เก็ตสึโนว่าบนแม่น้ำโขง: ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน สีครามงามแต่ไร้ชีวิต

ไม่นานมานี้ได้เกิดปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นและท่วมในฤดูแล้ง ทว่าเมื่อเข้าฤดูฝน แม่น้ำสายเดียวกันกลับแห้งขอด และเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์น้ำโขงใสไร้ตะกอนตลอดแนวแม่น้ำโขงทั้ง 7 จังหวัด ตั้งแต่เลยจนถึงอุบลราชธานี เป็นระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร

ความผันผวนของน้ำขึ้นน้ำลงที่ผิดเพี้ยนฤดูกาล แม่น้ำใสสะท้อนท้องฟ้าเป็นสีคราม แง่หนึ่งในภาพถ่ายนั้น เราจะเห็นความงดงามและแปลกตา เหมาะกับการลั่นชัตเตอร์อวดอ้างผู้คนบนโลกออนไลน์เป็นอย่างยิ่ง ทว่าในแง่ของชาวบ้านผู้มีชีวิตเลียบสายธารแห่งนี้ ความงามที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า คือสัญญาณแห่งความล่มสลายของสรรพชีวิต

เกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำโขง 

ความยาวของแม่น้ำโขงตลอดสายธาร มีระยะทางยาว 4,880 กิโลเมตรจากหิมาลัยสู่ทะเลจีนใต้ ไหลผ่าน 6 ประเทศคือจีน ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม มีเขื่อนกางกั้นกลางแม่น้ำอยู่ถึง 23 แห่ง ประเทศจีนมีเขื่อนมากสุดถึง 11 เขื่อน ประเทศลาว 7 เขื่อน ประเทศกัมพูชา 3 เขื่อน และอีก 2 เขื่อนคือที่พรมแดนไทย-ลาว 

การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำที่เชื่อมโยงกว่า 6 ประเทศ จึงสร้างปัญหามหาศาล และมีการต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำมาอย่างยาวนาน เพราะแม่น้ำโขงไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว การสร้างเขื่อนไซยะบุรีหรือเขื่อนอื่นๆ นั้นสร้างผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมและผู้คนแบบไร้พรมแดน

“ตั้งแต่ปี 2551 ช่วงนั้นพื้นที่ฝนตกไม่เยอะ แล้วน้ำมันไหลบ่าท่วมเข้ามา ตั้งตัวกันไม่ทัน เลยสงสัยว่าปกติฝนตกแค่นี้มันไม่น่าท่วม ท่วมทั้งอีสาน  7 จังหวัดเลย ขนของกันไม่ทัน ก็เลยเริ่มศึกษากันว่า มันเกิดอะไรขึ้น ไปปรึกษากับพี่น้องที่ภาคเหนือ เขาก็บอกว่า ได้รับผลกระทบเขื่อนจีนมาก่อนเราเป็นสิบปี ตอนนั้นเราเป็นแม่ค้า ขายของอยู่ตรงริมหาดแม่น้ำ ทำให้เห็นความผิดปกติของน้ำได้ชัดเจน ชาวบ้านเราจะไวมากเมื่อเห็นอะไรผิดปกติ เพราะเราอยู่กับธรรมชาติมาทั้งชีวิต” 

เป็นเวลาร่วม 10 ปีที่ อ้อมบุญ ทิพย์สุนา จากแม่ค้าผู้หาเลี้ยงปากท้องริมหาดโขง และผู้ที่สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ เธอได้กระโดดลงมาทำงานเรื่องแม่น้ำโขงอย่างจริงจัง ซึ่งเมื่อความผิดปกติเริ่มแจ่มชัด เธอจึงเดินทางตามหาต้นสายปลายเหตุจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

“ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยรู้เรื่องเขื่อนจีนเลย รู้สึกว่ามันห่างไกลเขาเยอะมากถ้านับ จากจีนถึงอีสาน มัน 1,500 กว่ากิโลเลยนะ เราไม่คิดว่าจะส่งผลมาถึงเรา แต่เราเห็นพี่น้องทางภาคเหนือเขาต่อสู้กับผลกระทบจากเขื่อนจีนที่มาเปลี่ยนแปลงวิถีน้ำของเขา ทั้งน้ำขึ้นน้ำลงผิดปกติ น้ำท่วม หาปลาได้น้อยลง ตลิ่งพัง ต่างๆ นานา ตอนแรกเรายังไม่เชื่อเพราะยังไม่เจอกับตัวเอง

“แต่พอปี 2553 แห้งแล้งมาก น้ำเริ่มผันผวน พรานปลาแถวบ้านก็เริ่มพูดว่า ‘เอ๊ะ น้ำเริ่มผิดปกติแล้วนะ สามวันมันลง มันขึ้น มันลง’ ตัวเราเองก็เริ่มแอบๆ เขาไปดู ก็เห็นมีนักวิชาการแถลงข่าว ก็มีคนแนะนำให้ไปดูระดับน้ำของกรมทรัพยากรน้ำของ MRC สิว่ามันขึ้นลงจริงไหม เราก็เริ่มเห็นกราฟที่มันผิดปกติจริงๆ จึงได้รู้ว่าเขื่อนที่ควบคุมน้ำอยู่ไกลจากเราขนาดนั้น มันส่งผลกระทบมาถึงจริงๆ” อ้อมบุญเล่า

“จากเมื่อก่อนนั้น ผืนดินของแม่น้ำโขงมีความอุดมสมบูรณ์ ขึ้นลงตรงตามฤดูกาล ปลาก็จะมาตามฤดูกาล พี่น้องที่ทำประมงเขาก็จะรู้ พี่น้องทำการเกษตรก็เหมือนกัน เขาจะรู้ว่าหน้าไหนจะปลูกผักอะไร และจะปลูกลงไปถึงไหน น้ำก็สามารถใช้อุปโภค บริโภค แล้วพื้นดินก็มีความอุดมสมบูรณ์ อย่างผมตอนเด็กนั้น พ่อจะหาปลาตอนเช้า ไปหว่านแหไม่ถึงชั่วโมงก็ได้ปลามาหาอยู่หากินได้ เมื่อก่อนนะ แต่ทุกวันนี้ วิถีชีวิตเปลี่ยน น้ำโขงเปลี่ยน แค่จะอาบจะกินเหมือนเมื่อก่อนก็ไม่ได้แล้ว มันคัน” อำนาจ ไตรจักร์ ชาวบ้านจากจังหวัดนครพนมกล่าวเสริม

เขื่อนแล้วเขื่อนเล่า 

มนตรี จันทวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขงได้แสดงความคิดเห็นในเวที ‘น้ำท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน สู่โขงสีคราม: ปัญหา ผลกระทบ และความรับผิดชอบ’ ต่อกรณีการควบคุมและบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนจีนและเขื่อนไซยะบุรี ที่สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง ต่อระบบนิเวศวิทยา ต่อการทำมาหากินของชุมชนริมโขง และต่อปรากฏการณ์โขงสีครามใสที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ว่า

“แม่น้ำโขงตอนบนเกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศจีน ส่วนแม่น้ำโขงตอนล่างนั้นอยู่ในสี่ประเทศคือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งจีนนั้นมีแผนสร้างเขื่อนอยู่ 31 เขื่อน สร้างเสร็จไปแล้ว 11 เขื่อน ซึ่งน้ำที่ถูกกักไว้มีปริมาณถึง 40,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบแล้วมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำที่ไหลผ่าน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อิทธิพลของเขื่อนประเทศจีน ทำให้ระดับน้ำที่เชียงแสนนั้นผันผวนอยู่ตลอดเวลา 

“ในปี 2562 เราเจอสถานการณ์ที่เรียกว่าน้ำท่วมหน้าแล้ง จริงๆ แล้วไม่ได้แค่ท่วมปีนี้ หากแต่ท่วมมาหลายปีแล้ว หากดูระดับน้ำที่ อำเภอเชียงแสน ค่าเฉลี่ยก่อนการสร้างเขื่อนนั้น น้ำจะค่อยๆ ลงในฤดูแล้ง และขึ้นในฤดูฝน แต่ทว่าในปี 2562 ระดับน้ำนั้นจะขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา และท่วมตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงพฤษภาคม แต่หลังจากพฤษภาคม เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ระดับน้ำโขงก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตลอด เดิมอยู่ที่ประมาณ 5-6 เมตร แต่ปีนี้เหลือเพียง 3 เมตรเท่านั้น เพราะฉะนั้น สิ่งนี้เราเรียกว่าปรากฏการณ์ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน”

จากการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนจีนมาเป็นเวลานาน ซ้ำด้วยการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว ขณะนี้แม่น้ำโขงทางภาคอีสานของไทยที่อยู่หลังเขื่อนเข้าสู่ขั้นวิกฤติ จากแม่น้ำอันอุดม กำลังจะกลายสภาพเป็นเพียงอ่างเก็บน้ำที่ปราศจากชีวิต เหลือเพียงสีน้ำใสที่สวยงามทว่าไร้ประโยชน์ 

“ปัจจุบันความเสียหายเดิมถูกซ้อนทับด้วยความเสียหายใหม่ ที่เกิดจากเขื่อนไซยะบุรี ประเทศลาว ที่ถ้าดูจากภาพเราจะเห็นว่า เหนือเขื่อนไซยะบุรี-น้ำเต็ม ท้ายเขื่อน-น้ำแห้ง คำถามก็คือว่า เขื่อนไซยะบุรีไม่ได้กักน้ำไว้จริงหรือ เพราะระดับน้ำเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนนั้นมีความต่างกันถึง 32.75 เมตร หรือต่างกันเท่าความสูงของตึก 11 ชั้น พอเปิดเขื่อนไซยะบุรีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมปั๊บ เข้าพฤศจิกา-ธันวา เราเห็นอาการที่เรียกว่า แม่น้ำโขงไร้ตะกอนทันที เนื่องจากตะกอนถูกกักไว้เหนือเขื่อน น้ำโขงในภาคอีสานจึงกลายเป็นสีใส และไร้ชีวิต”

“สีครามคือสีสะท้อนของท้องฟ้า เพราะน้ำโขงมันใส ลักษณะของเขื่อนไซยะบุรีนั้นเก็บน้ำที่ระดับ 275 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ตัวประตูระบายตะกอนอยูู่ที่ระดับ 242 เมตร จากลักษณะของแม่น้ำโขงจากเขื่อนไซยะบุรีขึ้นไปถึงหลวงพระบาง จะมีแอ่งลึกที่ทำหน้าที่กักตะกอนเมื่อน้ำไหลช้า ที่ผ่านมาบอกว่า เขื่อนไซยะบุรีจะกักตะกอนไว้เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ จากตะกอนที่ไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรีทั้งปี เขาบอกเช่นนี้ แต่ตอนนี้เราก็ไม่รู้ว่าจาก 3 เปอร์เซ็นต์ มันจะกลายเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ว่า มันไม่ใช่ 3 เปอร์เซ็นต์แล้วที่ทำให้แม่น้ำโขงตอนล่างใสขนาดนี้ 

แม่น้ำโขงสีใส กำลังบอกอะไรเรา 

แม่น้ำโขงนั้น ดั้งเดิมคือสีปูน ดังคำที่เรียกขานว่า ‘โขงสีปูนมูลสีคราม’ อันเกิดจากแม่น้ำสองสีระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูล สิ่งนี้คือความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการไหลมาบรรจบกันของแม่น้ำสองสาย และในความขุ่นของโขงสีปูนนั้น คือแหล่งธาตุอาหารที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตใต้น้ำทั้งพืชและสัตว์ อันเป็นแหล่งอาหารและความมั่นคงของมนุษย์ริมฝั่งโขง ปรากฏการณ์น้ำโขงสีใสสะท้อนกับสีของท้องฟ้า จึงหาใช่เรื่องที่ควรดีใจ เพราะนั่นหมายถึงความพังทลายของระบบนิเวศ และความเสี่ยงต่อการล่มสลายของชุมชนชายฝั่งแม่น้ำโขง

“เมื่อเขื่อนไซยะบุรีเริ่มปั่นไฟเต็มสูบในเดือนกรกฎาคมเพื่อทดสอบ ปรากฏว่าน้ำเกิดอาการแบบนี้ พอเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ยิ่งเห็นชัดว่าน้ำใสและเปลี่ยนเป็นสีฟ้า สิ่งนี้คือภาวะของตะกอนในน้ำที่หายไป เราก็ได้มานั่งโสเหล่กันในกลุ่มพรานปลาว่า ‘เฮ้ย นี่มันเกิดอะไร’ แล้วเราก็ได้ยินนักวิชาการพูดว่า ปลาที่มันจะหายไปนั้น ประมาณ 69 ชนิด ซึ่งเป็นปลากินตะกอน กินฝุ่น ที่สำคัญคือปลาบึก ปลาเอิน ปลาเศรษฐกิจทั้งนั้นเลย เป็นปลาที่อยู่ในบัญชีไซเตส (CTES – อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์) มีปลาที่ต้องได้รับการคุ้มครองเพราะเหลือน้อยและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ปลาสะงั่วซึ่งได้รับการขนานนามว่าราชินีปลาก็จะหายไปด้วย” อ้อมบุญเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูล

ไม่ใช่เพียงน้ำที่แห้งหายในหน้าฝน ไม่ใช่เพียงน้ำที่ท่วมท้นในหน้าแล้ง ทว่าความผันผวนนั้นสร้างความสูญเสียต่อนิเวศน้ำหลังเขื่อนอีกมหาศาล สรรพชีวิตหนีตายดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะปลา ไม่ว่าจะคน 

“การที่น้ำมาแรงผิดปกติ ทำให้ตลิ่งโขงและดินทรุดตัวไปตามสายน้ำ จากดินอุดมสมบูรณ์ เหลือแค่ตะกอนดินที่ไม่มีปุ๋ยไม่มีแร่ธาตุ กลายเป็นดินกระด้าง ส่วนตรงตะกอนทรายที่เคยมีทรายทับถมก็ไม่มี เป็นทรายล้วนที่ปลูกอะไรไม่ได้ ริมฝั่งโขงเมื่อก่อน มันแกวขึ้นชื่อ หัวกลม ปอกกินง่าย ทุกวันนี้หัวมันกลายเป็นเหลี่ยมๆ เล็กๆ ปอกยาก เนื่องจากสภาพดินขาดความอุดมสมบูรณ์ 

“เมื่อก่อนไม่ใช้ปุ๋ยก็งอกงาม แต่สมัยนี้ไม่ใส่ปุ๋ยก็ไม่ได้กิน และถ้าใส่ปุ๋ยเคมีมากๆ ก็มีสารตกค้าง เราก็เริ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ แต่ถึงอย่างนั้น การจะเอาน้ำโขงขึ้นมารดน้ำผักก็ไม่ได้ เพราะเราเอาไปให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นตรวจสภาพน้ำก็ไม่ผ่าน เพราะเขาบอกว่ามีสารโลหะหนักในน้ำ ถ้าอยากจะเอามารดน้ำผักอินทรีย์ คุณต้องเอาน้ำไปพักสี่ห้าวันในบ่อ แล้วค่อยเอาไปรด มันลำบากนะ บางทีพี่น้องก็บอกว่า การทำอินทรีย์มันลำบากนะ พอมันลำบาก ราคามันก็ต้องแพงขึ้น คนที่จะได้กินผักอินทรีย์จริงๆ คือคนที่รักสุขภาพจริงๆ และมีเงิน ถึงจะได้กิน ที่แพงก็เพราะแบบนี้” พ่ออำนาจ ได้เล่าถึงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากความผิดปกติของแม่น้ำ โดยเขากล่าวว่า เรื่องนี้ใช่ว่าเพิ่งเกิด และใช่ว่าชาวบ้านเพิ่งสู้ 

“ถ้าพูดถึงเรื่องปลา ทุกวันนี้มันไม่อุดมสมบูรณ์แล้ว มันไม่มี ไปหาปลาทั้งวัน บางทีค่าน้ำมันเรือก็ไม่ได้ เมื่อก่อนคนประมงบ้านผมเขาบอกว่า เขาเลี้ยงลูกสี่ห้าคน ส่งลูกหลานเรียนได้ ไปหาปลาตีสามตีสี่ กลับมาเจ็ดโมงเช้า ลูกก็ช่วยกันมาหามเอาปลาไปขาย แต่ทุกวันนี้ แทบจะกินในครอบครัวไม่พอ ค่าน้ำมันเรือไม่ต้องพูดถึง 

“ส่วนเรื่องวิถีวัฒนธรรม ที่นี่เคยมีทั้งลอยกระทง สงกรานต์ แข่งเรือยาว ตอนนี้ไม่มีแล้ว มันมีไม่ได้เพราะน้ำตื้นเขิน เวลาแข่งเรือก็ต้องยุติธรรม กระแสน้ำไหลต้องเท่ากัน ทีนี้พอน้ำตื้น เรือลำหนึ่งอยู่ร่องน้ำลึก อีกลำอยู่ร่องน้ำตื้น มันก็ได้เปรียบเสียเปรียบกัน เราจึงบอกว่าอย่าจัดดีกว่า มันจะสร้างความแตกแยกมากกว่าสามัคคี

“เราอยู่กับแม่น้ำโขงมาจนถึงอายุ 50 กว่าปีเเล้ว ไม่เคยเห็นแม่น้ำโขงที่ใสขนาดนี้และไม่เคยเห็นปลาในแม่น้ำโขงที่มาผิดฤดูขนาดนี้ งบประมาณที่เราไปอนุรักษ์หมีแพนด้าช่างเยอะเหลือเกิน แต่ว่างบที่จะมาช่วยพี่น้องริมโขงอนุรักษ์เรื่องพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง กว่าจะขอได้นี่มันยากมาก เราจึงต้องไปเจียดเงินขายผักขายปลา เจียดจากเงินที่ลูกเอาไปโรงเรียนมาช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาแม่น้ำโขงเอาไว้ โดยเอาวัดที่มีแหล่งน้ำเป็นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลา ประกาศกันว่าถ้าพี่น้องคนไหนได้ปลาตัวใหญ่ๆ ที่มีใข่ เราขอซื้อ แต่ว่าต้องไม่ให้มันตาย เราจะให้ราคาแพงกว่าเขาด้วย เพื่อเราจะเอามาปล่อยในเขตอภัยทานเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาต่อไป เอาไว้ให้ลูกหลานได้ดูด้วย ไม่อย่างนั้นก็คงเหลือแต่รูปให้ดู”

เสียงของคนริมโขง 

ด้วยวิถีชีวิตที่พึ่งพิงสายน้ำมายาวนาน เมื่ออันตรายมาเยือน ชาวบ้านจึงไม่รอช้าที่จะยืนหยัดสู้ดังเช่นอ้อมบุญ ที่มากกว่าแค่ศึกษาปรากฏการณ์ทีเ่กิดขึ้น เธอเลือกที่เรียนต่อปริญญาโทในสาขาพัฒนาสังคม เพื่อที่ให้เสียงของเธอได้รับการยอมรับจากสังคม 

“มาเป็น NGO ได้อย่างไรก็ไม่รู้ พอถูกดูถูกมากๆ ว่าไม่มีความรู้ ขนาดเราจบปริญญาตรีมา เขาว่าขี้หมาปลาทูแห้ง เราเลยลงทุนไปเรียนต่อปริญญาโทรด้านพัฒนาสังคมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนหน้านี้เรามีความรู้สึกว่า เราเถียงสู้เขาไม่ได้ (หัวเราะ) จนต้องไปเรียนมาเพื่อที่จะทำงาน เพื่อสู้ เพื่อมีสถานะทางสังคมและเพื่อคุยกับเขาให้รู้เรื่อง และเป็นตัวกลางให้พี่น้องชาวบ้านด้วย เท่านั้นเอง ไม่ได้ต้องการปริญญาบัตรอะไร เราแค่อยากมาอยู่ในจุดที่เราพูด แล้วมีคนฟัง” เธอว่าเช่นนี้

“สิ่งที่ยากมากสำหรับชาวบ้านคือเรื่องการทำข้อมูลให้เป็นระบบ เพราะชาวบ้านก็จะเล่าถึงปรากฏการณ์ ถึงความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เขาบอกได้ผ่านลักษณะของน้ำ น้ำแบบนี้มีปลาอะไร ใช้เครื่องมือแบบไหนในการจับ ในการหา นี่เป็นความรู้ของพวกเขาและเขาถนัด แต่มันไม่ถูกยอมรับ 

เราร้องขอว่า ณ วันนี้ต้องยอมรับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ง่ายๆ เลย คุณไปฟังสิว่าชาวบ้านเขากังวลอะไรในเวทีรับฟังความเห็นกรณีเขื่อนไซยะบุรี จัดตั้ง 4 เวทีแถมลำดับเป็นข้อๆ ให้คุณ คำถามพวกนั้น คุณไม่ได้ตอบอะไรเขาเลย ทั้งที่คุณรู้แล้วว่าตอนนี้น้ำโขงมันเปลี่ยนแปลง มันผันผวนและสร้างความเสียหาย มันไม่ใช่เรื่องฝน แต่มันคือเรื่องการบริหารจัดการน้ำของเขื่อน ฉะนั้นคุณต้องแก้ระบบระเบียบให้มันเข้าถึง 

การเพิกเฉยทั้งหลายที่เกิดขึ้น มันสะท้อนอะไร? เราถามอ้อมบุญ – เธอตอบ

“มันสะท้อนถึงเรื่องของความเป็นชายขอบ ของการไม่ใส่ใจ ถามว่าคนอีสานที่อาศัยแม่น้ำโขง แม่น้ำสาขานั้น ใช่คะแนนเสียงของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไหม? ใส่ใจเขาบ้าง ใส่ใจสุ้มเสียงที่เขาตะเบ็งออกมาบ้าง คุณไม่สามารถที่จะเอาภาษีเยอะแยะมากมายเพื่อไปแก้ไขปัญหารายคนว่าจ่ายไปเท่านี้แล้วมันจะแก้ไขปัญหาได้ เพราะมันจะเป็นปัญหาที่แก้ไม่จบ

“นาทีนี้จะเป็นนาทีที่ประเทศไทยจะกล้าหาญมากถ้ารัฐบาลชุดนี้สามารถทบทวนเรื่องของ PNPCA (ระเบียบปฏิบัติ เรื่องการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง) ทบทวนสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นและเริ่มแก้ไขปัญหา เริ่มเจรจาทางการทูต เริ่มศึกษาข้อมูล สิ่งนี้จะได้ใจพี่น้องอีสานมาก” เธอกล่าว

‘แม่’ น้ำโขงของคนอีสาน 

“หากเจ้าพระยาเปรียบดั่งธารชีวิตของคนภาคกลาง แม่น้ำโขงเปรียบดั่งอะไรของคนอีสาน” อีกคำถามที่เรายิงตรงไปยังอ้อมบุญ

“โขงเปรียบเสมือนแม่ เพราะเราพึ่งพาเขาทั้งในเรื่องอาหารการกิน วิถีวัฒนธรรม ความเชื่อ แม้กระทั่งการตาย เราก็ยังไปลอยอังคารที่แม่น้ำโขง หลวงปู่คูณก็ไปลอยที่นั่น คำถามคือ มันเป็นวิถีชีวิตและจิตใจของพวกเราไหม คนไทยอาจจะมองว่าแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นสัญลักษณ์ของสยาม แต่สำหรับคนอีสาน แม่น้ำโขงเป็นทุกสิ่งอย่างของเรา เป็นแม่ของแม่น้ำเลย ชี มูล สงคราม ของทุกสิ่ง

“สิ่งที่เราร้องขอคืออยากให้แม่น้ำเหมือนเดิม หรือเวลาบริหารจัดการน้ำ ก็ขอให้ใกล้เคียงกับแบบที่มันเคยเป็น ไม่ใช่ว่า หน้าแล้งก็ไม่แล้ง หรือหน้าฝนแทนที่จะมีน้ำหลาก ปลาจะได้ว่ายไปวางใข่ แต่น้ำก็กลับไม่หลาก ปลาก็อันตรธานหายไปเพราะไม่มีที่วางใข่ นี่คือความผิดปกติทั้งหมดที่เราในฐานะคนแม่น้ำโขงอยากเล่าให้คนเมืองฟังว่า โอ้โห ชีวิตเราเปลี่ยนไปอีกแบบเลย” อ้อมบุญกล่าว 

พ่ออำนาจกล่าวเสริมขึ้นว่า “แม่น้ำโขงสำหรับผมเปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่เลยแหละ พวกเราอยู่ริมโขง ตื่นเช้ามาก็เห็นแล้ว เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำมาตลอด เดี๋ยวนี้เราไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากราชการนะ เราได้จากกลุ่มของพวกเราเองทั้งนั้นที่ให้ข้อมูลกันและเตรียมตัวรับมือกันเอง ตอนนี้แม่น้ำโขงมันสุดจะเยียวยาแล้วนะ ถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้อยู่ 

“ผมถึงบอกว่า เราหยุดฟังกันก่อน ก่อนจะสร้างเขื่อนต่อไป มาดูว่าจะสร้างเขื่อนเพราะอะไร เพราะจะผลิตไฟฟ้า แล้วดูสิว่าไฟฟ้าสำรองในประเทศไทยของเรามันไม่พอแล้วหรือ มันมากเกินพอนะ แล้วจะไปสร้างมันทำไมอีก แต่ถ้าจะสร้างจริงๆ ก็มาศึกษาผลกระทบกับชาวบ้าน มาคุยกับคนอยู่ก่อนดีไหมมาฟังกัน เอาไปประเมินก่อนแล้วค่อยว่ากัน อยากจะวอนถึงรัฐบาล ถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถึงผู้ที่เป็นแหล่งเงินทุนให้เขาสร้างเขื่อน” 

ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กรณีเขื่อนไซยะบุรี

บทความ ‘เปลี่ยนแม่น้ำเป็นไฟฟ้า ข้อเท็จจริงเรื่องเขื่อนไซยะบุรี 1 ใน 23 กำแพงยักษ์ขวางน้ำโขง’ ได้ระบุว่า เขื่อนไซยะบุรีบนแผ่นดินของลาวเป็นการลงทุนของบริษัท ช.การช่าง ซึ่งเป็นบริษัทของไทย ด้วยมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยมีธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเพื่อการส่งออก (Exim) ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารทิสโก้

ปี 2550 โครงการเขื่อนไซบะบุรีริเริ่มโดย ช.การช่าง ทำ MOU กับรัฐบาลลาวเพื่อออกแบบเขื่อนไซยะบุรี จากนั้นปี 2551 ได้มีการลงนามสัญญาเพื่อพัฒนาโครงการอย่างจริงจัง และเริ่มก่อสร้างในปี 2555 ระหว่างนั้นการก่อสร้างชะงักชั่วคราวเนื่องจากรัฐบาลเวียดนาม และรัฐบาลกัมพูชา ทำการประท้วงเพราะเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นท้ายน้ำ นั่นจึงนำมาสู่การปรับรูปแบบของเขื่อนใหม่เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม 

การต่อสู้คัดค้านเริ่มขึ้นมานับเป็นระยะเวลากว่าสิบปี ชาวบ้านแสดงความกังวล และคาดการณ์ถึงผลกระทบจากเขื่อนผ่านเวทีสาธารณะเป็นร้อยๆ ข้อ ตั้งแต่ครั้งที่เขื่อนไซยะบุรียังไม่ได้สร้าง และเสียงของพวกเขาไม่มีใครฟัง กระทั่งวันนี้ ข้อกังวลที่ชาวบ้านตะโกนก้องบอกสังคมในวันนั้น ล้วนแล้วเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ทั้งสิ้น 

ฉะนั้นถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ท่านทั้งหลายจะได้ยินเสียงของชาวบ้าน และรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง เมื่อผลกระทบของเขื่อนปรากฏเป็นที่ประจักษ์ คำถามคือความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ ใครควรมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง เวทีเสวนา ‘จากโขงท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน สู่โขงสีคราม: ปัญหา ผลกระทบ และความรับผิดชอบ’ ได้แสดงความคิดต่อการรับผิดชอบครั้งนี้ไว้ดังนี้ 

ถึง ผู้ได้รับประโยชน์จากเขื่อน

“ถ้าจะถามหาความรับผิดชอบ ต้องดูว่าใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ผมไม่เคยตำหนิรัฐบาลลาวนะครับหากพูดในเชิงเปรียบเทียบนั้น ประเทศไทยเทียบเท่ากับเป็นมาเฟียของการค้ายาเสพติด ส่วนประเทศลาวเป็นเพียงชาวไร่ที่ปลูกฝิ่น โคเคนมาป้อนเรา ถ้าเราจะปราบยาเสพติด เราไปนั่งถางไร่ หรือไล่จับพ่อค้าตัวเล็กๆ หรือชาวไร่ มันก็คงไม่ใช่ประเด็น เพราะคนที่ลอยนวลคือมาเฟีย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากสุด คือผู้ที่ต้องรับผิดชอบ เราไล่ดูสิครับว่าใครบ้าง ใครคือเจ้าของนโยบายเรื่องของการซื้อขายไฟฟ้าเหล่านี้ เมื่อมีผู้ซื้อ ผู้ขาย ต้องมีผู้ผลิต”

ดร.ชวลิต วิทยานนท์
ผู้เชี่ยวชาญด้านประมง

ถึง ธนาคารไทย

“เขื่อนไฟฟ้าทุกเขื่อนรวมทั้งไซยะบุรี เราต้องมาดูว่าตัวที่ตัดสินใจว่าโครงการนี้จะเดินหน้าไปได้หรือไม่ ก็คือตัวสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งทำกันระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทยกับบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2554 ตัวนี้เป็นเหมือนการการันตีเพราะตัวสัญญาจะระบุไว้ว่า ตลอดระยะเวลาการสัมปทานนั้น กฟผ. ต้องซื้อไฟฟ้าจากบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์เป็นเงินกี่พันล้านหน่วย เป็นเงินกี่หมื่นล้านบาทตลอดอายุสัมปทาน ตัวนี้จึงเป็นตัวที่เอาไปใช้เป็นตัวค้ำประกันเงินกู้ประมาณ 7 หมื่นกว่าล้านบาทกับธนาคารในประเทศไทย ในเดือนเมษายน ปี 2555 เพื่อการก่อสร้าง 

ซึ่งถ้าถามความรับผิดชอบในครั้งนี้ ธนาคารปัดความรับผิดชอบนี้ไม่พ้น เพราะในการประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้พูดว่า ได้ตั้งทีมอิสระสำหรับการศึกษาและทบทวนผลกระทบของเขื่อนทั้งหมดแล้ว และบอกว่ายอมรับได้ ไม่มีปัญหา ฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหา ธนาคารปัดความรับผิดชอบนี้ไม่พ้นนะครับ ไม่ใช่ว่าปัญหาเกิดขึ้นมาก็เก็บไว้ รับแต่เงินต้นต้นเงินดอกเบี้ยตามปกติ 

มนตรี จันทวงศ์
กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง

ถึง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ท่านต้องแจ้งข้อมูลข่าวสารให้มันครอบคลุม ไม่ใช่บอกว่า ‘ผมได้รับข้อมูลข่าวสารจากจีนแจ้งมาว่าจะปล่อยน้ำ พอได้ข่าวผมก็แจ้งไปที่ผู้ว่า’ กว่าจะมาถึงเรา ถึงพี่น้องอีสาน ข้อมูลข่าวสารมันล่าช้าเกินไป อย่างปี 2559 ตำบลของผมได้มุดเอาพืชผักทางการเกษตรเพราะน้ำท่วม น้ำลดแล้วข่าวถึงค่อยแจ้งมาว่าน้ำจะท่วมนะ มันจะทันหรือ? ไม่ทันครับ

อำนาจ ไตรจักร์
ผู้แทนชุมชนจังหวัดนครพนม

ถึง กระทรวงเกษตร

มีการวางแผนบ้างไหมโดยเฉพาะกับพี่น้องริมโขงว่า พี่น้องต้องปลูกผักอย่างไรในเมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ การฟื้นฟูสภาพผืนดินริมฝั่งโขงต้องทำอย่างไร ในเมื่อรู้ปัญหาแล้ว วางแผนอะไรบ้างไหม ไปจนถึง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขาบอกว่าต้องประกาศเป็นภัยพิบัติถึงจะช่วยได้ ต้องรอให้ตายเสียก่อนถึงจะช่วย คำถามคือ ขณะนี้ยังไม่เป็นภัยพิบัติอีกหรือ? น้ำโขงเป็นถึงขนาดนี้ ยังไม่ภัยพิบัติจริงหรือ?

อำนาจ ไตรจักร์
ผู้แทนชุมชนจังหวัดนครพนม

อ้างอิง

  1. เปลี่ยนแม่น้ำเป็นไฟฟ้า ข้อเท็จจริงเรื่องเขื่อนไซยะบุรี 1 ใน 23 กำแพงยักษ์ขวางน้ำโขง
  2. เสียงของหมาป่าจากต้นน้ำหลานชางเจียง แม่น้ำโขงในกรงเล็บมังกรจีน
  3. เวทีเสวนา ‘จากโขงท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน สู่โขงสีคราม: ปัญหา ผลกระทบ และความรับผิดชอบ’ โดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และ The Mekong Butterfly

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า