ดันร่าง พ.ร.บ.ขจัดแรงงานบังคับ ดิ้นหนีบัญชีดำค้ามนุษย์

หลังจากประเทศไทยถูกจับตาจากนานาชาติถึงสถานการณ์ค้ามนุษย์ การละเมิดสิทธิแรงงาน และถูกใบเหลืองปัญหาประมงจากสหภาพยุโรป ไทยจึงพยายามอย่างหนักที่จะแก้ไขแบล็คลิสต์ประเทศค้ามนุษย์และปัญหาการจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยในปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 2 ปกติ ซึ่งเป็นการปรับอันดับขึ้นจากที่ได้รับการจัดให้อยู่ใน Tier 2 เฝ้าระวัง (Watch List) เมื่อปี 2560

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่จะเอาผิดต่อนายจ้างที่บังคับใช้แรงงานโดยไม่สมัครใจ เช่น ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ละเมิดทางเพศ กักขัง ขัดหนี้ ยึดบัตรประจำตัว ยึดสวัสดิการ เป็นเหตุให้ต้องมีการยกร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ. … เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับในประเทศ การคุ้มครอง ช่วยเหลือ และเยียวยาผู้เสียหายจากการใช้แรงงานบังคับในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจาก พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย ได้ให้สัตยาบันพิธีสาร ค.ศ. 2012 ของอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยไทยเป็นประเทศลำดับที่ 24 ของรัฐสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่ยื่นสัตยาบันพิธีสารฯ ดังกล่าว และจะมีผลบังคับใช้วันที่ 4 มิถุนายน 2562

ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ ผ่านการตรวจโดยคณะกรรมการกฤษฎีและมีการประชาพิจารณ์แล้ว ลำดับต่อไปคือนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ ภายใต้คณะกรรมาธิการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน

ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติจึงได้ร่วมกับมูลนิธิไอเจเอ็มจัดเวทีอภิปรายเรื่อง ‘จับตาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ. … ทิศทางและระดับการคุ้มครองแรงงานในประเทศไทย’ เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FFCT) เพื่อใช้เป็นเวทีสะท้อนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของเครือข่ายประชาสังคมที่ทำงานด้านแรงงาน องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นักกฎหมายด้านแรงงาน และตัวแทนจากสถานผู้ประกอบการ เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาการป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับให้ได้อย่างแท้จริง

หนุนบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น

เบื้องต้น ฟิล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) รองผู้อำนวยการสำนักงานเอเชียของ Human Rights Watch กล่าวว่า เหตุที่กฎหมายนี้มีความสำคัญ เนื่องจากแรงงานบังคับถูกข่มเหงอยู่บ่อยครั้ง ทั้งแรงงานพม่าและกัมพูชา ทั้งไม่อาจออกจากเรือได้เพราะเอกสารถูกยึดโดยไต้ก๋งเรือ และไม่ได้ค่าจ้างเป็นเวลากว่า 1 ปี รวมถึงไม่มีสัญญาว่าจ้างใดๆ แรงงานเหล่านี้ไม่ได้คาดคิดว่าจะมาเจอสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้เขาไม่สามารถออกจากเรือได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้มีการรับรองอนุสัญญาแรงงานบังคับ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลไทยได้ทำผ่านพิธีสาร แต่พิธีสารอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีกฎหมายมารองรับเพื่อให้เกิดการบังคับใช้ที่เข้มข้น ซึ่งไม่เหมือน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพราะการบังคับแรงงานเป็นเรื่องของการทำร้ายมนุษย์ด้วยกัน

“ถือเป็นเรื่องดีที่ในที่สุดรัฐบาลได้ผลักดันร่างกฎหมายนี้ เราเห็นด้วยว่าต้องมีกฎหมายโดยเฉพาะการที่มีบทลงโทษ แต่ยอมรับว่ากระบวนการร่างกฎหมายยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร และยังมีการคัดค้านจากสมาคมประมง ทำให้เราเป็นกังวลว่า อาจมีการสร้างอุปสรรคในการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้น รัฐบาลต้องมีความเข้มแข็ง และเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังทำ”

Phil Robertson

รองผู้อำนวยการสำนักงานเอเซีย Human Rights Watch ระบุด้วยว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการบังคับใช้ เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในสายตานานาชาติดีขึ้น และยังเป็นสิ่งที่ไทยได้ให้คำมั่นไว้กับองค์กรสากลและสหประชาชาติ (UN) ซึ่งหากกฎหมายนี้สามารถบังคับใช้ได้จริง จะถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ไทยควรใช้โอกาสที่กำลังจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า ในการเป็นผู้นำร่างสนธิสัญญาระหว่างประเทศอาเซียน เพื่อช่วยปกป้องแรงงานต่างด้าวที่ถูกละเมิดสิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติในอาเซียนมากมายที่สมควรได้รับการปกป้องสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน

ด้าน สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้สะท้อนสถานการณ์แรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและประมงว่า เรื่องนี้เป็นความพยายามของภาคแรงงานมานาน เนื่องจากมีลักษณะการใช้แรงงานบังคับแบบไม่มีทางเลือก แม้กระทั่งลูกจ้างภาครัฐเองที่ไม่มีสวัสดิการและค่าจ้างก็ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อีกทั้งยังไม่ให้สิทธิและไม่ให้อำนาจในการเจรจาต่อรอง ทั้งที่ในบางครั้งลูกจ้างภาครัฐเหล่านี้อยากมีการรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง แต่กฎหมายไม่เอื้อ เรื่องนี้เหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐเอาประโยชน์จากตัวแรงงาน ซึ่งเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงาน

“ยกตัวอย่างลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขหรือแม้แต่พยาบาลเอง เขาทำงานหนัก แต่ค่าตอบแทนน้อย หรือพนักงานรถจักรของการรถไฟฯ คนขับรถเครนในท่าเรือ คนเหล่านี้ไม่มีห้องน้ำที่จะเข้าระหว่างการปฏิบัติงาน หรือแรงงานที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลาย ครูสัญญาจ้าง สิ่งที่ได้รับไม่เป็นไปตามกฎหมาย แตกต่างจากพนักงานประจำ จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หรือแม้แต่พนักงานในธนาคารที่ถูกบังคับขายประกัน ตอนจ้างมาให้ทำงานนั่งเคาเตอร์ แต่ตอนนี้ต้องออกไปขายประกันด้วย ให้ไปพบลูกค้า แบบนี้ถือเป็นการบังคับข่มขืนจิตใจ เพราะมีการข่มขู่ว่าถ้าไม่เปลี่ยนแปลงก็จะตกงาน” สาวิทย์กล่าว

สาวิทย์ แก้วหวาน

สาวิทย์ยังกล่าวอีกว่า แรงงานนอกระบบอย่างแรงงานก่อสร้าง แรงงานประมง เสี่ยงถูกละเมิดจากการจ้างงานอย่างมาก คนเหล่านี้ไม่ได้รับการจ้างที่เป็นธรรมเนื่องจากกฎหมายไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะ แรงงานประมงนั้นค่อนข้างเปราะบางมาก มีทั้งการถูกจับ ถูกนายจ้างยึดบัตรกดเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย ปัจจุบันกฎหมายยังไม่คลอบคลุมถึงสิทธิต่างๆ ทั้งการรักษาพยาบาล การมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม

“ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่แรงงานไทยยังไม่รับทราบถึงรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดีพอ แต่หากมีการบังคับใช้จริง แรงงานทุกคนจะได้รับประโยชน์ เพราะเมื่อกฎหมายเข้มงวด นายจ้างก็จะไม่กล้าเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพและสถานภาพของแรงงานดีขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กฎหมายนี้จะต้องออกมา”

ภาคเอกชนขานรับปกป้องแรงงานประมง

ขณะที่ตัวแทนจากภาคธุรกิจ ปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด สะท้อนมุมมองในฐานะของภาคเอกชนว่า ผลิตภัณฑ์ของไทยยูเนี่ยนครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหารทะเลและอาหารกระป๋อง แม้บริษัทจะเริ่มต้นในประเทศไทย แต่ทุกวันนี้มีการขยายการลงทุนไปทั่วโลก ทำให้ต้องคำนึงถึงสถานการณ์แรงงานที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะประเทศไทย แต่ครอบคลุมแรงงานทั่วโลกกว่า 50,000 คน

ปราชญ์ยังกล่าวถึงวิสัยทัศน์ในฐานะผู้นำด้านอุตสาหกรรมอาหารทะเลไว้ว่า

“พันธกิจของไทยยูเนี่ยนมองตัวเองในฐานะผู้นำอาหารทะเล ซึ่งไม่เพียงมองว่าเราจะควบคุมโรงงานเราให้ดีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพันธกิจในการจ้างแรงงานอย่างถูกกฎหมาย การอนุรักษ์ทะเล และรวมไปถึงคู่ค้าของเราคือธุรกิจประมง ภายใต้แนวคิดในเรื่อง ‘sea change’ สิ่งที่เราโฟกัสคือ ให้ความสำคัญกับการจ้างแรงงานอย่างมีความเป็นธรรม และไม่สนับสนุนให้มีการจับปลามากเกินไป รวมถึงการขับเคลื่อนการลดใช้พลาสติก และการดูแลผู้คนหรือชุมชนที่แวดล้อมโรงงานเรา”

ปราชญ์ เกิดไพโรจน์

ความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายเพื่อแรงงานบังคับ

ณิชากานต์ อุสายพันธ์ นักกฎหมายด้านการคุ้มครองแรงงานและค้ามนุษย์ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา สะท้อนมุมมองด้านกฎหมายว่า ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองบุคคลจากการถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกบังคับใช้แรงงานที่สำคัญอยู่แล้ว 2 ฉบับ คือ

1) พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่ยังมีเนื้อหาที่ไม่ครอบคลุมถึงการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับใช้แรงงานทุกรูปแบบ เพราะกฎหมายฉบับนี้กำหนดบังคับใช้เฉพาะสำหรับนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งถ้าดูเจตนารมณ์ของพิธีสาร ค.ศ.2012 ต้องการคุ้มครองแรงงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบหรือในระบบ

2) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่มีบทบัญญัติพูดถึงการใช้แรงงานบังคับ ก็ยังมีช่องโหว่อยู่ เพราะการที่จะให้กฎหมายฉบับนี้มีผลคุ้มครองได้ จะต้องมีการกระทำที่ครบองค์ประกอบการค้ามนุษย์ เช่น มีการนำพา มีการหลอกลวง หากบุคคลที่ถูกบังคับใช้แรงงาน แต่ไม่ได้ถูกนำพามา หรือไม่ได้ถูกหลอกลวงเข้ามาในประเทศ จะไม่ถูกนับเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ดังนั้น การคุ้มครองผู้เสียหายจึงไม่เกิดขึ้น

ณิชากานต์กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันกฎหมายแรงงานในไทยยังไม่เพียงพอที่จะให้ความคุ้มครองแรงงานบังคับ โดยเฉพาะการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และจำกัดแค่เพียงบางภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมแรงงานภายในบ้าน ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายออกมาเพิ่มเติมสำหรับแรงงานบังคับ เพราะการละเมิดสิทธิแรงงานบังคับอาจเกิดขึ้นได้ทุกภาคส่วน ตราบใดที่ยังมีความต้องการใช้แรงงาน

ณิชากานต์ อุสายพันธ์

จากการทำงานด้านสิทธิฯ ตัวอย่างที่ณิชากานต์นำเสนอมีทั้งแรงงานจากฟาร์มไก่ที่ได้รับคำสั่งให้เฝ้าไก่กว่า 20 ชั่วโมง และไม่สามารถออกนอกพื้นที่โรงงานได้ เนื่องจากถูกข่มขู่ว่าหากออกไปแล้วเกิดความผิดพลาดขึ้น ตัวแรงงานจะต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังมีการจ้างแรงงานในลักษณะรายชิ้น ซึ่งหากไม่สามารถผลิตงานได้ตามเงื่อนไขเวลาที่กำหนดแล้วจะไม่ได้รับค่าจ้าง

“กรณีแบบนี้มองผิวเผินอาจไม่เข้าข่ายแรงงานบังคับ แต่หากมองให้ลึกลงไป เราจะเห็นตัวบ่งชี้ในการแสวงหาประโยชน์จากความเปราะบางของแรงงาน”

ประเด็นทิ้งท้าย ณิชากานต์กล่าวถึงข้อเสนอแนะในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับฯ ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาทั้งจากภายในกระทรวงแรงงาน รัฐบาล และการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาหลายครั้ง จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนความเห็นในวันนี้เพื่อให้กฎหมายที่ออกมามีคุณภาพและสะท้อนต่อปัญหาจริง นอกจากนี้ ยังควรกำหนดนิยามของคำว่า ‘แรงงานบังคับ’ ให้มีลักษณะสอดคล้องกับคำนิยามตามพิธีสาร และนิยามที่มีอยู่ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งนิยามไว้อย่างกว้าง เนื่องจากรูปแบบการบังคับใช้แรงงานมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ได้จำกัดตายตัวอยู่ที่การทำร้ายร่างกาย การสร้างภาระหนี้ หรือการยึดเอกสารเท่านั้น ดังนั้น นิยามที่กว้างจะสามารถครอบคลุมถึงรูปแบบการบังคับใช้แรงงานต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอนาคตได้

“รัฐบาลร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นเพื่ออุดช่องว่างใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนว่า เมื่อได้ร่างนี้ออกมาแล้วจะสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดรับกับกลไกของ พ.ร.บ.อีกสองฉบับที่มีอยู่เดิมอย่างไร เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ ก็ยังคงจะต้องเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้ความคุ้มครองผู้ใช้แรงงานจากการถูกเอารัดเอาเปรียบต่อไป”

นอกจากนี้ ณิชากานต์กล่าวด้วยว่า แม้การศึกษารูปแบบการออกกฎหมายด้านคุ้มครองแรงงานในประเทศต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว รูปแบบกฎหมายที่ออกมาควรสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยเป็นหลัก

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า