส่งผลกระทบกับเรา ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ มันเป็นเรื่องของสิทธิ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่กติการะหว่างประเทศต้องให้การคุ้มครองว่า รัฐมีหน้าที่คุ้มครอง ดังนั้น รัฐจึงละเมิดไม่ได้ และขณะฟ้องคดีนั้น เราใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 82 ที่กำหนดว่า รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นภาคีหรือลงนามไว้ด้วย

ระหว่างการฟ้องคดี คุณพบอุปสรรคอะไรบ้าง 

เราฟ้องร้อง กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ เขาก็จะมีข้อมูลอยู่ในมือ และพร้อมที่จะไม่ให้ข้อมูลเรา เช่น เราฟ้องร้องเขาเรื่องสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเขาจะต้องส่งสัญญาซื้อไฟมาหาเราดู แต่เขาก็ปกปิดข้อมูล ไม่ให้ข้อมูลทั้งหมด แล้วเมื่อเรายื่นขอข้อมูลผ่านไปทางศาล ศาลก็ไม่เรียกข้อมูลให้เรา มันจึงเป็นปัญหาด้านข้อมูลที่เราได้มาไม่ครบถ้วน 

เราได้คุยกันในทีม ปรากฏว่า ตัวสัญญาซื้อไฟฟ้ามันมีข้อสรุปอันหนึ่งที่เขียนไว้ในตอนท้ายว่า เจ้าของโครงการ (เจ้าของเขื่อน) ต้องสร้างเขื่อนให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่จ่ายเงินค่าสัญญาซื้อไฟฟ้า ซึ่งหากข้อความนี้ถูกนำมาใช้ในการพิจารณานี้ มันจะทำให้เห็นว่า ตัวสัญญาซื้อไฟคือปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดเขื่อน

อีกอันหนึ่งก็คือ เมื่อศาลพิพากษาในชั้นต้นไปแล้วว่า ศาลไม่รับฟ้องเรื่องสัญญาซื้อไฟ โดยให้เหตุผลว่า เราไม่ใช่คู่กรณี มันจึงกลายเป็นว่า คดีนี้ที่ยืดเยื้อมาเป็น 10 ปี ไม่เกี่ยวกับสัญญาซื้อไฟฟ้า แต่เกี่ยวกับกระบวนการทำสัญญาซื้อไฟฟ้า ว่ามันถูกต้องตามกระบวนการหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมมุติว่าเราชนะคดี แล้วศาลสั่งให้ กฟผ. กลับไปทำให้กระบวนการถูกต้อง แต่สัญญาซื้อไฟมันเพิกถอนไม่ได้ อย่างนี้แปลว่าอะไร 

คดีนี้กินเวลาถึง 10 ปี 10 วัน เมื่อคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ คุณรู้สึกอย่างไร 

ถามว่าเสียใจไหมกับการที่เราฟ้องคดีนี้ หรือรู้สึกว่าเราฟ้องผิดจุดไหม เราคิดว่า เราฟ้องไม่ผิด และไม่เสียใจกับสิ่งที่ทำ ณ ขณะนั้น เพราะรู้ว่ามันไม่มีช่องทางอื่นแล้วในการสู้ แต่ก็เสียใจที่ผลคดีไปไม่ถึงสิ่งที่คาดหวังไว้ว่าจะมีแนวทางที่นำไปใช้ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมได้

ก่อนหน้านั้นเราได้ใช้กลไกอื่นๆ มาหมดแล้ว ไม่ว่าจะยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังต่างประเทศ ใช้กลไกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งเป็นกลไกระหว่างประเทศว่าด้วยการกำกับดูแลประเทศที่เป็นสมาชิก เราใช้มาหมดแล้ว แต่มันไม่สามารถหยุดโครงการได้ เราจึงต้องใช้กลไกศาล 

หากใครได้ไปอ่านคำพิพากษาคดีไซยะบุรี ก็อาจรู้สึกเหมือนว่าทีมกฎหมายฟ้องผิดฝาผิดตัว เรามักเจอคำถามว่า คดีนี้ทีมทนายฟ้องผิดจุดใช่ไหม เราก็ยืนยันว่า เราฟ้องไม่ผิด และไม่เสียใจที่ได้ทำคดีนี้ เพราะคุณต้องไปดูประวัติศาสตร์ของคดี เราเริ่มฟ้องตั้งแต่เขื่อนไซยะบุรียังไม่ได้สร้าง และเราใช้ทุกกลไกที่มีแล้ว แต่ไม่อาจยุติโครงการได้ 

ตอนที่ศาลปกครองชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องในตอนแรก (15 กุมภาพันธ์ 2556) เราก็รู้สึกในใจว่า แย่แล้ว เราจึงทำการอุทธรณ์ กระทั่งศาลปกครองสูงสุดสั่งรับฟ้อง มัน…เยียวยาพวกเราได้มากๆ เลย ศาลเขียนเลยว่า ‘ชาวบ้านคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการสัญญาซื้อไฟของ กฟผ.’ ซึ่งมันถูกต้องมากๆ 

แต่ปัญหาก็คือ สุดท้ายศาลอุทธรณ์ก็บอกว่า ‘เราไม่สามารถฟ้องตัวสัญญาซื้อไฟฟ้าได้ แต่อย่างน้อยที่สุด การดำเนินการโครงการของภาครัฐ มันต้องตรวจสอบได้’ ซึ่งตรงนี้ศาลเขียนไว้ดีมาก 

เมื่อถึงชั้นพิพากษา เรามองว่าศาลเขียนคำพิพากษาได้ดีพอสมควร ในเชิงการอธิบายและเชื่อมโยงว่า คดีนี้เมื่อถึงที่สุด หน่วยงานทุกหน่วยงานมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบกับโครงการสัญญาซื้อไฟ โดยศาลมองว่า สัญญาซื้อไฟฟ้าคือโครงการประเภทหนึ่งที่สามารถฟ้องคดีได้ เพียงแต่ว่าไม่สามารถฟ้องตัวสัญญาได้ ซึ่งตรงนี้เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันนะว่ามันคืออะไร (หัวเราะ) 

การที่ กฟผ. ทำสัญญาโดยประกันการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าไว้รวม 5,709 ล้านหน่วยต่อปี หากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรีสามารถปั่นไฟฟ้าได้ตามที่กำหนด กฟผ. จะต้องจ่ายเงินขั้นต่ำราว 13,000 ล้านบาทต่อปี ตลอดอายุสัญญา 31 ปี ไม่ว่าจะใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นหรือไม่ก็ตาม ซึ่งค่าใช้จ่ายจากสัญญานี้จะถูกผลักภาระให้ผู้บริโภคผ่านค่า FT คำถามคือ กฟผ. มีอำนาจไปทำสัญญาลักษณะนี้โดยที่ประชาชนไม่รู้เรื่องได้อย่างไร 

นี่คือคำถามสำคัญที่เราต้องตั้งกับ กฟผ.

กฎหมายบอกว่า กฟผ. มีหน้าที่ผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศ คำถามคือ กฟผ. ได้ทำตามที่กฎหมายว่าไว้หรือเปล่า เพราะตอนนี้ กฟผ. กลายเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าไปแล้ว กลายเป็นผู้ค้ากำไรจากไฟฟ้าไปแล้ว นี่คือเรื่องที่ กฟผ. ต้องตอบ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจในการไปค้ากำไร 

นอกจากนี้ สิ่งที่ กฟผ. กำลังทำอยู่คือ การสร้างบริษัทลูกเพื่อไปซื้อไฟแทน เพราะเขาอาจจะรู้สึกตัวแล้วว่า หาก กฟผ. ไปซื้อไฟฟ้าเองโดยตรงอาจจะเกิดปัญหา เขาก็เลยใช้เทคนิคที่น่าจะค้นพบจากการถูกฟ้อง คือให้บริษัทลูกซึ่งเป็นเอกชนไปซื้อแทน ทำให้เราไม่สามารถไปฟ้องบริษัทเอกชนได้ เพราะสัญญาซื้อไฟมันเป็นสัญญาระหว่างประเทศ และสัญญาซื้อไฟฟ้าไม่ใช่ผลกระทบโดยตรง ทำให้เราไปฟ้องบริษัทลูกที่ซื้อไฟฟ้าไม่ได้

แต่ตามกฎหมายแล้ว ใครก็ตามที่ไปซื้อไฟฟ้าแล้วนำมาเข้าระบบของประเทศไทย ต้องดำเนินการผ่านคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งประเด็นนี้เรามองว่าภารกิจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน คือส่วนสำคัญที่เขาจะต้องกำกับไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะค้ากำไรจากไฟฟ้า เพราะไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ควรถูกนำมาค้ากำไร แต่ตอนนี้ กฟผ. กำลังค้ากำไรจากการซื้อไฟฟ้าและสร้างโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า 

เนื่องจากเขื่อนไซยะบุรีถูกสร้างโดยบริษัทเอกชน การจะฟ้องร้องต้องใช้กฎหมายแพ่ง แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ต้องรอให้เกิดเหตุหรือเกิดผลกระทบก่อนถึงจะฟ้องได้ โดยไม่เปิดโอกาสให้ฟ้องในลักษณะ ‘เชิงป้องกัน’ เป็นเหตุให้ทีมทนายจำเป็นต้องฟ้องในประเด็นสัญญาซื้อไฟฟ้า และถูกยกฟ้องในที่สุด คำถามคือ การฟ้องร้องในเชิงป้องกันเหตุ มีความสำคัญอย่างไร 

การป้องกันย่อมดีกว่าเยียวยาแน่นอน เพราะเราก็รู้ว่าในบางกรณีเมื่อถึงที่สุดแล้วมันเยียวยาไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม สมมุติเราปล่อยให้มีการระเบิดหินไปแล้ว หินมันไม่งอกกลับคืนนะ หรือหากระเบิดภูเขาไปแล้ว เราจะไปปลูกภูเขาไม่ได้ 

หรือในส่วนการเยียวยามนุษย์ บางทีความเสียหายที่เกิดขึ้นมันไม่สามารถมองเห็นด้วยตา มันเป็นความเสียหายทางจิตใจด้วย แล้วเราจะเอาอะไรมาเป็นมูลค่า หรือเอามาคำนวณได้ว่า ค่าเสียหายเหล่านี้มันเพียงพอกับความสูญเสียของเขาแล้ว 

ในทุกๆ เรื่องที่เราคุยกัน การเยียวยาคือขั้นตอนสุดท้าย แต่การป้องกันเป็นเรื่องสำคัญกว่า อย่างเรื่องมลพิษทางสิ่งแวดล้อม กฎหมายไทยควรจะออกแบบให้สามารถฟ้องเชิงป้องกันได้ ไม่ใช่รอให้เกิดการละเมิดหรือเกิดผลกระทบก่อนแล้วค่อยฟ้องทีหลัง นี่คือเรื่องใหญ่และมีความสำคัญมากๆ 

คุณเข้าไปข้องเกี่ยวกับคดีด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วมากมาย มีอัตราการแพ้-ชนะอย่างไร 

ด้วยความที่ตัวเองทำคดีโดยไม่เลือกที่จะทำเฉพาะคดีสำคัญ หรือบางทีถูกเรียกว่าคดีเชิงยุทธศาสตร์ ทำให้รับทำหลายคดีมาก แล้วค่อยมาเลือกประเด็นไปใช้ในเชิงยุทธศาสตร์แทน ทำให้คดีที่ทำมามีทั้งชนะและแพ้แบบครึ่งต่อครึ่งนะ (หัวเราะ) 

หากเป็นคดีที่มีมลพิษหรือผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว เรามักจะชนะคดี ส่วนจะชนะมากหรือชนะน้อย หรือได้รับค่าเสียหายมากหรือน้อย นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคดีเพื่อขอเพิกถอนหรือยกเลิกโครงการต่างๆ โดยที่โครงการนั้นยังไม่สร้างผลกระทบ เปอร์เซ็นต์ชนะจะน้อยมาก 

การตีความว่าอะไรผิด อะไรถูก ขึ้นอยู่กับปัจจัยว่า โครงการนั้นดำเนินการไปแล้วแค่ไหนอย่างไรด้วย เช่น คดีหาดชลาทัศน์ เราก็ไปฟ้องเรื่องกำแพงกันคลื่นในศาลชั้นต้น และมีการเจรจากันจนกระทั่งหน่วยงานยอมเปลี่ยนจากการสร้างกำแพงกันคลื่นที่ใช้โครงสร้างแข็งเป็นการเติมทรายแทน ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่าหน่วยงานแก้ไขแล้ว แต่ศาลไม่ยอมชี้ว่า สิ่งที่หน่วยงานทำไปก่อนหน้านี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แปลว่าไม่สั่งเพิกถอนโครงการอยู่ดี 

อีกตัวอย่างเช่น คดีสายส่งไฟฟ้าที่จังหวัดน่านพาดผ่านที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งที่ปกติแล้วต้องขออนุญาตก่อนก่อสร้าง แต่ กฟผ. ไม่ขออนุญาต เราก็เลยไปฟ้องร้องและขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลไม่ให้ ทำให้โครงการนี้สามารถสร้างต่อไปจนเสร็จแล้ว พอถึงวันพิพากษา ศาลบอกว่าเพิกถอนโครงการไม่ได้ หรือรื้อเสาไฟฟ้าไม่ได้ แม้จะเห็นว่าดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลบอกให้ กฟผ. ไปขออนุญาตมาให้ถูกต้อง จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข่าวว่า กฟผ. ได้ไปดำเนินการขออนุญาตแล้วหรือไม่ 

เราก็โกรธว่า ถ้าศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตั้งแต่แรก หรือสั่งให้ชะลอการก่อสร้าง มันก็จบแล้ว มันจะไม่เกิดปัญหา กลายเป็นว่าตอนนี้ศาลปกครองเองก็เริ่มมีปัญหาขึ้นเรื่อยๆ เราก็ตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วศาลปกครองตั้งขึ้นมาเพื่อคุ้มครองประชาชนหรือดูแลหน่วยงานรัฐที่ถูกประชาชนฟ้องกันแน่

นั่นไม่ต่างอะไรกับการรอให้ผลกระทบเกิดขึ้นก่อน มีผู้สูญเสียก่อน แล้วจึงมาเยียวยาแทนที่จะป้องกัน

กฎหมายไทยเป็นแบบนั้น เช่น การจะฟ้องเอกชนที่ละเมิดสิทธิ เราต้องรอให้เขามาละเมิดสิทธิเราก่อน หรือเกิดความเสียหายก่อนจึงจะไปฟ้องได้ กฎหมายเขียนอย่างนั้น แต่โชคดีที่กฎหมายปกครองใช้คำว่า ‘ผู้ได้รับผลกระทบหรืออาจจะได้รับผลกระทบ’ เราก็เลยฟ้องได้ในลักษณะที่ฟ้องก่อนโครงการจะเกิด ในลักษณะการฟ้องเพื่อป้องกันเหตุ แต่ส่วนมากก็ไม่ชนะ แต่บางคดีก็ยังมีชนะบ้าง เช่น กรณีเหมืองลิกไนต์บ้านแหง จังหวัดลำปาง

อย่างกรณีไซยะบุรี เราฟ้องเพราะว่า ‘อาจจะเกิดผลกระทบ’ เพราะสัญญาซื้อไฟฟ้าเป็นตัวที่จะทำให้เกิดเขื่อนขึ้นมา แต่ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เขาก็เขียนเหมือนว่าเราฟ้องผิด เพราะจริงๆ แล้ว ผลกระทบไม่ได้เกิดจากสัญญาซื้อไฟฟ้า แต่ผลกระทบเกิดจากเขื่อน

เหตุที่เราฟ้องโดยชี้เรื่องสัญญาซื้อไฟ เพราะเขื่อนมันยังไม่สร้าง แล้วเราก็ฟ้องเขื่อนไม่ได้ เพราะเจ้าของเขื่อนไม่ใช่หน่วยงานราชการไทย ไม่ใช่ กฟผ. ซึ่งเรื่องนี้เรารู้มาตั้งแต่ต้น

การฟ้องร้องครั้งนี้มีความหมายอย่างไรต่อการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน 

การฟ้องคดีไซยะบุรี คือความก้าวหน้าเรื่องการคุ้มครองสิทธิข้ามพรมแดน เพราะถึงที่สุดแล้วเรารู้ว่าผลกระทบไม่ได้อยู่แค่ในประเทศเดียว แต่สามารถข้ามประเทศได้ แล้วเราจะมีกลไกอะไรไปคุ้มครองคนอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งไซยะบุรีคือกรณีที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐไทยไม่มีกลไกป้องกันเรื่องนี้ 

หากเราไปดูแถบแอฟริกา ตอนนี้เขามีศาลสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศแล้วนะ คนในประเทศเขาสามารถไปฟ้องเพื่อให้เกิดการคุ้มครองได้ แล้วสามารถเรียกให้รัฐบาลของประเทศที่ก่อมลพิษเข้ามารับผิดชอบได้ แต่ในประเทศลุ่มน้ำโขง หรือ South East Asia ไม่มี นี่คือความท้าทายที่เราต้องคิดต่อ

ตอนนี้แม่น้ำโขงกำลังจะมีโครงการเขื่อนเกิดขึ้นมากมายมหาศาล แต่เราไม่มีกฎหมายคุ้มครองเลย ใครจะช่วยเราได้ ศาลปกครองจะช่วยเราได้ไหม ศาลยุติธรรมจะช่วยเราได้ไหม

มันคือภารกิจที่เราต้องคิดในประเด็นข้ามพรมแดน ไม่ใช่แค่เรื่องเขื่อนเท่านั้น แต่รวมถึงโครงการประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น เหมืองแร่ถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ประเทศลาว ซึ่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมันข้ามมาที่จังหวัดน่านด้วย ตอนนี้เรายังคิดไม่ออกเลยว่าจะจัดการอย่างไร เพราะเราไม่มีกฎหมายที่จะคุ้มครองได้ 

สมมุติว่า ประเทศต้นน้ำสร้างโรงงานแล้วปล่อยสารพิษลงแม่น้ำโขง จนส่งผลกระทบต่อคนในจังหวัดลุ่มน้ำโขง เช่นนี้เราก็ไม่สามารถเอาผิดใดๆ กับประเทศผู้ก่อมลพิษเลยใช่หรือไม่

ใช่ 

ไม่ต้องสมมุติก็ได้นะ เอาแค่เรื่องประเทศจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาโดยไม่แจ้งประเทศปลายน้ำ จนชาวบ้านริมโขงเดือดร้อน น้ำท่วมพื้นที่เกษตรเสียหาย หรือช่วงหนึ่งเขาปล่อยน้ำมาจนตลิ่งของเราพัง แต่รัฐบาลไทยไม่เคยไปร้องเรียนให้จีนต้องรับผิดชอบเลย ทั้งๆ ที่มีฐานะที่เป็นรัฐเหมือนกัน สถานะเท่ากัน รัฐไทยต้องทำ แต่รัฐไทยไม่ทำ 

คุณเคยพูดว่า “ทนายความไม่ได้เป็นเพียงคนใช้กฎหมาย แต่ทนายความสามารถเป็นผู้สร้างกฎหมายได้” อยากให้ช่วยขยายความ

ยกตัวอย่างเช่น การเรียกค่าเสียหายทางจิตใจ ในกฎหมายไทย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหลักละเมิด) ไม่ได้เขียนชัดว่าสามารถเรียกค่าเสียหายทางจิตใจได้ แต่ก็ไม่ได้เขียนห้ามไว้

ขณะเดียวกัน เราถูกสอนมาว่า จะไปเรียกค่าเสียหายทางจิตใจไม่ได้นะ ประเทศไทยให้เฉพาะค่าเสียหายทางกายภาพเท่านั้น ส่วนตัวเรารู้สึกว่า เฮ้ย ไม่ใช่นะ หากเราไปดูในกฎหมาย มันไม่ได้เขียนไว้แบบนั้น แต่กลับเขียนไว้ว่า ‘ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้’ ตรงนี้แหละคือค่าเสียหายทางจิตใจ และเป็นค่าเสียหายต่อสิทธิที่ถูกละเมิด

ถ้าทนายอย่างเราๆ ยังเชื่อตามที่เขาสอนมาว่า ค่าเสียหายทางจิตใจจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะฉะนั้น เราต้องท้าทาย และต้องเขียนไว้ในคำฟ้องของเรา และอธิบายว่าทำไมถึงจำเป็นต้องจ่ายค่าเสียหายทางจิตใจ เพราะรัฐธรรมนูญบอกชัดเจนว่าเรามีสิทธิที่ไม่ควรถูกละเมิด เรามีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและสงบ 

เพราะฉะนั้น การที่โครงการของคุณจะมาระเบิดหิน แล้วทำให้เราตกใจกลัว หวาดวิตก กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าหินจะหล่นลงมาใส่หัวเราไหม อันนี้แหละคือความเสียหายอย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการชดใช้ เพราะชาวบ้านทุกข์ทรมานมาแล้วเป็นปีๆ เราก็เขียนไปแบบนี้ในคดีเหมืองหินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นี่คือค่าเสียหายทางจิตใจ เรียกไม่ได้ เราก็อุทธรณ์ แล้วใช้หลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิที่เราไม่ควรถูกละเมิดมาเขียนในคำฟ้อง ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า เรียกค่าเสียหายได้ เพราะนี่คือการละเมิดสิทธิ ชาวบ้านต้องได้รับการเยียวยา

ต่อมาศาลฎีกาก็พิพากษาสอดคล้องกับศาลอุทธรณ์ นั่นหมายความว่า ไม่ใช่แค่เฉพาะความเสียหายทางกายภาพเท่านั้น แต่ความเสียหายทางจิตใจก็สามารถเรียกร้องได้ด้วย ดังนั้น เราในฐานะทนายความ เราสามารถเขียนกฎหมายได้ สร้างกฎหมายได้ 

เราเคยคุยกับเพื่อนที่เป็นผู้พิพากษา เขาบอกว่า ถ้าเราไม่เขียนหรือไม่นำข้อโต้แย้งเหล่านี้มาสู่ศาล ศาลก็ไม่สามารถพิพากษาเกินเลยไปถึงตรงนั้นได้ ทั้งๆ ที่บางทีศาลก็เห็นประเด็นเหมือนกัน ดังนั้น ทนายความจึงมีหน้าที่ในการเขียนคำอธิบายของกฎหมาย 

คนกลุ่มหนึ่งมักพูดว่า “อย่าเอาสิ่งแวดล้อมมายุ่งกับการเมือง” คุณคิดเห็นอย่างไรต่อประโยคนี้

ไม่จริง (หัวเราะ)

ถึงที่สุดแล้ว ประเด็นสิ่งแวดล้อมมันคือสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ซึ่งมันคือการเมืองทั้งนั้น เพียงแต่ว่ามันคือการเมืองรูปแบบไหน เช่น โครงการที่จะนะ นั่นก็เกี่ยวกับการเมือง เพราะว่าคนที่ไปทำโครงการก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นนโยบายของรัฐบาล มันจะไม่ใช่การเมืองได้อย่างไร

แล้วเวลาชาวบ้านเรียกร้องสิทธิโดยการชุมนุมคัดค้าน นั่นก็คือสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ในการแสดงออกแสดงความคิดเห็นของชาวบ้านนะ เพราะฉะนั้น คนที่พูดว่าการเมืองไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ไม่จริง คุณอาจจะรังเกียจการเมือง หรือมองว่าการเมืองมีแต่เรื่องผลประโยชน์ คุณยอมรับไม่ได้ แต่อย่างไรเสีย การเมืองก็จะวิ่งเข้ามาหาคุณอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเล็กๆ หรือเรื่องใหญ่ๆ มันคือการเมืองทั้งหมด

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

ศิริโชค เลิศยะโส
อดีตกองบรรณาธิการ National Geographic Thai มีผลงานกว่า 20 เรื่องทั้งรูปแบบงานเขียนและภาพถ่าย ปัจุบันเป็นช่างภาพสารคดีอิสระ สนใจงานเชิงสังคม-มานุษยวิทยา ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า