ชาลี ลอยสูง: 11 ปี 2 รัฐประหาร ขบวนการแรงงานอยู่ตรงไหนในวงเวียนการเมือง

ภาพต้นฉบับจาก voicelabour.org

ระนาบของผู้นำแรงงานทศวรรษหลัง ชื่อของ ชาลี ลอยสูง อยู่ในกลุ่มนำทางความคิดและการเคลื่อนไหว บทบาทปัจจุบันเป็นทั้งรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเลขาสมาพันธ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM)

หากใช้ชื่อของเขาสืบค้นใน Google จะพบภาพอยู่สองประเภทหลักๆ คือยื่นหนังสือ และถือไมโครโฟน บนเวทีแรงงานแทบทุกแห่งต้องพบเขาอยู่ที่นั่น ขณะที่บนเวทีการเมืองเขาปรากฏตัวอยู่เสมอ ตั้งแต่การชุมนุมร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนถึงการร่วมหัวจมท้ายกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ครบรอบ 11 ปีรัฐประหาร 2549 เราชวนลูกพี่ใหญ่แห่งขบวนการแรงงานย้อนวันวาน ทบทวนตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้

“ขบวนการแรงงานก็สู้ในเรื่องความยุติธรรมอยู่แล้ว รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้าเราพิสูจน์ได้แน่ชัดว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน เราก็ต้องออกมาต่อต้านไม่ให้เขามาบริหารจัดการอีกต่อไปนี่คือหลักการก่อนนะ รัฐบาลชุดนั้นเราก็เฝ้าติดตามมาตลอด มีกลุ่มทุนเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งความจริงมันก็ดีอยู่หรอก แต่ช่วงหลังพฤติกรรมเขาเปลี่ยนไป แล้วมาประจวบเหมาะกับการที่พวกเขาไปขายหุ้น พฤติกรรมมันบอกว่าเรื่องของการขายหุ้นนั้นมันเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน มันไม่มีรัฐบาลชุดไหนหรอกที่สั่งให้ข้าราชการทำงานในวันที่ 31 ธันวาคม เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นในปีนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่มิติแรงงานเพียงอย่างเดียว อีกด้านหนึ่งเราก็เป็นประชาชนที่เป็นส่วนหนึ่งของคนที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย”

เมื่อการละเมิดสิทธิ การปลดออก เลิกจ้าง ความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่แรงงานต้องประสบพบเจอไม่เคยถูกรับฟังในรัฐบาลชุดนั้น ประกอบกับประเด็นที่คนในสังคมกำลังพุ่งประเด็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชันทำให้ส่วนผสมของสถานการณ์ลงตัวมากพอที่เขาและขบวนการแรงงานจะตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุม แต่ในห้วงการตัดสินใจดังกล่าว เพื่อนพ้องในขบวนการแรงงานส่วนหนึ่งยกมือหนุน อีกส่วนก็ยกมือคัดค้าน

“เมื่อมีการประกาศจุดยืนแบบนี้ขึ้นไป พี่น้องของเราก็มีคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย การออกไปก็มีความแตกแยกกันของขบวนการแรงงาน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงนั้นเลย มีการแยกออกเป็นสองส่วน จากที่เคยอยู่ด้วยกันก็แยกออกเป็นสองฝ่าย ด้วยความคิดทางการเมืองด้วยกันทั้งคู่ ในช่วงนั้นคุณวิไลวรรณเป็นประธานอยู่ ก็มีมติกันเรียบร้อยแล้วจึงไปแถลงการณ์กันที่ท้องสนามหลวง”

การชุมนุมยืดเยื้อ ขบวนการแรงงานยังคงเกาะติด แต่เสียงบนเวทีที่พูดเรื่องนายกมาตรา 7 ทำให้ขบวนการแรงงานที่เข้าไปร่วมชุมนุมต้องพบกับทางแยกอีกครั้ง

“นายกที่มาจากมาตรา 7 นั้น ก็สืบเนื่องมาจากการต่อสู้กันอย่างยาวไกล มันก็ไม่รู้จะไปทางไหน ไม่มีอะไรคืบหน้าขึ้นมา ก็คิดว่าผู้นำหรือแกนนำที่อยู่ในขบวนการชุมนุมก็คงต้องไปคุยกัน แต่การคุยกันก็ไม่ได้เป็นมติอะไรออกมา แต่เวลาต้องขึ้นไปไฮปาร์ค บางทีก็อาจจะมีการพูดพาดพิงไปเรื่องของการใช้นายกมาตรา 7 ทีนี้พอไปพูดแบบนั้นก็เลยทำให้พี่น้องของเราส่วนหนึ่งไม่พอใจ ส่วนที่พอใจก็มี แต่คนที่ไม่ได้คิดอะไรก็มี คงอยากจะให้การชุมนุมมันจบ เพราะถ้าปล่อยยืดเยื้อไปก็เสียทั้งเงินและเวลา และไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะมีการบาดเจ็บล้มตายกันได้หรือเปล่า เพราะสู้กันมานานแล้วก็ทำให้เศรษฐกิจของชาติเสียหายด้วย เป็นไปได้ไหมที่จะเป็นแบบนี้ขึ้นมาว่านายกรัฐมนตรีซึ่งขณะนั้นขาดความชอบธรรมแล้ว จะมีการใช้นายกมาตรา 7 ได้ไหม จะได้ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ

“ก็มีคนพูดมาเลยทำให้พวกเราสับสน พวกของเราก็แตกออกไประหว่างนั้นก็เยอะ ตอนนั้นพี่นั่งฟังอยู่แต่ก็ไม่ได้คิดอะไร มีคนไปพูดบนเวทีตอนเย็นๆ ก็เลยมีปัญหา ซึ่งอันนี้พอเช็คลึกๆ ขึ้นมาแล้วก็พบว่ามันไม่ได้เป็นมติของแกนนำ มีการไปไฮปาร์คแล้วก็พูดเรื่องนี้ขึ้นมาเท่านั้นเอง อาจจะเรียกว่าเหตุการณ์พาไป เพียงแต่ว่าเมื่อพูดในเวทีที่มีคนเยอะๆ และมีคนเฝ้ามองจับจ้องอยู่ ถ้าพูดผิดอะไรขึ้นไปก็แก้ไขลำบาก อันนี้ก็เป็นปัญหา”

“แต่ความจริงแล้ว แม้ตัวผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าต้องไปเจ็บแค้นอะไร เพราะคิดอยู่แล้วว่าการใช้มาตรา 7 นั้นคงไม่สามารถทำได้ในเหตุการณ์วันนั้น ไม่สามารถที่จะเป็นไปได้เลยเพราะการต่อสู้เมื่อปี 2549 กับปี 2535 (พฤษภาทมิฬ) มันคนละเหตุการณ์ คนละเรื่องกัน ผมก็คิดแบบนั้นนะ แต่คนอื่นก็มีการพูดปากต่อปากไปเลยทำให้มันมีปัญหา”

แม้ขบวนการแรงงานส่วนหนึ่งจะผิดหวังและถอยออกไปจากการชุมนุม แต่ ชาลี ลอยสูง พร้อมแรงงานกลุ่มหนึ่งก็ยังอยู่ต่อ เพราะคิดว่าข้อผิดพลาดขณะไฮปาร์คบนเวทีนั้นไม่อาจทำให้เป้าใหญ่ในการขับไล่ทักษิณต้องเสื่อมลงได้ เขาร่วมสู้ กระทั่งวันที่ 19 กันยายน 2549 มาถึง ซึ่งเขาบอกว่าไม่ได้แปลกใจเลยที่มันต้องจบในรูปแบบนี้

เราเองจะรู้เลยว่า การต่อสู้ทางการเมืองมาหลายยุคหลายสมัยเมื่อประชาชนลุกขึ้นมาแล้วเกิดการต่อสู้กันทีไร สุดท้ายมันก็จะออกมาด้วยการมีคนกลางเข้ามาทุกครั้ง ที่นี้คนกลางจะมีใคร ส่วนมากก็เป็นคนที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ก็เลยกลายเป็นทหาร

“ถ้ามามองกันลึกๆ จริงๆ ทหารเขาก็ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไร แต่คิดว่าที่หวยออกมาเป็นแบบนั้น มันเป็นการผสมผสานเหตุการณ์หลายอย่าง ปีนั้นทหารไม่ได้ออกมาโดยธรรมชาติ ถ้าวันนั้นทหารไม่ออกมาก็คิดว่านายกรัฐมนตรีก็คงอยู่ไม่ได้แล้วเหมือนกัน เพราะมันบีบคั้นจนไม่มีทางออกแล้ว มันมีทั้งเรื่องของการบริหารจัดการของนายกรัฐมนตรี มีเรื่องภายในกระทรวงกลาโหมด้วย มันก็เลยออกมาเป็นการยึดอำนาจในช่วงนั้น ถามว่าประชาชนเห็นด้วยไหม มันก็เหนื่อยล้ากันไปแล้ว ถ้าเกิดว่ามันจะยุติได้ เขาก็โอเคไม่ได้คิดอะไร เพราะเขาถือว่าไม่ได้เสียเลือดเนื้อก็คงไม่ได้คิดอะไร แต่ผมคิดว่าถ้าเราใจแข็งอีกนิดนึงแล้วสู้ต่อมันก็น่าจะจบ”

หากสรุปบทเรียนระยะสั้น ก็อาจเป็นไปได้ที่เราจะโอนเอนไปฝั่งที่เรายึดมั่น แต่เหตุการณ์ผ่านมากว่าทศวรรษ เมื่อถามว่าห้องเรียนการเมืองครั้งนั้นให้อะไร คำตอบตกผลึกออกมาว่า การต่อสู้ครั้งนั้นมีแง่งามให้จดจำอยู่เสมอ

“พี่น้องของเราได้ถูกจารึกเรื่องการต่อสู้เพื่อรักษาสมบัติของชาติ เมื่อมีการทุจริตคอร์รัปชันแล้วยอมรับไม่ได้เราจะไปปล่อยให้คนแบบนั้นขึ้นมาปกครองประเทศได้อย่างไร ถึงแม้ว่าอีกส่วนหนึ่งจะมองว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมแบบนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมองว่ารัฐบาลนั้นมาจากการเลือกตั้ง มาจากประชาธิปไตยนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งนะ

“อีกส่วนหนึ่งก็ทำให้ต่างชาติได้เห็นว่าขบวนการแรงงานของบ้านเราไม่ได้อยู่แค่ในกรอบที่พวกเขาเข้าใจ เพราะในบ้านเรากฎหมายเขียนชัดเจนว่าสหภาพแรงงานห้ามมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ต่างประเทศเขาไม่ได้เขียนไว้ เขายังมีพรรคการเมืองด้านแรงงานแต่ของบ้านเรามีไม่ได้ พอเราลุกขึ้นมาต่อสู้ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าถึงแม้จะมีกฎหมายเขียนเอาไว้ว่าห้าม แต่พวกเราก็สามารถออกไปทำกิจกรรมทางการเมืองได้เหมือนกัน แล้วทั่วโลกเขาก็รับรู้ ส่วนจะมีการพูดคุยไปทางใดทางหนึ่งนั่นก็อีกเรื่อง แต่นั่นก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเรานั้นไม่ได้ทิ้งการเมืองไปเลย”

หลังการยึดอำนาจคราวนั้น ชื่อของสมานฉันท์แรงงานไทยได้รับการพูดถึง ชาลี ลอยสูง บอกว่า เมื่อรัฐบาล หรือข้าราชการจะออกกฎหมายใด ออกประกาศอะไร ก็จะมีการเชิญคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นเสมอ แน่นอนว่าปัญหาหลายอย่างยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่นั่นก็ไม่ได้นับว่าเป็นความอกหักประการใด

“ความจริงแล้วก็ต้องเข้าใจนะว่ามันจะไม่ได้อย่างที่เราต้องการ ถ้าบอกว่าอกหักก็ทุกกลุ่มเหมือนกันหมด เพราะว่าแต่ละคนก็มีธงของตัวเองไป เลิกชุมนุมแล้วบอกว่าอกหักนั้นมันเป็นธงระดับเล็ก มันไม่ได้เป็นธงในระดับเชิงนโยบาย เพราะฉะนั้นเขาจะมาทำให้ทุกกลุ่มเป็นร้อยเป็นพันซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยก็คงทำไม่ได้ แต่ก็ไปทำในเชิงนโยบายแล้วค่อยออกมา ไปออกกฎหมายค่อยๆ แก้ไขในอนาคต คือไปแก้ไขระบบ มันต้องไปแก้ไขระบบให้เรียบร้อยก่อนที่ธงของเราจะไปถึง

“เราจะมีสิทธิมีเสียงในเรื่องของการเอาประเด็นของพี่น้องไปนำเสนอไหม ก็ได้นะ หลังจากที่มันจบมาแล้ว เขาก็ตั้งผมเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ต้องไปมองภาพใหญ่ ไม่ใช่ภาพเล็กแบบที่เราต้องการ คือเข้าไปแก้ไขกฎหมาย ไปหยอดโน่นหยอดนี่ออกมา นี่ก็เป็นภาพกว้าง แต่แรงงานโดยมากจะมองว่าไม่ได้อะไร”

แม้จะมองว่ามีส่วนได้ ก็มีส่วนเสีย และส่วนเสียที่ยังซ่อมไม่ได้จนถึงทุกวันนี้คือการแบ่งแยกของขบวนแรงงานด้วยมุมมองทางการเมืองที่แตกต่าง เหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 แรงงานไม่น้อยก็เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง

เราถือว่าสิทธิในการชุมนุมมันเป็นเรื่องเสมอภาค พี่น้องเขาก็บอกว่ากลุ่มของเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาก็ไปเรียกร้อง ผมก็ถือว่าเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเข้าไปด้วยเจตนารมณ์ที่ดี ผมก็ให้เขาไปไม่เคยไปโจมตีไปว่าอะไรเขาเลย เพราะมันเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนอยู่แล้ว

“เขาก็ไปชุมนุมเขาก็มาด่าผม ผมก็ไม่ออกไปตอบโต้ในสิ่งที่เขาสงสัยหรอก เพราะยิ่งตอบโต้เขาก็จะได้ประเด็นที่จะมาว่าเราไม่เลิก สิ่งที่เขาว่าเราก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องไปตอบโต้ พอไม่ตอบโต้ก็ไม่มีประเด็นอะไรเกิดขึ้นใหม่เพราะไม่ได้ไปต่อยอดให้เขา เขาก็จบไป

“ในหลักการแล้วเราเป็นพี่น้องกัน ไม่ได้ทะเลาะกันเลยนะ เราก็ยังคุยกันเพียงแต่ว่าแนวคิดทางการเมืองแตกต่างกันเท่านั้น เจอกันก็พูดคุยกัน”

การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิเสมอภาคกัน ปี 2557 เขาและขบวนการแรงงานกลุ่มหนึ่งจึงเข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. อีกครั้ง คราวนี้เขาบอกว่าถ้าปี 2549 เขาออกมาชุมนุมได้ ก็ไม่มีเหตุผลเลยว่าทำไมจะไม่เข้าร่วมชุมนุมปี 2557 และเมื่อการต่อสู้ยืดเยื้อยาวนาน เกิดการบาดเจ็บ ล้มตาย และเกิดการปะทะอยู่เนืองๆ แม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ก็ยอมรับว่ามันทำให้เขาโล่งใจ

“โล่งใจเพราะพี่น้องของเราจะไม่มีการบาดเจ็บมากกว่านี้ ไม่ใช่ว่าเห็นด้วยกับการรัฐประหารนะ

“แม้เขาจะลาออก แต่ก็จะเอาคนของเขาขึ้นมาแทน ไม่ได้ออกแบบเบ็ดเสร็จ เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่คนที่เป็นหัวเท่านั้น แต่มันรวมกันทั้งคณะ มันก็ต้องถอยออกไปแล้วให้คนอื่นเข้ามาบริหารจัดการ ถ้าไม่ผิดก็กลับมา ไม่ได้มีอะไร อันนี้เป็นความคิดของผม แต่เหตุการณ์มันไม่ได้เป็นแบบนั้นก็เลยกลายเป็นวงเวียนชีวิต”

การยึดอำนาจเมื่อปี 2549 เขายังพอเห็นแสงสว่างเมื่อเสียงของแรงงานถูกพูดถึงและให้ความสำคัญ แต่เมื่อถามถึงรัฐประหารครั้งล่าสุดก็มีท่าทีอีกแบบ

“หลังยึดอำนาจก็มีกลุ่มของนายทุนเข้าไปเป็นผู้บริหารของรัฐบาลชุดนี้เป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นรัฐบาลชุดนี้จะฟังทุนมากกว่า

“ทุกคนก็มองเห็น กลุ่มทุนตั้งหลายคนที่เข้าไปเป็น สนช. สปท. ประชารัฐ นั่นคือเรื่องจริง จะด้วยเหตุผลในเรื่องนโยบายของเขาหรือทำอะไรเราไม่รู้ ทั้งที่มันน่าจะเอาทุกภาคส่วนเข้าไปร่วมด้วย

“เราอาจจะเห็นด้วยกับการที่เขาเข้ามาสงบศึก แต่ในเชิงการบริหารจัดการอะไรเขาก็ยังเอากลุ่มทุน ใช้อำนาจบางสิ่งบางอย่างที่พวกเรารับไม่ได้อยู่ในตัวของเขา แต่สิ่งที่ดีเขาก็มี เราก็ไม่ได้มองในสิ่งที่ไม่ดีอย่างเดียว สิ่งที่ดีก็มีบ้าง เขาเข้ามาแล้วสามารถยุติการทะเลาะเบาะแว้งกัน ก็หยุดได้ระดับหนึ่ง แต่อีกมุมหนึ่งก็น่าจะให้สิทธิประชาชนทุกคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการปฏิรูปครั้งนี้

“แล้วตอนนี้ผมก็ยังมองไม่เห็นนะว่าสิ่งที่เราเรียกร้องให้มีการปฏิรูป เช่น กระทรวงแรงงาน หรือกระบวนการที่เกิดขึ้นด้านแรงงาน ก็ยังไม่เห็นว่ามีใครรับลูกตรงนี้ไปนะ เพราะฉะนั้นก็มองว่าไม่ได้ดีกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาสักเท่าไหร่”

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า