จากสองนคราประชาธิปไตย กว่าจะมาเป็น นปช. แดงทั้งแผ่นดิน

  • กว่าประชาชนจะรวมตัวเป็นขบวนการเพื่อต่อต้านรัฐประหารโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็ต้องรอจนถึงก่อนการยุบพรรคไทยรักไทย
  • การต่อต้านรัฐประหารคมช. มิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตั้งแต่ต้น แต่พวกเขาสามารถหาจุดร่วมเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของขบวนการบางอย่างเพื่อตอบโต้กับการชุมนุมยืดเยื้อกว่า 193 วัน ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)
  • บทเรียนจากความพ่ายแพ้ซ้ำๆ ส่งผลให้พวกเขากลับมาชุมนุมใหญ่ได้อีกครั้งในปี 2552-2553 ภายใต้แคมเปญที่แหลมคมยิ่งกว่าเดิม คือ ‘โค่นอำมาตย์’

 

หากเราใช้กรอบ ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ซึ่งคิดโดย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เพื่อมองการเกิดขึ้นของคนเสื้อแดง อาจจะทำให้เราเข้าใจว่าขบวนการคนเสื้อแดง ซึ่งส่วนใหญ่คือคนชนบทเป็นผู้ตั้งรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เพราะเป็นฐานเสียงให้กับนักการเมือง มิใช่ฐานนโยบายของรัฐบาลเหมือนเช่นคนในเมือง

คำถามคือกรอบคิดดังกล่าวช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยตลอด 10-20 ปี ที่ผ่านมาได้แค่ไหน หนึ่งในปรากฏการณ์เซอร์ไพรส์สำคัญ ที่เรียกร้องให้มีการรื้อความเข้าใจการเมืองไทยอย่างสิ้นเชิงกันเสียที คือการปรากฏตัวของ “ขบวนการคนเสื้อแดง”

ตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา มีงานวิชาการอยู่ไม่น้อย อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองได้ซับซ้อนกว่า ‘สองนคราประชาธิปไตย’  ไม่ว่าจะเป็น “โครงการทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” โดย อภิชาต สถิตนิรามัย และคณะ งานชิ้นนี้เสนอว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่คนยากจนแต่เป็น ‘ชนชั้นกลางระดับล่าง’ และเป็นฐานทางนโยบายของพรรคไทยรักไทย ตามมาด้วยพายุคำนิยามขบวนการ/คนเสื้อแดงอีกนับไม่ถ้วน จากนักวิชาการจำนวนมาก อาทิ

‘ชนชั้นกลางระดับล่างในเมืองและชนบท’
‘กลุ่มที่ผสมกันระหว่างคนที่คัดค้านรัฐประหารกับมวลชนผู้สนับสนุนทักษิณ’
‘แนวร่วมระหว่างชนชั้นรากหญ้าและชนชั้นนายทุนใหญ์’
‘คนชนบทผู้เห็นโลกกว้าง’
‘ผู้ประกอบการทางการเมือง’
‘ชาวบ้านคนเมือง’
‘ชาวนาชนชั้นกลาง’
ฯลฯ

ในด้านหนึ่งเป็นการพยายามหาคำตอบต่อตัวแสดงใหม่ทางการเมือง ซึ่งแม้จะแตกต่างกันในแง่จุดเน้นและความหมาย แต่ก็สะท้อนให้เห็นจุดร่วมกันว่าภูมิทัศน์การเมืองไทยได้เปลี่ยนไปอย่างมหาศาลจากทศวรรษที่ 2530 รายงานนี้ต้องการนำเสนอภาพที่ยากลำบากของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร 2549 จากแง่มุมภาษาทางการเมือง จนกระทั่งพวกเขาสามารถสวมเสื้อสีแดงชุมนุมใหญ่ กลายเป็นพลังทางการเมืองที่มองข้ามไม่ได้ในเวลาต่อมา

สภาพการต่อต้านรัฐประหาร คมช. ในช่วง 1 ปีแรกหลังยึดอำนาจ

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประชาชนจะสามารถรวมตัวขึ้นมาต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ทันที เหตุผลแรกคือ รัฐประหารครั้งนั้นมุ่งทำลายเครือข่ายอำนาจของไทยรักไทย พรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีการใช้กฎอัยการศึกปกครองประเทศล่วงจนถึงวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550

เหตุผลประการที่สอง คือ คณะรัฐประหารสกัดกั้นการเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่นที่เรียกว่า ‘คลื่นใต้น้ำ’ ภายใต้แผน ‘บันได 4 ขั้น’ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้แก่

ขั้นที่ 1 ยุบพรรคไทยรักไทย อันเป็นพรรคการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่และเสียงข้างมากของประชาชน
ขั้นที่ 2 ดําเนินคดีอาญาทุจริตคอร์รัปชัน จนกระทั่งนําไปสู่การอายัดทรัพย์สินในประเทศที่เป็นของกลุ่มทุนใหญ่ แกนนําพรรคไทยรักไทย
ขั้นที่ 3 พรรคแตก สส. วิ่งกระจัดกระจายและสิ้นสุด แยกสลายกําลังนักเลือกตั้งมุ้งต่างๆ ออกไป โดดเดี่ยวแกนนําทางการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่ให้เล็กลีบลง และ
ขั้นที่ 4 ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งเพื่อผ่องถ่ายอํานาจรัฐให้แก่รัฐบาลใหม่ที่ไว้วางใจได้

เหตุผลที่สามคือ การรัฐประหารในปี 2549 มีขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งเป็นองค์กรมวลชนคอยหนุนหลัง และมีส่วนสำคัญในการขับไล่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ขบวนการพธม. จึงมีอิทธิพลสูงทั้งในพื้นที่การเมืองบนท้องถนนและสภาที่มาจากการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ขบวนการ พธม. มี คือพวกเขาครอบงำมรดกทางภูมิปัญญาสำหรับการต่อสู้ทางการเมืองเอาไว้

กระนั้นก็ตามการกดปราบที่เข้มงวดก็ไม่สามารถปิดกั้นความปรารถนาทางการเมืองที่สวนข้ามคณะรัฐประหารได้ เพราะการต่อต้านรัฐประหารเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนกลุ่มย่อยๆ หรือไม่ก็เป็นการต่อต้านรัฐประหารในเชิงปัจเจก

หนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าจดจำเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 นวมทอง ไพรวัลย์ อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะรัฐประหาร คมช. บริเวณหน้าตึกบัญชาการกองทัพบก จนได้รับบาดเจ็บสาหัส

ต่อมาในวันที่ 31 ตุลาคม 2549 นวมทองตัดสินใจทําอัตวินิบาตกรรมซ้ำอีกครั้ง บริเวณใต้สะพานลอยริมถนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จดหมายลาตายของนวมทองระบุเจตจำนงว่า

“ต้องการลบคําสบประมาทของ พันเอกอัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”

(คปค. หรือ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารก่อนแปลงสภาพมาเป็น คมช.)

ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารกับการปราศรัยใหญ่แบบปักหลักยืดเยื้อ

จิม กลาสแมน (Jim Glassman) เสนอไว้ในบทความเรื่อง From Reds to Red Shirts: Political Evolution and Devolution in Thailand ว่าภาษาของคนเสื้อแดงแตกต่างออกจากภาษาของนักกิจกรรมที่ผ่านการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในยุคสงครามเย็น ซึ่งนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 นักต่อสู้เหล่านั้นได้กลายมาเป็นชนชั้นกลางที่มีอิทธิพลในสังคมไทย และครอบงํามรดกทางภูมิปัญญาในการต่อสู้ทางการเมืองไว้[1] ซึ่งส่วนใหญ่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายืนข้างฝั่งขบวนการ พธม. และรัฐบาลของคณะรัฐประหาร คมช. ความยากลำบากนี้เห็นได้จากการพัฒนาการเติบโตของขบวนการคนเสื้อแดงเองระหว่างปี 2549-2551

ในหน้าร้อนของปี 2550 คมช. เริ่มสกัดกั้นช่องทางการสื่อสารของกลุ่มผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารมากยิ่งขึ้น ด้วยการปิดสถานีโทรทัศน์พีทีวี (the People’s Channel) จุดไฟให้การชุมนุมต่อต้านรัฐประหารใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 23 มีนาคม 2550 และลามต่อไปในทุกสัปดาห์

กลุ่มบุคคลที่จัดทํารายการนี้เรียกกันว่า “กลุ่มพีทีวี” ส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง นักปราศรัย นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ กำลังหลักประกอบด้วย วีระ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์, จักรภพ เพ็ญแข, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, อุสมาน ลูกหยี และ ก่อแก้ว พิกุลทอง ฯลฯ

การชุมนุมของกลุ่มพีทีวีใช้พื้นที่บริเวณท้องสนามหลวงปักหลัก มีมวลชนเข้าร่วมเฉลี่ยครั้งละ 10,000-20,000 คน รูปแบบการชุมนุมเป็นการชุมนุม 1 ครั้งต่อสัปดาห์ สลับวันกับกลุ่มต้านอื่นๆ เช่น วันศุกร์เป็นการรวมของกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ วันเสาร์เป็นวันรวมตัวของกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ เป็นต้น เฉพาะกลุ่มพีทีวีเอง พวกเขาเลือกเอาวันอาทิตย์เป็นวันนัดหมาย

เป้าประสงค์หลักคือการอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับปากท้องของประชาชน โดยอาศัยการปราศรัยเปิดโปงคณะบุคคลของฝ่ายคณะรัฐประหาร โดยใช้ข้อมูลในทางลึกเพื่อหักล้างข้อกล่าวหาที่มีต่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

 

การควานหาชุดภาษาที่เป็นเอกลักษณ์

เมื่อฝ่ายต่อต้านไม่มีมรดกทางภูมิปัญญาสำเร็จรูปที่สามารถก่อตัวเป็นลักษณะเฉพาะของขบวนการได้ทันที เราจึงเห็นความสับสนได้ในเนื้อหาคำปราศรัยของกลุ่มต่อต้านที่ใหญ่ที่สุดคือกลุ่มพีทีวี ผ่านการอ้างอิงประวัติศาสตร์การต่อสู้กับเผด็จการในอดีต

คําปราศรัยของกลุ่มพีทีวี ต่างจากกลุ่มอื่นๆ เช่น ‘กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย’ ซึ่งเน้นการรื้อฟื้นความหมายการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรือ กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการที่เน้นโจมตี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้น

แม้ว่ากลุ่มพีทีวีจะรื้อฟื้นความหมาย 2475 เพื่อใช้อ้างอิงในการต่อสู้เช่นกัน แต่การตีความ 2475 ในช่วงแรกของการชุมนุมของพวกเขากลับไปหยิบยืมคําอธิบายการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตามความหมายที่ปัญญาชนอนุรักษนิยมในอดีตให้ไว้

โดยเฉพาะคําอธิบายที่ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สะท้อนถึงหลักการ ‘ราชประชาสมาสัย’ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ได้มอบอํานาจที่มีอยู่เดิมอันเป็นอํานาจสูงสุดของพระมหากษัตริย์ให้แก่พสกนิกร ปรากฏเป็นสัญญาประชาคมที่แสดงรูปธรรมในลักษณะของรัฐธรรมนูญ

ขณะที่กลุ่ม 24 มิถุนาฯ มีคําอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 2475 ว่า เป็นการสถาปนาอํานาจสูงสุดของราษฎรที่ไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากอํานาจเก่าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับเข้ามาครอบงําและชักใยทางการเมือง[2]

ในมุมมองของกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ‘การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475’ คือ การเริ่มต้นสถาปนาอํานาจสูงสุดให้เป็นของราษฎรด้วยการปฏิวัติ แล้วจึงสถาปนารัฐธรรมนูญในสังคมไทย (มิใช่การพระราชทานรัฐธรรมนูญ) แต่คณะราษฎรไม่สามารถรักษาเจตจํานงเดิมของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้ได้ ผลที่ตามมาคือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมาครอบงําทางการเมืองอีก

หลายต่อหลายครั้ง การค้นหาเอกลักษณ์ที่ฉีกต่างออกไปจากขบวนการ พธม. จึงไม่ได้เกิดขึ้นได้ในทันที ครึ่งหนึ่งแกนนํากลุ่มพีทีวีถึงกับหยิบเอาบทกวี ‘เพียงความเคลื่อนไหว’ ซึ่งเขียนโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กำลังหลักปีกวัฒนธรรมของขบวนการ พธม. ขึ้นมาอ่านบนเวทีเพื่อรําลึกถึงการต่อสู้ของวีรชนประชาธิปไตยในอดีต

กระทั่งต่อมา พวกเขาจึงใช้วิธีแยกความทรงจำส่วนบุคคลออกจากจิตใจการต่อสู้ของคนในเหตุการณ์ ’14 ตุลา 16′ ส่งผลให้มิใช่การต่อสู้ของ ‘คนเดือนตุลา’ ทุกคนจะถูกนับว่าเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในความหมายของพีทีวี

ดังที่ วีระ มุสิกพงษ์ ค่อยๆ สร้างรอยต่อทางประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยขึ้นใหม่ ด้วยการยกกรณี นวมทอง ไพรวัลย์ ให้เทียบเท่าบทบาทของ พระยาพหลพลพยุหเสนา และ ปรีดี พนมยงค์ ผู้นําฝ่ายพลเรือนในการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้มาสู่ระบอบประชาธิปไตย

ครั้งหนึ่งวีระถึงกับประกาศว่า ในอนาคตควรค่าที่จะสร้างอนุสาวรีย์นวมทองแยกจากอนุสาวรีย์วีรชน 14 ตุลา ด้วยเหตุว่า คณะกรรมการบริหารมูลนิธิ 14 ตุลา ซึ่งส่วนใหญ่เข้าร่วมกับขบวนการ พธม. ทำนอง

“เป็นพวกเฝ้าศาลเจ้า ที่ขโมยเอาผลส้มจากศาล”

 

จากสนามหลวงสู่บ้านสี่เสาเทเวศร์

เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญนำคำร้องการยุบพรรคไทยรักไทยขึ้นมาพิจารณา กลายเป็นปฏิกิริยาเร่งให้ฝ่ายต้านรัฐประหารสามารถผนึกกำลังจากกลุ่มย่อยๆ ได้เร็วขึ้น

พวกเขาก่อตั้งแนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร (นปตร.) เมื่อวันที่ 18 พฤษถาคม 2550 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยชูคำขวัญ ‘คว่ำ โค่น ล้ม’ อันมีความหมายว่า คว่ำธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติในเดือนสิงหาคม 2550 ล้มรัฐบาลของคณะรัฐประหาร คมช. และโค่นระบอบอํามาตยาธิปไตย

เป้าหมายคือ ล้มร่างรัฐธรรมนูญที่กําลังลงประชามติในเดือนสิงหาคม 2550 ส่วนข้อเสนอคือ ให้นํารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาปรับแก้เพื่อบังคับใช้ และคัดค้านการยุบพรรคไทยรักไทย แต่ข้อเรียกร้องก็ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ เมื่อผลสุดท้ายมีคําตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 เป้าหมายเฉพาะหน้าของกลุ่มต่อต้านจึงยกระดับขึ้นอีก

2 มิถุนายน 2550 กลุ่มพีทีวีประกาศร่วม จัดตั้งองค์กรนําขึ้นมาใหม่คือ ‘แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ’ (นปก.)

โดยแถลงข่าวครั้งแรกที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรียกการประชุมวันนั้นว่า ‘สมัชชาประชาธิปไตย เพื่อฉลอง 75 ปี 24 มิถุนายน 2475 ฟื้นเจตนารมณ์คณะราษฎร’

มีการเปิดตัวแกนนําของ นปก. ซึ่งมีทั้งหมด 5 คน เช่น มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา เป็นประธาน นปก. วีระ มุสิกพงศ์ ตัวแทนจากกลุ่มพีทีวี วิภูแถลง พัฒนภูมิไท ตัวแทนจากลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ

มีการปักหลักปราศรัยตามจุดต่างๆ และเดินขบวนไปตามจุดสัญลักษณ์ของการรัฐประหาร อาทิ กองบัญชาการกองทัพบก หรือความพยายามเคลื่อนขบวนไปที่ บ้านสี่เสาเทเวศร์ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 บ้านพักของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งวันนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมต้องเผชิญกับด่านสกัดของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถเดินไปถึงหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ได้ ทําให้ต้องตั้งเวทีปราศรัยที่บริเวณตลาดเทเวศร์แทน

กล่าวในแง่การใช้สัญลักษณ์เพื่อเคลื่อนไหว พบว่าแกนนําและผู้ชุมนุมเริ่มเผยให้เห็นความแตกต่างไปจากของขบวนการ พธม. ในหลายด้าน ตัวอย่างคือ มวลชนส่วนใหญ่จะถือธงขนาดเล็กพร้อมกับป้ายข้อความที่แตกต่างออกไป และผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งเริ่มใช้สีแดงในเคลื่อนไหว เช่น “คมช. ออกไป” “ฉีกรัฐธรรมนูญโจร” และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนเดินทางกลับบ้านในทุกๆ วัน

จนกระทั่ง นปก. เคลื่อนขบวนไปที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์อีกครั้ง ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ครั้งนี้พวกเขาประสบผลสําเร็จ

ทว่าการชุมนุมในวันนั้นกลับจบลงด้วยการถูกสลายการชุมนุม ผู้ที่มีบทบาทในวันนั้นคือ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 และไม่กี่วันถัดมามีการออกหมายจับแกนนํา ได้แก่ วีระ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์, จักรภพ เพ็ญแข, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, วิภูแถลง พัฒนภูมิไท, เหวง โตจิราการ และ จรัล ดิษฐาอภิชัย

ในช่วงเวลานี้ จึงเริ่มแสดงให้เห็นชุดภาษาของ นปก. ที่มีลักษณะเฉพาะตัวเด่นชัดขึ้น จักรภพ เพ็ญแข เขียนบทกวีที่สําคัญชื่อว่า ‘บันทึกอัปยศ’ เพื่อรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมในวันนั้นว่า

“เพรียกหาความเป็นธรรมประจําชาติ จากผู้ปล้นชิงอํานาจอย่างขลาดเขลา
เพียงชุมนุมญาติมิตรทวงสิทธิเรา ฉกชิงเอาอธิปไตยไปจากมือ
จึงเริ่มเดินตามถนนอย่างทนทุกข์ ผู้ยิ่งใหญ่ยังสนุกเป็นสุขหรือ
คนนับแสนทุรยุคก็ลุกฮือ ด้วยยึดถือสัตย์ตนเป็นพลเมือง…”[3]

 

เดินเข้าสู่สภา และการกลับมาอีกครั้งพร้อมเสื้อสีแดง

แม้ว่าพวกเขาจะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ’ (นปช.) ในวาระครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่บทบาทของขบวนการเคลื่อนไหวก็ดูเหมือนว่าจะลดลงไป เมื่อแกนนำเลือกเข้าไปมีบทบาทในสภาผู้แทนราษฎร

อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ผ่านการลงประชามติ การเมืองไทยจึงเดินทางเข้าสู่ช่วงเวลาของการเลือกตั้งในปลายปี 2550 สมาชิกหลักของขบวนการหลายคนเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชนเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ก่อนจะได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย จนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แกนนำของขบวนการย้ายบทบาทตนเองสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี บ้างก็กลับไปจัดรายการทีวีเช่นเดิม

จนกระทั่งการชุมนุมยืดเยื้อขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนของขบวนการ พธม. ที่กลับมา ในเดือนพฤษภาคม 2551 ทำให้การก่อตัวของ นปช. กลับมาคึกคักอีกครั้ง

นับตั้งแต่ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ถูกศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเหตุสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา จนทำให้ผู้ชุมนุมของขบวนการ พธม. เสียชีวิต และได้รับพระกรุณาธิคุณพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2551

การกลับมาเที่ยวนี้ของขบวนการ นปช. เริ่มแสดงจุดแบ่งแยกที่เด่นชัดของการสร้างขบวนการ นปช. ให้แตกต่างไปจากขบวนการ พธม. คือการที่พวกเขาเลือกใช้สัญลักษณ์ ‘สีแดง’ (อย่างเป็นทางการ) และโวหารทางการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นแกนกลาง ในวันที่ 11 ตุลาคม 2551 ณ ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี

มีแกนนำเป็นนักการเมืองและนักปราศรัยจำนวนมากขึ้นเวที อาทิ วีระ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, จรัล ดิษฐาอภิชัย, วิภูแถลง พัฒนภูไท และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากคดียุบพรรค อาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง, อดิศร เพียงเกษ, พงษ์เทพ เทพกาญจนา เป็นต้น

ถึงเดือนธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้ยุบพรรคพลังประชาชน ช่วงเวลาเดียวกับที่ขบวนการ พธม. บุกยึดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ครั้งนั้น จตุพร พรหมพันธุ์ ถึงกับวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญว่ากําลังทําตัวเป็น “ศาลเตี้ย”

ขณะที่ในรัฐสภามีการอภิปรายโต้ตอบกันอย่างดุเดือด รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลพลังประชาชน ก็กล่าวอย่างไม่อ้อมค้อมว่าขบวนการ พธม. เป็น “ม็อบมีเส้น”

ขบวนการ นปช. เริ่มนัดหมายชุมนุมเพื่อกดดันความพยายามจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้วิธีการดึงตัว สส. จากหลายพรรคเพื่อตั้งรัฐบาล (หนึ่งในกลุ่มที่สําคัญคือกลุ่ม ‘เพื่อนเนวิน’ สส. ปีกหนึ่งในพรรคพลังประชาชน) ครั้งนี้ นปช. ปราศรัยด้วยถ้อยแถลงใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น เช่น ‘เผด็จการซ่อนรูป’ ‘สองมาตรฐาน’ ฯลฯ ซึ่ง นปช. ให้เหตุผลว่าพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลด้วยการอํานวยความสะดวกจากองทัพและศาล กระนั้นก็ตามพวกเขาก็ไม่อาจต้านทานความพยายามจัดตั้งรัฐบาลนั้นได้ ถึงที่สุดพรรคประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยมี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยกลุ่ม ส.ส.เดิมที่ย้ายค่ายก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญเป็นการตอบแทน

แกนนําคนหนึ่งของขบวนการอย่าง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ปราศรัยทิ้งทวนก่อนที่พวกเขาจะไปจัดขบวนใหม่ในปี 2552 คำปราศรัยนี้ให้นัยยะสําคัญถึงความเปลี่ยนแปลงการรับรู้ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสูง ความว่า

“ให้พี่น้องจดจําและมั่นใจว่า เราไม่มีเส้นครับ เมื่อเราอยู่บนดินเราจึงห่างไกลเหลือเกินกับท้องฟ้า เมื่อเราอยู่บนดิน ต้องแหงนคอตั้งบ่า แล้วเราก็รู้ว่าฟ้าอยู่ไกล เมื่อเราอยู่บนดินแล้วก้มหน้าลงมา เราจึงรู้ว่าเรามีค่าเพียงดิน แต่ผมแน่ใจว่าด้วยพลังของคนเสื้อแดงที่มันจะมากขึ้นทุกวัน ทุกวัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกนาที ทุกนาที

แม้เราจะยืนอยู่บนผืนดิน แม้เราพูดอยู่บนผืนดิน แต่จะได้ยินถึงท้องฟ้าแน่นอน… เสียงโห่ร้องของเราในยามนี้ จะได้ยินถึงท้องฟ้าแน่นอน … คนเสื้อแดงจะบอกดินบอกฟ้าว่าข้าก็คือคนไทย คนเสื้อแดงจะถามดินถามฟ้าว่า ถ้าไม่มีที่ยืนที่สมคุณค่า จะถามดินถามฟ้าว่าจะให้ข้าหาที่ยืนเองหรืออย่างไร…”[4]

เมื่อขบวนการ นปช. สามารถก่อรูปขบวนการขนาดใหญ่ขึ้นมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระหว่างปี 2552-2553 จากข้อมูลของ นฤมล ทับจุมพล ที่ได้จากการสัมภาษณ์แกนนำ ในงานเรื่อง ‘Contending Political Networks: A Study of the ‘Yellow Shirts’ and ‘Red Shirts’ in Thailand’s Politics’ แสดงให้เห็นว่า นปช. มีลักษณะโครงสร้างขบวนการที่หลวมและอิสระมาก เครือข่ายส่วนใหญ่มาจากหัวคะแนนของนักการเมืองท้องถิ่น ดีเจจากวิทยุชุมชน นักกิจกรรมอิสระ กลุ่มนักรบพระเจ้าตาก เป็นต้น[5]

ขณะที่ปัจเจกชนที่เข้าร่วมโครงการ ‘โรงเรียน นปช.’ จะมีคำขวัญ 3 ข้อในการต่อสู้ คือ ประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง หยุดสองมาตรฐาน และล้มระบอบอำมาตยาธิปไตย ซึ่งเครือข่ายส่วนใหญ่จะขึ้นกับส่วนกลางก็ต่อเมื่อมีการชุมนุมใหญ่ โดยมี วีระ ณัฐวุฒิ และจตุพร เป็นแกนกลาง

เวลานับจากนี้จึงเป็นจุดเริ่มเล็กๆ ที่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง เบเนดิก แอนเดอร์สัน อธิบายไว้ว่า ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นนักปราศรัยที่ปราดเปรื่องคนแรกในสยามยุคสมัยใหม่[6] ขณะที่มวลชนของขบวนการเสื้อแดงก็ขยายใหญ่โต จนกระทั่งพวกเขากลับมาชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553

 

 

เชิงอรรถ

[1] Jim Glassman, “From Reds to Red Shirts: Political Evolution and Devolution in Thailand,” Environment and Planning A, 42, 4 (April 2010): 765-770.

[2] อุบลพรรณ กระจ่างโพธิ์, “การเคลื่อนไหวของขบวนการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553)

[3] อิทธิพล โคตะมี, ปฏิบัติการภาษาและการสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย พ.ศ. 2549-2557 (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560), บทที่ 4

[4] ฟ้ารุ่ง ศรีขาว, สุภาพบุรุษไพร่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2554), 124

[5] Naruemon Thabchumpon, “Contending Political Networks: A Study of the “Yellow Shirts” and “Red Shirts” in Thailand’s Politics. In “Political Networks in Asia,” edited by Takeshi Onimaru and Khoo Boo Teik, special issue, Southeast Asian Studies, no. 1 (May 2016): 93-113.

[6] ‘มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก’ โดย เบน แอนเดอร์สัน, https://prachatai.com/journal/2011/04/33843

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า